ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้เดินเล่นแถวย่านฮิปสเตอร์อย่างอารีย์ เดินไปเดินมากับสะดุดตากับรถขายของชำเล็กกระทัดรัดคันสีส้ม พร้อมคำเชิญชวนของคุณส้ม (เล็ก) – อติพร สังข์เจริญ และคุณส้ม (ใหญ่) – อมรรัตน์ อมรศิริชัยรัตน์ให้แวะเขาไปดูสินค้า จากเริ่ม ๆ ที่จะแวะเข้าไปดูกลับกลายเป็นการพูดคุยอย่างออกรสถึงความเป็นมาของรถขายของชำสีส้มคันนี้ 

เริ่มออกเดินทางจากจุดสตาร์ท

ก่อนหน้าที่จะทำรถพุ่มพวงนี้ เรามีทำกิจการที่พักโฮสเทล (The Yard Hostel) พอสถานการณ์ไวรัสเริ่มรุนแรงขึ้นเราก็เลยพยายามปรับตัวตามสถานการณ์ที่มันเปลี่ยนไป จนมีวันหนึ่งที่ทางรัฐบาลสั่งปิดร้านค้าต่าง ๆ ตอนนั้นเราก็คิดว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้าง เราเลยกลับมาคิดว่าเรามีต้นทุนอะไรบ้าง เพราะว่าปัจจุบันต้นทุนเราพูดแต่เรื่องเงินไม่ได้แล้ว เพราะช่วงสถานการณ์แบบนี้มีเงินก็ไม่รู้จะลงทุนอะไรเลย

พอเรากลับมาดูก็เลยเจอว่า หนึ่ง เรายังมีทีมงานที่ The Yard อยู่ สอง เรายังมีย่านอารีย์ที่เป็นชุมชนที่เข้มแข็งมาก ๆ สาม เรามีเพื่อนมีเครือข่ายที่เป็นเกษตรกร  และบวกกับที่เราเป็นคนชอบสังคมของรถพุ่มพวง เราก็เลยได้ออกมาเป็นไอเดียนี้ นอกจากนี้เราคิดว่าช่วงที่คนกักตัวเองอยู่บ้าน ไม่ออกไปไหน คือช่วงเวลาที่เขาจะต้องทำอาหารกินเองบ่อยขึ้นแน่นอน 

คุณส้ม(เล็ก) – อติพร สังข์เจริญ กับรถขายของชำพลังงานไฟฟ้า The Yard Grocery

รูปแบบการทำธุรกิจของเราคือ “ระยะทางรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร” นั่นหมายความว่าธุรกิจเราจะทำอยู่ในที่ ๆ เป็นชุมชน เดินทางสะดวก เพราะถ้าทำเป็นธุรกิจขนาดใหญ่แล้วสิ่งที่ตามมาคือทรัพยากรมนุษย์ใช้เยอะขึ้น บรรจุภัณฑ์ที่ใช้มีมากขึ้น และมลพิษจากการเดินทางก็จะมีมากขึ้นด้วย

คุณส้ม(ใหญ่) – อมรรัตน์ อมรศิริชัยรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง The Yard Grocery และ The Yard Hostel

เรื่องราวของวัตถุดิบบนกระบะรถ

เรื่องสินค้าที่นำมาขายในช่วงที่กำลังระดมความคิดเราเองก็ไม่มีความรู้เรื่องอาหารอินทรีย์ คือเรารู้ว่าเพื่อนเราทำ แต่เราไม่รู้ความต้องการของผู้บริโภคว่าเขาจะชอบหรือไม่ เราก็เลยโทรไปหาเพื่อนที่มีพอโทรไปปุ๊บเพื่อนที่ทำนาข้าวก็บอกว่าให้เราเอามาขายก่อนเลย

และอีกทางเราก็ถามหากับเพื่อนที่เปิดโรงแรม แล้วในโรงแรมจะมีร้านอาหารที่ปกติแล้วจะใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรรายย่อยอยู่แล้ว เราก็เลยสายตรงไปถามเลยว่า “มีใครที่เดือดร้อนอยู่มั้ย ที่ส่งวัตถุดิบในช่วงนี้ไม่ได้บ้างมั้ย” เพื่อนเราก็จะบอกว่าเลยว่า ให้ช่วยซื้อไก่เจ้านี้หน่อย ช่วยมะพร้าวเจ้านี้หน่อย ซึ่งทางเกษตรกรเองก็จะได้เราเป็นลูกค้ารายใหม่

อย่างเช่นในวันนี้สินค้าก็จะมีหลายอย่างที่เรารับมาจากเพื่อนที่เป็นเกษตรกรและเครือข่าย อย่างเช่น ไร่รื่นรมย์ที่เชียงราย ข้าวธรรมชาติที่เชียงราย มีฟาร์มที่ราชบุรีที่มีผลไม้หรือชุดทำต้มยำ และก็อีกมากมายหลายอย่าง ส่วนที่แปรรูปแล้วเช่นน้ำเต้าหู้ ก็รับมาจากที่ปทุมธานี   

สินค้าบนรถมีตั้งแต่ผักอินทรีย์จนไปถึงเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

หากถามว่าทำไมต้องเป็นสินค้าอินทรีย์ จริง ๆ แล้ว เราอยากเชื่อมโยงคนด้วยอาหารอินทรีย์ เราอยากเชื่อมโยงเกษตรกรรายย่อยกับคนในย่านนี้ให้มาเจอกันผ่านรถคันนี้

เรายังคิดด้วยว่าในอนาคตเราอาจจะมีผู้ผลิตมาเป็นคนขับรถคันนี้ก็ได้เพราะว่าเขาจะได้เจอกับลูกค้า คนที่บริโภคสินค้าของเขา หรือว่าในวันที่สถานการณ์ไวรัสนี้หายไปแล้วอาจจะกลายเป็นว่าเราสามารถจัดงานอีเวนท์ให้เกษตรกรมาเจอกับผู้บริโภคในสถานที่ ๆ เรามีก็ได้ 

เรื่องผักอินทรีย์นี่พอหันมาเริ่มทำแบบนี้ก็ได้เปลี่ยนการกินเพราะก่อนหน้านี้เราไม่เคยสนใจเรื่องอาหารอินทรีย์เลย พอได้มาลองกะหล่ำปลีที่ไร่รื่นรมย์แล้วก็ เห้ย รสชาติมันต่างกันมากจริง ๆ  (หัวเราะ) มันมีความหวานกว่า กรอบกว่า หรือน้ำเต้าหู้แบบเนี้ย ปกติเราไม่ชอบกินน้ำเต้าหู้เพราะมันไม่อร่อย แต่พอเรามาลองของเจ้านี้เรารู้ว่ารสมันไม่ได้เหมือนกับน้ำเต้าหู้ทั่วไป 

ขายไปเรียนรู้ไป

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการมาทำรถขายของชำนี้คือการจัดเก็บสินค้าและการทำสต็อค ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งเพราะว่าเรายังไม่มีความรู้เรื่องการจัดเก็บ ช่วงอาทิตย์แรกมีหลายผลิตภัณฑ์ที่เน่าเสีย หรืออย่างเช่นกล้วยที่เราเพิ่งมารู้ว่าเวลาเก็บเราต้องคว่ำหวีกล้วยลงนะ ไม่ใช่หงายขึ้น

ช่วงสองสามวันที่ผ่านมาเราลองหาข้อมูลออนไลน์แล้วก็พบว่า นี่เราเก็บผิดมาตลอดเลยหรือเนี่ย (หัวเราะ) เพราะบางอย่างไม่จำเป็นต้องอยู่ในตู้เย็นเช่น มะเขือเทศ ที่ถ้าเก็บในตู้เย็นแล้วมันจะช้ำ เนี่ย เราคิดมาตลอดว่ามะเขือเทศต้องอยู่ในตู้เย็น หรืออย่างเช่นฝรั่ง ตอนที่เกษตรกรเอามาส่งเขาก็ห่อกระดาษมาหนึ่งชั้น และห่อด้วยถุงพลาสติกมาอีกชั้น เราก็คิดว่ามันไม่จำเป็นที่ห่อถุงพลาสติก เราก็แกะถุงออกเลยแล้วเอากระดาษหนังสือพิมพ์มาห่อเอา ปรากฎว่าฝรั่งช้ำหมดเลย

ความยากอีกอันหนึ่งคือเราลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เห็นถุงพลาสติกแล้วเราจะหงุดหงิดแต่ว่ากับสินค้าบางชนิด เขาแพ็คมาให้เพื่อรักษาสภาพเอาไว้ เราต้องเลือกว่าจะสร้างขยะที่เป็นพลาสติก หรือที่เป็นขยะจากพืชผัก  คือตอนนี้ก็เรียนรู้กันไป 

ลูกค้าระหว่างสองข้างทาง

ลูกค้าตอนนี้ของเราส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้ เขาก็จะแวะมาถามว่ามีอะไรขายบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะซื้อพวกขนมปังกลับไป ลูกค้าคนไทยก็มีบ้างแต่ยังดูเขิน ๆ ที่จะแวะมาดูสินค้าที่รถเราเพราะว่าเขาไม่เห็นว่าเราขายอะไร แต่ไม่ใช่ไม่มีเลยนะก็ยังมีบ้าง บางครั้งก็มีคนที่วิ่งออกกำลังกายแวะมาซื้อน้ำผลไม้ที่รถ บางคนที่ไม่มีเวลาเขาก็สั่งทางออนไลน์แล้วเราก็ขับเอาสินค้าไปส่งให้เขา 

ลูกค้าในอารีย์ก็ทำให้เราประทับใจและขำได้ไปพร้อมกัน เจ้าของบ้านบางคนให้เราเข้าไปในบ้าน แบบว่ามีการชวน “มานี่ ๆ” และพาทัวร์ในบ้านลึก ๆ เลย

ในย่านอารีย์หลายบ้านเราก็รู้จัก แต่หลาย ๆ บ้านเราก็ไม่รู้จัก เราเคยเห็นเขานั่งหน้าบ้านหรือวิ่งสวนกันแต่ไม่เคยได้ทัก  แต่กลับเป็นว่าเวลาเราไปขายของมันกลายเป็นว่าเราได้พูดคุยกับเข้ามากขึ้น เขาก็ช่วยซื้อสินค้าเรา กลายมาเป็นลูกค้าประจำ  หรือเจ้าของบ้านโบกรถเราไปที่หน้าบ้านครั้งแรก แล้วพอคุยไปคุยมาเขาก็ให้เราจอดขายได้เลย

เรานึกไม่ออกเลยว่าถ้าอยู่ย่านอื่นเราจะทำแบบนี้ได้มั้ย  

บางทีลูกค้าไม่ใช่คนทั่วไปแต่เป็นเจ้าของกิจการ เราได้ไปเจอกับคนรู้จักที่กำลังจะเปิดร้านขายแฮมเบอร์เกอร์และพูดคุยไปก็รู้ว่าวัตถุดิบที่เขาใช้มาจากตลาดทั่วไป เราเลยเสนอไปว่าเรารู้ว่าที่หมู่บ้านปกากะญอมีมันฝรั่งที่ชาวบ้านปลูกกันเองนะสนใจใช้ไหม หรือหมูหลุม หมูอินทรีย์แบบนี้สนใจไหม เขาก็บอกว่าสนใจนะ อยากได้มากแต่เขาไม่รู้จักใครเลย 

เราเลยได้ความคิดมาอีกว่าแทนที่เราจะขายสินค้าที่ได้มาให้กับผู้บริโภคโดยตรง (Business-to-Consumer) เราสามารถนำสินค้ามาขายให้กับเจ้าของกิจการก็ได้ (Business-to-Business) เราสามารถหาหมู หาผักได้ เราสามารถมาแชร์ค่าส่งกันได้ มันจะเกิดการเป็นชุมชนใหม่ขึ้นมาที่ไม่เหมือนเราไปห้างแล้วซื้อของส่งมาแล้วก็เอามาทำอาหาร 

เส้นทางในอนาคตของ The Yard Grocery

ในอนาคตหากสถานการณ์ไวรัสคลี่คลายเราคิดว่าเราจะยังคงขับรถนี้ต่อไป เพราะสนุกและน้อง ๆ ในทีมเราก็เริ่มสนุกแล้วด้วย เรายังคงตั้งเป้าไปที่อยากให้มีสังคมหรือคอมมูนิตี้ใหม่ๆ ในชุมชนนี้อยู่

อย่างเช่นตอนนี้เราจะทำโยเกิร์ตขาย เป็นโยเกิร์ตที่เราทำให้แขกที่พักที่โฮสเทลเรากินอยู่แล้ว แล้วแขกก็ชอบ เราก็เลยจะมาทำขายเป็นไซส์ 1 ลิตรใส่ขวดแก้วกินได้นาน ๆ  คนจะได้ไม่ต้องไปซื้อที่ใส่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกชิ้นเล็ก ๆ พอกินเสร็จก็เอาขวดเก่ามาคืน เหมือนคนส่งนมสมัยก่อน

ในอนาคตสินค้าที่เราผลิตเองอาจไม่ใช่มีแค่หนึ่ง อาจจะเป็น สอง สาม สี่ ที่จะทำให้ลดมลพิษ เกิดความยั่งยืน และสร้างชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น

The Yard Grocery จะออกเดินทางไปตามซอยต่าง ๆ ในย่านอารีย์ ช่วงเวลา 16.00 น. – 19.00 น. ทุกวันจันทร์ – เสาร์ (วันอาทิตย์รถหยุดวิ่งแต่เปิดขายที่ The Yard Hostel)  ผู้ที่สนใจซื้อสินค้าและเช็คสินค้าสามารถติดตามข้อมูลได้ทางเพจ The Yard Grocery, กลุ่มเฟสบุ๊ก The Yard Grocery และเว็บไซต์ https://theyardgrocery.com/