บ่อยครั้งที่พลังงานนิวเคลียร์ถูกอวดอ้างว่าเป็นทางออกของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมหาศาล ท่ามกลางความหวังในการต่อกรภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ  นอกจากนี้ ในวงการอุตสาหกรรมและกลุ่มนักการเมืองที่สนับสนุนการลงทุนพลังงานนิวเคลียร์มากกว่าการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน มีการอ้างอย่างบิดเบือนว่า พลังงานนิวเคลียร์มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และความมั่นคง และนำมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว

แม้ว่าต้นทุนและการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังมีมายาคติที่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์และกลุ่มผู้สนับสนุนกำลังพยายามผลักดันอย่างเต็มที่ ในขณะที่ผลกระทบด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก พวกเราจึงต้องตรวจสอบและพิจารณาทางออกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างถี่ถ้วน  และนี่คือ 6 เหตุผลที่ทำไมพลังงานนิวเคลียร์จึงไม่ใช่เส้นทางของอนาคตที่ยั่งยืน ปลอดภัยและการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

1. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยมาก ไม่ทันกับความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เราจำเป็นจะต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงานให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593

การทำลายหอระบายความร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟิลิปเบิร์ก (Philippsburg) ใกล้กับแม่น้ำไรห์น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เลิกใช้แล้ว โรงไฟฟ้าดังกล่าวตั้งอยู่ในเมืองฟิลิปเบิร์ก ใกล้กับเมืองคาลส์รูเออ เยอรมนี © Bernd Hartung / Greenpeace

การคาดการณ์โดยสมาคมนิวเคลียร์สากล (World Nuclear Association) และ องค์กร OECD Nuclear Energy Agency (ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานล๊อบบี้ด้านนิวเคลียร์ทั้งคู่) อ้างว่าการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เป็นสองเท่าทั่วโลกภายในปี 2593 จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงประมาณร้อยละ 4 ซึ่งหากเราต้องการให้เป็นไปตามการคาดการณ์นี้ ทั่วโลกจะต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่เพิ่มอีก 37 โรงเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งในทุกๆปีตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2593

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้นใหม่เพียง 10 โรงเท่านั้นที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่สายส่ง ซึ่งการจะเพิ่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 37 โรงนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อีกทั้งยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวนมากขนาดนั้น ปัจจุบันมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพียง 57 เตาเท่านั้น หรือไม่ก็เป็นแผนการที่จะก่อสร้างเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า เมื่อพูดถึงศักยภาพในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มเป็นสองเท่านั้นช่างแตกต่างจากการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเราต้องไม่ลืมว่าการคาดการณ์ที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสองเท่านี้ เราอาจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ทั้งที่เราจะต้องลดให้ได้เต็มร้อย

2. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีอันตรายและเสี่ยงสูง

โรงงานและโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นเป้าหมายที่ง่ายต่อปฏิบัติการที่ประสงค์ร้าย เช่น การคุกคามจากผู้ก่อการร้าย ความเสี่ยงที่จากเหตุเครื่องบินพุ่งชนทั้งโดยอุบัติเหตุและความจงใจ การถูกโจมตีทางไซเบอร์หรือการก่อสงคราม อาคารที่ใช้จัดเก็บวัสดุกัมมันตรังสีไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อการโจมตีเหล่านี้

นักกิจกรรมกรีนพีซและเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ประท้วงบริเวณหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอราโน (Orano nuclear facility in La Hague and the European Pressurized Water Reactor (EPR) of Flamanville) ชายฝั่งทะเลของฝรั่งเศส © Delphine Ghosarossian / Greenpeace

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นภัยคุกคามที่โดดเด่นหากมีอุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์และการกักเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้วที่มีรังสีปนเปื้อนในระดับสูงนั้นเปราะบางต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่นในกรณีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังเป็นจุดเปราะบางในช่วงเวลาของความขัดแย้งทางทหาร

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดสงครามครั้งใหญ่ในประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายโรง รวมทั้งกากนิวเคลียร์อีกหลายพันตัน สงครามในทางตอนใต้ของยูเครนซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเซีย (Zaporizhzhia) ทำให้ประชาชนต่างตกอยู่ในความเสี่ยงหากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้น

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นระบบการติดตั้งทางอุตสาหกรรมที่มีความสลับซับซ้อนมากที่สุดและมีความอ่อนไหวสูงที่สุด ต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ เพื่อรองรับให้อยู่ในสถานะที่พร้อมทำงานตลอดเวลา ซึ่งไม่อาจทำได้ในช่วงสงคราม

การทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังมีความอ่อนไหวในช่วงวิกฤตสภาพภูมิอากาศและเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วอีกด้วย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีต้องใช้น้ำตลอดเวลาในปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะในระบบหล่อเย็น เมื่อเกิดวิกฤตน้ำ อุณหภูมิของน้ำในแม่น้ำที่สูงขึ้น และอากาศร้อนขึ้น จะทำให้ประสิทธิภาพของระบบหล่อเย็นลดลง เตาปฏิกรณ์ในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสมักจะปิดตัวบ่อยครั้งในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน หรือ การทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะชะลอลงอย่างมาก

3.พลังงานนิวเคลียร์แพงมากเกินไป

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Hinkley Point C (HPC) เป็นโครงการที่มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3,200 เมกะวัตต์ พร้อมเตาปฏิกรณ์ 2 เครื่อง ในเมืองซัมเมอร์เซต อังกฤษ ในปี 2559 กรีนพีซฉายข้อความถึงนายกรัฐมนตรี จอร์จ ออสบอร์น บริเวณทำเนียบรัฐบาลและอาคารธนารักษ์ โดยมีข้อความว่า “ปล่อยมันไป จอร์จ เพราะคนอื่นๆก็ปล่อย (โปรเจค) Hinkley แล้ว (#LetHinkleyGo) ”

เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ เราจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด โดยใช้เวลาและค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

เมื่อพิจารณาที่ต้นทุน ต้นทุนในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์อยู่ที่ช่วง 36 – 44 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ในขณะที่รายงานประจำปีของอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ (the World Nuclear Industry Status Report) กล่าวว่า ต้นทุนการผลิตพลังงานจากกังหันลมอยู่ที่ช่วง 29 – 56 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง  แต่ความจริงคือ  ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์อยู่ที่ช่วง 112 – 189 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายงานจากอุตสาหกรรมนิวเคลียร์นี้ยังได้คำนวนต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเปรียบเทียบต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้าและการเดินเครื่องตลอดอายุการใช้งาน สำหรับต้นทุนของกิจการพลังงานแสงอาทิตย์นั้นลดลงถึงร้อยละ 88ส่ วนต้นทุนกิจการพลังงานลมลดลงร้อยละ 69 และจากรายงานฉบับเดียวกันนี่เอง ต้นทุนกิจการพลังงานนิวเคลียร์กลับเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 23* 

อ้างอิงจากผลการศึกษาของกรีนพีซ ฝรั่งเศสเมื่อพฤศจิกายน 2564 และสถาบันรุสโซ (Rousseau Institute) ระบุว่าการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ชนิดอัดความดันของยุโรป (European Pressurised Reactor : EPR) ที่กำลังก่อสร้างในฟลามันวิลล์ ฝรั่งเศส จะมีราคาแพงกว่าแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ทั้งประเทศมีถึง 3 เท่า

4. การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ช้าเกินไป

การสร้างสมดุลของระบบสภาพภูมิอากาศโลกเป็นความเร่งด่วน การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ช้าเกินไปไม่ตอบโจทย์

จากรายงานสถานะอุตสาหกรรมนิวเคลียร์โลก ปี 2564 คาดการณ์ว่า เวลาเฉลี่ยในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2552 อยู่ในราว  10 ปี ซึ่งมากกว่าที่สมาคมนิวเคลียร์โลก ( the World Nuclear Association : WNA ) คาดการณ์ไว้ว่าจะใช้เวลาการก่อสร้าง 5 ถึง 8.5 ปี 

นักกิจกรรมกรีนพีซถือแบนเนอร์คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Olkiluoto ในฟินแลนด์ โดยป้ายข้อความแปลว่า “ยิ่งใช้นิวเคลียร์ ยิ่งเพิ่มกากนิวเคลียร์พิษให้ลูกหลานเรา” และ “หายนะนิวเคลียร์ฝรั่งเศส” © Patrik Rastenberger / Greenpeace

เวลาที่จะต้องใช้ไปกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กระทบต่อเป้าหมายว่าด้านปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่เดิมก็จะยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไป ในขณะที่รอการเปลี่ยนผ่าน การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นใช้เวลานานและซับซ้อน อีกทั้งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีก เช่นเดียวกับการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

นอกจากนี้ การสกัดยูเรเนียม การขนส่ง และการดำเนินการอื่นๆก็ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ดี โดยรวมแล้วแม้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พอจะเทียบกับพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ได้ แต่เราสามารถนำทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ได้รวดเร็วกว่าและทำได้ในสเกลที่ใหญ่กว่าอีกด้วย เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้นและเราไม่สามารถรอการแก้ปัญหา เพื่อลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้อีก 10 ปี เราจะต้องลงมือทำทันทีตอนนี้ด้วยการเปลี่ยนผ่าน พลังงานไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด

5. การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์สร้างกากสารพิษปริมาณมหาศาล

ขั้นตอนต่างๆ ของวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ก่อให้เกิดกากนิวเคลียร์ในปริมาณมหาศาล และยังไม่มีรัฐบาลไหนที่แก้ปัญหาเรื่องกากนิวเคลียร์เหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย

โซนกักเก็บกากกัมมันตรังสีในเมืองอิตาเตะ จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น © Christian Åslund / Greenpeace

กากนิวเคลียร์ส่วนหนึ่งมีปริมาณรังสีสูงมากและจะปล่อยรังสีนิวเคลียร์ไปอีกหลายพันปี กากนิวเคลียร์คือหายนะที่แท้จริงต่อสิ่งแวดล้อมโลกและต่อคนรุ่นใหม่ในอนาคต ซึ่งพวกเขาจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในการจัดการกากนิวเคลียร์เหล่านี้ไปอีกหลายศตวรรษ

นักกิจกรรมกรีนพีซฝรั่งเศสวางถังโลหะที่มีสัญลักษณ์กัมมันตรังสีบริเวณหน้าทางเข้าของกลุ่มบริษัทนิวเคลียร์ Orano ใน Châtillon ทางตอนใต้ของกรุงปารีส เพื่อประท้วงการส่งยูเรเนียมที่ใช้แล้วจากฝรั่งเศสไปยังไซบีเรีย ป้ายข้อความด้านหลังมีข้อความสื่อสารทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส © Victor Point / Greenpeace

กลุ่มประเทศเช่นฝรั่งเศสมีการผลักดันการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างหนักในเวทีสหภาพยุโรป แต่ไม่ได้คำนึงถึงการจัดการกากนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้น (หรืออีกนัยหนึ่งคือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น) แต่กากนิวเคลียร์เหล่านี้ไม่เคยหายไปไหนและไม่เคยยั่งยืน

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ เหตุผลว่าทำไมพลังงานนิวเคลียร์ไม่เหมาะสมในการลงทุนเพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและไม่ควรทำการตลาดด้วยแนวคิด ‘ความยั่งยืน’ จากที่เราชี้ให้เห็น กลุ่มประเทศเช่น ออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี ลักแซมเบิร์กและสเปน เป็นกลุ่มประเทศที่คัดค้านการรวมพลังงานนิวเคลียร์เข้าไปในกลุ่มการลงทุนอย่างยั่งยืนของสหภาพยุโรป และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ยังเป็นหนึ่งในหลายๆเหตุผลที่เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนในการลงทุนของสหภาพยุโรป (the EU Commission’s Technical Expert Group on Sustainable Finance (TEF)) ปฏิเสธการเข้าร่วมของกลุ่มพลังงานนิวเคลียร์ เพราะพลังงานนิวเคลียร์ไม่ตรงกับหลักการของสหภาพยุโรปคือ ‘ไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง’ และยังแนะนำให้แยกพลังงานนิวเคลียร์ออกจากกลุ่มการลงทุนที่ยั่งยืนอีกด้วย

ทั้งนี้ การจัดการกากนิวเคลียร์ ยังต้องใช้ภาษีจากประชาชนเป็นต้นทุนจำนวนมาก มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการกักเก็บกากนิวเคลียร์มากถึงหลายพันล้าน ซึ่งเกิดขึ้นจริงแล้วทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ ในปี 2562 รายงานของกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ค่าใช้จ่ายในหนึ่งปีสำหรับการทำความสะอาดกากนิวเคลียร์ในระยะยาวจะพุ่งสูงมากกว่า หนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

6. คำสัญญาของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์เป็นเรื่องหลอกลวง

ภาพวันที่ 2 ที่นักกิจกรรมกรีนพีซจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Électricité de France’s (EDF) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แรงดันน้ำแห่งใหม่ของยุโรปในปี 2547

เตาปฏิกรณ์ที่มีเทคโนโลยีชนิดอัดความดัน(European Pressurised Reactor : EPR)  ที่กำลังก่อสร้างนั้นได้รับการประชาสัมพันธ์โดยรัฐบาลฝรั่งเศสและการไฟฟ้าฝรั่งเศส(EDF) ซึ่งกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ให้รุ่งโรจน์มากยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริงเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ใช่การพัฒนาที่ก้าวกระโดดเลย และที่สำคัญไปกว่านั้น เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ EPR ที่ตั้งอยู่ใน ฟลาแมนวิลล์ ก่อสร้างล่าช้าไป 10 ปี อีกทั้งยังใช้งบประมาณในการจัดการเกินกว่าที่กำหนดไปถึง 4 ครั้ง

สิ่งที่เรียกว่า ‘เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่’ นี้ยังคงประสบกับปัญหาหลายประการ ความล่าช้าในการสร้างและการใช้งบประมาณเกินควร ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในฝรั่งเศส อังกฤษ และจีน

จึงเป็นเรื่องน่ากังขาที่เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์แบบใหม่นี้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะ ‘ปฏิวัติวงการพลังงาน’ ภายในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา เพราะแม้ว่าจะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสาธารณะ แต่คำสัญญานั้นก็ยังไม่สำเร็จ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้เตาปฏิกรณ์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors (SMRs))ด้วย

ในส่วนของแนวคิดนิวเคลียร์ฟิวชั่น ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอายุพอๆกับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ แนวคิดนี้ดูเหมือนจะถอยห่างจากการประสบความสำเร็จไปเรื่อยๆ ด้วยเทคโนโลยีฟิวชั่นนั้นใช้ต้นทุนที่ไม่แน่นอน นั่นหมายถึงการลงทุนมหาศาลในเตาปฏิกรณ์เทอร์โมนิวเคลียร์แทนที่จะลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดแหล่งอื่นๆ เทคโนโลยีนี้จึงไม่คุ้มค่าเท่าที่ควรและควรนำงบประมาณไปลงทุนในแหล่งพลังงานอื่นที่ยั่งยืนและคุ้มค่ากว่า

ดังนั้น เราควรทบทวนและรับข้อมูลอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับแนวคิดการสนับสนุนนิวเคลียร์จากผู้เชี่ยวชาญและองค์กรที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาคส่วนอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ เพราะพวกเขาอาจได้รับผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ เราอยากย้ำเตือนว่าพลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่ปลอดภัย ไม่ใช่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและไม่ได้เป็นพลังงานแห่งอนาคตที่ยั่งยืน สิ่งสำคัญคือเราต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ลงได้แล้ว

Mehdi Leman บรรณาธิการ กรีนพีซสากล ประจำสำนักงานฝรั่งเศส