“เป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์คือการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขกับธรรมชาติ” – เซโน่ ~ 450 ปีก่อนคริสตกาล (จากหนังสือ Lives and Opinions of Eminent Philosophers, ไดโอจีเนส แลร์ทีอุส)
การที่มนุษย์เริ่มตระหนักถึงความเกี่ยวพันอันแสนละเอียดอ่อนระหว่างมนุษย์เรากับธรรมชาติที่เราอาศัยอยู่นี้เกิดขึ้นท่ามกลางกลุ่มเหล่านักล่าสัตว์และนักสะสมเมื่อพวกเขาได้เห็นเปลวเพลิงและเครื่องมือล่าสัตว์กำลังทำลายสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยนักมานุษยวิทยาได้ค้นพบหลักฐานการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์จากการกระทำของมนุษย์มาตั้งแต่ 50,000 ปีก่อนคริสตกาล แม้ว่าในขณะนั้นจะมี โฮโม เซเปียน สายพันธุ์ของมนุษย์เราอยู่แค่เพียงราว 20,000 คนบนโลก เหล่าบรรพบุรุษมนุษย์เราในอดีตเหล่านี้จะจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร พวกเราคงทำได้เพียงแค่คาดเดาเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าการอพยพย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆมักจะเป็นทางแก้ปัญหาที่ทำกันเรื่อยมา
การตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเริ่มขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์อย่างน้อย 5,000 ปีมาแล้ว นักบวชผู้ศึกษาคัมภีร์พระเวทต่างกล่าวสรรเสริญผืนป่าในบทสวดของพวกเขา และนักบวชลัทธิเต๋าต่างเรียกร้องให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับแบบแผนของธรรมชาติ รวมถึงพระพุทธเจ้าเองก็สอนให้มนุษย์มีความเมตตาต่อสัตว์โลกทุกชนิด
ในมหากาพย์กิลกาเมชแห่งยุคเมโสโปเตเมีย พวกเรายังได้เห็นความหวาดหวั่นต่อภัยจากการทำลายล้างผืนป่าและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำ เมื่อกิลกาเมชโค่นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ลง พระผู้เป็นเจ้าได้สาปชาวซูเมอร์ให้ประสบกับภัยแล้ง และเทพีอิชทาร์ (พระแม่ธรณี) จึงส่งกระทิงจากสรวงสวรรค์ลงมาเพื่อลงโทษกิลกาเมช
ในตำนานเทพปกรณัมกรีกโบราณ เมื่อนายพรานหนุ่มโอไรออนกล่าวคำสัตย์สาบานจะล่าสัตว์ทั้งหมดบนโลกให้สิ้น เทพีไกอาได้กล่าวค้านและเนรมิตแมงป่องยักษ์ขึ้นเพื่อฆ่าโอไรออน และเมื่อแมงป่องไม่สามารถเอาชนะเขาได้ อาร์ทิมิส เทพีแห่งป่าและจ้าวแห่งสัตว์ทั้งหลาย จึงใช้ศรธนูยิงโอไรออนจนสิ้นใจ
ส่วนทางด้านอเมริกาเหนือ เลตาคอตส์-เลซ่า หัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงอินทรีพาวนี กล่าวแก่นาตาลี เคอร์ทิส นักมานุษยวิทยา ว่า “ทิราว่า ท่านผู้อยู่เบื้องบน มิได้สื่อสารกับมนุษย์เราโดยตรง… มนุษย์ควรสำนึกรู้ได้ว่าท่านนั้นสื่อสารกับเราผ่านทางสัตว์ต่างๆ จากพวกสัตว์ทั้งหลายและจากดวงดาว ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์”
เรื่องราวทั้งหลายของมนุษย์ในอดีตนี้ ต่างสอดแทรกคำสอนเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของผืนป่า ความสำคัญของการยับยั้งควบคุมอำนาจในมือมนุษย์ และพันธะหน้าที่ของเราที่ต้องปกปักษ์รักษาธรรมชาตินี้ไว้
การรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคเริ่มต้น
เมื่อห้าพันปีก่อน เมืองโมเฮนโจ – ดาโร (Mohenjo – Daro) หนึ่งในศูนย์กลางแห่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (เมืองโบราณในปากีสถานปัจจุบัน) ได้เริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และเริ่มมีการจัดการขยะและการสุขภิบาลขึ้น ส่วนในกรีซที่ซึ่งภาวะป่าไม้ถูกทำลายทำให้เกิดการกร่อนของหน้าดิน นักปราชญ์เพลโตได้กล่าวไว้อย่างสลดใจว่า “พื้นที่อันแสนอุดมสมบูรณ์และชุ่มฉ่ำต่างล่มสลายจากไป เหลือไว้เพียงดินแดนแห่งโครงกระดูกไร้วิญญาณ” ทางชุมชนต่างๆในจีน อินเดีย และเปรูเองก็รับรู้ถึงผลกระทบจากการกร่อนของหน้าดินและพยายามป้องกันโดยการปลูกป่าบนเนินที่ลาดเขา การปลูกพืชหมุนเวียน และการหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากธาตุและสารอาหาร (nutrient recycling)
ฮิปโปเครติสและกาเลน นายแพทย์ชาวกรีก ได้เริ่มสังเกตถึงปัญหาสุขภาพอันเป็นผลมาจากความเสื่อมโทรมสิ่งแวดล้อมอย่างกรดปนเปื้อนในเหมืองทองแดง โดยในบันทึกชื่อ De aëre, aquis et locis (อากาศ น้ำ และสถานที่: Air, Waters, and Places) ของฮิปโปเครติส นับเป็นงานเขียนเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดของชาวยุโรปในยุคแรกเริ่มชิ้นแรกที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และนิเวศวิทยาเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางการเกษตรไม่เพียงแต่ทำให้จำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังทำให้เกิดการกร่อนของหน้าดินและการชุกชุมของแมลงซึ่งนำไปสู่ภาวะทุพภิกขภัยร้ายแรงในช่วงระหว่างคริสต์ศักราชที่ 200 ถึง 1200 (ราว พ.ศ. 750 – 1750)
ในปี ค.ศ 1306 (พ.ศ 1579) กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งราชวงศ์อังกฤษได้สั่งให้ลดการเผาไหม้ถ่านหินลงเนื่องจากปัญหาหมอกควันในอากาศ และในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จอห์น อีฟลิน นักธรรมชาติวิทยาและเกษตรกรนายหนึ่งยังได้เขียนบันทึกไว้ว่ากรุงลอนดอนไม่ต่างอะไรกับ “ชานเมืองนรก” เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ทำให้เกิดความนิยม “พลังงานหมุนเวียน” ขึ้นครั้งแรกในยุโรป โดยทางรัฐบาลได้เริ่มมีมาตรการอุดหนุนพลังงานน้ำและลม
สิทธิทางสิ่งแวดล้อม
อาจกล่าวได้ว่านักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมคนแรกคือ บิชนอย ฮินดูส์ (Bishnoi Hindus) แห่งเคจาร์ลี (Khejarli) ผู้ซึ่งถูกสังหารโดยมหาราชาแห่งเมืองจ๊อดปูร์ (Jodhpur) ในปี พ.ศ. 2263 ในข้อหาพยายามปกป้องผืนป่าจนเขาไม่สามารถสร้างพระราชวังตามที่ต้องการได้
จนในคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงได้เริ่มเห็นแสงแรกแห่งของสิทธิทางสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ หลังจากที่เกิดโรคไข้เหลืองระบาดรุนแรงในฟิลาเดเฟีย เบนจามิน แฟรงค์ลิน ได้ยื่นคำร้องให้มีการจัดการขยะและยุบโรงงานฟอกหนังเพื่อลดมลพิษในอากาศในฐานะที่อากาศบริสุทธิ์เป็น “สิทธิ” ของสาธารณชน (แม้ว่าจะเป็นการเรียกร้องบนแผ่นดินที่ยึดครองมาจากชนเผ่าพื้นเมืองก็ตาม) ต่อมา จอร์จ แคทลิน ศิลปินชาวอเมริกันยังได้ร้องขอให้ดินแดนแห่งชนพื้นเมืองผืนนี้ได้รับการปกป้องตาม “สิทธิแห่งธรรมชาติ”
ในขณะเดียวกันที่อังกฤษ เจเรมี่ เบนธู ได้เขียน “หลักการของจริยธรรมและนิติบัญญัติเบื้องต้น” (An Introduction to Principles of Morals and Legislation) ซึ่งมีเนื้อหาเพื่อเรียกร้องให้ปกป้องสิทธิของสัตว์ (animal rights) และโธมัส มาลธัส ยังได้เขียนบทความอันโด่งดังไปทั่วเพื่อกล่าวเตือนว่าจำนวนประชากรมนุษย์ที่มากเกินไปจะนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม โดยความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนนั้นเริ่มขึ้นเมื่อ 200 ปีมาแล้วในตอนที่ ฌ็อง บาติสต์ โฌแซ็ฟ ฟูรีเย (Jean Baptiste Joseph Fourier) ได้คำนวณไว้ว่าชั้นบรรยากาศโลกกำลังกักเก็บความร้อนไว้ไม่ต่างกับเรือนกระจก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2378 ราฟ วาลโด เอเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) ได้เขียนหนังสือ Nature ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้มนุษย์เราสำนึกรู้คุณค่าของธรรมชาติเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องให้หยุดการลุกลามพื้นที่ป่าของมนุษย์ นอกจากนี้ วิลเลียม บาร์แทรม นักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกัน และ เจมส์ อูดูบอง นักปักษีวิทยา ยังอุทิศตนให้กับการดูแลพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่า อีกทั้งเฮนรี่ เดวิด เธอโร ยังได้ประพันธ์ความเรียงเกี่ยวกับระบบนิเวศที่มีอิทธิพลต่อคนรุ่นหลังอย่างมากชื่อ Walden ซึ่งนับเป็นแรงบันดาลใจของนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมหลายต่อหลายรุ่นทีเดียว
อีกไม่กี่ทศวรรษถัดมา จอร์จ เพอร์คินส์ แมร์ช ได้เขียน “มนุษย์กับธรรมชาติ” Man and Nature ขึ้นเพื่อประณามการก่อ “สงคราม” อย่างไร้สำนึกของมวลมนุษยชาติต่อผืนป่า และกล่าวเตือนถึงการที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังยืนกรานว่า “โลกของเราไม่อาจรอได้อีกต่อไปแล้ว” อันเป็นประโยคที่เรายังคงได้ยินกันอยู่ในทุกวันนี้
ในปี พ.ศ. 2435 จอห์น มูอีร์ (John Muir) ได้ก่อตั้งกลุ่ม The Sierra Club ขึ้นในสหรัฐอเมริกาเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าและพื้นที่ป่าภายในประเทศ โดยในอีก 70 ปีต่อมา หนึ่งในภาคส่วนของกลุ่ม The Sierra Club อันตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแคนาดาได้แยกตัวออกมาเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้น และกลุ่มนี้เองที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของกรีนพีซ
การต่อสู้ทางสิ่งแวดล้อม
“แนวคิดที่ว่าดินแดนคงอยู่เพื่อชุมชน คือแนวคิดพื้นฐานของนิเวศวิทยา” อัลโด ลีโอโพลด์ ได้เขียนไว้ใน A Sand County Almanac “แต่แนวคิดที่ว่าดินแดนนั้นคงอยู่เพื่อถูกรักและเคารพคือสิ่งที่เพิ่มเติมออกมาจากเรื่องของจริยธรรม … ซึ่งมันจะถูกต้องก็ต่อเมื่อมันสามารถคงไว้ซึ่งบูรณภาพ เสถียรภาพ และความงามแห่งชุมชนชีวภาพได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะถือว่าผิด”
ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อลิซ แฮมิลตัน นักเคมีผู้หนึ่งได้จัดโครงการต่อต้านพิษสารตะกั่วจากน้ำมันเบนซินปนเปื้อนสารตะกั่ว โดยยื่นฟ้องบริษัท เจเนรัลมอเตอร์ (General Motors) ข้อหาเจตนาฆ่า ทางบริษัทได้สู้คดีกลับแฮมิลตัน และต้องใช้เวลาถึง 50 ปีกว่ารัฐบาลจะสั่งห้ามมิให้มีการใช้น้ำมันเบนซินผสมสารตะกั่ว ในขณะเดียวกัน ปัญหาหมอกควันพิษจากภาคอุตสาหกรรมก็เข้าปกคลุมเมืองใหญหลายแห่ง ในปี พ.ศ. 2495 เหตุหมอกพิษในกรุงลอนดอนที่เลื่องลือไปทั่วได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 4,000 ราย โดยในอีก 4 ปีต่อมา สภาอังกฤษจึงได้ผ่านร่างกฏหมายควบคุมมลพิษในอากาศเป็นครั้งแรก
นิเวศวิทยาได้เติบโดขึ้นอย่างเต็มขั้นและกลายมาเป็นการเคลื่อนไหวระดับโลกควบคู่ไปกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้รู้สึกผิดมหันต์จากผลงานระเบิดนิวเคลียร์ของตนได้ร่างประกาศต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ในปี 2498 พร้อมด้วย เบอร์แทรนด์ รุซเซล นักปรัชญาชาวอังกฤษ และร่วมลงนามโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลถึงสิบคน จดหมายร่างนี้นำมาซึ่งการก่อตั้งกลุ่มรณรงค์เพื่อลดอาวุธนิวเคลียร์ (Campaign for Nuclear Disarmament: CND) ในอังกฤษ ซึ่งนับเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐรูปแบบใหม่โดยสันติ และในปี 2501 กลุ่มสมาชิกสมาคมเพื่อการต่อสู้โดยสันติได้ออกแล่นเรือสองลำชื่อ Golden Rule และ Phoenix เพื่อขวางพื้นที่บริเวณทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกา ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจของกรีนพีซในอีกสิบปีถัดมา
ต่อมา ราเชล คาร์สัน ยังได้สร้างความเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมอีกครั้งจากงานเขียน “ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน” (Silent Spring) ในปี 2505 โดยได้บรรยายถึงผลกระทบจากการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ “นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์” เธอเขียน “ที่มนุษย์ทุกคนบนโลกต้องเสี่ยงกับการได้รับสารเคมีอันตราย” และก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลง เธอได้กล่าวถึงจริยธรรมเชิงนิเวศวิทยาที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นผ่านทางบทความในนิตยสารฉบับหนึ่งไว้ว่า “มันจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องหันมามองโลกใบนี้อย่างพินิจพิจารณาถึงความงามแห่งธรรมชาติ เพื่อที่เราจะได้ตระหนักถึงความน่าพิศวงของมันและตระหนักถึงความต่ำต้อยของมนุษย์เรา”
ในประเทศอินเดีย ชาวบ้านในชุมชนโกเปชวา (Gopeshwar) ที่รัฐอุตตราขัณฑ์ ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากคานธีและบิชนอย ฮินดูส์ (Bishnoi Hindus) แห่งยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้ร่วมกันปกป้องป่าไม้เพื่อต่อต้านการตัดไม้เชิงพาณิชย์ โดยใช้วิธีล้อมรอบและโอบกอดต้นไม้ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้กระจายไปทั่วอินเดียตอนเหนือและรู้จักกันในชื่อ “ขบวนการโอบกอด” (Chipko Movement) นับเป็นผู้โอบกอดต้นไม้กลุ่มแรก
ต่อมาในปี 2511 คลิฟท์ ฮัมฟรีย์ นักเขียนชาวอเมริกัน ได้ก่อตั้ง “ขบวนการต่อสู้เพื่อนิเวศ” (Ecology Action) ขึ้น โดยเริ่มจากเหตุการณ์ผาดโผนครั้งหนึ่งที่ฮัมฟรีย์และผู้คนอีก 60 คนที่เขารวบรวมมาในเมืองเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ใช้รถ Dodge Rambler แห่งปี 2501 ของเขาเข้าปะทะพุ่งชนบนถนนในเมืองและประกาศกร้าวว่า “สิ่งนี้กำลังทำร้ายโลกของเรา” โดยอาจคาดเดาได้เลยว่าจากนั้นฮัมฟรีย์ได้กล่าวกับ บ็อบ อันเตอร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกรีนพีซว่า “นี่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น”
หนึ่งปีต่อมา ด้วยแรงบันดาลใจจากงานเขียนของคาร์สัน เชพเพิร์ด และแนส และจากการเคลื่อนไหวของขบวนการโอบกอดและขบวนการต่อสู้เพื่อนิเวศ กลุ่มนักกิจกรรมชาวแคนาดาและอเมริกันกลุ่มหนึ่งจึงเริ่มออกเดินทางสู่การเรียกร้องสันติภาพกับสิ่งแวดล้อม อันนับเป็นจุดเริ่มต้นของกรีนพีซ
เบน เมทคาล์ฟ ผู้ร่วมก่อตั้งกรีนพีซ ได้ติดตั้งป้ายประกาศขนาดใหญ่ 12 แห่งทั่วทั้งเมืองแวนคูเวอร์ โดยบนป้ายเขียนไว้ว่า
ระบบนิเวศ
จงศึกษาความหมายของมันให้ดี
คุณคือส่วนหนึ่งของมัน
หากมองจากปัจจุบันแล้วอาจจะดูแปลกอยู่บ้าง แต่ย้อนไปในปี 2512 คนจำนวนมากยังไม่รู้ความหมายของคำๆนี้ คำว่า “ระบบนิเวศ” ยังไม่ได้เป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไป แต่จากนั้นไม่นานคำนี้ก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในที่สุด
ในปี 2520 ภายหลังจากที่โครงการต่อต้านระเบิดนิวเคลียร์สองโครงการและและการเผชิญหน้ากับกลุ่มนักล่าวาฬจากโซเวียตและกลุ่มนักล่าแมวน้ำจากนอร์เวย์ กรีนพีซตัดสินใจซื้อเรืออวนเก่าในกรุงลอนดอนและตั้งชื่อใหม่ให้เรือลำนี้ว่า เรนโบว์ วอร์ริเออร์ (Rainbow Warrior) ตามตำนานพื้นเมืองของแคนาดา จากเรื่องเล่าของครี (The Cree story) นี้ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับกลุ่มนักรบสายรุ้ง โดย วิลเลียม วิลโลยา และวินสัน บราวน์ ที่เล่าถึงคราวที่ผืนดิน สายน้ำ และอากาศ ต่างปนเปื้อนไปด้วยพิษ และผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมารวมพลังกันเพื่อกอบกู้โลกเอาไว้
เกือบครึ่งศตวรรษผ่านไปหลังจากการก่อตั้งกรีนพีซ การเคลื่อนไหวเชิงนิเวศในระดับโลกได้กระจายตัวไปสู่ทั่วทุกมุมโลก โดยมีกลุ่มนักรณรงค์หลายพันกลุ่มตื่นตัวลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกัน ปัญหาที่เราต้องเผชิญก็กำลังทวีความรุนแรงและยากที่จะรับมือขึ้นเรื่อยๆ อีกครึ่งศตวรรษต่อจากนี้เราคงได้รู้กันว่ามนุษย์เราจะสามารถจัดการแก้ไขกับปัญหาต่างๆนี้ได้สำเร็จหรือไม่
บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่
————————–
Resources and Links:
Environmental History Timeline: Radford University
Ramachandra Guha: Environmentalism: A Global History, 2000
The European Society for Environmental History: ESEH.org
Environmental History, Oxford Journals
Donald Worster: Nature’s Economy: A History of Ecological Ideas, 1977
J. D. Hughes: Ecology in Ancient Civilizations (U. New Mexico Press, 1975): Oxford Academic
Society for Environmental Journalists: sej.org
Letakots-Lesa (Eagle Chief) and Natalie Curtis on Pawnee songs: Entersection
William Willoya and Vinson Brown: Warriors of the Rainbow
Alice Hamilton, MD: Exploring The Dangerous Trades, 1943
Aldo Leopold: Sand County Almanac, 1949
Rachel Carson: Silent Spring, 1962
Barry Commoner: The Closing Circle, 1971
Paul Shepard: The Tender Carnivore and the Sacred Game, 1973
Gregory Bateson: Mind and Nature, 1978
Roderick Nash: The Rights of Nature, 1989
Deep Ecology for the 21st Century: A good survey of ecology writers, Arne Naess, Chellis Glendinning, Gary Snyder, Paul Shepard, and others