กรุงเทพฯ,  14 พฤศจิกายน 2567– กรีนพีซ ประเทศไทยเปิดความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์กับผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ผ่านงานนิทรรศการ “เนื้อสัตว์ น้ำท่วม ฝุ่นพิษภาคเหนือ วิกฤตโลกเดือด เกี่ยวกันอย่างไร”  ตั้งแต่ 2 พ.ย. – 15 ธ.ค. 67 ที่ BACC pop⋅up, ห้องนิทรรศการ 2 ชั้น 3 แมด, มันมัน ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์

รู้หรือไม่ว่าเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในตัวการทำให้โลกเดือด กรีนพีซชวนมาดูนิทรรศการที่จะทำให้คุณรู้ว่าเนื้อสัตว์ น้ำท่วม ฝุ่นพิษภาคเหนือและวิกฤตสภาพภูมิอากาศเกี่ยวโยงกันอย่างไร โดยรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้นของกรีนพีซซึ่งเผยถึงผลกระทบของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และการวิเคราะห์การปล่อยก๊าซมีเทนจากบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมจาก รายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซ นอร์ดิก  โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

  • ระหว่างปี 2558-2566 ผืนป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 11.8 ล้านไร่ (ตอนบนของ สปป.ลาว มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด 5.7 ล้านไร่ ตามมาด้วยรัฐฉาน(เมียนมา) 3.1 ล้านไร่ และภาคเหนือตอนบนของไทย 2.9 ล้านไร่)
  • ระหว่างเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2566 พบจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีสัดส่วน 41% หรือเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงเวลาเดียวกันระหว่างปี 2558-2563 ที่มีสัดส่วนเฉลี่ย 31%
  • การปล่อยก๊าซมีเทนจากบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม 29 แห่ง เทียบเคียงได้กับการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคอุตสาหกรรมฟอสซิล 100 อันดับแรกของโลก
  • หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในปริมาณกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม อุณหภูมิโลกสามารถลดลงได้ 0.12 องศาเซลเซียสภายในปี 2593  การลดการผลิตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนมลงจะช่วยลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลงได้ร้อยละ 37 แต่หากยังคงปริมาณการผลิตดังเดิม คาดการณ์ว่าแค่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนมแค่ภาคส่วนเดียว จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้น 0.32 องศา

ในภูมิภาคอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดน ซึ่งในระดับโลกอุตสาหกรรมนี้ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึงเกือบ 1ใน 3 ของก๊าซเรือนกระจกจากทุกภาคส่วน การทำปศุสัตว์เป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทนจากมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุด อีกทั้งยังเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเร็วในระยะเวลาสั้น ขณะนี้ผลกระทบจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ต่อประเทศไทยกำลังปรากฎชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นพิษข้ามแดน การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าและวิกฤตโลกเดือด 

กรีนพีซ ประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายที่ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งภายในและนอกประเทศ ควบคู่ไปกับการบังคับใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อร่วมมือกับนานาประเทศในการลดวิกฤตโลกเดือดได้อย่างแท้จริงตั้งแต่ต้นทาง

#CutMethaneNow

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย

อีเมล. [email protected] โทร.081 929 5747


กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมทำงานกับเครือข่ายชุมชน

เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนในหลากรูปแบบประเด็น เราส่งเสริมสันติภาพ โดยไม่รับเงินสนับสนุนจากบริษัท รัฐบาล หรือ พรรคการเมืองใด เพื่อความเป็นอิสระทางการทำงาน