หลังจากกรีนพีซได้ร่วมกับนักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เพื่อทำงานวิจัยเพื่อวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองกับตัวแทนชุมชนประมงจาก จังหวัดชุมพร อ.จะนะและ อ.เทพา จ.สงขลา รวบรวมข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล ผ่านการสำรวจสัตว์ทะเลหน้าดิน แพลงก์ตอนสัตว์และสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้สภาพท้องทะเล และเป็นตัวกลางในการเชื่อมร้อยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเลและสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ในการทำงานอนุรักษ์ร่วมกับชุมชน

วินัย ปราณสุข นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล หรือ พี่นัย ได้ไปร่วมเก็บตัวอย่างหน้าดินเพื่อสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพกับ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ โดยภารกิจการเก็บตัวอย่างครั้งนี้เกิดขึ้นที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร และ อ.จะนะ จ.สงขลา เราอยากพาทุกคนมาสำรวจตัวตนของเขาและการเป็นนักวิจัยทางทะเลกับเนื้องานที่คนทั่วไปแบบเรา ๆ อาจไม่เคยเห็น

ย้อนกลับไปปีที่แล้ว ในเช้าที่แสงแดดจัดในเดือนสิงหาคม ทีมกรีนพีซ มาถึงห้องปฏิบัติการบริษัท มารีน อีโคเสิร์ช แมเนจเมนท์ จำกัด อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ตัวอย่างหน้าดินที่เก็บจากเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ถูกส่งมาเพื่อหาจำนวนของสัตว์หน้าดิน ค้นหาความหลากหลายทางชีวภาพของ อ.ปะทิว และ อ.จะนะ ที่นี่นอกจากกลุ่มนักวิจัยสิบกว่าคน (พร้อมน้องแมว 4 ตัว และน้องหมา 1 ตัว) เรายังพบปริมาณขวดเก็บตัวอย่างสัตว์หน้าดินอีกปริมาณมหาศาล กลุ่มพี่นักวิจัยกำลังส่องกล้องกันอย่างขะมักเขม้น
หลังจากถ่ายคลิปและเล่นซนด้วยการขอส่องกล้องดูไส้เดือนทะเล พวกเราจึงหาโต๊ะว่างสำหรับเริ่มการพูดคุยครั้งนี้กับพี่นัย

ทำไมถึงเลือกเป็นนักวิจัยทางทะเล
จุดเริ่มต้นของอาชีพนี้ พี่นัยบอกว่าก็ต้องมาจากทะเลอยู่แล้ว ซึ่งเริ่มต้นจากสนใจปะการังและการดำน้ำ จึงเข้าไปเรียนรู้ทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับการดำน้ำทำแนวปะการัง หรือสัตว์ทะเลที่เห็นได้ด้วยตา ในช่วงหนึ่งงานที่เกี่ยวกับปะการังเริ่มน้อยลงด้วยเรื่องงบประมาณต่าง ๆ ตอนนั้นเราทำงานในมหาวิทยาลัยก็เริ่มสอนการคีย์ข้อมูลปลา พอมีบุคลากรที่ทำงานในด้านนี้ได้แล้วเราก็เริ่มมาจับงานที่เกี่ยวกับสัตว์ทะเลขนาดเล็กบ้าง
“พองานวิจัยพวกปลาขนาดใหญ่มีคนทำเยอะแล้ว เรามาลองทำงานเกี่ยวกับสัตว์ทะเลขนาดเล็กที่ยังมีคนทำไม่เยอะอยู่บ้างดีกว่า ซึ่งเป็นงานที่เราไม่เคยทำมาก่อน ก็ต้องเริ่มด้วยการคีย์ข้อมูลลูกปลาเพราะเรามีพื้นฐานจากปลาขนาดใหญ่มาก่อน”

“เอาจริง ๆ ยากกว่าเดิมอีก (หัวเราะ) เพราะไม่ได้ใช้คู่มือจำแนกแบบไดโคโตมัส (dichotomous key: เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบชนิดหรือกลุ่มของสิ่งมีชีวิต) อธิบายง่าย ๆ คือ ให้ดูจาก 1 ไป 2 ถ้าดูแล้ว 1 ไม่ใช่ก็ให้ไปดูที่ข้อ 2 สมมติมีหัวมีหนาม ไปที่ข้อ 2 มีหัวไม่มีหนาม ไปที่ข้อ 3 พวกลูกปลาเราต้องมานั่งนับกล้ามเนื้อเองอะไรเอง”
แม้จะดูเป็นเรื่องท้าทายแต่พี่นัยบอกว่า เรื่องยาก ๆ พวกนี้พอเราทำได้ก็ทำให้เรารู้สึกภูมิใจในตัวเอง และเราเชื่อว่า ถ้ามีคนอยากให้เราลองทำเรื่องใหม่ ๆ แสดงว่าเขาเห็นศักยภาพในตัวเรา แต่ละคนมีความพิเศษอะไรอยู่ในตัว

“ถ้าเราได้รับโอกาสแล้วก็ต้องคว้าเอาไว้ ถ้าไม่ไหวค่อยว่ากันอีกที”
เรื่องเล่าจากนักวิจัยทางทะเล : วิธีการเก็บตัวอย่างหน้าดินจากก้นทะเล
พี่นัยเล่าว่า การเก็บตัวอย่างหน้าดินโดยปกติจะใช้เครื่องมือตักหน้าดิน ชื่อ Van Veen grab sampler และการใช้นักดำน้ำลงไปตักหน้าดินขึ้นมา อย่างไรก็ตามเนื่องจากเครื่องมือชนิดนี้จำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์ในการสนับสนุนการทำงาน จึงมีการเก็บตัวอย่างในรูปแบบของนักดำน้ำที่ดำลงไปตักหน้าดินด้วย ซึ่งการเก็บตัวอย่างทั้งที่ อ.ปะทิว และ อ.จะนะ ก็ใช้การเก็บตัวอย่างในรูปแบบทั้ง 2 แบบนี้

จากสายตาของเราในภาพรวมที่เห็นตัวอย่างหน้าดินคร่าว ๆ ก็จะเห็นว่าทั้งสองพื้นที่ว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพตามที่พื้นที่ทะเลชายฝั่งเป็น อธิบายเพิ่มคืออาจจะไม่ได้มีความว้าวเหมือนพื้นที่อย่างป่าโกงกาง หรือพื้นที่ที่น้ำทะเลมาบรรจบกับน้ำจืด แต่ก็เรียกได้ว่าอุดมสมบูรณ์เป็นปกติ
หลังจากนั้นก็จะเอาดินที่ตักได้มาผ่านตะแกรงร่อนและเริ่มการคัดแยกสัตว์หน้าดินที่เจอออกเป็นกลุ่ม ๆ หลังจากนั้นก็จะเริ่มแยกชนิด และนับจำนวนสัตว์ที่พบ ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องมีการตรวจสอบซ้ำ หรือการ QC เพื่อเช็คว่าผลที่ได้ถูกต้องไม่มีความผิดพลาด เป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้ข้อมูลน่าเชื่อถือ

“ขั้นตอนที่ยากที่สุด นานที่สุด น่าจะเป็นการจำแนกชนิด อย่างเช่น ไส้เดือนทะเล (Polycheata) เพราะว่าเป็นสัตว์ที่มีหลายกลุ่ม ตัวเล็ก และกระบวนการคอนเฟิร์มข้อมูลใช้เวลาค่อนข้างเยอะเพราะเรามีเครื่องมือจำกัด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่าง เช่น ไส้เดือนทะเลที่เก็บได้จากฝั่งอ่าวไทยจะมีหน้าตาเหมือน ๆ กัน แต่ไส้เดือนทะเลจากฝั่งอันดามันมีความหลากหลายมาก การทำงานในพื้นที่หลากหลาย เก็บประสบการณ์เยอะ ๆ จะช่วยร่นระยะเวลาเหล่านี้ได้”
ประสบการณ์ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างพร้อมกลุ่มชุมชนในพื้นที่
พี่นัยเล่าว่าเนื่องจากต้นทุนและค่าใช้จ่ายทำให้โดยปกติเราจะไม่ได้ชวนชุมชนมาลงพื้นที่ด้วยกัน แต่ว่าโดยปกติแล้วเวลาเราออกภาคสนามเราจะพยายามติดต่อพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน
“เพราะชาวบ้านเขารู้จักพื้นที่ของเขาดีที่สุด บ่อยครั้งพอเราไปทำงานที่หน้างานจริงเราจะขออาศัยความรู้ ประสบการณ์จากคนในพื้นที่เพื่อชี้จุดพื้นที่ให้ตรงกับเป้าหมายงานที่เรากำหนดไว้มากที่สุด อย่างงานของกรีนพีซ ที่มีหัวข้อว่าจะไปสำรวจพื้นที่ใน อ.ปะทิว จ.ชุมพร และ อ.จะนะ จ.สงขลา แต่เป้าหมายคืออะไร สมมติว่าไปสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ เราทำได้แค่ปักหมุดในแผนที่ แต่ชาวบ้านเขาจะชี้ได้ว่าตรงไหนมีน้ำเสีย”
งานวิจัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งพิเศษที่มีตัวแทนชุมชนจำนวนมากที่เป็นเจ้าของพื้นที่มาร่วมเก็บตัวอย่างวิจัย อย่างไรก็ตามก็มีความท้าทายหลายด้าน อย่างเช่น ความจริงการเก็บข้อมูลแบบนี้เราจะไม่เปลี่ยนมือบ่อย หมายถึงหากมีคนยิ่งจำนวนมากเข้าถึงตัวอย่างข้อมูลก็อาจเกิดข้อผิดพลาดทางข้อมูล (Error) ได้มาก โดยเฉพาะกระบวนการตักหน้าดินเก็บข้อมูล แต่ในการล้างหน้าดิน การคีบสัตว์ที่ตาเห็น ก็มีนักเรียนและชุมชนมาเป็นอาสาสมัครบ่อย ๆ เหมือนกัน
“เรามองว่ามันดีมาก ๆ เป็นการเปิดโลกอีกมุมให้กับชุมชน เพราะอย่างชาวบ้านทั้งใน อ.ปะทิว และ อ.จะนะ เขาจะมีคำถามในหัวแล้วว่า สัตว์น้ำหน้าบ้านของพวกเขาหายไปไหนหมด เป็นเพราะอวนลากหรือเปล่าที่ทำให้เกิดผลกระทบ หรือมีชาวบ้านเคยเสนอว่าเอาอวนลากมาช่วยพลิกหน้าดินไหมเพราะเขารู้ว่าในดินมีอะไรอยู่บ้าง”

“มีข้อถกเถียงที่น่าสนใจอย่าง ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งบอกว่าเมื่อมีอวนลากเข้ามาพวกเขาสามารถจับกุ้งจับสัตว์ได้เยอะขึ้น แต่อีกกลุ่มก็บอกว่าพออวนลากเข้ามาแล้วตะกอนฟุ้งทำให้ดินเสีย พอเขาได้มาลองสำรวจตัวอย่างที่เราเก็บขึ้นมาเขาก็จะเห็นว่ามันมีอะไรอยู่บ้าง เพราะมันมีหนอน มีหอยตัวเล็ก ๆ ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอยู่ในดินอีกที เขาก็จะรู้แล้วว่าดินที่ดูเหมือนไม่มีอะไรจริง ๆ แล้วมันมีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ ก็จะเกิดความหวงแหนและนำข้อมูลไปพัฒนาต่อยอดได้ เขาจะเอาไปอธิบายได้เลยว่าที่นี่ดินดีเพราะมีสัตว์เหล่านี้อยู่ ไม่ใช่แค่ยอมให้อวนลากเข้ามาในพื้นที่”
อยากให้งานนักวิจัยทางทะเล น่าสนใจในหมู่เด็กรุ่นใหม่
พี่นัยเสริมถึงพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ว่ารู้สึกดีใจที่ที่นี่มีน้อง ๆ คนรุ่นใหม่มาร่วมในการเก็บตัวอย่างครั้งนี้ น้อง ๆ จากชุมชนที่มีมีความกระตือรือร้น active มาก อย่างน้องคนนึงมาช่วยเราล้างดินตัวอย่าง มานั่งคีบสัตว์หน้าดินทุกวันเลย เขาอยู่ม.2 เอง แล้วก็ชอบมาก

“เนื่องจากเราเป็นทีมวิจัยเนาะ หลายครั้งเราต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่งานครั้งนี้ที่เรามากับเรือ เราวางแผนมาเลยว่าวันนี้เราจะไปเก็บกี่จุด เราก็เลยมีเวลาเยอะพอ แล้วเราได้เห็นคนที่ active อยากรู้อยากถาม เราก็อยากให้เขามาช่วยทำเพราะเราเห็นเขาทำแล้วเรามีความสุข บางครั้งทำงานอยู่แต่ในบรรยากาศเดิม ๆ เจอสัตว์หน้าตาเดิม ๆ มันก็เบื่อ แต่ช่วงเวลาที่เราได้ลงพื้นที่แล้วเจอผู้คนเจอชุมชน เจอคนสนใจที่จะศึกษาสิ่งที่เก็บมาได้ มันเหมือนการเติมไฟในการทำงานให้เราด้วย”
การเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมแบบนี้สำคัญมาก เพราะอาจมีเด็ก ๆ ที่สนใจและศึกษาข้อมูลเหล่านี้ในเชิงทฤษฎีมาบ้างแล้ว กิจกรรมแบบนี้จะเป็นเวทีที่ให้เขาได้มาเห็นของจริงและเขาจะได้เรียนรู้อะไรอีกหลายอย่างและนำไปพัฒนาต่อยอดได้ โดยเฉพาะคนที่มีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่กับทะเล ซึ่งหลายคนก็ปัจจุบันก็กลายเป็นนักวิจัยทางทะเล

“ตัวพี่เองก็เหมือนกัน เราชอบทะเล อะไรก็ได้ขอให้เป็นทะเลเราลุยหมด”
งานที่เราทำ ข้อมูลที่เราหามาได้จะช่วยชุมชนชายฝั่งยังไงบ้าง
พี่นัยยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าอย่างน้อยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ชุมชนชายฝั่งรู้และบอกได้ว่าหน้าบ้านของพวกเขามีอะไร
“ชาวบ้านจะรู้ว่าทะเลหน้าบ้านของพวกเขามีอะไร อุดมสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหนและเราจะปกป้องพื้นที่หน้าบ้านของพวกเราได้ยังไง ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้จากข้อมูลที่เราสำรวจมาและคืนผลวิจัยให้กับชาวบ้าน ข้อมูลเหล่านี้จะมีรูปภาพสัตว์หน้าดินระบุชนิด และบอกว่าสัตว์เหล่านี้มีความสำคัญยังไงบ้าง

“อย่างไส้เดือนทะเลบางกลุ่มก็จะเป็นอาหารให้กับสัตว์ในห่วงโซ่ความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ถ้าเราเจอกลุ่มที่ไม่ดี ก็สามารถเอาข้อมูลไปคุยกันต่อในชุมชนถึงแนวทางจัดการแก้ปัญหาก็ได้ เช่น เราเจอกลุ่มไส้เดือนทะเลที่โตได้ดีในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ เพราะได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำของบ่อกุ้งในชุมชน แบบนี้ชุมชนก็จะมีข้อมูลหนักแน่นพอที่จะไปเจรจาแก้ปัญหาได้”
ส่วนในฐานะนักวิจัย เราก็ต้องให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง อะไรดีก็ต้องบอกดี อะไรไม่ดีก็ต้องบอกว่าไม่ดีตามความจริง

ของอร่อยใน อ.ปะทิว และ อ.จะนะ
เมื่อถามถึงการลงพื้นที่ของเหล่านักวิจัย สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ‘อาหาร’ เพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้อง ดังนั้น ของอร่อยจากชุมชนท้องถิ่นเปรียบเสมือน Hidden Gem หายาก น้อยครั้งจะได้กิน
“ของอร่อยที่ไม่เคยกินใน อ.ปะทิว คือแกงส้มทุเรียนที่บ้านลุงเช็ค เราอยู่ทางใต้นี่กินทุเรียนสุกกันหมด การเอาทุเรียนมาแกงเป็นเมนูที่แปลกใหม่เลย และเราประทับใจลุงเช็ค ลุงเช็คเป็นคนในชุมชนปะทิวทำธนาคารปู ตอนแรกเราคิดว่าธนาคารปูของแกคงจะใหญ่มากมีสปอนเซอร์ให้เงินมาทำ แต่พอได้เห็นจริง ๆ ธนาคารของแกไม่ได้ใหญ่มาก สิ่งที่ใหญ่คือพลังในตัวแกเพราะลุงเช็คสามารถรวมเอาชุมชนให้หันมาสนใจที่จะปกป้องทะเลหน้าบ้านได้ ส่วนจะนะเนี่ยสำหรับเราก็อร่อยทุกอย่างเพราะชินแล้ว จะนะอยู่ใกล้บ้านเรากินบ่อย (หัวเราะ)”

พอมาถึงประเด็นของกินห้องวิจัยก็ครึกครื้นกันทันที และมีประเด็นที่น่าสนใจหนึ่งนั้นก็คือปูแต่ละพื้นที่รสชาติไม่เหมือนกัน ทริปของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ที่ต้องไปทั้งชุมพรและจะนะ สงขลา ทำให้ทีมงานได้ลองกินปูทั้งสองพื้นที่ และตั้งข้อสังเกตว่า ปูทั้งสองพื้นที่รสชาติไม่เหมือนกัน (รู้สึกว่าปูที่จะนะหวานกว่าปูที่ชุมพร แต่ไม่ได้หมายความว่าที่ไหนอร่อยกว่าที่ไหน) พี่นัยช่วยไขข้อสงสัยข้อนี้ว่า
“เคยได้ยินเรื่อง ปลาสามน้ำ ไหม ปลาตัวเดียวสามารถปรับตัวให้อยู่ได้ในทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย พวกปลาที่อยู่ในทะเลสาบมักจะเป็นปลาสามน้ำ ส่วนปลาที่อยู่ทะเลข้างนอกที่น้ำเค็มอย่างเดียวเนื้อจะแข็ง ปลาทะเลยิ่งอยู่ใกล้ฝั่งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำจะได้รับน้ำจืดบ้าง เนื้อจะนุ่มมากกว่าปลาทะเลข้างนอก ปูก็เหมือนกัน แต่ว่าปูที่อยู่ใกล้ฝั่งขนาดตัวของมันจะไม่ใหญ่มาก ถ้าสังเกตดูไซส์ปูที่ชุมพรกับจะนะจะไม่เหมือนกัน และปูที่นี่ (สงขลา) จะได้รับอิทธิพลจากน้ำจืดด้วยเลยทำให้เนื้อปูมีความมันความหวาน”
จริงไหมที่ปลาตาเดียวเกิดจากตาสองข้างไหลมาอยู่ข้างเดียวกัน
ก่อนหน้าที่เราจะไปเยี่ยมเยียนพี่นัยที่ห้องปฏิบัติการ พวกเรามีโอกาสไปเที่ยวทัวร์ลาต๊ะ one day trip ที่จัดโดยกลุ่มนักรบผ้าถุง กลุ่มชุมชนชายฝั่งที่ขับเคลื่อนงานรณรงค์ปกป้องทะเลหน้าบ้านใน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ระหว่างทางเราไปสำรวจแพปลาแล้วก็เจอกับเจ้าปลาตาเดียว ที่วิถีชีวิตของมันจะนอนราบกับพื้นทะเลและฝั่งที่มันใช้นอนราบกับทะเลก็ไม่มีตา พี่นัยอธิบายว่ามันเป็นวิวัฒนาการของปลาชนิดนี้ แกเรียกมันว่า ‘ปลาซีกเดียว’
“ปลาซีกเดียวเนี่ย ระยะที่มันยังเป็นลูกปลาอยู่ตามันยังอยู่สองข้างซ้ายขวานะ แต่เมื่อมันโตขึ้นจนถึงวัยที่ต้องลงหน้าดินแล้ว ตามันก็จะไหล แบบเหล่ไปเรื่อย ๆ ไปกองอยู่ฝั่งเดียวกันจนชิดกัน เวลาเอาตัวแนบหน้าดินตาทั้งคู่ก็อยู่ด้านบน ด้านที่แนบกับหน้าดินจะเป็นตัวของมันจะเป็นสีขาว มองผืนน้ำทะเลด้านบนทั้งหมดเพื่อคอยสังเกตผู้ล่าหรือมองหาอาหารจากด้านบน เวลาว่ายน้ำก็จะขยับตัวเหมือนปลิวไปเรื่อย ๆ อาหารของมันคือปลาตัวเล็ก ๆ และสัตว์หน้าดิน”
พี่นัยชอบสัตว์ทะเลชนิดไหน และอยากเป็นสัตว์ทะเลตัวไหนมากที่สุด
‘เต่ามะเฟือง’ คือคำตอบของพี่นัย นั่นเป็นเพราะเต่าเป็นสัตว์กลุ่มที่มีวิวัฒนาการมานานแล้ว เต่าทะเลทั่วโลกมีอยู่แค่ 6-7 ชนิดเอง

“เต่ามะเฟืองเป็นเต่าที่ไม่เหมือนชาวบ้าน เต่าชนิดอื่น ๆ เขาจะมีเกล็ดซ้อน ๆ กันแต่เต่ามะเฟืองเป็นเต่าที่มีกระดองเดียวใหญ่ ๆ มันจะมีเส้นบนกระดอง 5 เส้นเหมือนมะเฟืองนะและยังเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งประชากรของมันทั่วโลกไม่ได้มีเยอะ ทำให้โอกาสที่จะเจอพวกมันขึ้นมาวางไข่ค่อนข้างน้อย พี่ก็ยังไม่เคยเจอเต่ามะเฟืองตัวจริงเหมือนกัน”
“ถ้าถามว่าอยากเป็นสัตว์ชนิดไหนก็ยังอยากเป็นเต่ามะเฟืองอยู่นะ เพราะถ้าเราศึกษาเส้นทางการหากินของเต่ามะเฟืองเราจะพบว่ามันเดินทางไปทั่วโลกเลยนะ แต่เต่ามะเฟืองเกิดที่ไหนมันจะกลับมาวางไข่ที่นั่น เราเองก็เป็นคนที่ชอบการผจญภัยไปที่โน่นที่นี่ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสุดท้ายเมื่อเราเติบโตในระดับหนึ่งเราก็กลับมาที่บ้านเกิดที่เดิม ถ้าเรายังผูกพันกับบ้านเราก็หนีจากบ้านเกิดของตัวเองไม่ได้หรอก”
หลังจากการพูดคุยครั้งนี้ พวกเราหวังว่าพี่นัยจะได้เจอเต่ามะเฟืองตัวจริงเร็ว ๆ นี้นะคะ