ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ.2491 จัดทำขึ้นตามเจตนารมณ์แห่งอุดมคติสูงสุดโดยมีหลักการที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี อิสรภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และสันติภาพ
แม้จะผ่านมาหลายทศวรรษ แต่สิทธิอันเป็นสากลและจะแยกออกจากบุคคลมิได้นี้ยังคงเป็นรากฐานสำหรับกรีนพีซและคนที่มีความมุ่งมั่นเช่นเดียวกับเราในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ปลอดภัยยิ่งขึ้น และมีสันติภาพยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าสิทธิมนุษยชนกับโลกที่ปลอดภัยนั้นมีความสัมพันธ์กันหากเราเข้าใจถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบเหล่านั้นมีผลอย่างไรต่อเรา ครอบครัว ชุมชน และชุมชนในอนาคต
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กรีนพีซตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์
การปล่อยก๊าซคาร์บอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมาก รวมถึงมลพิษทางอากาศ อุณหภูมิสุดโต่งอันเป็นสาเหตุของภัยแล้งและคลื่นความร้อน ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วม
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตทั้งในด้านสุขภาพและการดำรงชีวิต การขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม รวมถึงการสูญเสียทรัพย์สิน บ้าน และวิถีการใช้ชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และกลุ่มคนชายขอบเป็นกลุ่มเสี่ยง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชนมีหลักการว่า ประชาชนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค มีความปลอดภัยและอิสรภาพในการดำรงชีวิต และได้รับการคุ้มครองจากรัฐ สิทธิมนุษยชนต่าง ๆ อาทิ สิทธิในชีวิต สุขภาพ อาหาร และมาตรฐานที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สิทธิเหล่านี้กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีหลักฐานที่เห็นได้ชัด เช่น สภาพอากาศสุดโต่งและการก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืชผลและทรัพย์สิน หากไม่มีแนวทางปฏิบัติมารองรับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนและโลกรวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคงดำเนินต่อไป
ในระหว่างการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 24 ณ โปแลนด์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 34 คน ที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายด้านตั้งแต่ด้านธุรกิจ การพัฒนา ไปจนถึงด้านสิ่งแวดล้อม ได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการคงอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส อีกทั้งยังออกแถลงการณ์ร่วมซึ่งมีนัยยะสำคัญและส่งสัญญาณไปยังรัฐบาล รวมถึงบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นเดียวกัน
ผู้เชี่ยวชาญอิสระแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้แต่ละประเทศทุ่มเทกำลังในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องมากจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายและความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความพยายามในการบรรเทาปัญหาให้มากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ
แนวทางในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เรายังพอมีความหวังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราจึงต้องหาวิธีที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนั่นดำเนินไปได้ในระยะยาว ซึ่งวิธีดังกล่าวก็คือ ความยุติธรรมของสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice)
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเรียกร้องความยุติธรรมของสภาพภูมิอากาศได้เกิดขึ้นทั่วโลก รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า มีการฟ้องร้องคดีในสหรัฐอเมริกาจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2560 มากกว่า 654 คดี โดยอาศัยการตีความนิยามของความยุติธรรมของสภาพภูมิอากาศในเชิงกว้าง อีกทั้งจำนวนกว่า 230 คดียังมีความเกี่ยวข้องกับประเทศอื่น ๆ ด้วย มีการฟ้องร้องคดีที่คล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ความยุติธรรมของสภาพภูมิอากาศเป็นการบรรลุเป้าหมายของสิทธิมนุษยชนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นกระบวนการในการจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศเสมือนเป็นการจัดการวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน และเป็นการใช้อำนาจศาลตรวจสอบภาระรับผิดชอบของบริษัทและรัฐบาล
บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหลายมิอาจดำเนินการได้หากมิต้องรับผิดชอบใด ๆ และมุ่งเน้นกำไรเพียงอย่างเดียว รัฐบาลเองก็มิอาจละเลยความเชื่อมโยงระหว่างหน้าที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อีกต่อไป
การแสวงหาแนวทางในการอยู่อาศัยและการดำรงชีวิตมิใช่เพียงแค่ควรที่จะเกิดขึ้น แต่ต้องเป็นไปอย่างเร่งด่วนอีกด้วย
คู่มือประชาชน
กรีนพีซร่วมกลุ่มคนที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ และขบวนการเคลื่อนไหวด้านความยุติธรรมของสภาพภูมิอากาศสร้างคู่มือประชาชนตามข้อเรียกร้องเพื่อเสริมสร้างการรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศโดยมีประชาชนเป็นหลัก
คู่มือประชาชนเกิดจากความพยายามของหลายฝ่าย เป็นเอกสารที่เสนอแนวคิดการสร้างการรณรงค์เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านมุมมองของสิทธิมนุษยชนแก่สมาชิกในชุมชน NGOs และทนายความเพื่อสังคม
คู่มือดังกล่าวมีเป้าหมายในการตรวจสอบภาระรับผิดชอบต่อการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงหลากหลายการรณรงค์ที่โดดเด่น (งานรณรงค์บางงานประสบความสำเร็จ) และแผ่ขยายออกไปทั่วโลก
ในภาพรวม คู่มือประชาชนแสดงให้เห็นว่าความพยายามและการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญ ชุมชนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการปกป้องสิทธิของตนเองและคนรุ่นหลังได้
ได้เวลาสำหรับแนวคิด
ขบวนการเคลื่อนไหวด้านความยุติธรรมของสภาพภูมิอากาศรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการละเมิดสิทธิมนุษยชนทีละกรณีเรื่องราวของขบวนการนี้ (ตัวอย่างในคู่มือประชาชน) เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและมีพลัง
ในกรณีของ Pena (Pena and Others) กับรัฐบาลโคลอมเบีย กลุ่มคนหนุ่มสาวทั้ง 25 คน ฟ้องร้องรัฐบาลเนื่องจากรัฐบาลล้มเหลวในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขาชนะคดีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 นับเป็นครั้งแรกที่คำตัดสินให้ลุ่มแม่น้ำแอมะซอนเป็นผู้ครอบครองสิทธิ
ในกรณีของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับคาร์บอนเมเจอร์ บริษัทผลิตน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านและปูนซีเมนต์รายใหญ่ ซึ่งถูกตรวจสอบภาระรับผิดชอบในฐานะตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นการสืบสวนคดีด้านสิทธิมนุษยชนคดีแรกและศาลมีกำหนดให้คำตัดสินในปี พ.ศ. 2562
ในกรณีของ Swiss Senior Women For Climate Protection กับรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ สตรีอาวุโสกว่า 1,000 คน ร้องเรียนว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สวิตเซอร์แลนด์ปล่อยได้ละเมิดสิทธิในชีวิตส่วนบุคคลและครอบครัว ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญสวิสเซอร์แลนด์
อย่างไรก็ตาม จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2561 ศาลสวิสเซอร์แลนด์มีคำสั่งให้ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 75 ปี เป็นผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเทียบกับประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ในสวิตเซอร์แลนด์
กลุ่มสตรีเหล่านี้กำลังพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป ในขณะเดียวกัน หลายฝ่ายก็กำลังรณรงค์ประเด็นของตัวเองอย่างเข้มข้นโดยนำประเด็นขึ้นสู่ศาล เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ใกล้เข้ามา
ก้าวต่อไปของกรีนพีซ และความยุติธรรมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลและรัฐบาลต่าง ๆ เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากหุ้นส่วนทั่วโลก ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ คนเมือง และ NGOs ด้วยแรงกดดันที่มากพอ บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลและรัฐบาลต่าง ๆ ย่อมถูกผูกมัดที่จะปฏิเสธการใช้ชีวิตและการดำรงชีวิตของเราแบบเดิม แล้วค้นหาวิถีการผลิตที่เคารพผู้คนและโลก
ในภาพรวมแล้ว แม้การเรียกร้องด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาทุกอย่าง แต่กรีนพีซได้เข้าร่วมกันขบวนการความยุติธรรมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน
เราต้องการให้รัฐบาลและบริษัทร่วมรับผิดชอบในประเด็นความยุติธรรมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราต้องการให้ผู้คนโดยเฉพาะคนในกลุ่มเปราะบางได้รับการคุ้มครอง รวมถึงสิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับการปกป้อง
เราต้องการแนวทางในการอาศัยอยู่ร่วมกับโลกอย่างกลมเกลียว นี่เป็นอนาคตที่ความยุติธรรมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถทำได้ เป็นอนาคตที่เราเชื่อและสร้างไปด้วยกัน
ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้
มีส่วนร่วม