ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้นำของประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลก หรือที่เรารู้จักในนามประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties : COP) ตั้งแต่การเข้าร่วมในความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี พ.ศ.2559 (รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) จนกระทั่งตอนนี้ในปี 2567 ที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร กำลังจะเข้าร่วมการประชุม COP29 ที่อาร์เซอรไบจานในเดือนพฤศจิกายนนี้
อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลนั้นยังคงเอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมฟอสซิล อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติเดินหน้าก่อวิกฤตโลกเดือดผ่านการฟอกเขียว ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นกลุ่มคนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด แต่เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด
การเอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่ทำให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางต้องเผชิญกับสารพัดวิกฤต (poly crisis) ทั้งผลกระทบจากหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งพวกเขาไม่ได้มีส่วนก่อขึ้น ผลกระทบเหล่านี้ซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความยากจนที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก
ขณะที่แผน Net Zero และความเป็นกลางทางคาร์บอนกลายเป็นเครื่องมือของบรรษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ใช้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทำให้อุตสาหกรรมฟอสซิลและผู้ก่อมลพิษยังเดินหน้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปได้
ในเวที ยุติภาวะโลกเดือดที่ต้นเหตุ: System Change Not Climate Crisis โดย เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและหยุดคาร์บอนเครดิต ได้จัดเวทีเสวนาในประเด็น วิพากษ์นโยบายโลกเดือด :จากความตกลงปารีสถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมรดก คสช. ส่งต่อรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง พร้อมผู้เข้าร่วมการเสวนา บารมี ชัยรัตน์ สมัชชาคนจน เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทย ดำเนินรายการโดย วิภาพร วัฒนวิทย์ นักข่าวพลเมือง Thai PBS
คาร์บอนเครดิต = ฟอกเขียว
บารมี ชัยรัตน์ จากสมัชชาคนจน อธิบายว่าประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อนเป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว แต่ที่เรายังแก้ปัญหาไม่ได้เสียทีก็เพราะว่าเหล่าผู้นำทราบอยู่แล้วว่าภาคอุตสาหกรรมนี่แหละที่เป็นตัวปัญหา และยังหาวิธีแก้ไขมันไม่ได้ UN จึงจัดการประชุมเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศขึ้นมา อย่างไรก็ตามการเจรจาระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคประชาสังคมก็ยังคงเจรจากันไม่ลงตัว ยื้อกันไปมา ภาคส่วนอุตสาหกรรมสนับสนุนวิธีการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ซึ่งเป็นกลไกชดเชยคาร์บอนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบรรษัทยักษ์ใหญ่ เช่น โครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ โดยเน้นไปที่การปลูกป่าเพื่อการดูดซับคาร์บอนเพื่อให้บรรษัทยักษ์ใหญ่มีสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่อ ซึ่งนโยบายเหล่านี้อาจนำไปสู่การฟอกเขียว แย่งยึดที่ดินและละเมิดสิทธิชุมชน
ใครอยู่เบื้องหลังวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ?
ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า แน่นอนว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ ยกตัวอย่างกรณีการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ ปตท.สผ.ปล่อยออกมา เมื่อคำนวนแล้วเราจะต้องใช้พื้นที่ของประเทศไทยกว่า 82% ในการปลูกป่าเพื่อชดเชยก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาเหล่านั้น
อย่างไรก็ตามเรายังคงเห็นความร่วมมือของภาครัฐกับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมพลังงานที่เป็นผู้ปล่อยมลพิษขนาดใหญ่ร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นอยู่เสมอ เช่น เมื่อวันที่ 3-4 ตุลาคมที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้จัดงาน Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024 ซึ่งเป็นงานผนึกกำลังกับภาคีนายทุนในการจัดงานครั้งนี้ แล้วพวกเราที่เสียภาษีให้รัฐบาลไปตั้งกรมโลกร้อน แล้วกรมโลกร้อนไปจัดงานแบบนี้อุ้มนายทุน การกระทำเช่นนี้แฟร์กับประชาชนแล้วหรือ?
หากรัฐบาลยังคงละเมิดสิทธิประชาชน เพิกเฉยเสียงประชาชนที่ได้รับผลกระทบแบบนี้ ผมคิดว่าต่อให้เรามีคณะเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศอีกหลายร้อยคณะ รัฐก็แก้ปัญหาที่ประชาชนเผชิญไม่ได้
ร่างกฎหมายแก้โลกร้อนที่เป็นธรรมต่อประชาชน ยังไม่มีพรรคไหนทำถึง
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ยืนยันว่า ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีร่างกฎหมายแก้ภาวะโลกร้อนที่ดีพอ เท่าที่ศึกษามาแม้ว่าร่างกฎหมายแก้ภาวะโลกร้อนของพรรคประชาชนจะดีกว่าใคร แต่ก็ยังไม่ดีพอเพราะยังมีประเด็นของคาร์บอนเครดิต ทางที่ดีควรเอาเรื่องนี้ออกไปเลย (ไม่สนับสนุนคาร์บอนเครดิต) ส่วนร่างกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐและกรมโลกร้อนนั้นปัดทิ้งได้เลย
จากสถานการณ์ข้างต้น การเริ่มร่าง พรบ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … จึงเป็นกลไกการควบคุม ตรวจสอบ ป้องกัน และรายงานถึงปัญหาภาวะโลกเดือดในอนาคต ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีการเสนอเข้าสภาไป 3 ฉบับ ได้แก่ร่างกฎหมายที่เสนอโดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาชน โดยในร่าง 2 ฉบับของ พรรคประชารัฐ และ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นร่างเดียวกัน ซึ่งมีความท้าทายและเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด
สิ่งที่ดีที่สุดคือการบังคับให้บริษัทผู้ปล่อยมลพิษลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้นทาง ส่วนภาคประชาชนควรมีร่างกฎหมายให้เน้นไปที่การตั้งรับและปรับตัวมากกว่า
ยุทธศาสตร์ชาติและระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC เป็นการยึดโยงกับรัฐบาลทหารมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน
สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า เมื่อรัฐมุ่งเน้นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ นำมาสู่การแย่งยึดพื้นที่พี่น้องประชาชนในป่า พี่น้องที่มีพื้นที่ทำกินหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีทรัพยากร นำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรและที่ดิน สุดท้ายคือความยากจนฉับพลัน ดังนั้นการพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่เพียงแต่ทำลายสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ แต่ได้ละเมิดสิทธิของประชาชนอีกด้วย
ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เปรียบเสมือนทางด่วนพิเศษที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ อย่างเช่นโครงการแลนบริดจ์ก็เป็นผลพวงจาก EEC เช่นกัน
ก่อนหน้าการรัฐประหารและการเกิดขึ้นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. พี่น้องประชาชนยังสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิได้บ้างในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการทรัพยากรซึ่งถือว่าเป็นการกระจายอำนาจสู่ประชาชน อย่างไรก็ตามหลังการรัฐประหาร ทำให้สิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการเหล่านี้หายไป รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กำกับให้รัฐบาลต่อจากรัฐบาลคสช.ต้องมีแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติต่อไป ส่วน EEC คือแผนที่ร่างออกมาก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 สุดท้ายก็นำมาบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ นำมาสู่การเขียนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เร่งรัดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าเป็นกลไกทางด่วนพิเศษ
อยากตั้งคำถามว่า แผนพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ประเมินเกี่ยวกับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศหรือไม่ ฝากถามถึงรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจุดยืนของรัฐบาลและกระทรวงอยู่ตรงไหนในเมื่อรัฐยังคงเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติโดยไม่สนใจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ และไม่สนใจร่วมมือทำงานกับกลุ่มคนตัวเล็ก ๆ ในป่า หรือชุมชนชายฝั่งที่แท้จริงแล้วพวกเขาต่างเป็นผู้รักษาป่า รักษาทรัพยากรทางทะเลและทำให้โลกเย็น
กลุ่มทุนพลังงานต้องปรับตัวตามนโยบายของรัฐ และไทยเคยทำได้ดีกว่านี้
ธารา บัวคำศรี อธิบายว่าปัจจุบัน ทุนพลังงานในไทยไปลงทุนแสวงหาทรัพยากรฟอสซิลในต่างประเทศ และแน่นอนว่ากลุ่มทุนเหล่านี้นี่เองที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของแผนนโยบายพลังงานชาติ เมื่อเทียบกับในอดีตแล้ว ก่อนหน้าการรัฐประหารโดยคณะคสช. ไทยขับเคลื่อนเรื่องพลังงานหมุนเวียนที่เป็นธรรมกับประชาชน กับปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าได้ดีกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสนับสนุนส่งเสริมการกระจายศูนย์พลังงานหมุนเวียน สิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือมันมีความเป็นประชาธิปไตยในระบบพลังงาน คนธรรมดาสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ไม่เหมือนปัจจุบันที่ระบบพลังงานทั้งถูกผูกขาดและยังไปละเมิดสิทธิชุมชน แม้ว่าจะเป็นระบบพลังงานหมุนเวียนก็ตาม
ในอดีตเรียกได้ว่าไทยเป็นผู้นำในการสนับสนุนระบบพลังงานหมุนเวียนที่เป็นธรรม แต่ปัจจุบันเวียดนามแซงหน้าเราไปแล้ว ส่วนไทยแทบจะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนไม่ได้เลย ด้วยระบบผูกขาดพลังงานที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้ทุนพลังงานรวมทั้งการสนับสนุนกลไกการซื้อขายคาร์บอนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตัวเอง ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกเดือด
ข้อเสนอ
บารมี ชัยรัตน์ เสริมว่า นอกจากกลุ่มทุนพลังงาน อุตสาหกรรมการขนส่งที่มีการดึงทรัพยากรมาใช้ ทั้งการขนส่งขนย้ายทรัพยากรต่าง ๆ ก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ระบบเศรษฐกิจมันดำเนินไปได้อยู่แล้วแต่ตอนนี้ปัญหาคือมีกลุ่มคนที่กำลังถูกแย่งยึดทรัพยากรและกำลังจะอดตาย สิ่งที่อยากเสนอคือ ผู้นำควรกลับมาทบทวนสักหน่อยดีไหม ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาให้หันมามองคนมากยิ่งขึ้น ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่ ต้องหยุดขยายการปล่อยมลพิษ หยุดการแย่งยึดที่ดินประชาชน และต้องชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหายต่อประชาชน โดยเฉพาะคนจน ต้องหันมาส่งเสริมประชาชนอย่างแท้จริงอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะคุณเป็นผู้แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติไปจากเรา คุณกำลังเป็นหนี้พวกเราที่เป็นประชาชนอยู่
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ มีข้อเสนอว่า ต้องหยุดสนับสนุนกลไกคาร์บอนเครดิต โดยร่างกฎหมายต่าง ๆ ต้องเอาเรื่องคาร์บอนเครดิตออก เพราะคาร์บอนเครดิตต่อไปจะกลายเป็นสินทรัพย์ในการซื้อขาย และกลายเป็นสิทธิการซื้อขายซึ่งจะกลายเป็นสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต ซึ่งเอื้อให้เกิดตลาดซื้อขายล่วงหน้าและจะกลายเป็นประเด็นธุรกิจแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้นเหตุ สุดท้ายชุมชนก็ยังเป็นผู้ที่ต้องเผชิญผลกระทบจากภัยพิบัติที่มาจากวิกฤตโลกเดือดอยู่ดี
นอกจากนี้ปฏิบัติการ การเคลื่อนขบวนของกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยแบบพวกเราต้องเข้มแข็ง หากกฎหมายลักษณะนี้ออกมาเราก็ต้องต่อสู้คัดค้าน เพราะไม่มีใครที่จะยอมยกพื้นที่ทำกินหรือผืนป่าที่อนุรักษ์ไว้อยู่แล้ว ไปเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ของนายทุนเพื่อซื้อขายคาร์บอนเครดิต
สุดท้ายคือรัฐไม่ควรจะมาบอกให้ประชาชนเป็นผู้ตั้งรับปรับตัว รับมือกับวิกฤตโลกเดือด แต่ต้องเป็นกลุ่มบรรษัทต่างหากที่ต้องตั้งรับปรับตัวด้วยการคิดวิธีทำธุรกิจแบบใหม่ที่ชะลอภาวะโลกเดือดและเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนมากกว่านี้
ธารา บัวคำศรี เสนอว่า ควรยุบองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพราะจัดตั้งขึ้นมาเพื่อการค้าคาร์บอนเครดิต แตกต่างจากต่างประเทศที่องค์การแบบนี้มีเพื่อบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เช่น เรามีป่า 1 ผืนเราได้เงินสนับสนุนเราได้ทรัพยากรมาเพื่อดูแลระบบนิเวศ ก็จะนำไปหักลบคาร์บอนในประเทศโดยไม่จำเป็นต้องให้บริษัทไหนมาเป็นเจ้าของหรือสัมปทานป่า มาแย่งทรัพยากรของพี่น้องประชาชนและสั่งให้ดูแลป่า ยังมีวิธีบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกตั้งหลายแบบที่ไม่ต้องใช้กลไกตลาด หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือทางธุรกิจของกลุ่มนายทุน
สุภาภรณ์ มาลัยลอย เสนอว่า ข้อแรกต้องยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ข้อสองรัฐต้องกระจายอำนาจให้ประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ที่เป็นบ้านของตนเอง อีกทั้งชุมชนต้องมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตน ไม่ใช่มีอำนาจแค่มีส่วนร่วม หยุดการวัดการพัฒนาแค่ที่ตัวเลย GDP รวมทั้งหยุดมุ่งพัฒนาเพียงแค่มิติอุตสาหกรรมเพียงมิติเดียว ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ด้วยการประเมินศักยภาพของแต่ละพื้นที่ซึ่งแตกต่างกันไป
สุดท้ายคือควบคุมการผลิตและการบริโภคที่ล้นเกิน เพราะตอนนี้คนที่เข้าถึงทรัพยากรก็เข้าถึงได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ใช้แล้วทิ้งขว้าง แต่ก็มีคนอีกกลุ่มที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรพลังงานหรืออาหาร เป็นต้น เพราะรัฐเอื้อกลุ่มทุนให้เข้าไปตักตวงทรัพยากรเสียหมด แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐก็ไปแย่งยึดทรัพยากรมาจากชุมชน สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
การพัฒนาต้องสมดุล ไม่ใช่แค่มองไปข้างหน้าอย่างเดียว ตัวชี้วัดหนึ่งที่อยากให้รัฐเพิ่มเติมคือ คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนแต่ละแห่งดีขึ้นหรือไม่ เพราะสิ่งนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าพี่น้องประชาชนไม่ถูกละเมิดสิทธิหรือแย่งยึดทรัพยากรในบ้านเกิดของตัวเองไป
เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและหยุดคาร์บอนเครดิตไม่อาจยอมให้ภาครัฐเดินหน้าฟอกเขียวให้กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารยักษ์ใหญ่ อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติได้อีกต่อไป
อ่าน จดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร เรื่อง “หยุดแก้วิกฤตโลกเดือดแบบจอมปลอม”
Discussion
ขอเสนอความคิดเห็นว่า อยากให้ชาวบ้านชาวสวนชาวไร่ที่มีที่ดินสปกทำกิน ให้แบ่งที่มาปลูกป่าเพื่อขายคาร์บอนเครดิตแก่บุคคลที่รักโลกรักษาสิ่งแวดล้อม ขายรายบุคคล หรือแก่นายทุนเองด้วยชาวบ้านเองจะดรไหมค่ะ สนับสนุนให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากการทำการเกษตรด้วยค่ะ