ครั้งหนึ่ง วอลท์ วิทแมน นักเขียนชาวอเมริกันคิดใคร่ครวญว่า สิ่งใดกันที่ทำให้ชีวิตมีค่า เขาให้คำตอบกับคำถามนี้ง่าย ๆ ว่า “การที่ธรรมชาติยังคงอยู่”
สิ่งที่เชื่อมโยงความคิดเราถึงสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุดก็คือป่า สรรพสัตว์ เสียงร้องของนกและแมลง ผืนป่าเป็นระบบนิเวศที่หลากหลายที่สุดบนผืนโลกของเรา โดยกว่าร้อยละ 801 ของทุกสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้อยใหญ่ไปจนถึงแมลงและพันธุ์พืชนั้น ล้วนมีผืนป่าเป็นบ้าน มนุษย์เองก็เคยเป็นเช่นนั้น แต่การเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์และการขยายขึ้นของเมืองทำให้เราขยับห่างออกจากป่าไกลขึ้นไปทุกที จนบางครั้งเราอาจหลงคิดไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับป่านั้นห่างไกลกับตัวเราเหลือเกิน ในความเป็นจริงนั้นชีวิตของเราผูกพันกับป่ามากกว่าที่คิด ตั้งแต่น้ำแก้วแรกที่เราดื่มตอนเช้า ยาสีฟัน สบู่ แชมพู เสื้อผ้า ขนม อาหารทุกมื้อที่เรากิน ไปจนถึงทุกลมหายใจ

ข่าวคราวไฟป่าที่รุนแรงขึ้น และกินพื้นที่มากขึ้นทุกปีนั้น อาจมีที่มาจากอาหารและเกษตรเชิงอุตสาหกรรม โดยข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ราวร้อยละ 80 ของพื้นที่ป่าที่สูญเสียไปนั้นมีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไปเป็นพื้นที่การเกษตร2 ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าที่เกิดในที่ห่างไกลออกไปอย่างแอมะซอนที่เชื่อมโยงกับการผลิตเนื้อวัว ป่าอินโดนีเซียที่เชื่อมโยงกับการผลิตน้ำมันปาล์ม (ที่อยู่ในสิ่งอุปโภคบริโภคต่าง ๆ อย่างสบู่ ยาสีฟัน และชอคโกแลต) หรือใกล้ตัวเราอย่างภาคเหนือตอนบนของไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่เชื่อมโยงกับการผลิตพืชอาหารสัตว์นั้น ต่างล้วนมีอุตสาหกรรมเกษตรเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเผาไหม้และสูญเสียพื้นที่ป่าไม้
การทำเกษตรในระดับอุตสาหกรรมนั้นเชื่อมโยงกับการใช้ผืนดินมหาศาล และการโหมใช้สารเคมี ภูมิประเทศทางธรรมชาติที่เคยอุดมด้วยป่าสมบูรณ์ถูกแปรสภาพเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ถูกแทนที่ด้วยการเพาะปลูกพืชเพียงไม่กี่สายพันธุ์ซึ่งเป็นพืชไร่และพืชเพื่อปศุสัตว์ต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน
เรากำลังใช้ชีวิตใต้หมอกควันพิษเป็นเวลาหลายเดือนต่อปีซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกปีอันเนื่องมาจากเกษตรและปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเหล่านี้ แต่ผลกระทบของการสูญเสียพื้นที่ป่าไม่ได้มีแค่หมอกควันพิษเท่านั้น ป่าเป็นบ้านของสรรพชีวิตและเป็นพื้นที่รวมความหลากหลายของธรรมชาติ รวมถึงสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อย่างแมลงและจุลชีพที่ทำให้โลกหมุนไป การสั่นทอนของระบบนิเวศป่าไม้จะทำให้สูญเสียความสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพค่อย ๆ ล่มสลายไป

ราว 50 ปีก่อน หนังสือชื่อ “Silent Spring” หรือฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน โดยราเชล คาร์สัน ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในด้านการขับเคลื่อนทางสิ่งแวดล้อม คาร์สันได้สะท้อนถึงพิษร้ายของสารเคมีและยาฆ่าแมลงที่ใช้ในการเกษตร เธอเผยว่ายาฆ่าแมลงนี้ไม่ได้ทำร้ายแค่แมลงเท่านั้น แต่สามารถฆ่านกและแมลงที่ไม่ใช่เป้าหมาย ตกค้างในดิน น้ำ ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร รวมถึงส่งผลต่ออาหารของเรา ระบบเกษตรเชิงอุตสาหกรรมและการใช้สารเคมีทำให้ป่าเงียบงัน ปราศจากเสียงนกเสียงแมลง แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรแม้แต่ในยุคนั้น แต่คาร์สันเป็นผู้ที่รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ ให้กับประชาชน ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง
ในครั้งนั้นคาร์สันถูกฟ้องโดยบรรษัทสารเคมียักษ์ใหญ่ของอเมริกา3 แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลสหรัฐฯก็นำคำร้องของเธอไปสอบสวนอีกครั้ง แม้จะหลังจากที่เธอเสียชีวิตราวสิบปีให้หลัง กฎหมายแบนการใช้ดีดีทีที่ถือว่าเป็นจุดริเริ่มในการปกป้องสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเกษตรก็ได้เกิดขึ้น
ป่าที่ลดน้อยลง และเสียงที่สงัดเงียบปราศจากชีวิตนั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผลกระทบจากอุตสาหกรรมเกษตร ยังมีสิ่งที่ไม่อาจมองเห็น ไม่อาจได้ยิน แต่สำคัญเท่าลมหายใจ

ผืนป่าและผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ คือ ผู้ช่วยหลักในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ตัวการสำคัญของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ถ้าหากเราต้องการให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ขึ้นสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่จำเป็นเพื่อที่จะสามารถควบคุมสภาพอากาศเอาไว้ได้ ทั้งผืนป่า ทุ่งหญ้า และพื้นที่ชุ่มน้ำที่สมบูรณ์จะช่วยดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศลงมาเพื่อล็อคมันไว้ในต้นไม้และดิน
การแปลงผืนป่าเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรเชิงเดี่ยวและปศุสัตว์ในระดับอุตสาหกรรมนั้นทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เกือบหนึ่งในสามของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกมาจากเกษตรและปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม4 และในวัฎจักรเดียวกันนี้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ก็ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่เร่งรุดการเปลี่ยนพื้นที่ป่า
- กฎหมายเอาผิดบริษัทต่อการก่อเกิดไฟป่า คือจิ๊กซอว์แก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน
- การกินเนื้อสัตว์ของเรา ทำให้โลกร้อนได้อย่างไร?
รายงานล่าสุดของจากคณะกรรมการของสหประชาชาติด้านความร่วมมือระหว่างรัฐบาล เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกหรือ IPCC5 ได้เผยแพร่ฉบับพิเศษถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งใจความสำคัญได้ระบุไว้ว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตอาหารและการจัดการผืนดินของโลก ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไว้ไม่ให้สูงไปกว่าขีดจำกัดที่ปลอดภัย และส่งผลให้เกิดความล่มสลายของระบบนิเวศ ข้อเสนอแนะของ IPCC คือ จำเป็นต้องมีการจัดการผืนดินอย่างยั่งยืนมากขึ้น เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ดังเช่นในปัจจุบัน มีการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อต่อกรกับภาวะแล้งและการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิ รวมถึงการลดบริโภคเนื้อสัตว์
เรากำลังดำรงอยู่ในยุควิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉิน และเหลือเวลาอีกไม่มากนักที่จะควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกนั้นไม่สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และการหยุดระบบอาหารที่ไม่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้นคือตัวแปรสำคัญที่จะช่วยชะลอผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
การฟื้นฟูป่าใช้เวลานาน การผลักดันเพื่อเปลี่ยนนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอาจจะใช้เวลานานกว่า ดังเช่นที่คาร์สันได้เคยผลักดัน แต่สิ่งที่เราทุกคนทำได้เพื่อป่าของเราคือ การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ กินผักมากขึ้น และเลือกสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ไม่เชื่อมโยงกับการทำลายผืนป่าและก่อมลพิษ นี่คือวิถีทางเลือกที่เราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน บอกภาครัฐและอุตสาหกรรมว่าเราต้องการอนาคตเช่นไร เพราะพลังผู้บริโภคคือตัวแปรสำคัญ
เพียงแค่เราปล่อยให้ผืนป่าเยียวยาตนเอง ก็จะสามารถเยียวยาความมั่นคงทางอาหาร ระบบนิเวศ และสภาพภูมิอากาศได้ แต่จะดีกว่านั้น ถ้าเราทุกคนช่วยกันลงมือเปลี่ยนแปลง เริ่มจากสิ่งเล็กน้อยอย่างการกิน เพื่อสุขภาพของเราและโลก
ข้อมูลอ้างอิง
- UNFCCC, International day of forests
- FAO, Productive and healthy forests are crucial for meeting sustainable development, climate, land and biodiversity goals
- The Guardian, Rachel Carson and the legacy of Silent Spring
- กรีนพีซ, รายงานลดเพื่อเพิ่ม (Less is More)5. IPCC, Special Report “Climate Change and Land”

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์
มีส่วนร่วม
Discussion
ในภาวะโลกร้อนเช่นนี้เราควรช่วยกันสร้างแรงจูงใจในการปลูกต้นไม้ ให้กับโลกใบนีัโดยเฉพาะไม้ยืนต้นเพื่อให้โลกใบนี้เพิ่มที่สีเขียวเพิ่มพื้นที่ให้กับระบบนิเวศน์ มนุษย์ส่วนใหญ่ทำร้ายทำลายธรรมชาติทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว โลกใบนี้เองก็ปรับตัวเพื่อสร้างความสมดุลย์ให้กับตัวเอง ภัยธรรมชาติมีให้เราเห็นรุนแรงขึ้นและถี่ขึ้นเพราะระบบนิเวศน์นั้นถูกทำลาย ระบบนิเวศน์น้นเราสามารถฟื้นฟูได้ด้วยการปลูกต้นไม้ยืนต้น..เรามาร่วมมือกันปลูกต้นไม้กันเถอะ สำหรับผมก็ปลูกต้นไม้และจะพยายามปลูกไปเรื่อยๆถ้ามีนํ้าให้กับต้นไม้ ขอบคุณครับ