ไม่ใช่แค่เสียงนกเสียงแมลงที่ถูกทำให้เงียบหายไปด้วยสารเคมีอันตราย แต่ ราเชล คาร์สัน เองก็ถูกกดดันให้เงียบเสียง เพราะในยุคนั้น “เธอเป็นแค่ผู้หญิง” ในสายตาวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

หนังสือ Silent Spring (1962) หรือ ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน ของ ราเชล คาร์สัน กลายเป็นหนึ่งในหนังสือสำคัญที่สร้างประวัติศาสตร์ในการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม ปัญหาสำคัญที่เธอได้เปิดโปงในหนังสือคือ ความอันตรายร้ายแรงของสารดีดีที (dichloro-diphenyl-trichloroethane) ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงที่เริ่มใช้ในปีค.ศ. 1945 และได้รับการส่งเสริมจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรและภาครัฐของอเมริกาผ่านทางโฆษณาว่าเป็นยาฆ่าแมลงที่ปลอดภัยแม้กระทั่งกินได้

ตัวอย่างโฆษณา สารดีดีที (dichloro-diphenyl-trichloroethane)

แม้แต่คณะกรรมการโนเบลเองก็ยังมอบรางวัลโนเบลปี 1948 ให้กับผู้คิดค้นดีดีที จึงทำให้เกิดการใช้งานในครัวเรือนอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงคือ ดีดีทีเป็นสารเคมีอันตรายที่สุดที่มนุษย์ได้เคยผลิตมา สร้างความเสียหายให้กับสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทั้งหมด ตั้งแต่แมลง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำ ไปจนถึงนก และเป็นสารก่อมะเร็งให้กับมนุษย์ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหาร การที่ราเชล คาร์สันออกมาเขียนเพื่อตีแผ่ข้อเท็จจริงเหล่านี้ส่งผลให้ท้ายที่สุดนำไปสู่การออกกฎหมายห้ามใช้ดีดีทีในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1972

ภาพตัวอย่างโฆษณา “DDT is good for me-e-e!”
“DDT Is Good for Me-e-e!,” June 30, 1947. Science History Institute. Philadelphia.

อย่างไรก็ตาม กว่าข้อถกเถียงและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในหนังสือของราเชล คาร์สันจะได้รับการยอมรับและประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี สั่งให้มีการตรวจสอบการใช้สารฆ่าแมลงอย่างไม่ถูกต้อง ในช่วงแรกที่หนังสือของเธอได้รับการเผยแพร่ ราเชล คาร์สัน ถูกนักข่าว นักวิจารณ์หนังสือ และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ตีตราว่าเป็น “หญิงบ้า” ที่ใช้ “ถ้อยคำปั่นอารมณ์” และหนังสือของเธอนั้น “มีพิษยิ่งกว่ายาฆ่าแมลงที่เธอให้ร้าย” (p. 261) นักวิจารณ์ด้านยา วิลเลียม บี บีน เขียนว่า “หนังสือ Silent Spring ทำให้ผมนึกถึงเวลาที่เราพยายามจะเถียงให้ชนะผู้หญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีทางทำได้” 

คำโจมตีเหล่านี้เน้นไปที่เพศสภาพความเป็นหญิงของเธอ เช่น เธอเลี้ยงแมว เลี้ยงนก และเป็นผู้หญิงอ่อนไหวที่เขียนหัวข้อที่เกินความสามารถทางปัญญา หรือหนึ่งในจดหมายวิจารณ์ที่ส่งถึงสำนักพิมพ์ The New Yorker ที่ตีพิมพ์งานของราเชล คาร์สัน ได้กล่าวถึงเธอว่า “เรื่องแมลงนี่ แค่แมลงตัวเล็ก ๆ ผู้หญิงก็กลัวแทบตายไม่ใช่หรอกหรือ ป.ล. เธอน่าจะเป็นพวกบ้าสันติภาพด้วย”  แม้แต่บุคคลจากรัฐระดับเลขาธิการกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ยังวิจารณ์เธอด้วยถ้อยคำว่า “ทำไมสาวทึนทึกที่ไม่แต่งงานไม่มีลูกถึงมาสนใจอะไรในเรื่องพันธุกรรม” เพียงเพราะสาเหตุที่เธอไม่ได้แต่งงาน 

นอกจากนี้ ราเชล คาร์สัน ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เช่นกัน ในช่วงยุคสงครามเย็นช่วงปี 1950 ไม่ว่าใครก็ตามที่ท้าทายนโยบายรัฐจะถูกมองว่ามีแนวคิดล้มล้างหรือเป็นคอมมิวนิสต์ และการที่ราเชล คาร์สันออกมาท้าทายระบบอำนาจของวิทยาศาสตร์ นโยบายที่รัฐส่งเสริม และสิทธิการรับรู้ของประชาชน ซึ่งด้วยฐานะของผู้หญิงในยุคสมัยนั้นถือเป็นความกล้าอย่างใหญ่หลวงของเธอในการท้าทายระบบอำนาจภายใต้ปิตาธิปไตยทั้งมวล และพูดความจริงเปิดโปงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อุตสาหกรรมเคมีเกษตรที่ทรงอำนาจที่สุดของโลกได้ทำไว้ อย่าว่าแต่คนกลุ่มหนึ่งจะกล้าต่อกรกับบริษัทเหล่านี้เลย แต่ราเชล คาร์สันออกมาพูดเพียงลำพัง และเป็นคนแรกในฐานะคนธรรมดาที่ถูกบริษัทเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่โจมตี เพราะเธอกล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ของบริษัทนั้นคุกคามสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 

หลังจากที่หนังสือ Silent Spring ตีพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ของบริษัทเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ Monsanto Magazine ได้ออกบทความมาโต้กลับในเดือนตุลาคม 1963 ชื่อว่า “The Desolate Year” (ปีที่แสนหดหู่) โดยบทความนี้เป็นการทำ PR ราคาแพงของบริษัทเพื่อล้อเลียนเนื้อหาในบทแรกของ Silent Spring ที่ชื่อว่า “A Fable for Tomorrow” และส่งไปให้หนังสือพิมพ์ทั่วอเมริกาตีพิมพ์ โดยได้กล่าวถึงช่วงเวลาหนึ่งปีที่ไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลง ระบุว่า แมลงต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งเห็บ เหา หนอน ยุง แมลงวัน และอื่นๆ โรคร้ายอย่างมาเลเรียกลับมา เกิดเหตุการณ์ตั๊กแตนบุกไร่สวนทำลายผลผลิตของเกษตรกร กล่าวอ้างว่าอเมริกาจะไม่สามารถปลูกพืชได้พอเพียงเพื่อเลี้ยงคนในประเทศ นิตยสารบางฉบับของบริษัทเคมีเกษตรได้เผยแพร่ภาพการ์ตูนล้อเลียนหนังสือของราเชล คาร์สัน ด้วยภาพผู้หญิงคนหนึ่งนั่งบนเก้าอี้อ่านหนังสือ Silent Spring โดยที่ไม่สนใจแมลงและหนูที่กำลังบุกห้องครัวและกินอาหารในตู้ ภาพนี้ชื่อว่า “Let’s Not Upset the Balance of Nature” (อย่าทำลายสมดุลของธรรมชาติ) 

บริษัท Montrose Chemical Corporation of California ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตสารเคมีดีดีทีที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1947 เขียนถึงราเชล คาร์สันว่า เธอเป็น “แนวหน้าที่ปกป้องลัทธิความสมดุลของธรรมชาติอย่างบ้าคลั่ง” ส่วนนักโภชนาการ วิลเลียม เจ ดาร์บี แห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แวนเดอร์บิลท์ เขียนลงในวารสาร Chemical and Engineering News ว่าหนังสือของราเชล คาร์สันนั้น จะพามนุษย์ไปสู่ยุคมืด ซึ่งเป็น “จุดจบของวิวัฒนาการของมนุษย์ชาติทั้งมวล … เธอระบุว่าการใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อการควบคุมโรคที่จากแมลงนั้นไม่ฉลาดและไม่รับผิดชอบ”  อย่างไรก็ตาม ราเชล คาร์สันไม่เคยแนะนำว่าไม่ควรใช้ยาฆ่าแมลงเลย แต่ควรใช้อย่างรับผิดชอบ และใช้ต่อเมื่อทางเลือกอื่นที่มีอันตรายน้อยกว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เท่านั้น ซึ่งข้อความเช่นนี้ แฟรงค์ เกรแฮม จูเนียร์ ผู้ที่รวบรวมคำวิจารณ์ต่อราเชล คาร์สัน กล่าวว่า ไม่ต่างจากคำของนักวิจารณ์หนังสือ Silent Spring ทั่วไป ที่พยายามจะหักล้างราเชล คาร์สัน ด้วยถ้อยคำที่เธอไม่เคยเขียนลงไป

ถ้อยคำวิจารณ์ที่ระบุโจมตีชัดเจนถึงความเป็นหญิงของราเชล คาร์นั้นสอดคล้องกับแนวคิดสตรีนิเวศนิยม (Ecofeminism) ซึ่งเริ่มก่อร่างขึ้นภายหลังการตีพิมพ์ Silent Spring ราวสิบปี ซึ่งมีแนวคิดที่สะท้อนโครงสร้างของกรอบความคิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชาย และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างโลกวิทยาศาสตร์กับโลกธรรมชาติ ในช่วงเริ่มต้นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเป็นยุคแรกเริ่มที่นำวิทยาศาสตร์มาเพื่อใช้กอบโกยผลประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม แนวคิดปรัชญาตะวันตกในช่วงนั้นมีรากฐานมาจากความคิดปรัชญาคู่ตรงข้าม (dualism) เช่น มนุษย์และธรรมชาติ ชายและหญิง บุคคลที่ถูกขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งวงการวิทยาศาสตร์ตะวันตก ฟรานซิส เบคอน มีแนวคิดที่ทรงอิทธิพลต่อวงการวิทยาศาสตร์ในยุคสมัยใหม่ด้วยการเปรียบเปรยว่า ธรรมชาติเหมือนกับผู้หญิง เป็นสิ่งที่ต้องพิชิตแล้วต้องมีอำนาจเหนือกว่า โดยเขียนไว้ในหนังสือ De Aumentis Sceintiarun เมื่อปี 1623 ว่า “Neither ought a man to make scruple of entering and penetrating into these holes and corners, when the inquistion of truth is his sole object.” ซึ่งหมายความว่า ไม่ควรมีชายใดลังเลที่จะสอดใส่เข้าทะลวงไปในทุกรูและมุม หากต้องการแสวงหาความจริง” ข้อคิดเช่นนี้สะท้อนถึงความรุนแรงที่มีต่อทั้งธรรมชาติและผู้หญิงในเวลาเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ในยุคแรกมีการทำงานด้วยเจตนารมณ์ดังกล่าวภายใต้ทุนเสรีนิยมและปิตาธิปไตย มองว่าธรรมชาติเป็นเสมือนเครื่องจักรที่มนุษย์สามารถทำลายและใช้งานได้ไม่มีวันสิ้นสุดภายใต้อำนาจของมนุษย์ การออกล่าและยึดครองธรรมชาติที่เป็นผู้หญิงจึงเป็นสิ่งที่ขนานไปกับวัฒนธรรมการกดขี่ผู้หญิงในสังคม กรณีที่ราเชล คาร์สัน ถูกโจมตีจากนักวิจารณ์ชายด้วยบทบาทความเป็นหญิงของเธอจึงสะท้อนได้อย่างชัดเจนถึงความแข็งกร้าวและกีดกันของวัฒนธรรมตะวันตกในการวางบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงและทัศนคติต่อผู้หญิงทางวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น 

อย่างไรก็ตามความเป็นหญิงของราเชล คาร์สัน อาจจะส่งผลดีอย่างหนึ่งคือ ประชาชนทั่วไปได้เห็นว่าเธอไม่ได้อยู่ภายใต้สถาบันทรงอำนาจใด และออกมาพูดด้วยเสียงอิสระอย่างแท้จริง

Bees in Decline in Slovakia. © Tomas Halasz / Greenpeace
ภาพการเลี้ยงผึ้งและผู้เลี้ยงผึ้งในสโลวาเกีย © Tomas Halasz / Greenpeace

ข้อค้นพบของ ราเชล คาร์สัน ไม่เพียงแค่ท้าทายบริษัทสารเคมีเกษตรและรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นการโจมตีสถาบันที่ถูกครองโดยผู้ชายมาโดยตลอดอย่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในช่วงเวลานั้นผู้หญิงยังถูกปฏิเสธที่จะทำงานในฐานะนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัย ราเชล คาร์สันจึงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีดีกรีดอกเตอร์และสถาบันการศึกษารองรับ ถึงแม้ว่าเธอจะมีเครติตทางวิทยาศาสตร์ในฐานะนักชีววิทยาทางทะเลผู้เผยแพร่หนังสือขายดีมาแล้วสองเล่ม อย่างไรก็ตามในขณะนั้นยังไม่มีเครือข่ายใด ๆ คอยช่วยเหลือ ยังไม่มีองค์กรสิ่งแวดล้อมที่แข็งแรง และการเคลื่อนไหวของสิทธิสตรีคลื่นลูกที่สองที่สหรัฐอเมริกาก็กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น (เกิดขึ้นระหว่างปี 1960-1980) ซึ่งเป็นประเด็นการต่อสู้ทางสิทธิความเท่าเทียมอื่น ๆ ของผู้หญิง นอกเหนือจากสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งและสิทธิในการให้กำเนิด ได้แก่ ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมในโอกาสการทำงานและรายได้ จนกระทั่งมีกฎหมายออกมารองรับ คือ Equal Pay Act of 1963 และปรับปรุงแก้ไข Civil Rights Act of 1964 ไม่ให้มีการกีดกันการจ้างงานบนพื้นฐานของเพศ ซึ่งสิทธิเหล่านี้ได้รับการบัญญัติไว้หลังจากที่ราเชล คาร์สัน เผยแพร่หนังสือ และต่อสู้มาตลอดก่อนหน้านั้นในฐานะที่เป็นผู้หญิงที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสาธารณะประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อรัฐหรือบริษัทใด 

Women's March in Austin. © Amanda J. Mason / Greenpeace
ภาพการเดินรณรงค์ด้านสิทธิสตรีไปยังที่ว่าการรัฐวอชิงตัน โดยมีผู้เข้าร่วมเดินรณรงค์กว่า 50,000 คน © Amanda J. Mason / Greenpeace

สิ่งที่ราเชล คาร์สัน สะท้อนใน Silent Spring  คือปัญหาอยู่ที่รัฐบาลที่อยู่ใต้อำนาจของกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนั้นเธอจึงไม่ได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรการทางกฎหมาย แต่กล่าวว่าประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ว่ามีการใช้ยาฆ่าแมลงอย่างไรบ้างในพื้นที่ส่วนบุคคลของตน เนื่องจากในสมัยเฟื่องฟูของดีดีทีนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ มีการโปรยสารเคมีอันตรายจากเครื่องบินผ่านพื้นที่ชุมชน บ้านเรือน และไร่ต่าง ๆ อย่างไร้ขอบเขต ราเชล คาร์สันจึงหันมารณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องกับการกระทำของรัฐและบริษัทที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 

ถึงแม้ราเชล คาร์สันจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมหลังจากตีพิมพ์หนังสือเพียงสองปี แต่มรดกของราเชล คาร์สัน ในการออกมาพูดความจริงกับอำนาจได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการรับรู้และเรียกร้องเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการคุกคามของบริษัท 


อ้างอิง

Griswold, E. (2012). How “Silent Spring” Ignited the Environmental Movement. The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2012/09/23/magazine/how-silent-spring-ignited-the-environmental-movement.html

Linda, L. (2000). Afterword. In Rachel Carson, Silent Spring (pp. 258-264). Penguin Books.

Stein, K. F. (2012). Rachel Carson: Challenging Authors. Sense Publishers.