แม้คำว่า “ฟอกเขียว(Greenwashing)” จะรู้จักกันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ปี 2529 โดยอธิบายถึงพฤติกรรมและแนวปฏิบัติของกลุ่มองค์กรและหน่วยธุรกิจเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อใจและดีต่อโลก ส่วนเบื้องหลังกลับเป็นหายนะทางสังคมและนิเวศวิทยา แต่ในโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือในปัจจุบัน การฟอกเขียวยิ่งทวีความเข้มข้น ซ่อนเงื่อน และยากที่จะแยกแยะมากขึ้น

เรามาดูกันว่า ทำไมปี 2565 ที่กำลังจะผ่านไปนี้จึงสมควรเป็นปีแห่งมหกรรมฟอกเขียวครั้งใหญ่ของไทย

Thailand Climate Action Conference,TCAC
ป้ายข้อความ ‘การฟอกเขียว ทำลายสภาพภูมิอากาศ’ ในงาน Thailand Climate Action Conference

การฟอกเขียวโดยบรรษัท (Corporate Greenwashing)

หายนะทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2565 รวมถึง #น้ำมันรั่วChevronSPRC ลงทะเลระยอง [1] #สารพิษรั่วIndorama ที่นครปฐม [2] [3] เราพบว่า กลไกตรวจสอบที่มีอยู่ในสังคมไทยต่างง่อยเปลี้ย ไม่สามารถทำให้อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษซึ่งมีรอยเท้านิเวศ (ecological footprint) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาลเหล่านี้มีภาระรับผิด (accountability) ใดๆ ได้เลย และพวกเขายังใช้ “กิจกรรมเพื่อสังคม(CSR)” เดินหน้าสร้างความชอบธรรมและคงไว้ซึ่งแบบจำลองธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนของตนต่อไป

ภาพเจ้าหน้าที่กำลังขจัดคราบน้ำมันในเหตุการณ์ #น้ำมันรั่วมาบตาพุด จำนวน 400,000 ลิตร จากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล ของบริษัทสตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน (SPRC) ในบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง ในช่วงกลางคืนวันที่ 25-26 ม.ค.2565

การฟอกเขียวโดยบรรษัทยังกินความไปถึงการละเมิดแรงงานและสิทธิมนุษยชน ในเดือนธันวาคม 2565 สำนักข่าวต่างๆ [4] เช่น Workpoint Today รายงานว่า “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ (Norway Sovereign Wealth Fund) กองทุนความมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกประกาศถอนการลงทุนออกจาก บมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เพราะกังวลการลงทุนในเมียนมาของ 2 บริษัท มีส่วนสนับสนุนการละเมิดสิทธิพลเรือนในภาวะสงคราม”[5] ต่อมา PTT และ OR ออกมาชี้แจงโดยยืนยันว่า “ไม่ได้มีส่วนสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องใดๆ เนื่องจากจุดประสงค์ของบริษัทคือการเข้าไปประกอบธุรกิจ”[6]

การนำเสนอข้อมูลที่คลุมเครือยังถือเป็นกลยุทธหนึ่งของการฟอกเขียว เช่น เมื่อพิจารณาถึงแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการอยู่และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ พบว่า ยังไปไม่ถึงรากเหง้าของปัญหา แนวทางที่ดำเนินการทั่วไป เช่น โครงการกู้คืนขยะ ระบบการรีไซเคิล การใช้พลาสติกชีวภาพ และการนำพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าขยะ เป็นต้น เป็นแนวทางที่ผิดพลาดและไม่สามารถแก้ไขวิกฤตมลพิษพลาสติกและวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อย่างจริงจัง และแม้มีการประกาศว่าจะมุ่งเป้าไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน แต่การใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งส่งผลต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้น กลับไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

เครือเจริญโภคภัณฑ์ประกาศว่ามีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ใช้ซ้ำ (reuse) หรือย่อยสลายได้(biodegradable) 88% ในปี 2564 และตั้งเป้าให้ได้ 100% ภายในปี 2573 โดยระบุว่า “บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทั้งหมด(Total Plastic Packaging Used)” เพิ่มขึ้นจาก 75,110 ตัน ในปี 2561 เป็น 134,160 ตัน ในปี 2564 และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้(Total Amount of Reuse/Recyclable/Compostable Plastic Packaging) ในปี 2564 มี 117,940 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 88% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทั้งหมด(Total Plastic Packaging Used) และสามารถลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกลงได้ 96,330 ตัน ข้อมูลดังกล่าวมีความคลุมเครือและสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อสาธารณะ

Reuse Revolution event in Bangkok, Thailand.
กรีนพีซ ประเทศไทย จัดงาน Reuse Revolution ลด(พลาสติก)ให้กระหน่ำ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อ มอบรางวัล Top 5 Corporate Plastic Polluters หรือผู้ก่อมลพิษพลาสติกสูงสุด 5 อันดับแรก จากการเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ตั้งแต่ปี 2561-2565 ให้แก่แบรนด์ในประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group), ดัชมิลล์, โอสถสภา, เสริมสุข และสิงห์ คอร์เปอเรชั่น กรีนพีซ ประเทศไทยเรียกร้องให้ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าในไทยตั้งเป้าลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลงทุนในระบบเก็บพลาสติกหลังการใช้งานกลับคืน การใช้ซ้ำ และรีฟิลโดยใช้ภาชนะใช้ซ้ำ ตลอดจนสนับสนุนกรอบกฎหมายที่ใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(Extended Producer Responsibility หรือ EPR) ในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย

การลดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก 96,330 ตันในปี 2564 แท้ที่จริงแล้วคือการนำปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทั้งหมด 134,160 ตัน ลบออกจากปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้ 117,940 ตัน หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการนำ “บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้” มาแทน “บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทั้งหมด” ได้ 88% ในปี 2564 โดยที่ “บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้” ยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี

เมื่อพิจารณาถึง “บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำหรือย่อยสลาย” จะพบว่าในปี 2564 ประเภทพลาสติกที่เครือเจริญโภคภัณฑ์นำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกประกอบด้วย PETE (หมายเลข 1) 24,555 ตัน HDPE(หมายเลข 2) 27,936 ตัน PVC/V(หมายเลข 3) 3,825 ตัน LDPE(หมายเลข 4) 12,946 ตัน PP(หมายเลข 5) 40,057 ตัน PS (หมายเลข 6) 2,249 ตัน Other (หมายเลข 7) 6,366 ตัน รวมทั้งหมดเป็น 117,940 ตัน บรรจุภัณฑ์พลาสติกดังกล่าวนี้อยู่ห่างไกลจากการ “นำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำหรือย่อยสลาย” ในบรรดาพลาสติกทั้ง 7 ชนิดตาม plastic resin identification code ข้างต้น มีเพียงหมายเลข 1 และ 2 เท่านั้น ที่สามารถรีไซเคิลเพื่อทำเป็นพลาสติกใหม่ได้(หากระบบรีไซเคิลมีความพร้อม) ส่วนหมายเลข 3-7 นั้นยากที่จะนำไปรีไซเคิล [7] การอ้างว่าพลาสติกหมายเลข 3-7 สามารถรีไซเคิลนั้นเป็นได้เพียง downcycle หรือในหลายๆ ครั้งใช้วิธีการที่เรียกว่า chemical recycle ซึ่งเป็นมายาคติ [8]

ร่วมส่งเสียงถึง CP ลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

มาร่วมกันบอก CP ให้ลดใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์

มีส่วนร่วม

การศึกษาของธนาคารโลก “Market Study for Thailand: Plastics Circularity Opportunities and Barriers” [9] ระบุว่า ประเทศไทยรีไซเคิลพลาสติกชนิดหลัก(PET/PP/HDPE/LDPE) ได้ประมาณ 17.6% ในปี 2561 ซึ่งยังไม่เป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตาม the National Plastic Waste Management Roadmap 2018-2030 ที่ 22% ธนาคารโลกระบุว่า มีปริมาณพลาสติกกว่า 2.88 ล้านตันต่อปี ที่ถูกนำไปกำจัด(ถ้าไม่นำไปฝังกลบ ก็นำไปเผา หรือปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมและปนเปื้อนในระบบนิเวศ) โดยใช้ตัวเลข 17.6% ตามการศึกษาของธนาคารโลกข้างต้นมาเป็นจุดอ้างอิง  บรรจุภัณฑ์พลาสติกในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่นำไปรีไซเคิลนั้นมีอย่างมากที่สุดเพียง 23,610 ตัน โดยมากกว่า 94,330 ตัน ถูกนำไปกำจัดรวมที่ปลายทางไม่ว่าจะเป็นหลุมฝังกลบ โรงงานเผาขยะ หรือหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม

นโยบายรัฐเปิดให้มีการฟอกเขียว

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 มกราคม 2564 เห็นชอบให้ โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว(Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy Model) เป็นวาระแห่งชาติ [10]และต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็ได้ผ่านร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 [11] ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ 42 แนวทางดำเนินงาน วงเงิน 40,972.60 ล้านบาท ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 รัฐบาลชู BCG Economy Model เพื่อแสดงให้สมาชิกในเขตเศรษฐกิจเอเปคเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมทางเศรษฐกิจของไทย

ในการแถลงข่าวกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศ COP27 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชึ้แจงว่า การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยจะมุ่งเน้นการส่งเสริมการดำเนินงานตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) [12]

อาจกล่าวได้ว่า BCG Economy Model ถือเป็นกลไกสอดประสานสารพัดนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ ของรัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 และเป็นเครื่องจักรหลักขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามกรอบเวลาไปจนถึงปี 2570 และชัดเจนว่า BCG Economy Model นี้จะเป็นรากฐานที่สร้างความชอบธรรมในการเดินหน้าฟอกเขียวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งอีกด้วย

นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทย ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ส่งข้อความถึงบรรดาผู้นำประเทศที่กำลังจะเดินทางมาประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย – แปซิฟิก หรือ เอเปค 2565 ในสัปดาห์หน้า นักกิจกรรมชูป้ายผ้าที่มีข้อความ “เอเปก ต้องหยุดฟอกเขียว” และ “ผู้ก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศต้องชดใช้ความสูญเสียและความเสียหาย” ในบริเวณบึงน้ำของสวนเบญจกิติซึ่งใกล้กับอาคารจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที 27 (COP27)

ข้อมูลที่วิเคราะห์โดย FTA Watch [13] ระบุว่า นอกเหนือจากนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง(12 ราย)แล้ว องค์ประกอบหลักของคณะกรรมการบริหารและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG [14] คือตัวแทนภาคเอกชนและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา(รวมกัน 19 ราย) และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model 11 คณะ มีอย่างน้อย 3 คณะ คือสาขานวัตกรรม สาขาอาหาร และสาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพที่นำโดยเครือข่ายอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่

ประธานอนุกรรมการสาขานวัตกรรมคือ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นหุ้นส่วนหลักในบริษัท บ้านปู จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมถ่านหินรายใหญ่ของเอเชีย [15] รองประธานคือกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียนกลุ่มมิตรผล ส่วนคณะอนุกรรมการประกอบด้วยผู้แทนบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) [16] ผู้แทนบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้แทนบริษัทไทยยูเนียนกรุ๊ป จำกัด(มหาชน)[17] ผู้แทนบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) [18] ผู้แทนบริษัทเบทาโกร จำกัด(มหาชน) ผู้แทนบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) [19] เป็นต้น

ส่วนในสาขาอาหาร ประธานอนุกรรมการคือ ซีอีโอของบริษัทไทยยูเนียนกรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องและอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีคณะอนุกรรมการประกอบด้วยผู้แทนบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) ผู้แทนบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้แทนบริษัทเบทาโกร จำกัด(มหาชน) ผู้แทนบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด และผู้แทนบริษัทเอสซีจี เพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาและคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model [20] เป็นที่ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า กลุ่มคนผู้กำหนดทิศทางและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์คือกลุ่มอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองไทย (Oligarch) โดยมีหน่วยงานรัฐและกลุ่มอดีตข้าราชการระดับสูงร่วมมือกันอย่างแข็งขัน

เครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศ เดินขบวน เรียกร้องให้รัฐบาลไทย หยุดฟอกเขียว จากโมเดลเศรษฐกิจ BCG.
เครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศ เดินขบวน เรียกร้องให้รัฐบาลไทย หยุดฟอกเขียว จากโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว: Bio-Circular-Green Economy) และสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมสำหรับทุกคน ในระหว่างที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2565 ในวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565

เมื่อนำมูลค่าเศรษฐกิจของ BCG Model มาเปรียบเทียบกับดัชนีความมั่งคั่งทางวัตถุ(Material Wealth Index) ของกลุ่มอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองไทย เราจะเห็นความย้อนแย้งของเป้าหมายและตัวชี้วัดของ BCG Model เอง โดยเฉพาะในด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนในสังคม คำถามสำคัญคือข้ออ้างที่ว่า BCG จะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศที่สร้างมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านบาท (24% GDP) ใน 5 ปีข้างหน้านั้น[21] เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า จะยิ่งกลายเป็นผลกำไรที่สะสมเข้าในความมั่งคั่งของกลุ่มอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองไทยและทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนในสังคมขยายกว้างออกไปอีก

การที่ระบบพลังงาน [22] ระบบอาหาร [23] และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของไทยมีลักษณะรวมศูนย์และผูกขาดโดยอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองไทย (Thai Oilgrach) [24] และความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่ง (wealth inequity) ของคนไทยติดอันดับต้นๆ ในอาเซียนและในโลก [25] นั้นได้สร้างเงื่อนไขที่สมบูรณ์แบบในการผูกขาดวาทกรรม เรื่องเล่า และกิจกรรม “CSR รักษ์โลก” รวมถึงแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมของบรรษัทให้เป็นไปอย่างง่ายดายและแยบยลมากขึ้น

เครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศ เดินขบวน เรียกร้องให้รัฐบาลไทย หยุดฟอกเขียว จากโมเดลเศรษฐกิจ BCG.
เครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศ เดินขบวน เรียกร้องให้รัฐบาลไทย หยุดฟอกเขียว จากโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว: Bio-Circular-Green Economy) และสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมสำหรับทุกคน ในระหว่างที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2565 ในวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565

ในเมื่อ “การฟอกเขียว” กลายเป็นเรื่องเล่าที่ครอบงำสังคมและผู้คนให้คล้อยตาม การเปิดโปงมายาคติของเรื่องเล่าโดย “การพูดความจริงต่ออำนาจ” จะมีนัยสำคัญมากขึ้นในปี 2566 และปีต่อๆ ไป


หมายเหตุ :

[1] จากสถิติน้ำมันรั่วไหลของกรมเจ้าท่า https://md.go.th/oil-spill/ เชฟรอน ยักษ์ใหญ่ฟอสซิลระดับโลกสัญชาติอเมริกันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวไทย 10 ครั้ง เป็นการรั่วไหลจากแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม 7 ครั้ง และจากการขนถ่ายน้ำมันกลางทะเล 3 ครั้ง เหตุการณ์น้ำมันรั่วเดือนมกราคม 2556 ดูที่ https://www.greenpeace.org/thailand/story/22753/sprc-oil-spill-accountability-of-fossil-fuel/ และ https://www.greenpeace.org/southeastasia/story/45124/thailands-oil-pollution-at-sea-the-fossil-fuel-industrys-liability/

[2] โรงงานที่มีสารเคมีกลุ่มอะโรเมติกเบนซีนรั่วไหลออกมาในวงกว้างที่นครปฐม ต้องปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัยและห้ามออกจากบ้าน เป็นของบริษัทยักษ์ใหญ่ปิโตรเคมีระดับโลกที่ชื่อ “อินโดรามา” ในจำนวนขวด PET 5 ขวด (ขวดน้ำดื่มที่เราใช้กัน) บนโลกใบนี้ 1 ขวดมาจากยักษ์ใหญ่ปิโตรเคมีของโลกแห่งนี้ “อินโดรามา” เป็นผู้ผลิต PET โพลีเมอร์ อันดับ 1 ของโลก/ผู้ผลิต PET โพลีเมอร์ อันดับ 1 ในทวีปอเมริกาเหนือ/ผู้ผลิต PET โพลิเมอร์ อันดับ 1 ในทวีปยุโรป/ผู้ผลิต PET รีไซเคิลอันดับ 1 ของโลก/ผู้ผลิตเส้นใยสั้นโพลีโอเลฟินและเส้นใย bicomponent อันดับ 1 ของโลก/ผู้ผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ชนิดพิเศษอันดับ 1 ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ/ผู้ผลิตเส้นด้ายแบบปลายเดี่ยวสำหรับยางรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูงอันดับ 1 ของโลก / ผู้ผลิตเอทิลีนออกไซด์บริสุทธิ์ อันดับ 1 ในทวีปอเมริกาเหนือ / ผู้ผลิตเส้นด้ายพอลิเอไมด์ 6.6 สำหรับถุงลมนิรภัยอันดับ 2 ของโลก / ผู้ผลิตเส้นด้ายเรยอนสำหรับยางรถยนต์ อันดับ 2 ของโลก / ผู้ผลิตสิ่งทอโพลีเอสเตอร์สำหรับยางรถยนต์อันดับ 2 ในประเทศจีน / ผู้ผลิตสารตั้งต้น IPA อันดับ 2 ของโลก และเพียงผู้เดียวในทวีปยุโรป ถือว่า “อินโดรามา” ได้ควบคุมวิถีชีวิตของผู้คนยุคใหม่ที่ต้องพึ่งพาและมีความสะดวกสบายจาก “พลาสติก” และก็เป็น root cause ของวิกฤตแห่งความสะดวกสบายนั้นด้วย อินโดรามายังเกี่ยวข้องกับอุบัติภัยวัตถุเคมีในโรงงานของตนที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดปี 2555 https://bit.ly/3PSfftm ดูเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/3VnwEvk 

[3] อ่านแถลงการณ์ของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศและกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ที่ https://www.greenpeace.org/thailand/press/24857/climate-airpollution-prtr-indorama-chemical-spill/

[4] Workpointtoday – กองทุนความมั่งคั่งนอร์เวย์ ประกาศถอนการลงทุน PTT-OR เพราะมีส่วนสนับสนุนสงครามเมียนมา https://workpointtoday.com/norway-sovereign-wealth-fund-drops-thai-ptt-on-rights-concerns/
Bangkok Post https://www.bangkokpost.com/business/2462135/norwegian-fund-dumps-ptt-over-rights-concerns 

[5] ติดตามงานรณรงค์ Blood Money Campaign ได้ที่ https://actionnetwork.org/groups/blood-money-campaign 

[6] https://thestandard.co/or-norwegian-pension-fund-ptt/ 

[7] ​​เพระเหตุใดพลาสติกหมายเลข 3-7 นั้นยากที่จะนำไปรีไซเคิล อาจดูกรณีที่เกิดขึ้นก่อนเดือนมีนาคมปี 2561 สหรัฐอเมริกาส่งออกพลาสติกและกระดาษจำนวนมากไปยังจีนเพื่อนำไปรีไซเคิล  เมื่อจีนใช้ National Sward Policy อัตราการปนเปื้อนที่ยอมรับได้สำหรับขยะพลาสติกเปลี่ยนจาก 5% เป็น 0.5% ซึ่งไม่มีโรงงานใดในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอุตสาหกรรมอื่นใดที่สามารถรับมือกับมาตรฐานใหม่นี้ได้ การส่งออกวัสดุรีไซเคิลจึงเปลี่ยนเส้นทางไปยังตลาดรองในประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

[8] https://www.no-burn.org/chemical-recycling-resources/

[9]https://www.worldbank.org/en/country/thailand/publication/market-study-for-thailand-plastics-circularity-opportunities-and-barriers

[10]https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2021/20210213-bcg-cabinet-conclusion-national-agenda.pdf

[11]https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/bcg/20211228-BCG-Action-Plan-2564-2570.pdf

[12]https://www.nationtv.tv/news/social/378892094

[13]https://waymagazine.org/apec-2022-hidden-agenda/

[14]https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2021/20200209-order-committee-BCG.pdf

[15]รายงานของกรีนพีซในปี 2559 ระบุว่า เหมืองถ่านหินของบริษัทบ้านปูฯ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นรอยแผลที่บาดลึกและยากเกินจะเยียวยาของผู้คนในจังหวัดกาลิมันตัน อินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่า การปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำและผืนดิน รวมไปถึงการละเมิดสิทธิชุมชนhttps://www.greenpeace.org/thailand/publication/7547/the-dirty-work-of-banpu/ 

[16] งานรณรงค์ของกรีนพีซเพื่อกดดันให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ยุติพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง https://bit.ly/3VpAYtN 

[17] รายงานสืบสวนของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2558 ระบุบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลกไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานปลาทูน่า https://www.greenpeace.org/thailand/publication/3147/labor-work-and-tuna-industry/ หลังจากงานรณรงค์ระดับโลกได้นำไปสู่การเจรจาและในปี 2560 เกิดข้อตกลงระหว่างบริษัทไทยยูเนี่ยนและกรีนพีซที่ต้องการผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกภายในอุตสาหกรรม ปัจจุบัน กรีนพีซยังคงติดตามตรวจสอบแนวปฏิบัติการของภาคอุตสาหกรรมประมงทูน่ารวมถึงการสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงการจัดอันดับความยั่งยืนของแบรนด์ปลาทูน่าต่างๆ ของไทย https://tuna2020.greenpeace.or.th

[19] https://thaipublica.org/2013/08/question-pttgc/ 

[20] จดหมายเปิดผนึก ถึง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เรื่องการยุติโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จังหวัดลำปาง https://www.greenpeace.org/thailand/story/18440/climate-coal-open-letter-to-scg/ 

[21] https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2021/20200209-order-committee-BCG.pdf 

[22] https://bit.ly/3FU29HA 

[23] https://www.sdgmove.com/2021/11/30/sdg-updates-political-economy-energy-monopoly/ 

[24] “เก็งกำไร-ผูกขาด-เหลื่อมล้ำ” วิกฤตอาหาร-เกษตร 65 : วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ https://greennews.agency/?p=32005 

[25] ดัชนีความมั่งคั่งทางวัตถุ(Material Wealth Index) เป็นค่าเฉลี่ยความมั่งคั่งของอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองไทย 50 อันดับต้น นำมาหารด้วยค่าเฉลี่ยความมั่งคั่งต่อหัว (the average wealth per capita) อนึ่งนิตยสารฟอร์บมีการการจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีไทย 50 อันดับแรกของ Forbes ทุกปี Rhoden, T.F.(2015), Oligarchy in Thailand?, Journal of Current Southeast Asia Affairs. 

[26] https://www.aseantoday.com/2019/01/thailands-wealth-inequality-is-the-highest-in-the-world-what-does-this-mean-for-upcoming-elections/