โลกของเรายังคงถูกเขย่าจากโรคระบาดขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับคนนับล้านอย่าง Covid-19 ในขณะที่ทุกๆ วันที่ 22 เมษายนของทุกปี ทั่วโลกต่างก็เฉลิมฉลองเนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) แม้จะดูย้อนแย้ง แต่ประเด็นทั้งสองนี้เชื่อมโยงกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมโยงระหว่างการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและโรคที่ติดเชื้อจากสัตว์สู่คน

จนถึงวันที่ 20 เมษายน 2564 รายงานของ WHO ระบุ การระบาดของ COVID-19 แพร่กระจายไปยัง 217 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก โดยมีผู้ป่วยยืนยันแล้ว มากกว่า 141,754,944 คนและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,025,835 คน และจนถึงวันที่ 19 เมษายน 2564 แม้มีการฉีดวัคซีนจำนวน 843,158,196 ชุดให้ประชากรโลก แต่ความทุกข์ยากและความสูญเสียทางสังคมและเศรษฐกิจจะยังคงขยายเพิ่มขึ้น โดยผลกระทบจากการระบาด ของโรคจะดำเนินสืบเนื่องในอีกหลายปีข้างหน้า

ผลกระทบเชิงรูปธรรมของ COVID-19 ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบอาหารและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังมีอยู่อย่างจำกัด ด้วยธีมของวันคุ้มครองโลกปี 2564 นี้คือ “ฟื้นฟูโลก (Restore Our Earth™)” เราขอยกประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

วิกฤตมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

คำอธิบายภาพ : ภาพเปรียบเทียบจำนวนวันที่มีมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในเดือนมีนาคม 2563 และ 2564 จากข้อมูลภาพดาวเทียม การสังเกตการณ์ภาคพื้นดินและรายงานคุณภาพอากาศต่างๆ (ที่มา : ASEAN Specialised Meteorological Centre’s Haze Review)

แม้ว่าภาพดาวเทียมย้อนหลังปี 2541-2559 พบว่าไทยเผชิญฝุ่นละอองมาแล้วเกือบ 20 ปี โดยเฉพาะภาคเหนือ ตอนบน แต่มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(Greater Mekong sub-region’s transboundary haze) ยังเป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจและสร้างความร่วมมือเพื่อหาทางออกที่ลุ่มลึกและ กว้างขวางมากขึ้น

ภาพด้านบนแสดงแบบแผนการกระจายตัวและจำนวนวันของมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เปรียบเทียบระหว่างเดือนมีนาคม 2563 และ 2564 ภาพเปรียบเทียบทั้งสองมาจากการวิเคราะห์ ภาพดาวเทียม การสังเกตการณ์ภาคพื้นดินและรายงานคุณภาพอากาศต่างๆ โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียนซึ่งมีฐานอยู่ที่สิงคโปร์ ขอบเขตของมลพิษทางอากาศข้าม พรมแดนนั้นครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค และมีความเข้มข้นรุนแรงในภาคเหนือตอนบนของไทย ตอนบนของกัมพูชา และ สปป.ลาว รวมถึงรัฐฉานในเมียนมา

กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลในอาเซียนทบทวนเป้าหมาย “อาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี 2563 หรือ Haze-free ASEAN by 2020”  ที่ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และดำเนินมาตรการที่ชัดเจนและ เป็นรูปธรรมภายใต้ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) อย่างจริงจัง เพื่อปกป้องประชาชนในภูมิภาคจากวิกฤตมลพิษ ทางอากาศข้ามพรมแดน

ระบบนิเวศที่ล่มสลายและการผุดขึ้นของโรคอุบัติใหม่

มากกว่า 70% ของเชื้อโรคอุบัติใหม่ที่ส่งผลต่อมนุษย์มาจากสัตว์ป่าและสัตว์ที่มนุษย์นำมาเลี้ยง UNEP ระบุว่าโดยเฉลี่ยจะมีโรคติดเชื้อใหม่ 3 ชนิดในมนุษย์ทุกปี และร้อยละ 75 ของโรคติดต่ออุบัติใหม่ในมนุษย์ ณ ปัจจุบัน เป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน(zoonotic diseases) ส่วนรายงานคาดว่ามีผู้ป่วยมากกว่า 2,500,000,000 รายและผู้เสียชีวิต 2.7 ล้านรายต่อปีจากโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน นักวิจัยเชื่อว่ามีเชื้อไวรัสที่ไม่อาจระบุได้มากถึง 1.7 ล้านชนิดที่มนุษย์สามารถติดเชื้อได้ ปรากฎอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกน้ำ ไวรัสเหล่านี้สามารถกลายเป็น “Disease X” -ปฐมบทของโรคระบาดครั้งต่อไปซึ่งจะพลิกโลก และร้ายแรงถึงชีวิตมากกว่า Covid-19

การศึกษาในปี 2561ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เตือนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง การทำลายระบบนิเวศป่าไม้ และความเสี่ยงที่มากขึ้นของการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จาก ค้างคาวสู่คน โดยระบุว่า “เมื่อการขยายตัวการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ประชากรค้างคาวจึงตั้งถิ่นฐาน อยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ไวรัสผ่านการสัมผัส โดยตรง การติดเชื้อจากสัตว์ในบ้าน หรือการปนเปื้อนจากปัสสาวะหรืออุจจาระ”

สิ่งที่เราต้องเชื่อมโยงคือ การทำลายป่าไม้ที่ดำเนินไปอย่างล้างผลาญ การขยายตัวของ เกษตรเชิงเดี่ยวที่ไร้การควบคุม การทำเหมืองแร่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการแสวงประโยชน์จากพรรณพืชและสัตว์ป่าในธรรมชาติ ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วย ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ นั้นเป็นเงื่อนไขที่สมบูรณ์แบบอย่างยิ่งที่เชื้อโรคจากสัตว์ป่าในธรรมชาติ จะแพร่เข้าสู่มนุษย์

ในด้านหนึ่ง เราจำเป็นต้องจัดการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่รวมถึงโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน และลดความเสี่ยงของการกลายเป็นโรคระบาด แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราต้องมุ่งเน้นไปที่ การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ ยุติการค้าสัตว์ป่าและพรรณพืชที่ผิดกฎหมายโดยรับรองสิทธิชุมชนและ กลุ่มชาติพันธุ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ส่วนรัฐบาล ก็ต้องดำเนินการ ตามคำแนะนำที่มีอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่ง ชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และอนุสัญญาว่าด้วยชนิดพันธุ์ที่มีการเคลื่อนย้ายถิ่น (CMS) ข้อตกลงที่มุ่งมั่นในการประชุม COP15 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ(CBD) ที่จะมีขึ้นช่วงไตรมาสสองของปี 2564 นี้ ณ คุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน

Covid-19 และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ : สองด้านของเหรียญเดียวกัน

ก่อนที่ Covid -19 กลายเป็นโรคระบาดใหญ่ (global pandemic) ความท้าทายหลักของมนุษยชาติที่ชัดเจนคือ ระบบเศรษฐกิจที่ผูกติดกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ผลักดันให้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเสียสมดุลและใกล้จุดที่ไม่อาจหวนคืนกลับได้ ตัวชี้วัดหนึ่งคือ อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก

จากการวิเคราะห์ของสำนักอุตุนิยมวิทยาระดับโลก อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในปี 2563 เชื่อมโยงกับปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ เรายังได้เป็นประจักษ์พยานต่อความสุดขั้วของสภาพภูมิอากาศที่เร่งเร้า มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพายุ ไฟป่า ภัยแล้งยาวนาน อุทกภัย และธารน้ำแข็งละลาย

การที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากโรคระบาดส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงชั่วคราว แต่มีผลน้อยมากต่อแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในระยะยาว การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีต ยังคงสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศและเรากำลังปล่อยเพิ่มเข้าไป แม้ว่าประเทศต่างๆ จะดำเนินการตามเป้าหมาย การลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contributions, NDCs) ภายใต้ความตกลงปารีส ซึ่งจนถึงปัจจุบัน คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 3.2 องศาเซลเซียส (4.4 F) เทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมภายในสิ้นศตวรรษที่ 21

วิกฤตสภาพภูมิอากาศนี้จะนำมาซึ่งความเจ็บปวดและทุกข์ยากของผู้คนโดยซ้อนทับลงไปบนทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของ Covid -19 ดังนั้น เราจะต้องหาทางออกที่ยั่งยืนที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามฟื้นฟู ผลกระทบจากโรคระบาดไปพร้อมๆ กัน หรืออีกนัยหนึ่ง เราต้องผนวกนโยบายสาธารณสุขและสภาพภูมิอากาศ เข้าด้วยกันในการจัดการความเหลื่อมล้ำในสังคม การประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งจะมีขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ปลายปี 2564 นี้ คือโอกาสที่เหลืออยู่เพื่อยืนยันถึงการรับมือกับ COVID-19 อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว โดยเชื่อมโยงมาตรการฟื้นฟูผลกระทบจากโรคระบาดกับแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

รายงาน Emissions Gap Report 2020 โดย UNEP บอกเราว่า การลงทุนเพื่อทางออกที่ยั่งยืน จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2573 ลงได้ 25% ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสมากขึ้นที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของ อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้ที่ 2 องศาเซลเซียส และคำมั่นสัญญาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์ของสหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาจทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสมากขึ้นด้วย

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศและชุมชนที่เปราะบางจากผลกระทบที่ทวี ความรุนแรงขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รายงาน Adaptation Gap Report โดย UNEP ชี้ให้เห็นว่า เราไม่ได้จริงจังกับเรื่องนี้ ทรัพยากรทางการเงินที่มีอยู่นั้นน้อยเกินไป และการริเริ่มต่างๆ ก็ยังไม่สามารถลดความเสี่ยงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ ก่อนการประชุม COP26 เราต้องการความมุ่งมั่นระดับโลก โดยใช้ทรัพยากรเงินทุนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจาก Green Climate Fund ไปที่การปรับตัวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

การระบาดของมลพิษพลาสติก

การระบาดของ Covid-19 มีส่วนทำให้การระบาดของมลพิษพลาสติก พลาสติกเข้ามาตอบสนอง และอำนวยความสะดวกในช่วงล็อกดาวน์รวมถึงช่วงที่จำกัดการเดินทางไปในพื้นที่ชุมชน เกิด “นิวนอร์มอล” ที่คนนิยมสั่งอาหารมาทานที่บ้านและซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ในประเทศไทย ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในปี 2563 ที่ผ่านมาสูงขึ้นอย่างน้อย 15%

รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุ นับตั้งแต่การระบาดของ Covid-19 ธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกทั่วโลกลดลง 20% ในยุโรป 50% ในบางส่วนของเอเชีย และมากเป็น 60% ในสหรัฐอเมริกาอันเนื่องมาจากสงครามราคา ระหว่างพลาสติกรีไซเคิลและการผลิตพลาสติกใหม่ ที่ทำให้ถูกลงโดยอุตสาหกรรมน้ำมัน จริงๆ แล้ว นับตั้งแต่คริสตทศวรรษ 1950 มีขยะพลาสติกราว 6,300 ล้านตันเกิดขึ้น โดยที่ 91% ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

การนำภาชนะมาใช้ซ้ำเป็นทางออกที่ถูกละเลย แม้แต่ร้านเครื่องดื่มรายใหญ่หลายแห่ง อย่างคาเฟ่อเมซอน สตาร์บัค ยังปฏิเสธรับแก้วหรือภาชนะส่วนตัวจากผู้ซื้อในบางช่วง แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพยืนยันหนักแน่นว่า ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ซ้ำสามารถใช้งานได้อย่าง ปลอดภัยหากใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ใช้กันอยู่ในครัวเรือน

มลพิษพลาสติกเปิดเผยให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของนโยบายการจัดการขยะในภาพรวม ทั้งเป้าหมายการลดขยะที่แหล่งกำเนิด ระบบแยกขยะ การรวมรวมจัดเก็บ การรีไซเคิล ฯลฯ รวมถึงความไม่เป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นต่อชุมชนรอบพื้นที่ฝังกลบขยะหรือโรงเผาขยะ และชุมชนที่ต้องเผชิญและแบกรับกับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม การผลิตหรือเจ้าของแบรนด์ยังคงผลักภาระต้นทุนการจัดการขยะที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง

การศึกษาโดย OceansAsia คาดว่า ในจำนวนหน้ากากอนามัย 52,000 ล้านชิ้นที่ผลิตออกมาทั่วโลกในปี 2563 จะมีอยู่ราว 1,560 ล้านชิ้น ถูกทิ้งและหลุดรอดสู่ทะเลและมหาสมุทรในปี 2563 กลายเป็นมลพิษพลาสติกเพิ่มขึ้น 4,680 ถึง 6,240 ตัน

การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล(PPE) รวมถึงหน้ากากอนามัยและถุงมือนั้นมีความจำเป็นเพื่อหยุด การระบาด ของ COVID-19 และควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับบุคลากรและผู้ปฏิบัติงาน ทางการแพทย์/และปฏิบัติตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการกำจัด PPE อย่างปลอดภัยเพื่อประโยชน์ สูงสุดต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน  คนทั่วไปสามารถใช้หน้ากากหรือถุงมือที่ใช้ซ้ำและทำความสะอาดได้ เพื่อลดรอยเท้ามลพิษพลาสติกลง

โดยสรุป

COVID-19 เป็นวิกฤตด้านสุขภาพและเศรษฐกิจโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางธรรมชาติและบั่นทอนความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) การวิเคราะห์ในรายงาน Covid-19, The Environment and Food System ที่จัดทำโดย UNEP ชี้ให้เห็นว่า งบประมาณเพื่อฟื้นฟู เศรษฐกิจและเน้นจัดการความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้านั้นไม่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน
รัฐบาลทั่วโลกใช้งบประมาณรวมกัน 12 ล้านล้านดอลลาร์ (361 ล้านล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบ ของ COVID-19 ในกรณีของไทย รัฐบาลผ่านงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาท ในปี 2563 และอีก 210,000 ล้าน ในเดือนมกราคม 2564 นี้ รวมกันเป็น 2.7 ล้านล้านบาท หรือราว 16% ของจีดีพี งบประมาณมหาศาลนี้ หากนำไปใช้ภายใต้กรอบที่ให้ความสำคัญทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน และเป็นธรรม ก็จะนำเราไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) เป้าหมายสภาพภูมิอากาศโลก และคุ้มครองโลกไปพร้อมๆ กัน