คนบนดอยเผาป่าเผาไร่ คนเมืองจึงเดือดร้อน คำกล่าวเช่นนี้มักเกิดขึ้นเสมอในช่วงฤดูกาลที่หมอกควันปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ทว่าแนวคิดนี้มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร 

กรีนพีซชวนหนึ่งในคณะทำงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ภูมิภาคเพื่อสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการด้านชาติพันธุ์กับการพัฒนาในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มาร่วมพูดคุยถึงความเหลื่อมล้ำและความเป็นอื่นของชนพื้นเมืองภายใต้ปัญหาเชิงโครงสร้างของหมอกควันพิษที่ส่งผลต่อทัศนคติของคนเมือง และวิถึชึวิตของชนพื้นเมือง 

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ภูมิภาคเพื่อสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ © Reongchai Kongmeung / Greenpeace

สำหรับสังคมชุมชนพื้นเมืองที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าเขาแล้ว ความเปลี่ยนแปลงภายใต้การพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยนั้นได้ละทิ้งชนพื้นเมืองไว้เบื้องหลัง ชนพื้นเมืองถูกมอกว่าเป็นคนชายขอบ มีความเป็นอื่น ไม่ใช่คนไทย หรือทั้งที่เป็นคนไทยที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่กลับถูกมองว่าไม่เป็นคนไทย ไม่มีสวัสดิการรองรับอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม หนึ่งในผลกระทบสำคัญก็คืออัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่สูญเสียไป กับการที่ถูกตีตราว่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเป็นสิ่งที่ผิดทั้งกฎหมายและวิถีปฏิบัติตามสังคม เพราะรัฐตั้งกรอบความคิดไว้ว่า คนไม่ควรอยู่กับป่า ชนพื้นเมืองจึงตกเป็นจำเลยถูกกล่าวหาว่าทำลายป่าด้วยการทำไร่เลื่อนลอย 

ภาคเหนือตอนบนเป็นภูมิภาคโดดเด่นไปด้วยความหลากหลากทางชาติพันธุ์ของชนพื้นเมือง เช่น ไทใหญ่ ไทลื้อ ลัวะ ลาหู่ ม้ง ลีซู อาข่า ไทยเขิน เมี่ยน และปกาเกอญอ ประกอบด้วยอัตลักษณ์ที่หลากหลายด้วยวิถึชึวิต ประเพณีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ “วาทกรรมชาวเขา” ถูกสร้างและผลิตซ้ำโดยรัฐบนบริบทของมายาคติ “ความเป็นอื่น” คนชายขอบที่สร้างปัญหาให้กับสังคมและความมั่นคงของรัฐ เช่น การเผา ปัญหาทำลายป่า ปลูกพืชยาเสพติด (มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ, ไม่ระบุปี) และบุกรุกพื้นที่ป่าถึงแม้จะพบหลักฐานว่ากลุ่มชนพื้นเมืองจำนวนหนึ่งจะหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด (กรุงเทพธุรกิจ, 2555) ตามนโยบายที่รัฐโหมสร้างแรงจูงใจให้ปลูก  พวกเขาก็ยังเป็นถูกมองว่ามีส่วนสร้างผลกระทบลบต่อสิ่งแวดล้อม วาทกรรมเหล่านี้สร้างผลแง่ลบต่ออัตลักษณ์ของชนพื้นเมือง รวมถึงในแง่ความไม่เท่าเทียมทางสังคมและกฎหมาย เสมือนเป็นคนไทยที่ไม่ไทย หรือแม้แต่สิทธิพลเมืองพื้นฐานเต็มที่เท่าเทียมกับคนไทยทั้งที่ถือครองบัตรประชาชนสัญชาติไทย

อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ © Reongchai Kongmeung / Greenpeace

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ สะท้อนว่า สิทธิในการทำเกษตรทางประเพณี หรือการทำไร่หมุนเวียนถูกมองไปว่าเป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่นควัน ทั้งที่สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาฝุ่นควันมาจากสาเหตุสำคัญ ๆ เช่นนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการประกันราคา การส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก หรือการชดเชยความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในไทยด้วยการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาและลาว  รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันการทำเกษตรของชนพื้นเมืองที่ปลูกเพื่อยังชีพอย่างเดียวไม่มีแล้ว  ส่วนใหญ่จะปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อส่งขายตลาด ยิ่งกว่านั้น  แรงงานในครัวเรือนก็ลดน้อยลงเนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรลดลง และออกไปทำงานเป็นแรงงานรับจ้าง หรือค้าขายในเมือง  พื้นที่ป่าที่ใช้ในการทำไร่หมุนเวียนที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันในชุมชนก็น้อยลงเช่นกัน

จุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกับสภาลมหายใจเชียงใหม่

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ภูมิภาคเพื่อสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ © Reongchai Kongmeung / Greenpeace

ประมาณสองปีก่อน คนที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่และชนบท ทำงานร่วมกันเรื่องปัญหาหมอกควันฝุ่นควันเป็นเครือข่ายชื่อว่า “สภาลมหายใจ” แต่ละองค์กรต่างทำงานของตน แต่เชื่อมประสานกันเพื่อรณรงค์เรื่องหมอกควัน ผมเข้ามาทำงานในฐานะคนที่รับผิดชอบด้านวิชาการและข้อมูลข่าวสาร ช่วงนั้นคนมีความเข้าใจเรื่องหมอกควันค่อนข้างจำกัด ความพยายามในการแก้ปัญหาในช่วงแรก  เป็นการให้เผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ในด้านสาเหตุต่างๆ ที่มาของปัญหาหมอกควัน  รวมทั้งการพัฒนาแอพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ระดับความเข้มข้นของหมอกควัน และการกระจายตัวของจุดความร้อนที่ทำให้เกิดหมอกควัน   “สภาลมหายใจ” มีบทบาทในการรณรงค์ให้ประชาชนในเมืองและในชนบทมีส่วนช่วยลดปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ  รวมทั้งประสานงานกับสภาองค์กรชุมชน และจังหวัดเชียงใหม่  ปัญหาหมอกควันนั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจในมิติด้านสังคมด้วยว่า มีกลุ่มคนหลากหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  ดังนั้นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในเมืองและชนบท จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ “สภาลมหายใจ”  ถือเป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาหมอกควัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ และชุมชนในการป้องกันและลดจุดความร้อนอันมาจากไฟป่า  รวมทั้งให้ข้อมูลเพื่อการกำหนดช่วงเวลาการเผาไร่ให้สอดคล้องกับความจำเป็นของแต่ละพื้นที่  และพยายามชี้ให้เห็นว่า  ปัจจุบัน การเกษตรแบบใหม่ หรือทำเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมเช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์  ที่เติบโตสนองตอบต่อแนวโน้มของพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ ที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญก็คือ การเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมนี้ เกษตรกรมักจะใช้ไฟในการกำจัดเศษวัสดุในพื้นที่ๆ ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในการผลิต

ทัศนคติคนเมืองเรื่องฝุ่นควัน และมองว่าชนพื้นเมืองคือผู้เผาป่า

มิติของคนในเมือง ซึ่งส่งเสียงได้ดังกว่า มักจะไม่ได้หันมามองว่าปัญหาหมอกควันเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำมันที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษ   โดยเฉพาะการขยายตัวของเมือง ซึ่งสัมพันธ์กับจำนวนรถยนต์และจำนวนนักท่องเที่ยวในเชียงใหม่ที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้น “สภาลมหายใจ” จึงพยายามชักชวนประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาให้ทำความเข้าใจกับภาพองค์รวมของปัญหาหมอกควัน มากกว่าโทษว่าหมอกควันมาจากการเผาป่าของชาวบ้าน เพื่อหาเห็ด เก็บผักหวาน หรือล่าสัตว์  หรือการทำไร่หมุนเวียน  การใช้ไฟดังกล่าวนี้มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับการเผาเศษใบไม้ กิ่งไม้ในเขตป่าสงวนและป่าอนุรักษ์   การแก้ปัญหาหมอกควันแบบมีมายาคติต่อคนในชนบท หรือคนอยู่กับป่า  โดยไม่มองที่ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) หรือไม่มองถึงปัญหามลพิษและหมอกควันจากจำนวนรถยนต์ที่มีจำนวนมากขึ้น ทำให้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาหมอกควันไม่ถูกจุด   หลังจากที่ทำงานมาได้สองปีร พบว่าการสร้างความเข้าใจต่อปัญหาหมอกควันแบบองค์รวมเป็นเรื่องยาก   ยิ่งไปกว่านั้น การแสวงหาวิธีการที่ให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ไม่ใช้ไฟ  ยิ่งเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า  ถึงแม้เกษตรกรต้องการจะเปลี่ยนจากการไม่ปลูกข้าวโพด ไม่ใช้ไฟ   แต่มักจะไม่สามารถทำได้ เพราะติดอยู่ในวงจรเกษตรพันธะสัญญาและหนี้สิน  ในหลายกรณี ความไม่มั่นคง หรือไม่ชัดเจนในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน กลายเป็นอุปสรรคในการตัดสินใจในการหันมาปลูกไม้ยืนต้นที่ไม่ต้องใช้ไฟ   ความไม่เข้าใจกับปัญหาแบบองค์รวม จึงนำไปสู่การแก้ปัญหาเป็นส่วนๆ  หรือเป็นการแก้ปัญหาตามช่วงฤดูกาลเป็นรายปี

ฝุ่นควันที่ปกคลุมใน จ.เชียงใหม่ ช่วงเดือนมีนาคม 2565 © Reongchai Kongmeung / Greenpeace

เท่าที่ผ่านมา  จังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดช่วงเวลาในการเผาไร่ในพื้นที่ไร่หมุนเวียนให้กับชุมชนบนพื้นที่สูงบนสมมติฐานว่าการเผาไร่หมุนเวียนเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดหมอกควัน จึงกำหนดให้ชุมชนยื่นขออนุมัติจากคณะกรรมการที่จังหวัดตั้งขึ้นก่อนที่จะเผาได้  นอกจากนั้น หน่วยงานของรัฐ (สำนักงานป่าไม้และสำนักอุทยาน) ก็ต้องทำเรื่องขออนุมัติเผาเพื่อลดการสะสมของเชื้อเพลิงใบไม้ต่อคณะกรรมการฯ เช่นกัน  มีข้อสังเกตว่า พื้นที่ที่ขอคำอนุมัติเผาโดยหน่วยงานของรัฐนั้นมีมากกว่าพื้นที่ที่ชาวบ้านขอเผาหลายเท่า   แต่อย่างไรก็ดี “สภาลมหายใจ” เห็นว่า การมีคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้เผา (“วอร์รูม”) เป็นเรื่องที่ช่วยลดปัญหาได้ระดับหนึ่ง  เพราะมีการใช้ข้อมูลจากแอพลิเคชั่น “ไฟดี” ในการพิจารณาอนุมัติให้เผา โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับการผันแปรของภูมิอากาศในแต่ละช่วง

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถึชึวิตการทำไร่หมุนเวียน

ผมคิดว่าการทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตและระบบการเกษตรของชุมชนบนที่สูงมีความสำคัญอย่างมากในการแก้ปัญหาหมอกควัน   อย่างน้อยทำให้เข้าใจเงื่อนไขการตัดสินใจของเกษตรกรที่จะปลูก หรือไม่ปลูกข้าวโพด  เกษตรกรคำนึงถึงต้นทุนที่มาจากการใช้สารเคมีในการผลิต  รวมทั้งปัญหาสุขภาพที่ตามมา  โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้สารเคมีในระยะยาว  ก็จะเผชิญกับปัญหาหนี้สิน และปัญหาสุขภาพ   ถ้าหันมาปลูกพืช ที่ไม่ต้องใช้สารเคมี เช่น ลำไยอินทรีย์ ไม้ไผ่  มะม่วงหิมพาน น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้  ในขณะเดียวกัน  ถ้าชาวบ้านมีที่ดินจำกัดหรือไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  พวกเขาก็จำเป็นต้องปลูกพืชระยะสั้น เพราะหากปลูกพืชยืนต้น  ก็จะถูกยึดคืนให้เป็นพื้นที่ป่าของทางราชการ  พืชระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนดี มีการประกันราคา รัฐบาลสนับสนุนให้ปลูก และเกษตรกรสามารถกู้เงินมาปลูกได้  ก็คือข้าวโพด

ซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูเก็บเกี่ยว © Reongchai Kongmeung / Greenpeace

ในขณะเดียวกัน  การทำไร่หมุนเวียนที่ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนแรงงานในชุมชน เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นต้นว่า ชุมชนชาติพันธุ์เริ่มเผชิญกับจำนวนแรงงานในครอบครัวที่ลดลง   หรือในกรณีที่ชุมชนปรับพื้นที่เพื่อทำนาและหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ  เช่นกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ที่บ้านป่าแป๋ จากเดิมมี 80 ครอบครัวที่ทำไร่หมุนเวียน ปัจจุบันเหลือเพียง 5 ครอบครัวที่ยังทำไร่หมุนเวียน  แต่ก่อนครอบครัวหนึ่งมีลูกมาก แต่ปัจจุบันมีลูกเพียงสองสามคนและเมื่อโอกาสได้รับการศึกษาสูงขึ้น  ทำให้เลือกที่จะออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน  ยิ่งกว่านั้นระยะเวลาการทำไร่หมุนเวียนที่ใช้เวลาหมุนรอบอย่างน้อย 5 ปี  ก็ถูกเงื่อนไขให้ลดจำนวนปีลง เนื่องจากเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้ที่ดิน ที่ตรงไหนไม่ได้ทำไร่ก็จะถูกยึดคืนโดยทางราชการ

สำหรับการทำไร่หมุนเวียนนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องใช้ไฟในการเตรียมดินก่อนเริ่มต้นฤดุเพาะปลูกใหม่ แต่ทั้งนี้ เป็นการใช้ไฟโดยมีการควบคุมโดยชุมชน และอาศัยความรู้ตามวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์   ถ้าไม่เผาใบไม้กิ่งไม้ก่อนทำไร่ ดินจะขาดธาตุอาหารและจะมีหญ้าขึ้นอย่างหนาแน่น  จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการฆ่าหญ้า  สำหรับภูมิปัญญาของชาวบ้านในการทำไร่มีหลายขั้นตอน  เริ่มต้นด้วยการตัดกิ่งไม้ ตอไม้ และตากให้แห้งก่อนฤดูฝนจะมาถึง การเผาใบไม้ และกิ่งไม้  จะทำให้ได้ปุ๋ยที่ดีสำหรับข้าวในไร่  และลดการใช้แรงงานในการดายหญ้า  ดังนั้น การทำไร่หมุนเวียนจึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อบำรุงดิน หรือยากำจัดหญ้าและวัชพืช  แต่ปัจจุบัน เมื่อมีการปลูกพืชเศรษฐกิจในหลายชุมชน  ตรรกะในการเลือกปลูกพืชชนิดใดจึงขึ้นอยู่กับราคาผลผลิต และผลได้กำไรตอบแทน  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่ให้รับผลตอบแทนระยะสั้นค่อนข้างสูง อีกทั้งเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก จึงเหมาะสมที่จะปลูกบนพื้นที่สูง  

พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ © Reongchai Kongmeung / Greenpeace

การเผา และวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง

กลุ่มชนพื้นเมืองที่ใช้ไฟในการทำไร่มีสองกลุ่ม คือ กลุ่มปกาเกอญอและกลุ่มลัวะ   กลุ่มลัวะในจังหวัดเชียงใหม่หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจและทำนามากขึ้น  ทำไร่หมุนเวียนน้อยลง  ในขณะที่ชุมชนกระเหรี่ยงในภาคเหนือหรือภาคกลางก็ยังทำไร่หมุนเวียนปลูกเพื่อยังชีพอยู่ ทำปีหนึ่งแล้วเว้นไป 5-7 ปี แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละพื้นที่ ถ้ารอบการหมุนเป็นช่วงระยะสั้น ป่าไม้จะยังเติบโตไม่พอ คือยังเป็นป่าอ่อนอยู่  ถ้าจะให้ป่าโตและใช้ในการทำไร่รอบใหม่ได้ จำเป็นจะต้องใช้เวลา 5 ปีขึ้นไป หลักการในการทำไร่หมุนเวียน คือ ประการแรก เป็นการใช้ที่ดินร่วมกันของชุมชน (กรรมสิทธิ์ร่วม)   อาจจะเป็นแปลงรวม ผืนเดียวขนาดใหญ่ หรือ เป็นแปลงกระโดด หมายถึงแต่ละครอบครัว ทำไร่ในแปลงของตนภายในพื้นที่ป่าที่ชุมชนกันขอบเขตไว้  ประการที่สอง ในการทำไร่  ชาวบ้านจะตัดฟันต้นไม้ที่โตมากพอสมควรแล้ว ให้เหลือตอราว ๆ เมตรกว่า ๆ  แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง  หลังจากนั้นก็ร่วมกันทำแนวกันไฟ เพื่อกันไฟไม่ให้ลามไปในพื้นที่ป่าโดยรอบ   เมื่อฝนตกมา  ขึ้เถ้า (โปแตสเซี่ยม) ที่มาจาหกการเผากิ่งไม้และใบไม้ จะถูกชะล้างให้เป็นธาตุอาหารในดิน  ความรู้ในการทำไร่หมุนเวียน ทำให้สามารถปลูกพืชได้โดยลดการใช้แรงงานในการถางหญ้า ไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่ในข้าว และทำให้มีแมลงมารบกวนน้อย  ประการที่สาม การทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่การปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว   แต่มีการปลูกพืชผักไม่น้อยกว่า 30 ชนิด ในแปลงที่ปลูกข้าว เช่น แตงโม ฟักทอง แตงกวา น้ำเต้า พริก ฯลฯ  แต่ปัจจุบัน บางชุมชนก็หันมาปลูกข้าวโพดในไร่หมุนเวียนมากขึ้น ทำให้สัดส่วนไร่หมุนเวียนน้อยลง 

ในปัจจุบันชุมชนชนพื้นเมืองหลายแห่ง เช่น กลุ่มปกาเกอญอในอำเภออมก๋อยประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้มีการปลูกข้าวโพดในพื้นที่   ชุมชนม้งบนดอยสุเทพ-ปุย มีกติการ่วมกันว่าไม่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์   ชุมชนปกาเกอญอที่สะเมิงเตรียมประกาศพื้นที่ของหมู่บ้านว่าเป็น “เขตวัฒนธรรมพิเศษ”  ที่รักษาวิถีไร่หมุนเวียน และไม่ปลูกข้าวโพด   ส่วนชุมชนม้งที่พิษณุโลกที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ก็ปฏิเสธการปลูกข้าวโพด  สิ่งเหล่านี้คือแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชนในการปกป้องชุมชนจากการคุกคามของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์   ดังนั้น หากสามารถแนะนำพืชที่รายทำได้สูงกว่าข้าวโพด ชาวบ้านก็จะไม่ปลูกข้าวโพด

สามารถมองว่าชนพื้นเมืองเป็นผู้รักษาป่าไม้ได้ไหม

ชุมชนชาติพันธุ์ที่ยังทำไร่หมุนเวียน คือปกาเกอญอ และลัวะ  ซึ่งมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับชุมชาติพันธุ์กลุ่มอื่น ซึ่งส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่การผลิตเพื่อขาย  แลเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ไม่ต้องใช้ไฟ   อีกส่วนหนึ่งหันไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในปี 2557  นโยบายของรัฐทวงคืนผืนป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้มีมากขึ้น นำไปสู่การสูญเสียที่ทำกินของชาวบ้าน  เพราะถูกมองว่าอยู่ในผืนที่ป่าแบบผิดกฎหมาย  ชาวบ้านหลายคนถูกจับและลงโทษติดคุก  ต้นยางพารา หรือไม้ผลที่ปลูกไว้ถูกถอน หรือฟันทิ้ง  แต่มีหลายพื้นที่ ที่ชาวบ้านปลูกข้าวโพดได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าแต่อย่างใด   ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำไร่หมุนเวียนถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาหมอกควัน  แต่ทัศนะของคนทั่วไปมักจะมองข้าม การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศและในประเทศพม่าและลาว ที่ทำให้เกิดหมอกควันข้ามพรมแดน

หากต้นตอของปัญหาฝุ่นควันที่แท้จริงมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลและอุตสาหกรรม ต้องแก้ที่อะไร

ฝุ่นควันที่ปกคลุมใน จ.เชียงใหม่ ช่วงเดือนมีนาคม 2565 © Reongchai Kongmeung / Greenpeace

ประการแรก  ต้องทำให้สังคมเข้าใจถึงสาเหตุที่หลากหลายของการเกิดหมอกควันที่มาจากพฤติกรรมของคน  ตั้งแต่การทำไร่หมุนเวียนที่ต้องใช้ไฟ  แนวคิดในการบริหารจัดการไฟในการกำจัดใบไม้กิ่งไม้ ในเขตป่าสงวน และเขตอุทยาน  การใช้ไฟเพื่อจัดการเศษวัสดุการเกษตรในไร่ข้าวโพด  รวมทั้งการขยายตัวของเมือง ที่สัมพันธ์กับปริมาณยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเป็นพลังขับเคลื่อน   โดยพิจารณาถึงบริบททางภูมิศาสตร์ของพื้นที่  หมายถึงสภาพที่ตั้งของจังหวัดเชียงใหม่ ที่อยู่ในแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขา ประการที่สอง  ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ที่ไม่ใช่สารเคมีให้มากขึ้น พัฒนาให้เป็นสเกลใหญ่ระดับประเทศ  เพื่อลดการปลูกข้าวโพดลง และหาพืชชนิดอื่นที่มีผลตอบแทนสูงเพื่อให้เกษตรกรได้มีทางเลือก  ประการที่สาม  ปัญหาหมอกควันไม่ใช่ปัญหาที่มาจากพื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น  ทั้งนี้เพราะหมอกควันส่วนหนึ่งเป็น หมอกควันที่มาจากการใช้ไฟในการเผาไร่ข้าวโพด และอ้อยในประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทย ถึงแม้ว่าเราจะลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดในบ้านเรา แต่เมื่อมีการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้าน  หมอกควันสามารถถูกพัดข้ามแดนมาได้  ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องส่งเสริมให้ปลูกพืชอย่างอื่นที่ไม่ใช่ไฟ  หรือหาวิธีการอื่นในการกำจัดเศษวัสดุการเกษตรแทนการใช้ไฟ อย่างไรก็ดี  ความขัดแย้ง และสถานการณ์การสู้รบในภาคเหนือของประเทศเมียนมา ทำให้ความหวังในการหาช่องทางแก้ปัญหานี้ตีบตันอย่างยิ่งในขณะนี้

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าประเภทเนื้อไก่และเนื้อหมูมาก ทำให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เติบโตขึ้นมา เมื่อเราพึ่งพาการส่งออกอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์แบบนี้ เราก็ผูกกับการพึ่งพาอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ รัฐควรจะผลักดันนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์แบบนี้ต่อไปไหมท่ามกลางผลกระทบ หรือส่งเสริมสัดส่วนพืชผักเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น ลดการปลูกข้าวโพดลง ที่สำคัญคือทำยังไงให้ชนชั้นกลางเข้าใจปัญหาตรงนี้ บริโภคผักอินทรีย์มากขึ้น เกษตรกรก็ไม่ต้องพึ่งข้าวโพด และหาเกษตรอินทรีย์ที่มีรายได้สูงกว่า ซึ่งจะเกี่ยวกับสิทธิที่ดินด้วย ถ้ามีที่ดินก็ไม่ต้องปลุกข้าวโพด และตกอยู่ในวังวนของเกษตรพันธสัญญา 

อ้างอิง:

กรุงเทพธุรกิจ. (2555). “ทุ่ม 1.4 หมื่นล้านปลูกป่าทดแทน-จำกัดการใช้ที่ดินชาวเขา: ป่าต้นน้ำหาย 3.7 ล.ไร่”.

มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. (ไม่ระบุปี). ปัญหาการเกษตรของชาวเขา.