อาจจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่มนุษย์อย่างเรามีความสัมพันธ์อย่างตัดไม่ขาดกับธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์นั้นส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน

ไวรัส Covid-19 เป็นหายนะภัยที่ทำให้เรามองเห็นสายสัมพันธ์ความเชื่อมโยงของการกระทำของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้ว่าการศึกษาเกี่ยวกับจุลชีพและไวรัสนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นไม่ถึงร้อยปี ซึ่งถือเป็นการศึกษาที่ใหม่และยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังไม่รู้ แต่ว่าจุลชีพนั้นอยู่คู่มากับประวัติศาสตร์ของโลก และวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ พร้อมกับการปรับเปลี่ยนของสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของมนุษย์ การปฏิวัติวิถีเกษตรกรรมเมื่อราว 10,000 ปีที่แล้วเป็นจุดเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง ทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ จากเป็นผู้ล่าสัตว์ ออกเดินทางไปเรื่อย ๆ เป็นกลุ่มเล็ก กลายเป็นการลงหลักปักฐานอาศัยอยู่ร่วมกัน เปลี่ยนจากการล่าสัตว์ครั้งละตัว เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์จำนวนมากในพื้นที่จำกัด และนั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ไวรัสจากสัตว์ที่ใกล้ชิดคนมากขึ้น เข้าสู่คนได้ง่ายขึ้น

เราอาจมองย้อนไปถึงโรคโรคไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดของโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ การวิเคราะห์ของนักวิทยาศาสตร์พบว่าไวรัสฝีดาษนั้นมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันกับไวรัสฝีที่เกิดขึ้นกับอูฐและหนูเจอร์บิลหรือหนูทะเลทราย และนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์เพิ่มเติมว่าอาจจะเป็นไวรัสที่เปลี่ยนผ่านจากอูฐสู่คน ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นการทำเกษตรกรรมราว 5,000-10,000 ปีก่อน เชื่อมโยงกับแนวคิดก้าวหน้าของการริเริ่มการทำเกษตรกรรมของชาวอิยิปต์ในยุคราว 3730BC (ก่อนคริสต์กาล) และมีการพบว่ามัมมี่ของกษัตริย์แรเมซีสมหาราชที่ 5 ในยุค 1157BC ก็ได้สิ้นพระชมน์โดยมีเนื้อเยื้อที่คล้ายกับการติดเชื้อฝีดาษ ต่อจากนั้นเมื่อเมืองขยายตัว ประเทศขยายเขตแดน การแพร่กระจายของโรคระบาดก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น

ไวรัสในสัตว์นั้นแพร่กระจายต่อสัตว์ตัวอื่นได้ง่ายด้วยปัจจัยที่ไม่ต่างจากการแพร่กระจายในสังคมมนุษย์ คือ ในพื้นที่แออัด มีการรวมกลุ่มจำนวนมาก อากาศถ่ายเทน้อย และสุขอนามัยแย่ สำหรับไวรัสแล้วฟาร์มปศุสัตว์อุตสาหกรรมก็คือแหล่งแพร่เชื้อชั้นดี เปรียบได้กับการอยู่อาศัยอย่างแออัดของประชากรในเมืองใหญ่

งานวิจัยหลักหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) หรือ H1N1 ระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก เมื่อปีพ.ศ. 2461 นั้นมียีนหลัก 8 ยีนที่มาจากนก โดยเป็นสายพันธุ์หนึ่งเชื้อไวรัสหวัด Flu A ที่สามารถติดต่อในมนุษย์ได้ แต่ยังไม่รู้ถึงสาเหตุเชื่อมโยงระหว่างนกและมนุษย์ได้ชัดเจน หลังจากนั้นไวรัสได้มีการกลายพันธุ์ และระบาดอีกหลายครั้ง เช่น H2N2 Asian Flu เมื่อปีพ.ศ.2500 ซึ่งยังพบยีนจากนกอยู่ ไวรัสชนิดนี้มีประวัติการกลายพันธุ์เป็นเชื้อโรคชนิดใหม่ที่เราเรียกว่าไข้หวัดหมู H1N1 ซึ่งเป็นโรคระบาดระดับโลกในปีพ.ศ.2552 คร่าชีวิตคนทั่วโลกกว่า 17,000 คน โดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) คาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อในช่วงที่เกิดโรคระบาดทั้งหมดราว 151,700-575,400 คน ที่มาของไข้หวัดหมูนี้ เกิดขึ้นในฟาร์มหมูแห่งหนึ่งที่เม็กซิโก และนักวิทยาศาสตร์วิจัยพบว่าเชื้อไวรัสนั้นได้อาศัยอยู่ในหมูที่เม็กซิโกมากว่า 10 ปี ก่อนที่จะพัฒนาสายพันธุ์ให้แพร่เชื้อจากหมูสู่คนได้สำเร็จ (Mena et al., 2016)

อีกหนึ่งโรคระบาดเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์อย่างชัดเจนและยังส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน คือ ไข้หวัดนก H5N1 ที่มีจุดระบาดเริ่มมาจากฟาร์มห่านที่จีนเมื่อปีพ.ศ.2539 ซึ่งทำให้มีความจำเป็นต้องฆ่าสัตว์ปีกในฟาร์มปีละหลายล้านตัว รวมถึงปัจจุบันก็ยังคงมีความเสี่ยงจากโรคนี้อยู่ และดูเหมือนจะมีข่าวการระบาดให้ได้เห็นแทบทุกปี โดยรวมแล้วทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อรวม 861 คน และเสียชีวิต 455 คน  (ข้อมูล: WHO

ปัจจัยหนึ่งนอกจากการลดลงของผืนป่าอุดมสมบูรณ์แล้ว สิ่งที่ทำให้นกป่าเปลี่ยนเส้นทางบินเพื่ออพยพนั้นคือ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่ความผิดของนกป่าที่ทำให้ไก่ในอุตสาหกรรมติดเชื้อไวรัส ความอุดมสมบูรณ์ของป่าและระบบนิเวศคือสิ่งที่ช่วยรักษาสมดุลควบคุมไวรัสไว้ได้ และมีกลไกตามธรรมชาติในควบคุมและจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว แต่ปัจจัยที่ทำให้สัตว์ในอุตสาหกรรมติดเชื้อได้ง่าย คือ การเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่แออัดในเล้าอุตสาหกรรม บ้างก็ในระดับล้านตัวไว้ในสถานที่เดียวกัน ไม่ได้สัมผัสสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ขาดความคุ้มกันตามธรรมชาติ สร้างความเครียดในสัตว์ มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ทำให้สัตว์อ่อนแอ ไม่มีความหลากหลายตามธรรมชาติที่ช่วยจำกัดการแพร่กระจายของไวรัส นอกจากนี้การขนส่งระยะไกลในกรงที่แออัดก็เป็นการกระตุ้นให้ป่วยเกิดเชื้อโรค และสามารถพาเชื้อกระจายไปได้ไกลขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกษตรกรหรือคนงานตกเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อ และเป็นพาหะนำโรคได้ แม้จะมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายจากคนสู่คนน้อยก็ตาม

ความแออัดของการเลี้ยงไก่ด้วยระบบอุตสาหกรรม

ไม่ใช่แค่ไวรัสเท่านั้น อีกภัยด้านสุขภาพจากเชื้อจุลชีพที่น่ากังวลคือ แบคทีเรียดื้อยา (Antimicrobial resistance)  ซึ่งสามารถก่อโรคติดเชื้อดื้อยาในคน แบคทีเรียดื้อยาเป็นผลกระทบที่ตามมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างผิดวิธี หรือการไม่ได้ใช้เพื่อจุดประสงค์การรักษาเพียงอย่างเดียวนั้น มีส่วนทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่เป็นอันตรายอย่างมากต่อสุขภาวะของประชาชน เช่น ใช้ในอาหารสัตว์เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต มีขนาดใหญ่ขึ้น และเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากสภาวะความเป็นอยู่ที่แออัด พื้นที่น้อย และไม่ถูกหลักอนามัย มีโอกาสส่งผ่านเชื้อดื้อยาสายพันธุ์ต่าง ๆ ผ่านห่วงโซ่อาหาร

ผืนดินที่อุดมสมบูรณ์คือดินที่มีแบคทีเรียดีอาศัยอยู่ แต่การได้รับการปนเปื้อนยาปฏิชีวินะที่ตกค้างทางมูลสัตว์ หรือการปนเปื้อนของแบคทีเรียดื้อยา แม้แต่การนำมูลไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับการปลูกพืช ก็สามารถส่งต่อเชื้อดื้อยาไปยังผักที่เรากินได้ หรือในห่วงโซ่อาหารของเรา แม้จะเป็นผักอินทรีย์ แบคทีเรียสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในดินและน้ำที่มีการปนเปื้อนจากปฏิกูลของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้นาน 2-12 เดือน ซึ่งนอกเหนือจากแบคทีเรียดื้อยาแล้วยังมีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจส่งผลต่อไปยังแบคทีเรียดีที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้กลายเป็นแบคทีเรียดื้อยาได้

ปัจจัยการเกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่คน จากข้อมูลโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (อังกฤษ: United Nations Environment Programme หรือ UNEP) (ที่มาภาพ: UN Environment Program)

นอกจากสัตว์จำนวนมหาศาลแล้ว ความจำเป็นที่ตามมาคือ ความต้องการพืชอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง และข้าวโพด ผลที่ตามมาคือพืชเชิงเดี่ยวระดับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก มีการเปลี่ยนแปลงผืนป่าตามมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุไว้ว่า การทำปศุสัตว์ คือ ภาคส่วนที่ใช้ผืนดินและทรัพยากรมากที่สุด ทั้งการใช้เพื่อเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือเพาะปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งในสัดส่วนภาคเกษตรกรรมทั้งหมดนั้น ราวร้อยละ 80 เป็นพื้นที่เกี่ยวกับกับการทำอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เป็นวัฏจักรการลดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคอุบัติใหม่ และการกลายพันธุ์ของไวรัสที่มีอยู่ วนเวียนเรื่อยไป เป็นสงครามที่หากเราไม่ทำลายสัตว์ทุกชนิด ป่าทั้งหมด ให้สิ้นไปเพื่อหยุดเชื้อโรค หรือเลือกที่จะเปลี่ยนแปลง เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมที่เป็นบ้านของทุกสรรพสิ่ง รักษาสมดุลและความพอดี เพื่อการอาศัยอยู่ร่วมกัน มีสุขภาพดีร่วมกัน ในโลกใบเดียวกัน

น่าจะถึงเวลาที่เราจะต้องตั้งคำถามกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ว่ายั่งยืนแค่ไหน และมีบทบาทอย่างไรต่อปัญหาสุขภาพของโลก และสุขภาพของเรา

ฟังดูจะไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้มนุษย์ต้องอดอยากและมีอาหารไม่พอหรือ?

แม้การผลิตจากอุตสาหกรรมจะมีส่วนแบ่งการตลาดที่สูง แต่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่า ร้อยละ 80 ของการผลิตอาหารทั่วโลกนั้นมาจากเกษตรกรรายย่อย หรือกิจการครอบครัว อีกตัวเลขที่น่าสนใจคือ การทำปศุสัตว์ที่กล่าวไปข้างต้นว่าใช้พื้นที่ร้อยละ 80 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลกนั้น กลับผลิตโปรตีนเพียงร้อยละ 37 และแคลอรีร้อยละ 18 ของการผลิตอาหารของโลก (Poore and Nemecek, 2018) ตัวเลขคุณค่าทางอาหารที่เหลือนั้นได้มาจากพืชพรรณธัญญาหารทั้งหมด 

Integrated Farm at International Institute of Rural Reconstruction in Philippines. © Geric Cruz / Greenpeace
เกษตรกรรายย่อยคือผู้ผลิตอาหารหล่อเลี้ยงคนทั่วโลกอย่างแท้จริง © Geric Cruz / Greenpeace

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การผลิตเพียงพอหรือไม่ แต่อยู่ที่ระบบการผลิตอาหารที่ไม่ยั่งยืน ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุไว้อีกเช่นกันว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตนั้นกลายเป็นอาหารที่เหลือทิ้งทุกปี ดังนั้นจึงไม่ใช่เพราะอาหารไม่พอ เราอาจต้องตั้งคำถามใหม่ว่า ระบบอาหารที่ผลิตล้น ใช้ทรัพยากรของโลกเกินความจำเป็น ทำลายสมดุลของระบบนิเวศ ก่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยที่ยังมีผู้คนที่หิวโหยอยู่ทั่วโลกนี้ ระบบอุตสาหกรรมอาหารเช่นนี้ยังเป็นคำตอบของการผลิตอาหารหรือไม่ ผลประโยชน์ที่แท้จริงอยู่ที่ใคร

วิกฤตโรคระบาดอย่าง Covid-19 ทำให้เราได้เรียนรู้อย่างหนึ่งว่าความมั่นคงทางอาหารที่ดีที่สุดนั้น อยู่ที่การพึ่งพาตัวเองได้ ทางออกของการป้องกันโรคระบาดในอนาคต คือ การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน ระบบอาหารที่ดีต่อทั้งสุขภาพของโลกและของเรานั้น คือระบบที่เป็นธรรมต่อทั้งผู้ผลิตรายย่อย ต่อสัตว์ และต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรและยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมนั้นคือทางออกที่ภาครัฐควรหันมาสนับสนุนอย่างแท้จริง การปลูกพืชผักผลไม้นั้นสามารถมอบอาหารให้ผู้คนได้มากกว่าในขณะที่ใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยกว่าปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม คืนพื้นที่และความสมบูรณ์ให้กับป่าและระบบนิเวศอื่น ๆ เปิดโอกาสให้โลกได้มีโอกาสฟื้นตัว และสร้างสมดุลป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ด้วยระบบธรรมชาติ 

เมื่อสิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ สุขภาพของเราก็จะสมบูรณ์

ข้อมูลอ้างอิง

1. องค์การอนามัยโลก (WHO), Zoonotic disease: emerging public health threats in the Region.  http://www.emro.who.int/about-who/rc61/zoonotic-diseases.html

2. องค์การอนามัยโลก (WHO), Influenza: Cumulative number of confirmed human cases of avian influenza A(H5N1) reported to WHO, 8 May 2020. https://www.who.int/influenza/human_animal_interface/H5N1_cumulative_table_archives/en/

3. องคก์ารอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), Animal Production. http://www.fao.org/animal-production/en/

4. องคก์ารอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), Veterinary Public Health, http://www.fao.org/ag/againfo/resources/en/pubs_vph.html

5.  องคก์ารอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), Livestock and Landscape. http://www.fao.org/3/ar591e/ar591e.Pdf 

6. องคก์ารอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), Launch of the UN’s Decade of Family Farming to unleash family farmers’ full potential, 29 May 2019. http://www.fao.org/news/story/en/item/1195811/icode/

7. Ignacio Mena, Martha I Nelson, Francisco Quezada-Monroy, Jayeeta Dutta, Refugio Cortes-Fernández, J Horacio Lara-Puente, Felipa Castro-Peralta, Luis F Cunha, Nídia Sequeira Trovão, Bernardo Lozano-Dubernard, Andrew Rambaut, Harm van Bakel, Adolfo García-Sastre. Origins of the 2009 H1N1 influenza pandemic in swine in Mexico. eLife, 2016; 5 DOI: 10.7554/eLife.16777

8. Encyclopædia Britannica,  Ramses V: King of Egypt. www.britannica.com/biography/Ramses-V

9. H. Tian, et al., Climate change suggests a shift of H5N1 risk in migratory birds, 27 August 2014. https://doi.org/10.1016/j.ecolmodel.2014.08.005

10. J. Poore and T.Nemecek, Reducing food’s environmental impacts through producers and consumers, Science, 1 June 2018: Vol. 360, Issue 6392, pp. 987-992 DOI: 10.1126/science.aaq0216

11. Matichon Online, ‘ออสเตรเลีย’เรียกคืน’ผักสลัด’จากไทย หลังพบปนเปื้อนเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ, 7 February 2020. www.matichon.co.th/local/news_28691

12. Centers for Disease Control and Prevention, 2009 H1N1 Pandemic (H1N1pdm09 virus). https://www.cdc.gov/flu/pandemic-resources/2009-h1n1-pandemic.html

13. H. Ritchie and M. Roser, Meat and Dairy Production, Our World in Data, November 2019, https://ourworldindata.org/meat-production

14. D.H. Crawford, Viruses: A Very Short Introduction (Oxford University Press, 2018)

15. F. Ryan, Virusphere. From Common Colds to Ebola Epidemics: Why We need the Viruses that Plague Us (William Collins, 2019)

16. S.G.B. Amyes, Bacteria: A Very Short Introduction (Oxford University Press, 2013)

ถึงเวลาปฏิวัติระบบอาหาร

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์

มีส่วนร่วม