ในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 เป็นวันดีเดย์ที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC จะเผยแพร่รายงานการประเมินครั้งที่ 6 (The Sixth Assessment Report หรือ AR6) ของคณะทำงานกลุ่มที่ 1 (Working Group 1) ว่าด้วย “พื้นฐานวิทยาศาสตร์กายภาพ( Physical Science Basis)” ออกสู่สายตาสาธารณะชน

รายงานนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า The Working Group I contribution to the IPCC Sixth Assessment Report : The Physical Science Basis ซึ่งเป็นส่วนแรกของรายงานการประเมินครั้งที่ 6 (The Sixth Assessment Report หรือ AR6)

รายงานที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับมากที่สุดของ IPCC นี้ คือสารที่ส่งตรงจากนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศชั้นนำของโลกถึงรัฐบาลประเทศต่างๆ ในเรื่องความเข้าใจล่าสุดว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบสภาพภูมิอากาศของโลก ปัจจัยเหล่านั้นคืออะไร การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อนและไม่อาจย้อนกลับได้นั้นจะเป็นอย่างไร การเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันที่อาจจะเกิดขึ้นคืออะไร เราต้องตระหนักอะไรบ้าง และเรากำลังมุ่งหน้าไป ณ ที่ใด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ขึ้นอยู่กับแนวทางที่เราเลือก

Global Climate Strike March in Mexico. © Víctor Ceballos / Greenpeace
กิจกรรม Global Climate Strike โดยเยาวชนและบุคคลทั่วไปในเม็กซิโก © Víctor Ceballos / Greenpeace

นี่คือข้อมูลสำคัญจากชุมชนวิทยาศาสตร์นานาชาติถึงผู้นำโลกทั้งหลาย ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ โดยประเทศต่างๆ ควรจะต้องนำเสนอแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก(Nationally Determined Contribution Roadmap)ที่แก้ไขปรับปรุง ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วเพียงพอที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573

นอกจากนี้ ยังมีรายงาน “ผลกระทบ การปรับตัวและความล่อแหลม (Impacts, Adaptation and Vulnerability)” ของคณะทำงานกลุ่มที่ 2 และรายงาน “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Mitigation of Climate Change)” ของคณะทำงานกลุ่มที่ 3 รวมถึงรายงานสังเคราะห์ (Synthesis Report) จะเผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และตุลาคม 2565 ตามลำดับ

รู้จัก IPCC

IPCC เป็นองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยสมาชิกจาก 195 ประเทศ ทำหน้าที่ป้อนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศให้กับผู้กำหนดนโยบายในรัฐบาลทุกระดับ

IPCC ไม่ได้ทำงานวิจัยของตนเอง แต่จะทำการประเมินงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่และที่ได้รับการตีพิมพ์ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะทำงานแบบอาสาสมัคร และรายงานแต่ละฉบับจะมีทีมประสานงาน ผู้เขียนนำ และบรรณาธิการของตนเองซึ่งผ่านกระบวนการคัดสรรที่เข้มงวด  โดยมีการตรวจสอบจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ(รวมถึงผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาล) ในวงที่กว้างขึ้น

IPCC ทำการเผยแพร่รายงานการประเมินทางวิทยาศาสตร์ทุกๆ 6-7 ปี  รายงานการประเมินครั้งที่ 5 (The Fifth Assessment Report หรือ AR5) เสร็จสมบูรณ์ในปี 2557 และเป็นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญต่อความตกลงปารีส(the Paris Agreement) รายงานการประเมินครั้งที่ 6 ซึ่งจะสรุปผลรวมในปี 2564-2565 จะป้อนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ต่อการประเมินสถานการณ์ดำเนินงานระดับโลก(Global Stocktake) ภายใต้ความตกลงปารีส (พ.ศ.2565-2566) ที่จะนำไปสู่พันธะกรณีใหม่ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศของประเทศต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีสที่จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน ขีดจำกัดที่ 1.5 องศาเซลเซียส

Drought Impacts Elbe River's Water Level in Germany. © Chris Grodotzki / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซถือป้ายที่มีข้อความว่า Climate Crisis บริเวณแม่น้ำ ElB ใน เดรสเดน เนื่องจากเกิดภาวะแล้งจัดจนน้ำลดลงเหลือเพียงแค่ 54 เซนติเมตรจากจุดวัดระดับน้ำ © Chris Grodotzki / Greenpeace

รายงาน IPCC จัดทำขึ้นโดยรัฐบาลและรับรองโดยรัฐบาล  รัฐบาลมีส่วนร่วมในกระบวนการโดยการเห็นชอบต่อโครงร่างของรายงาน แสดงความคิดเห็นต่อร่างรายงานโดยผู้เชี่ยวชาญ และอนุมัติบทสรุปสำหรับผู้กำหนดนโยบายทุกบรรทัด เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลเข้าใจสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์บอก และ  บทสรุปดังกล่าวสะท้อนถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้กำหนดนโยบาย  นี่หมายถึงว่านักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศชั้นนำของโลกและผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลได้ทำงานร่วมกัน โดยที่นักวิทยาศาสตร์รับรองว่าวิทยาศาสตร์จะไม่ถูกต่อรอง ในขณะที่ ผู้กำหนดนโยบายก็แน่ใจว่าพวกเขาได้รับข้อมูลที่ต้องการในรูปแบบที่เข้าใจได้

กระบวนการนี้ทำให้รายงานของ IPCC มีความน่าเชื่อถือและ “เป็นทางการ” จึงมีความแตกต่างจากรายงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยหรือองค์กรต่างๆ

รายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของคณะทำงานกลุ่มที่ 1 ของ IPCC นี้ จะแสดงให้เห็นว่า

  • สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจนถึงปัจจุบัน และจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรในอนาคตภายใต้ฉากทัศน์(scenarios)ต่างๆ  ตัวอย่างเช่น รายงานจะอัพเดตการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจนถึงปี 2643 และอนาคตหลังจากนั้น (ปี 2843)
  • ระบบสภาพภูมิอากาศโลกมีความอ่อนไหวต่อการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกอย่างไร และเน้นถึงความเข้าใจที่มีมากขึ้นของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว(extreme events) และความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์เหล่านี้กับกิจกรรมของมนุษย์
  • เน้นมากขึ้นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาค ข้อมูลที่สัมพันธ์กับการประเมินความเสี่ยงในระดับภูมิภาคโดยมีระบบแผนที่ออนไลน์( interactive online regional atlas)เป็นเครื่องมือ
  • เป็นครั้งแรกที่รายงานประเมินของ IPCC ให้ความสำคัญมากกับภาพฉายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (emission scenario) ที่เจาะลึกไปที่การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5°C ที่เรียกว่า Shared Socioeconomic Pathways (SSP1-1.9) ซึ่งเพิ่มเติมเข้ามาหลังจากมีการรับรองเป้าหมายขีดจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกภายใต้ความตกลงปารีส

สิ่งที่ไม่มีในรายงานนี้คือการอธิบายอย่างละเอียดถึงสิ่งที่เราเผชิญในแง่ของผลกระทบและความเสี่ยงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่มีต่อมนุษย์ และเราจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร  และจะไม่อภิปรายถึงแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียส  ประเด็นเหล่านี้จะมีอย่างละเอียดรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ส่วนที่จะเผยแพร่ในปี 2565

รายงานของ IPCC ทำการประเมินการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์แล้ว  ดังนั้น สิ่งที่รายงานนำเสนอไม่มีอะไรน่าประหลาดใจสำหรับผู้ที่ติดตามพัฒนาการวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศ ท้ายที่สุด นี่คือรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของชุมชนวิจัยสภาพภูมิอากาศ และยังมีรายงานพิเศษสามฉบับที่เผยแพร่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่าด้วยวิกฤตโลกร้อน 1.5°C, มหาสมุทรและหิมะ/น้ำแข็งที่อยู่ใต้ผิวโลกและบนผิวโลก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแผ่นดิน ซึ่งเป็นฐานสำคัญต่อรายงานการประเมินครั้งที่ 6 

Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ภาพกิจกรรม Climate Strike ที่สวนลุมพินี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ในทางปฏิบัติ รายงานของ Working Group 1 ฉบับเต็มจะมีทั้งหมด 12 บท และหนามากกว่าพันหน้าซึ่งครอบคลุมมิติที่หลากหลายของพื้นฐานวิทยาศาสตร์กายภาพ  ส่วนของรายงานที่จะมีการสรุปสุดท้ายและมีการรับรองแต่ละบรรทัดในการประชุมออนไลน์ (ช่วงวันที่ 26 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2564) คือ บทสรุปสำหรับผู้กำหนดนโยบาย (the Summary For Policymakers) ทั้งหมด 40 รายการ ซึ่งเป็นส่วนของรายงานที่มักจะได้รับความสนใจมากที่สุด


เมื่อมีการเผยแพร่ออกมาแล้วในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 รายงานนี้ในฐานะสาส์นที่เชื่อถือได้ล่าสุดจากชุมชนวิจัยสภาพภูมิอากาศจะสร้างผลสะเทือนต่อการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายนที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ คาดว่าคณะเจรจาจากประเทศต่างๆ จะปรากฎตัวพร้อมกับแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศจนถึงปี 2573 ที่ปรับแก้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสของความตกลงปารีส

โดยสรุป ในระดับประเทศ นักวิทยาศาสตร์ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจที่ก้าวหน้า นายกเทศมนตรี ผู้นำในภาคการเงิน และภาคส่วนต่างๆ จำเป็นต้องศึกษารายงานนี้อย่างรอบคอบ และตรวจสอบให้แน่ใจว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศตระหนักถึงบทสรุปสำหรับผู้กำหนดนโยบาย และเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 26 (COP26) พร้อมกับแผนงานที่พร้อมลงมือทำ

สามารถดู Climate Change Performance Index ของประเทศไทยได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม