แม้ฉลามจะได้ชื่อว่าเป็นนักล่าแห่งมหาสมุทรและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศใต้ทะเล แต่ฉลามก็จัดเป็นสัตว์กลุ่มที่ถูกคุกคามที่สุดในโลกเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับสถานภาพของปลาฉลามและปลากระเบนทั่วโลกว่า สถานภาพการอนุรักษ์ของสัตว์กลุ่มนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะราวหนึ่งในสี่ของกลุ่มปลาฉลามและปลากระเบน 1,041 ชนิดทั่วโลกกำลังถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ และมีเพียง 23% เท่านั้นที่มีประชากรอยู่ในระดับปลอดภัย

Shark in the Indian Oean. © Will Rose / Greenpeace

Underwater view of a shark swimming in the Indian Ocean.

“ผลการวิเคราะห์ของเราแสดงให้เห็นว่าฉลามและญาติๆของมันกำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างน่าเป็นห่วงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะชนิดที่มีขนาดใหญ่และอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งที่ทับซ้อนกับพื้นที่ประมง” Dr Nick Dulvy แห่งมหาวิทยาลัย Simon Fraser ในแคนาดา และประธานร่วมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านฉลาม (Shark Specialist Group) ของ IUCN กล่าว งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร eLife เมื่อปี 2557

ภัยคุกคามสำคัญที่สุดของฉลามคือการถูกจับมากเกินไป (Overfishing) ความต้องการหูฉลามมาทำเป็นซุปหูฉลามเป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้เกิดการล่าฉลามเป็นจำนวนมาก แต่ในระยะหลังเนื้อฉลามก็สามารถนำมาแปรรูปเป็นส่วนประกอบของอาหารทะเลแปรรูปต่างๆได้ เช่น ลูกชิ้น จึงทำให้มูลค่าทางการประมงของฉลามยิ่งเพิ่มสูงขึ้น การจับฉลามหรือกระเบนได้โดยไม่ตั้งใจจึงกลายเป็นสิ่งที่ชาวประมงพอใจ หรือแม้กระทั่งมีการใช้เหยื่อล่อฉลามเป็นการเฉพาะมากขึ้น  ในขณะที่จำนวนฉลามในธรรมชาติก็ลดลงอย่างรวดเร็วทั่วโลก พื้นที่หลายแห่งอยู่ในสภาวะวิกฤติ ฉลามหลายชนิดมีประชากรลดลงกว่า 90-95% ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

Sharks at Fishing Port in Thailand. © Chanklang Kanthong / Greenpeace

Sharks at Fishing Port in Thailand.

 

ฉลามมีลักษณะทางชีววิทยาที่แตกต่างจากปลาอื่นๆ ตรงที่พวกมันโตช้า ใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และออกลูกคราวละไม่กี่ตัว ถ้าเทียบกับปลาชนิดอื่นๆที่ออกไข่ทีนึงเป็นหมื่นเป็นแสนฟอง จะว่าไปลักษณะชีววิทยาของฉลามจึงมีลักษณะคล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด คือ โตช้า มีอัตราการขยายพันธุ์ต่ำโดยธรรมชาติ

มีสถิติว่าทุกปีมีฉลามนับร้อยล้านตัวถูกฆ่าเพราะความต้องการหูฉลามและการติดเครื่องมือประมงโดยไม่ตั้งใจ นั่นคิดเป็นวันละกว่า 2 แสนตัว หรือชั่วโมงละ 1 หมื่นตัว นาทีละ 200 ตัว หรือทุกๆครั้งที่เข็มวินาทีกระดิก มีฉลามถูกฆ่าตาย 3 ตัว!! ด้วยอัตราการล่าขนาดนี้ และยังมีความต้องการนำฉลามมาใช้ประโยชน์อย่างไร้การควบคุม ฉลามย่อมไม่อาจทดแทนประชากรตัวเองได้ทัน และมีความเสี่ยงที่จะล่าจนสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ได้ง่าย

Shark Fins on Fishing Vessel in the Pacific Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace

Shark Fins on Fishing Vessel in the Pacific Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace

 

รายงานการวิจัยอีกฉบับที่ศึกษาการลดลงของฉลามทั่วโลกระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในบริเวณที่ประชากรฉลามและกระเบนหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก โดยฝั่งอันดามันมีปริมาณฉลามที่จับได้ลดลงกว่า 96% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับสถานะของประเทศไทยที่กลายเป็นผู้ส่งออกหูฉลามอันดับหนึ่งของโลกแซงหน้าจีนและฮ่องกง ตามข้อมูลระหว่างปี 2000-2011 ของ FAO องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ

งานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Fish Biology โดยนักวิจัยคนไทย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย พบว่าความหลากหลายของปลาฉลามที่จับได้ลดลงจากงานวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างมาก รวมทั้งการลดลงอย่างน่าตกใจของฉลามขนาดใหญ่ชนิดที่โตช้า และใช้เวลานานในการเข้าถึงวัยเจริญพันธุ์​โดยเฉพาะในวงศ์ฉลามหัวค้อน (Sphyrinidae) เช่นฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน (Scallop hammerhead shark) ฉลามหัวค้อนใหญ่ (Great hammerhead shark) และวงศ์ฉลามครีบดำ (Carcharhinidae)

นอกจากนี้ฉลามที่พบระหว่างการสำรวจยังเป็นฉลามวัยเด็กและตัวอ่อนเป็นส่วนใหญ่ บ่งชี้ปัญหาสำคัญอีกอย่างว่ามีการทำประมงในแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน แน่นอนว่าฉลามเหล่านี้จะไม่มีโอกาสได้เติบโตขึ้นมาทดแทนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ภาวะการณ์ดังกล่าวตอกย้ำภาพที่ชัดเจนว่า ประชากรฉลามหลายชนิดในประเทศไทยน่าจะอยู่ในภาวะวิกฤติและเสี่ยงต่อการหมดไปจากทะเลไทยแล้ว

Fishing Port in the Philippines. © Veejay Villafranca / Greenpeace

Fishing Port in the Philippines. © Veejay Villafranca / Greenpeace

 

การจะอนุรักษ์ฉลามไว้ได้เราจำเป็นต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ ทัศนคติใหม่ต่อฉลาม นอกจากงดบริโภคหูฉลามและควบคุมการจำหน่ายมากกว่านี้ เรายังต้องช่วยกันคิดและวางกติการ่วมกันใหม่ว่าเราจะใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกันอย่างไร เราจะจัดการประมงอย่างไรให้มีความยั่งยืน และจะกำหนดและจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลกันอย่างไรให้เข้มแข็งจริงจัง

ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศในท้องทะเลเป็นสายใยที่สลับซับซ้อน และฉลามคือหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการควบคุมให้ระบบนิเวศอันเปราะบางนี้ดำเนินต่อไปได้ หากวิวัฒนาการ 400 ล้านปีของฉลามต้องมาพบกับจุดจบในยุคมนุษย์ครองโลก เราน่าจะพอคาดเดาได้ไม่ยากว่าจุดจบของทะเลและสายพันธุ์มนุษย์จะเป็นอย่างไร 

เอกสารอ้างอิง:

Arunrugstichai, S., True, J.D. & White, W.T. (2018). Journal of Fish Biology doi:10.1111/jfb.13605

Davidson, L. N., Krawchuk, M. A. & Dulvy, N. K. (2016). Why have global shark and ray landings declined: improved management or over-fishing? Fish and Fisheries 17, 438–458. https://doi.org/10.1111/faf.12119  

Dent, F. & Clarke, S. (2015). State of the global market for shark products. FAO Fisheries and Aquaculture Technical Paper 590. Rome: FAO. http://www.fao.org/3/a-i4795e.pdf

Dulvy, N.K. et al. (2014). Extinction risk and conservation of the world’s sharks and rays. eLife 2014;3:e00590. DOI: 10.7554/eLife.00590

Krajangdara, T. (2005). Species, maturation and fishery of sharks in the Andaman Sea of Thai- land. Thai Fisheries Gazette 48, 90–108 (in Thai).

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม