ในขณะที่เราทุกคนออกมาปกป้องโลก หลายบริษัทกลับใช้กลยุทธ์ “การฟอกเขียว” เพื่อสร้างภาพลักษณ์ดูเป็นมิตรต่อโลกและเพิ่มยอดขายให้กับตัวเอง

ทุกวันนี้หลายคนออกมาปกป้องโลก หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องเพื่อยุติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง เราเรียนรู้ว่าการเริ่มเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเล็ก ๆ สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้และหลายบริษัทเอกชนก็รู้เช่นกัน 

การนำจริยธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจกำลังมาแรงอย่างมากในสหราชอาณาจักร ในปี 2563-2564 มีค่าใช้จ่ายด้านจริยธรรมสำหรับธุรกิจมากขึ้น24% ตีเป็นมูลค่าสูงถึง 122 พันล้านปอนด์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทต่อประชาชนทั่วไป

แต่บางบริษัทเลือกที่จะใช้วิธีง่าย ๆ อย่างการฟอกเขียวเพื่อให้พวกเขามีภาพลักษณ์ที่ดี

การฟอกเขียว (greenwashing) คืออะไร?

การฟอกเขียวเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทที่ผลิตสินค้าต่าง ๆ ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะมีการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจริง ๆ

ลองนึกภาพตามว่าบนฉลากของบรรจุภัณฑ์ระบุข้อความที่อ่านดูแล้วเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือรับประกันว่านี่คือทางออกสำหรับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และนั่นทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าการฟอกเขียวสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

หลายบริษัทหันมาใช้กลยุทธ์การฟอกเขียวในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้บริโภคเชื่อว่าการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้นไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม

โคคา-โคล่าเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สีเขียวสำหรับผลิตภัณฑ์ Coca-Cola lifeImage via Wikimedia

ตัวอย่างการฟอกเขียว (greenwashing)

เริ่มมีการใช้กลยุทธ์การฟอกเขียวในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2523 แต่ก็มีการใช้กลยุทธ์การฟอกเขียวก่อนหน้านั้นเช่นกัน และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเริ่มมีการปรับใช้กลยุทธ์ฟอกเขียวหลากหลายรูปแบบทำให้บอกได้ยากว่า อะไรคือการฟอกเขียว อะไรคือสิ่งที่ทำแล้วเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างของการฟอกเขียวสังเกตได้จาก

  • การแก้ปัญหาแบบฉาบฉวย: ความพยายามที่จะบอกว่านี่คือวิธีการหนึ่งที่เราหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยที่ไม่มองปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกัน เช่น บริษัทฟาสต์ฟู้ดเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษที่สามารถรีไซเคิลได้แทนหลอดพลาสติก แต่ยังคงใช้เนื้อสัตว์ในสายพานการผลิตที่ส่งผลให้เกิดการเผาป่า
  • การระบุข้อความที่ไม่ชัดเจน เช่น บนฉลากระบุว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้สามารถรีไซเคิลได้แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นชิ้นส่วนใด
  • ไม่มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้ เมื่อผู้ผลิตต้องการให้คุณเชื่อว่า พวกเขาใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังแต่กลับไม่มีหลักฐานที่ยืนยันหรือตรวจสอบได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ของเขาถูกจัดการด้วยวิธีการที่ยั่งยืน
โฆษณาสายการบินEasyJet ใช้รูปท้องฟ้าที่สดใสพร้อมระบุข้อความ “การเดินทางที่ปลอดมลพิษ”  Image via Adfree Cities
  • การใช้รูปภาพหรือข้อความที่บ่งบอกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ต้นไม้และใบไม้หรือการใช้ข้อความต่าง ๆ เช่น “ปลอดสารพิษ” “มาจากธรรมชาติ” “ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” “ปลอดสารเคมี” นอกจากนี้ยังรวมถึงการติดฉลากสีเขียวบนผลิตภัณฑ์ด้วย
  • แนวทางการชดเชยคาร์บอน เป็นวิธีการที่พยายามชดเชยมลพิษที่ตนเองสร้างขึ้นแทนที่จะพยายามลดการก่อมลพิษของตนเอง โดยการจ่ายเงินให้กับบริษัทอื่น ๆ ลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อนำมาทดแทนในส่วนที่ตัวเองผลิตคาร์บอนมากเกินไป แต่นี่คือการแก้ไขปัญหาแบบขอไปที เพราะสุดท้ายแล้วยังคงมีการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศอยู่ดี
  • การใช้ข้อความซ้ำซ้อน การใช้ข้อความเกินความจำเป็น เช่น การโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์นี้เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับมังสวิรัติหรืออาหารจานนี้ทำมาจากพืช กรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์จากพืชอยู่แล้วก็ถือว่าไม่จำเป็น

ปัญหาคืออะไร?

การฟอกเขียวช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถทำธุรกิจได้ปกติพร้อมกับแสร้งว่าตนใส่ใจสิ่งแวดล้อมไปด้วย หากเทียบกับการก่อมลพิษแล้วนั้นเทียบได้ว่าภาคธุรกิจไม่ได้ทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมเลย

การทำธุรกิจรูปแบบนี้เป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและโลกมากกว่าที่เราคิด การฟอกเขียวทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านระบบที่ยั่งยืนต่อผู้คนและโลกช้าลง การบริโภคสินค้าที่มีฉลากอีโค หรือมีแนวทางชดเชยคาร์บอนอาจะทำให้ใครหลายคนรู้สึกดีขึ้น แต่เราทุกคนสามารถทำอะไรที่มากกว่าการบริโภคสินค้าที่มาจากการฟอกเขียว

กลยุทธ์ฟอกเขียวจากหลายบริษัททำให้เบี่ยงเบนความสนใจของผู้บริโภค และถูกทำให้เชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง แต่จริง ๆ แล้วปัญหายังไม่ได้ถูกแก้เลย การฟอกเขียวอาจทำให้เราไม่ได้สนับสนุนบริษัทที่ตั้งใจลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และไม่ได้ไปกดดันให้บริษัทที่ยังยังฟอกเขียวอยู่ให้เปลี่ยนแปลงไปแก้ปัญหาจริง ๆ

หลีกเลี่ยงการฟอกเขียวได้อย่างไรบ้าง

หลายบริษัทใช้วิธีการมากมายทำให้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการฟอกเขียวได้ แต่มีสองวิธีที่จะทำให้คุณรู้เท่าทันการฟอกเขียว วิธีแรก คือ การหาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเองเพื่อให้เราทันต่อเล่ห์กลต่าง ๆ และสองคือ การจับตามองบริษัทให้ไม่สามารถใช้กระบวนการฟอกเขียวหรือแก้ปัญหาแบบผิดวิธีได้

มีหลายอย่างที่คุณสามารถทำได้: 

คัดค้านกลยุทธ์ฟอกเขียวของบริษัท: แรงกดดันจากสาธารณชนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้บริษัทเปิดเผยข้อเท็จจริงและหยุดทำให้เชื่อว่าการฟอกเขียวสามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่นการกล่าวถึงบริษัทที่ใช้กลยุทธ์การฟอกเขียวผ่านทางโซเชียลมีเดีย ลงชื่อคัดค้าน ร้องเรียนไปยังองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบ หรือสนับสนุนองค์กรที่รณรงค์ต่อต้านกระบวนการฟอกเขียว

เป็นพลเมืองที่ตระหนักในปัญหา: เราต่างรู้ว่าบริษัทจำเป็นต้องมีส่วนช่วยในการยุติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นเราต้องรวมกลุ่มกันเรียกร้อง ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเพื่อส่งเสียงของเราทุกคนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง

Climate Action at Eni Headquarter in Rome. © Greenpeace / Francesco Alesi
นักกิจกรรมกรีนพีซต่อต้านอุตสาหกรรมน้ำมันในโรม © กรีนพีซ / Francesco Alesi © Greenpeace / Francesco Alesi

เปิดรับข้อมูลอยู่เสมอ: รู้เท่าทันกลลวงของการฟอกเขียวของผู้ผลิต นอกจากนี้การปรับพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดค่าใช้จ่ายและซื้อของที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีหรืออ่านคู่มือสำหรับผู้บริโภคที่น่าเชื่อถือได้จากแหล่งข้อมูลเหล่านี้ อาทิ

การเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาช่วยให้สามารถใช้ชีวิตแบบที่ต้องการได้และคุณจะเริ่มสังเกตเห็นว่า หลายบริษัทกำลังหลอกลวงเราด้วยกระบวนการฟอกเขียว การรู้ทันกลวิธีทั้งหมดเหล่านี้จะช่วยให้คุณเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของสิ่งแวดล้อม


บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่ https://www.greenpeace.org.uk/news/what-is-greenwashing/