ปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดและยังมาพร้อมกับภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบทั่วโลก แม้ว่าการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศปัจจุบันดูเป็นเรื่องที่น่าสิ้นหวังเพราะความล่าช้า แต่ก็เป็นปีที่เรายังเห็นชัยชนะจากกลุ่มคนและชุมชนจำนวนมากที่อยากปกป้องโลกใบนี้ นั่นเป็นเพราะความกล้าหาญในการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อส่งแวดล้อมของพวกเขาเหล่านี้

ในบทความนี้เราได้รวบรวมข่าวดีจากการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศจากคนทั่วโลกเพื่อส่งมอบเรื่องราวดี ๆ ให้กับทุกคน

การประชุมด้านสภาพภูมิอากาศโลกหรือ COP ล่าสุดส่งสัญญาณว่าโลกต้องยุติยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล

นักกิจกรรมมากกว่า 65 คนจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์หน้าสถานที่การประชุม COP โดยถือ Light Box สีเหลือง เป็นข้อความว่า ‘YALLA!’ แปลว่า ‘สักทีเถอะ’ มีความหมายถึงการลงมือกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศสักทีเถอะ © Marie Jacquemin / Greenpeace

การประชุม COP28 ที่เกิดขึ้นที่ดูไบได้ส่งสัญญาณให้กับโลกซึ่งเป็นประวัติการณ์ที่ยกประเด็นที่โลกจะต้องยุติยุคฟอสซิล ร่วมกับเสียงเรียกร้องที่จะต้องให้โลกต้องยกระดับในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมภายในทศวรรษนี้ ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้เกือบทุกประเทศทั่วโลกเห็นด้วยกับการถอยห่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ‘transition away from fossil fuels’ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นี่เป็นการส่งสัญญาณครั้งประวัติศาสตร์หลังจากการประชุมเจรจามาแล้ว 28 ปี

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวยังคงมีช่องโหว่และข้อบกพร่องหลายประการ เพราะยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการเรียกร้องให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากมายเพื่อให้ข้อเรียกร้องนี้สำเร็จ และอย่างน้อยจะต้องมีแผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่รวดเร็วและชัดเจน

ภูมิปัญญาของชนพื้นเมืองสำหรับการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องโลก

การรวมตัวรณรงค์ครั้งใหญ่ของกลุ่มชนพื้นเมือง ในการประชุมเจรจาเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ CBD COP15 ในมอนทรีออล © Greenpeace / Toma Iczkovits

ในการประชุมเจรจาด้านการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 15 หรือ the 15th UN Conference on Biodiversity (COP15) ได้เกิดข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่กำหนดให้ภูมิปัญญาในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของกลุ่มชนพื้นเมือง ประกอบด้วยองค์ความรู้ กรณีศึกษาต่าง ๆ เหล่านี้ต่างเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเรียกว่าเป็นความตกลง คุนหมิง-มอนทรีออล (the Kunming-Montreal Agreement) ซึ่งจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่เปิดทางให้การอนุรักษ์ระบบนิเวศตามองค์ความรู้ของชนพื้นเมืองกลายเป็นมาตรฐานหลักสำหรับการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพต่อไป

แม้ว่ากลุ่มชนพื้นเมืองจะมีจำนวนประชากรเพียง 5% จากประชากรทั้งโลก แต่พวกเขาสามารถปกป้องระบบนิเวศของโลกได้มากถึง 80% ทั้งนี้ ความตกลงคุนหมิง-มอนทรีออล ดังกล่าวจะต้องเคารพอาณาเขตของชนพื้นเมืองและทำให้พวกเขามีสิทธิและมีอิสระในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่และต้องขออนุญาตพวกเขาทุกครั้ง รวมทั้งจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจประเด็นต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ตามการอ้างอิงจากหลักสิทธิมนุษยชนแห่งชนพื้นเมืองที่องค์การสหประชาชาติจัดทำขึ้น 

หลังการเจรจาอันยาวนาน องค์การสหประชาชาติอนุมัติสนธิสัญญาทะเลหลวงฉบับใหม่

นักกิจกรรมกรีนพีซ สหรัฐอเมริกา ฉายภาพรณรงค์เรียกร้องให้ผู้นำโลกเจรจาและตกลงให้เกิดสนธิสัญญาทะเลหลวงบนสะพานบรู๊คลิน (Brooklyn Bridge) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงนิวยอร์ก ก่อนการประชุมเจรจาสนธิสัญญาทะเลหลวง (IGC5) ที่สำนักงานองค์การประชาชาติ โดยสนธิสัญญาดังกล่าวจะต้องมีประสิทธิภาพมากพอที่จะปกป้องทะเลและมหาสมุทรโลกได้จริง © POW / Greenpeace

และความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้น ในเดือนมีนาคม 2566 องค์การสหประชาชาติได้รับร่างสนธิสัญญาทะเลหลวงซึ่งจะเป็นสนธิสัญญาที่ปูทางให้โลกได้ปกป้องทะเลและมหาสมุทรโลกหลังจากใช้เวลาเจรจามายาวนานกว่า 20 ปี ทั้งนี้สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวยังเปิดทางให้เกิดเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลทั่วโลก ซึ่งจะเป็นเขตที่ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเลและสิ่งมีชีวิตในทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ 

และในเดือนมิถุนายน 2566 รัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติได้ลงรับสนธิสัญญาทะเลหลวงอย่างเป็นทางการ และในเดือนกันยายน 2566 หลายประเทศ (มากกว่า 80 ประเทศ) ก็เซ็นสัญญาตกลงปกป้องพื้นที่มหาสมุทรโลกอย่างน้อย 30% ภายในปี 2573 แผนการที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นแผนการที่จะทำให้สนธิสัญญาทะเลหลวงมีประสิทธิภาพมากที่สุดโดยไม่มีการเลื่อนระยะเวลาดำเนินการออกไปอีก

การยกระดับคัดค้านโครงการเหมืองทะเลลึก

นักกิจกรรมกรีนพีซ ประท้วงคัดค้านหน้าเรือขุดเจาะเหมืองทะเลลึกในภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิก
© Martin Katz / Greenpeace

กรกฎาคม 2566 เกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองทะเลลึกที่ไม่ได้รับไฟเขียวอนุมัติให้ดำเนินโครงการ กรีนพีซได้รณรงค์เพื่อให้โลกเห็นว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อมหาสมุทรมากเพียงใด ซึ่งทำให้มีผู้คนเข้าร่วมการเรียกร้องนี้มากมาย จนทำให้คณะกรรมการในองค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศ (The International Seabed Authority : ISA) ยังไม่อนุญาตให้อุตสาหกรรมเริ่มทำเหมืองใต้ทะเลลึกเพื่อการพาณิชย์ในระยะเวลาอันใกล้นี้

เมื่อกรีนพีซเริ่มยกระดับคัดค้านโครงการเหมืองทะเลลึกในเดือนตุลาคม 2565 เราได้รับการสนับสนุนจากประเทศ 8 ประเทศให้เลื่อนการทดลองการขุดเจาะเหมืองที่อาจก่อความเสียหายออกไป และหนึ่งปีต่อมา ก็มีรัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 3 เท่าที่ไม่เห็นด้วยกับการโครงการของอุตสาหกรรมนี้ เป็นเพราะกรีนพีซจากหลายประเทศทั่วโลกที่ร่วมรณรงค์คัดค้านจนกระทั่งรัฐบาลหลายประเทศไม่เห็นด้วยกับโครงการเหมืองทะเลลึกที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลในกลุ่มประเทศที่มักสนับสนุนการทำเหมือง เช่น แคนาดา บราซิล สหราชอาณาจักร และเม็กซิโก

เมื่อการใช้เครื่องบินส่วนตัวของกลุ่มคนร่ำรวยเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกำลังถูกจับตามอง

นักกิจกรรมจาก Extinction Rebellion และกรีนพีซ เนเธอร์แลนด์ รวมตัวประท้วงอย่างสันติที่สนามบิน Amsterdam Schiphol Airport ซึ่งเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดแห่งที่สองของสหภาพยุโรป © Marten van Dijl / Greenpeace

ในปี 2566 เดียวกันนี้เอง ประเด็นใหม่ที่น่าจับตามองและเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลายคือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านเครื่องบินส่วนตัวจนมีหลาย ๆ กลุ่มเริ่มรณรงค์คัดค้าน ด้วยแรงกดดันของกรีนพีซและเครือข่ายพันธมิตรทำให้ในที่สุดก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในสหภาพยุโรปขึ้น ในออสเตรเลีย ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์มีการเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสหภาพฯ ใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้เครื่องบินส่วนตัวอย่างเข้มงวดมากขึ้นเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังเกิดการหารือเกี่ยวกับกฎระเบียบของเครื่องบินส่วนตัวในการประชุมสภาการขนส่งของสหภาพฯอีกด้วย

เมื่อเดือนเมษายน 2566 สนามบินสคิปโพลยื่นข้อเสนอที่จะแบนเครื่องบินส่วนตัว หลังจากการรณรงค์ครั้งนั้นของกรีนพีซและเครือข่ายพันธมิตรอื่น ๆ ในเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังมีประเทศเบลเยียมที่เสนอให้เก็บภาษีการใช้เครื่องบินส่วนตัวและไฟลท์บินระยะสั้น รวมทั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 โปรตุเกสยังออกกฎหมายเก็บภาษีคาร์บอนจากการใช้เครื่องบินส่วนตัวอีกด้วย

หลังจากนี้เราคาดหวังว่าการณรงค์จะกระจายออกไปเป็นวงกว้างและทั่วโลกจะร่วมแบนการใช้เครื่องบินส่วนตัวและไฟลท์บินระยะสั้น เครื่องบินส่วนตัวคือการเดินทางที่ปลดปล่อยมลพิษมากที่สุดและมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ดังนั้นหากเลิกใช้การเดินทางด้วยวิธีนี้จะสร้างความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

วิกฤตสภาพภูมิอากาศและประเด็นสิทธิมนุษยชนถูกอ้างถึงในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ภาพของกรีนพีซออสเตรเลีย แปซิฟิก ที่กำลังร่วมเฉลิมฉลอง “week of action” เพื่อยืนหยัดกับกลุ่มเยาวชนและเครือข่ายท้องถิ่นจากแปซิฟิกและทั่วโลก ซึ่งกำลังรณรงค์ให้สมาชิกรัฐสภาของประเทศโหวต เห็นด้วย กับ ความเห็นของที่ปรึกษาจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice : ICJ AO) © Steven Lilo / Greenpeace

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ United Nations General Assembly (UNGA) เรียกร้องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice : ICJ) ยกประเด็นความเห็นของที่ปรึกษาเกี่ยวกับหน้าที่ของแต่ละประเทศในการปกป้องสิทธิของประชาชนจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และผลทางกฎหมายระหว่างประเทศในกรณีที่มีประเทศใดประเทศหนึ่งฝ่าฝืนหน้าที่เหล่านี้

กลุ่มนักศึกษาด้านกฎหมายที่เป็นที่รู้จักในชื่อ Pacific Islands Students Fighting Climate Change (PISFCC) เป็นกลุ่มที่เริ่มยื่นเรื่องดังกล่าวกับองค์การสหประชาชาติ ก่อนที่รัฐบาลวานัวตูจะรับเรื่องต่อ กรีนพีซทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับนักศึกษากลุ่มนี้ นักศึกษาจากกลุ่ม WY4CJ และเครือข่ายพันธมิตรท้องถิ่นอีกหลายกลุ่ม เพื่อรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสหประชาชาติในหลายประเทศทั่วโลก นี่คือเรื่องราวของความรัก ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และยังเป็นความสร้างสรรค์ที่เติบโตจากการทำงานจากประชาชนฐานรากไปสู่การขับเคลื่อนระดับโลก

เรามีสิทธิในการรณรงค์และประท้วงอย่างสันติ

ภาพในปี 2556 ผู้สนับสนุนกรีนพีซร่วมประท้วงให้กับกรณีลูกเรืออาร์กติก ซันไรส์ถูกจับ กิจกรรมเกิดขึ้นที่  Puerta del Sol ในกรุงแมดริกเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยลูกเรืออาร์กติกซันไรส์ทั้ง 30 คน © Jose Luis Roca / Greenpeace

ในวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีคำพิพากษาคดีที่ดำเนินมายาวนานระหว่างลูกเรือ เรืออาร์กติก ซันไรส์ของกรีนพีซ กับ รัสเซีย โดยพบว่าทางการรัสเซียควบคุมตัวลูกเรือ เรืออาร์กติก ซันไรส์จำนวน 28 คน พร้อมกับนักข่าวอิสระอีก 2 คนโดยพลการและละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

เมื่อเดือนกันยายน ปี 2556 กลุ่มลูกเรือที่ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ อาร์กติก 30 (Arctic 30) ถูกควบคุมตัวโดยต้องสงสัยว่ากระทำความผิดทางอาญาหลังกองทหารคอมมานโดของรัสเซียขึ้นไปบนเรืออาร์กติก ซันไรส์ และยึดเรือเอาไว้ หลังจากที่เรืออาร์กติก ซันไรส์ติดตามและรณรงค์คัดค้านการขุดเจาะน้ำมันที่แท่นขุดเจาะ Prirazlomnaya ในทะเลเพโชรา (Pechora Sea) ที่อยู่ห่างออกจากอ่าวรัสเซียออกไปทางตอนเหนือ พวกเขาถูกกักตัวอยู่ในศูนย์กักกันของรัสเซียเป็นเวลากว่า 2 เดือน ก่อนจะถูกปล่อยตัวทั้งหมดและได้รับอนุญาตให้ออกจากประเทศได้

ยังมีความสำเร็จในงานรณรงค์อีกประเด็นหนึ่ง นั่นคือศาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินให้กรีนพีซสามารถประท้วงอย่างสันติ คัดค้านเรือสำรวจแร่ในโครงการเหมืองทะเลลึก ซึ่งก่อนหน้านี้นักกิจกรรมประท้วงอย่างสันติมาแล้วมากกว่า 200 ชั่วโมงในมหาสมุทรแปซิฟิก