ในช่วงเวลาการเฉลิมฉลอง ช่วงเวลาแห่งความสุขที่ผู้คนทั่วโลกจะมาร่วมกันเคาท์ดาวน์นับถอยหลังเพื่อก้าวสู่ปีใหม่ แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ในช่วงเวลาแห่งความสุข หลายประเทศในหลายภูมิภาคทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนเลวร้าย ตั้งแต่ปรากฎการณ์โพลาร์ วอร์เท็กซ์ (Polar Vortex) หรือกระแสลมวนขั้วโลกที่กระทบสหรัฐอเมริกา รวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเมื่อต้นปี 2021 ยังไม่นับรวมความแปรปรวนที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี เช่น พายุหมุนเขตร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พายุทรายในจีน คลื่นความร้อนผิดปกติในเอเชียตะวันออกและภัยแล้งจนทำให้เกิดไฟป่าตามภูมิภาคต่าง ๆ เหตุการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลันหลายพื้นที่ทั่วโลก และในปีนี้สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายที่อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักนั่นคือ บอมบ์ ไซโคลน (Bomb Cyclone) รวมถึงล่าสุดที่แม้ว่าตอนนี้จะเป็นช่วงเวลาฤดูหนาวแต่ยุโรปกลับต้องเจอคลื่นความร้อน โดยเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก เบลารุส ลัทเวีย และลิธัวเนีย บันทึกว่าช่วงเวลาปีใหม่ที่ผ่านมามีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึก

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ออกมาให้ข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ข้อมูลที่ระบุว่าเหล่าสัตว์ป่ารับรู้ถึงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลจนทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก และยังมีข้อมูลศักยภาพของป่าแอมะซอนกับการกักเก็บคาร์บอนได้น้อยลงเนื่องจากการทำลายผืนป่าเป็นบริเวณกว้าง วิกฤตสภาพภูมิอากาศนำไปสู่เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วซึ่งทวีความรุนแรงและจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นในอนาคต
บอมบ์ ไซโคลน (Bomb Cyclone) คืออะไร?
จากข้อมูลของสำนักข่าว ThaiPBS ระบุว่า จริง ๆ แล้ว บอมบ์ ไซโคลน เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อปี 2018 ทางชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ส่วนชื่อ บอมบ์ ไซโคลน ก็เป็นชื่อที่สื่อมวลชนเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั่นเอง เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พลเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบต้องเจอกับความหนาวเหน็บและอันตรายต่อชีวิต อย่างไรก็ตามมันมีชื่ออย่างเป็นทางการโดยนักอุตุนิยมวิทยาว่า บอมโบเจเนซิส (Bombogenesis)
สำนักข่าววอชิงตัน โพสต์ อธิบายเหตุการณ์บอมบ์ ไซโคลน ว่าคือพายุหมุนนอกเขตร้อน หรือพายุหมุนละติจูดปานกลาง (mid-latitude storm) ที่ความกดอากาศลดลง 1 มิลลิบาร์ต่อ 1 ชั่วโมง อย่างน้อย 24 ชั่วโมง

โดยปกติแล้วความกดอากาศจะคงอยู่ที่ 1010 มิลลิบาร์ แต่ในช่วงเกิดสภาพอากาศแบบพายุ ความกดอากาศจะลดลงต่ำกว่าปกติ ซึ่งยิ่งความกดอากาศลดลงต่ำมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้พายุรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงวันหยุดช่วงสิ้นปี 2022 ที่ผ่านมาคือ พายุเกรย์สันที่พัดผ่านกลับมีความกดอากาศลดลงอย่างรวดเร็วถึง 31 มิลลิบาร์ ภายในหนึ่งชั่วโมง (ลดลงจาก 994 มิลลิบาร์ ไปยัง 963 มิลลิบาร์ ใน 24 ชั่วโมง) จึงทำให้เป็นปัจจัยให้พายุลูกนี้รุนแรงจนกลายเป็นบอมบ์ ไซโคลน
ผลกระทบของ บอมบ์ ไซโคลน
บอมบ์ ไซโคลนมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาว จะทำให้พื้นที่ที่พายุพัดผ่านมีอุณหภูมิลดต่ำลงกว่าปกติ เกิดฝนหรือหิมะตกหนัก น้ำท่วมชายฝั่ง หรือเกิดลมกระโชกแรงซึ่งเป็นผลกระทบจากพายุเฮอริเคน อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาตอนนี้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันไปจนถึงผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิต บอมบ์ ไซโคลน สะท้อนให้เห็นถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลกโดยส่งผลต่อมหาสมุทรจนจนทำให้หลายพื้นที่ต้องเผชิญพายุหมุนที่รุนแรงบ่อยขึ้น
ยุโรปต้อนรับปี 2023 ด้วยคลื่นความร้อนในฤดูหนาว
เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา หลายประเทศในยุโรปกำลังเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว แต่ไม่ใช่ปรากฎการณ์บอมบ์ ไซโคลน ที่ทำให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบถูกปกคลุมไปด้วยหิมะและสภาพอากาศที่หนาวยะเยือก แต่เป็นคลื่นความร้อนกลางฤดูหนาวที่ทำให้อุณหภูมิสูงจนเป็นประวัติการณ์ ยุโรปที่จะต้องมีหิมะเป็นปกติทุกปี แต่ไม่ใช่กับปีนี้ที่ลานสกีสำหรับครอบครัวต้องประกาศปิดให้บริการเพราะไม่มีหิมะให้เล่นฉลองปีใหม่
ก่อนหน้านี้ สก๊อต ดันแคน นักอุตุนิยมวิทยาจากลอนดอน สหราชอาณาจักร โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจโดยระบุว่าในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปเผชิญคลื่นความร้อนแม้ว่าจะยังอยู่ในฤดูหนาว หลายประเทศมีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ เช่น เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก เบลารุส ลัทเวีย และลิธัวเนีย สอดคล้องกับการนำเสนอข่าวหลายสำนักในยุโรปที่รายงานตรงกัน นอกจากนี้ ดันแคน ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอีกด้วยว่าเป็น ‘สัญญาณเตือนของสภาพภูมิอากาศ’ โดยในปี 2022 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ยุโรปร้อนที่สุด
จับตาทวีปเอเชียที่เสี่ยงเจอพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าเดิม
- ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยแรงลมที่พัดขึ้นมายังแผ่นดินที่เร็ว รุนแรงขึ้น อีกทั้งยังอยู่บนแผ่นดินได้นานขึ้นอีกด้วย
- ภายในศตวรรษนี้ พายุที่เกิดขึ้นอาจมีความเร็วลมที่พัดเข้าฝั่งเร็วขึ้นเฉลี่ย 2 เมตรต่อวินาที ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายได้รุนแรงกว่าเดิมหลายเท่าตัว
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WORLD METEOROLOGICAL ORGANIZATION – WMO) เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งในปี 2021 ชื่อ The State of the Climate in Asia 2020 ระบุใจความสำคัญว่า เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วและวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วทวีปเอเชียในปี 2020 เป็นสาเหตุของการสูญเสียประชากรหลายหมื่นชีวิต อีกกว่าหลายล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น รวมทั้งยังเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เรากำลังถูกคุกคามจากภัยความมั่นคงทางอาหาร การขาดแคลนน้ำสะอาด วิกฤตด้านสุขภาพ และต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง

หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับภัยพิบัติจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศคือสถิติภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเอเชียมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1960 เป็นต้นมาและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน ภัยพิบัติที่ว่านี้ส่วนใหญ่มาจาก น้ำท่วมฉับพลัน พายุหมุนเขตร้อน และดินถล่ม และในปี 2023 นี้เราต้องจับตามองว่าเอเชียเสี่ยงจะต้องเผชิญเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วอย่างไร
ผู้นำโลกจะต้องแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
หลังการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลก COP ครั้งที่ 27 ในชาร์ม เอล-เชค สาธารณรัฐอียิปต์ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปสำคัญอย่างเช่น การตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage) จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้ยังคงขาดความมุ่งมั่นที่จะวางแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการลด ละ เลิก การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งจะสอดคล้องกับความตกลงปารีสในการคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

การไม่พูดถึงประเด็นการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งประเด็นการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงเข้ามาพบปะกับกลุ่มผู้นำประเทศ ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายชุมชนและกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ออกมาแสดงความผิดหวังต่อการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นการประชุมที่เต็มไปด้วยการฟอกเขียว
ผลกระทบที่พวกเราได้รับจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดนั้น เป็นเพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษหลัก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่พยายาม ‘ชะลอและบิดเบือน’ วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นโดยการผลักให้เป็นปัญหาปัจเจกบุคคล โดยใช้เม็ดเงินมหาศาลประชาสัมพันธ์อย่างหนักให้คนตื่นตัวและเริ่มลดผลกระทบจาก ‘ตัวเอง’ ในขณะเดียวกันก็ออกแคมเปญที่พยายามทำให้ตัวเอง ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เราเรียกว่า ‘การฟอกเขียว’ (Greenwash)

สิ่งที่เราทำได้คือการรวมพลังกันเพื่อบอกให้นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายของประเทศเห็นความสำคัญของวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่ออนาคตของเรา สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเยาวชน เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวในชุมชนท้องถิ่นเพื่อเรียกร้องถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง รัฐบาลทั่วโลกต้องเดินหน้าตามเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งวางแผนรับมือกับภัยพิบัติในขณะที่ดำเนินแผนการไปด้วย