เรียบเรียงจากงานเสวนาออนไลน์ “พลังงานถ่านหินกับอุตสาหกรรมไทย : ตีแผ่เบื้องหลังการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมไทยและ EIA กับสิทธิชุมชน” ตอนที่ 4 โดย Greenpeace X EnLAW บรรยายโดย สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และ รศ.ดร.คนางค์ คันธมธุรพจน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล

การมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย
- รายงาน EIA ของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่านเมื่อปี 2554 ก่อนหน้านี้มีการจัดเวทีรับความคิดเห็นจากประชาชนครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อปี 2553 ก่อนทำเรื่องขออนุญาตสร้างเหมือง ปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น
- กลุ่มเฝ้าระวังอมก๋อยยื่นเรื่องขอทบทวนรายงาน EIA ไปที่สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 เพราะคิดว่าตัวข้อมูลในรายงานเก่า ล้าสมัยเกินไป และมีข้อบกพร่อง 4 ประการ คือ
- ประชากรในพื้นที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีข้อจำกัดในเรื่องภาษา อาจได้รับข้อมูลที่อาจจะไม่ถูกต้องหรือไม่รอบด้าน
- โครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ นำมาสู่การล่มสลายและการสูญเสียอาชีพของประชาชนในพื้นที่
- การกำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาผลกระทบจากโครงการเหมืองถ่านหินแคบเกินไป
- เอกสารลงรายมือชื่อในการประชุมประชาคมที่ใช้ประกอบในรายงาน EIA เป็นเท็จ โดยมีรายชื่อชาวบ้านที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะปรากฏอยู่ และมีรายชื่อผู้ที่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้แต่กลับมีการลงลายมือชื่อในเอกสาร
- มีหนังสือตอบกลับจาก สผ. ถึงกลุ่มเฝ้าระวังอมก๋อยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ระบุว่าไม่จำเป็นต้องทำ EIA ใหม่

ปูพื้นเรื่องกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
- แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 จะรับฟังความเห็นจากประชาชน 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เพื่อรับฟังความเห็นต่อขอบเขตการศึกษา
ครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังความเห็นต่อความเพียงพอของมาตรการ
***การมีส่วนร่วมของประชาชนใน EIA ไม่มีผลต่อการ “เอา” หรือ “ไม่เอา” โครงการฯ
วัตถุประสงค์และกระบวนการ EIA
- หลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อม
- รักษาผลิตภาพ (Productivity) สมรรถนะ (Capacity) และกระบวนการ (Process) ของระบบธรรมชาติ รวมถึงสังคมที่สนับสนุนการดำรงชีวิต
- ระบุขั้นตอนและวิธีการในการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการ
- ทำให้แน่ใจว่าข้อมูลที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่น่าจะเกิดขึ้น ถูกรวมเข้าไปในกระบวนการตัดสินใจอนุมัติโครงการ
- เกิดความโปร่งใสและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ
- เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อายุ EIA กำหนดระยะเวลาในการนำรายงาน EIA ไปใช้ประกอบการยื่นขออนุมัติ/อนุญาต ต้องนำไปใช้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ซึ่งในกรณีเหมืองถ่านหินอมก๋อยนั้น ทาง บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2554 ซึ่งนับถึงปัจจุบันปี 2564 อายุของรายงาน EIA นี้ก็เป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว ซึ่งทางชุมชนมีความเห็นว่าข้อมูลสภาพพื้นที่การดำเนินโครงการเป็นข้อมูลเก่าทำมากว่า 10 ปี ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในการเป็นฐานการประเมินผลกระทบได้เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่คณะกรรมการผู้ชำนาญการก็ยังมีมติว่ารายงาน EIA ฉบับดังกล่าวยังสามารถใช้ได้ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

ข้อสังเกตที่พบ
- ในการชี้แจงกับ สผ. บริษัทที่ปรึกษาระบุว่าทำการสัมภาษณ์รายบุคคลในการรับฟังความเห็นครั้งที่ 1 เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำประชาคมแต่ในรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์และในภาคผนวกกลับระบุว่าการมีส่วนร่วมครั้งที่ 1 ประกอบด้วยการทำประชาคม, การประชุมสภา อบต. และสัมภาษณ์รายบุคคล
- ในรายงานอ้างว่ามีล่ามในการสื่อสารภาษาถิ่นในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 และ 2 อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏข้อมูลเหล่านี้ในรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์
- เรื่องความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย ในรายงาน EIAระบุว่ารัศมีพื้นที่ศึกษาผลกระทบวัดจากตัวโครงการเหมืองออกไป 3 กม. รัศมีดังกล่าวไม่ครอบคลุมกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ และผู้อยู่ในเส้นทางขนส่งถ่านหิน บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด ชี้แจงว่า ในการรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 ได้รวมหมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียง คือ หมู่ 4 และหมู่ 8 ที่อยู่ในเส้นทางขนส่งเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ในรายงาน EIA ระบุว่าหมู่บ้านหมู่ 4 และหมู่ 8 เป็นเพียงประชนชนในหมู่บ้านข้างเคียงที่สนใจโครงการ
- รายงาน EIA เหมืองถ่านหินอมก๋อยฉบับปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป เมื่อบริบทของสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่เปลี่ยน อาจทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่เกิดความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาที่ไม่ชัดเจน ว่าอะไรคือมาตรฐานของหลักคิดในการเยียวยาชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน
ติดตาม
ทางออกของปัญหา
- ควรมีการประเมินและกำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อชุมชนใหม่ให้มากที่สุด
- การประเมินผลกระทบต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส เปิดกว้างต่อสาธารณะ ทั้งกระบวนการทำ EIA และกระบวนการพิจารณา
- ยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำ EIA ในทุกๆ ขั้นตอน ไม่ใช่แค่ทำประชามติ

ชวนรู้จักชุมชนกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย และส่งกำลังใจให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งยืนหยัดต่อสู้มาแล้วกว่า 4 ปี เพื่อปกป้องไม่ให้เหมืองเกิดขึ้น
มีส่วนร่วมติดตามความคืบหน้าจากชุมชนได้ที่เพจเฟสบุ๊ค กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์