เป็นระยะเวลากว่า 9 ปีที่เราได้ยินคำว่า ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ ซึ่งประกาศใช้โดยรัฐบาลทหาร คสช. ผ่านการนำเสนอในสื่อต่าง ๆ แต่เคยทราบหรือไม่ว่าเบื้องหลังการ ‘ทวงคืน’ นี้เกิดผลกระทบอะไรบ้างนอกจากรัฐได้ผืนป่าคืน ? เพราะอะไรที่ผ่านมาจึงมีเสียงคัดค้านและเกิดการต่อสู้จากชาวบ้าน เช่นเดียวกับการต่อสู้ของกลุ่มอนุรัษ์น้ำซับคำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร
กว่า 9 ปีที่ชุมชนคำป่าหลายปกป้องที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติจากการถูกแย่งยึดโดยรัฐในยุค คสช. มาจนถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมโดยอ้างนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG
‘ทวงคืน’ หรือ ‘แย่งยึด’
หนึ่งในรากปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนเรื่อยมานั่นก็คือแนวคิดที่หล่อหลอมรัฐมาว่า ‘ทรัพยากรป่าไม้เป็นของรัฐ’ รัฐจึงแสดงความเป็นเจ้าของ แต่ในทางกลับกันหลายชุมชนก็มีการตั้งถิ่นที่อยู่และทำมาหากินบนผืนดินมาอย่างยาวนาน เช่น ชุมชนคำป่าหลาย ที่ตั้งรกรากเป็นหมู่บ้านและร่วมกันกำหนดเขตที่ดินทำกินมาก่อนปี พ.ศ.2380 หรือเป็นระยะเวาลาเกือบ 200 ปีแล้ว พวกเขาใช้ที่ดินเหล่านี้เพาะปลูกหาเลี้ยงชีพเพื่อครอบครัวจนกระทั่งเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เกิดการสำรวจแนวเขตป่าโดยรัฐและเริ่มประกาศเขตป่าสงวน หลังจากนั้นจึงเกิดความขัดแย้งเรื่อยมา โดยความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้นในยุครัฐบาลทหาร คสช. ผ่านนโยบายทวงคืนผืนป่า
คำว่า ‘ทวงคืน’ มีนัยความหมายของการเรียกเอาสิ่งที่เป็นของตน หรือสิ่งที่ติดค้างกลับคืนมา หรือ เรียกร้องเอาสิ่งที่พึงมีพึงได้ จากการที่บุคคลอื่นกระทำครอบครองโดยชอบหรือมิชอบ เป็นคำแสดงสถานะ ‘ความเป็นเจ้าของ’
แต่ในมุมมองของชุมชน การกระทำเช่นนี้ของรัฐคือข้ออ้างในการแย่งยึดพื้นที่ของชุมชนเพราะชาวบ้านไม่ได้เต็มใจเอาที่ดินเหล่านี้ให้กับรัฐ
กรณีการถูกแย่งยึดที่ดินของ จิราวรรณ ชัยยิ่ง หนึ่งในราษฎรจากชุมชนคำป่าหลาย ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
จากรายงานการวิจัย ‘การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหาร คสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง กรณีป่าสงวนแห่งชาติดงหมู แปลง 2’ โดยผู้วิจัย กิติมา ขุนทอง และ ธนพร ศรีสุขใส ได้ศึกษาผลกระทบจากราษฎร 50 ครัวเรือนในพื้นที่ดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบ เช่น กรณีของ จิราวรรณ ชัยยิ่ง กับการถูกแย่งยึดที่ดินไป 17 ไร่ซึ่งจิราวรรณกล่าวว่าที่ดินนี้เธอได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากพ่อสามี ทั้งนี้เธอเสริมว่าสมัยก่อนการกำหนดว่าใครได้ที่ดินเท่าไหร่จะกำหนดโดยผู้ใหญ่บ้านหรือหัวหน้าหมู่บ้านที่จะเป็นผู้ชี้เขตทำกินให้ชาวบ้าน แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลังมีนโยบายและการปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าเกิดขึ้นทำให้เธอถูกยึดสิทธิในที่ดินทำกินซึ่งทำให้ครอบครัวสูญเสียรายได้ฉับพลัน
“เราถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ มีเจ้าหน้าที่เข้าไปไถหัวมันที่เราปลูกจนพืชผลเสียหาย หัวมันพวกนี้ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยวจึงทำให้เราขาดรายได้เอาไปเลี้ยงครอบครัว เงินที่ลงทุนไปก็สูญเปล่า”
เปิดรูปแบบ 7 ปฏิบัติการ ทวงคืนผืนป่า
- รื้อถอนทำลายพืชผล : เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปรื้อถอนผลผลิตที่ชาวบ้านปลูกเป็นรายได้
- ยึดพื้นที่ ปักเสา ปลูกป่าทับ : เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปปลูกป่าทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน
- รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สิน : เจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนบ้านและทรัพย์สินของชาวบ้าน
- ยืนแปลง / คดีแห้ง : จับกุมชาวบ้าน ถ่ายรูปตัวชาวบ้านพร้อมแปลงเพื่อดำเนินคดี
- ยึดสิทธิ : จับกุมตัวชาวบ้าน ยึดโทรศัพท์มือถือไม่ให้ติดต่อญาติ
- ปักป้ายประกาศ / ข่มขู่ : ห้ามชาวบ้านเข้าพื้นที่
- ดำเนินคดี / กักขัง
การแย่งยึดพื้นที่เช่นนี้นำไปสู่ “การสูญเสียแบบฉับพลัน”
เพราะการแย่งยึดที่ดินของรัฐเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินเหล่านี้เคยเป็นแหล่งรายได้ของราษฎร แต่เมื่อพวกเขาเสียที่ดินไปฉับพลัน พวกเขาจึงสูญเสียอะไรหลายอย่างไปอย่างฉับพลัน เช่น รายได้ โดยเกิดความยากจนฉับพลัน เมื่อรายได้ลดลง ทางออกไม่กี่ทางก็คือการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น ทำให้พวกเขามีหนี้สินเพิ่มขึ้นจนสูญเสียระบบการจัดการเงิน สุดท้ายพวกเขาก็เสี่ยงที่จะตกอยู่ในกับดักหนี้สิน และมีโอกาสสูงมากที่จะต้องส่งต่อหนี้สินไปสู่รุ่นลูก ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่เช่นนี้ทำให้สุดท้ายชาวบ้านจะไม่สามารถข้ามพ้นเส้นความยากจนได้เลย
ความเสี่ยงในชีวิตที่เพิ่มขึ้น
จากรายงานฉบับเดียวกันนี้ที่สำรวจผลกระทบของครอบครัวตัวอย่างจำนวน 50 ครัวเรือน ระบุว่า มี 5 ครัวเรือนสูญเสียรายได้ในการดำรงชีพมากกว่า 50% อย่างฉับพลัน เพราะที่ดินทำกินที่ถูกยึดไปคือแหล่งหารายได้ทั้งหมด และมีครอบครัว 27 ครัวเรือนสญเสียรายได้น้อยกว่า 50%
นอกจากความเสี่ยงที่จะต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะหลายครัวเรือนไม่สามารถส่งลูกหลานเรียนต่อได้เพราะมีรายได้ไม่เพียงพอ ยังมีกรณีที่วิกฤตเศรษฐกิจที่แต่ละครอบครัวต้องเผชิญจะแฝงไปด้วยความทุกข์ตรมด้านอารมณ์ หนี้สินอันล้นพ้นยิ่งทำให้พวกเขาเครียดเพราะต้องหาทางออกเพื่อชีวิตตนเองและครอบครัว บางคนล้มป่วยทางกาย บางคนล้มป่วยด้านจิตใจ บางครอบครัวเกิดความขัดแย้ง อย่างไรก็ตามความทุกข์ตรมเหล่านี้ไม่เคยได้รับการเยียวยาหรือชดเชยใด ๆ จากรัฐ เพราะนโยบาลที่รัฐบาลทหารคิดขึ้นมานี้ทำขึ้นโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบเลย
ปัจจุบันแม้ได้รับที่ดินคืนแล้ว แต่ยังต้องพบเจอการถูกแย่งยึดจากกลไกทางการตลาด
แม้ว่าปัจจุบันราษฎรในชุมชนคำป่าหลายจะต่อสู้จนได้กลับมาทำกินบนที่ดินเดิมแล้ว แต่การทำกินบนที่ดินนี้ยังอยู่บนกรณีพิพาทด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้
- ความคลุมเครือเรื่องสิทธิ์
- ความไม่มั่นคงในที่ดิน
- ความเสี่ยงที่จะสูญเสียที่ดินถาวร
- การฟื้นตัวกลับมาสามารถจัดการการเงินที่ใช้ระยะเวลา
ยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้ราษฎรชุมชนคำป่าหลายกำลังเผชิญกับการแย่งยึดที่ดินในรูปแบบใหม่ผ่านกลไกทางการตลาด โดยในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมาที่รัฐบาลพยายามผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy ให้เป็นวาระหลักของชาติ “เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม” ทำให้เกิดโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานกังหันลม โดยบริษัท 555 กรีน เอนเนอร์จี้ จำกัด ซึ่งกรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ภายในพื้นที่ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมดังกล่าวทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวบ้าน
“เราไม่ได้คัดค้านพลังงานหมุนเวียน แต่เราตั้งคำถามว่าโครงการกำลังเบียดขับชุมชนออกจากพื้นที่และทำให้พวกเขาสูญเสียพื้นที่ทำกิน นำไปสู่ความยากจนฉับพลันและไม่สามารถนำตัวเองข้ามเส้นความยากจน ติดอยู่ในกับดักความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น”
ปัจจุบันกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ยื่นหนังสือเพื่อแสดงเจตจำนงคัดค้านโครงการผลิตไฟฟ้ากังหันลมถึงเทศบาลตำบลคำป่าหลาย และยังคงเคลื่อนไหวเรียกร้องทวงคืนสิทธิในที่ดินอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะได้สิทธิในที่ดินที่ครอบครองมาโดยชอบธรรมตั้งแต่บรรพบุรุษ
#พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดต้องไม่ละเมิดสิทธิชุมชน
สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มที่นี่