ในปีนี้ ทั้งโลกต่างเห็นถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เราเห็นภาวะโลกเดือดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและความร้อนในแต่ละเดือน และเรากำลังเดินทางเข้าไปใกล้จุดที่โลกกำลังจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสตามที่ความตกลงปารีสได้ระบุไว้ และในปีนี้ก็เป็นอีกปีที่กลุ่มผู้นำโลกแต่ละประเทศจะมารวมตัวกันเพื่อประชุมเจรจาและร่วมวางแผนกู้วิกฤตโลกเดือดไปด้วยกันในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) ที่เมืองบากู อาเซอร์ไบจาน

COP29 คือการประชุมแบบไหน?

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อสั้น ๆ ว่า COP จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2538 โดยเลือกจัดในเมืองต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีหรือคณะผู้แทนรัฐจากทั่วโลกจะมาเข้าร่วมประชุมพร้อมกับตัวแทนภาคประชาสังคม ตัวแทนภาคธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์และกลุ่มที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่นกลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น โดยกรีนพีซจะเป็นหนึ่งในกลุ่มภาคประชาสังคมที่เข้าร่วม เรามีนักรณรงค์ นักนโยบายและผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เราเข้าร่วมสังเกตการณ์การเจรจาและจับตามองท่าทีของตัวแทนรัฐบาลต่างๆ

ในขณะที่เป้าหมายในอุดมคติคือทั่วโลกต้องร่วมมือกันในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้งก็โฟกัสไปแต่ละประเด็นแตกต่างกันออกไป โดยประเทศเจ้าภาพจะเป็นผู้กำหนดประเด็นในการเจรจา ซึ่งการประชุม COP29 นี้ จะเป็นการประชุมในประเด็น ‘การเงิน’ เป็นหลัก ซึ่งข้อเจรจาตกลงจะต้องไปให้ถึงเป้าหมายการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ หรือในชื่อแผน the New Collective Quantified Goal (NCQG)

ภาพการประชุมเจรจา COP28 โซนห้องแถลงการณ์จากภาคประชาชนที่เรียกร้องให้มีการปลดระวางเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเร่งด่วน เป็นธรรม คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ และมีการสนับสนุนทางการเงิน รวมถึงให้มีการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่เป็นธรรมในการประชุม COP28 ในดูไบ © Marie Jacquemin / Greenpeace

ในการประชุม COP28 จัดขึ้นในดูไบในปีก่อน เป็นการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่สุด โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100,000 คน และมีตัวแทนจากรัฐต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 150 ประเทศ หลังจากการเจรจาอย่างวุ่นวายตลอดสองสัปดาห์เต็ม และแม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่พบคำว่า ‘ปลดระวาง’ ในข้อตกลง แต่ก็ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเป็นที่รู้จักมากขึ้นรวมทั้งขบวนการการเรียกร้องการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อเพื่อยุติยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล

เพราะอะไร? การประชุม COP29 จึงสำคัญ

ปีที่ผ่านมา โลกของเราต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงทั้งจากพายุเฮอร์ริเคนไปจนถึงคลื่นความร้อน ภัยแล้งและน้ำท่วมรุนแรงฉับพลัน เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเช่นนี้กำลังกระทบชุมชนท้องถิ่น วิถีชีวิตและชีวิตประชาชนทั่วโลก ดังนั้นการลงมือกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศในระดับโลกนั้นเป็นเรื่องจำเป็นมาก

ภาพการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้โลกปลดระวางการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลบริเวณหน้าที่ประชุม COP28 © Marie Jacquemin / Greenpeace

ด้วยสถานการณ์เร่งด่วน การประชุม COP28 มีมติข้อตกลงว่าโลกจะต้องตัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 43% ภายในปี 2573 และเพิ่มขึ้นเป็น 60% ภายในปี 2578 เพื่อชะลอไม่ให้โลกวิกฤตไปมากกว่านี้ ซึ่งเป็นการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) ครั้งแรก

โดยรายงานที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้อย่าง UNEP Emissions Gap report  และ ข้อค้นพบจากองค์กรพลังงานสากล the International Energy Agency ยังชี้ให้เห็นว่าเรากำลังเดินออกห่างจากเป้าหมายตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ต้องชะลอไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าใน COP29 นี้เราต้องการแผนการลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

กรีนพีซมีข้อเรียกร้องต่อการประชุม COP29 ได้แก่

  1. เป้าหมายสนับสนุนด้านการเงินฉบับใหม่ หรือ กองทุน NCQG เพื่อชดเชยความสูญเสียและเสียหาย จะต้องเพิ่มจำนวนเงินในกองทุนสาธารณะเพื่อเป็นทุนสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการปรับตัว รับมือ และยังเป็นเงินชดเชยค่าความสูญเสียและเสียหายที่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งผู้ก่อมลพิษหลักเหล่านี้จะต้องเป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุน ตามหลักผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย (Make Polluters Pay principle)
  2. การนำข้อตกลงจาก COP28 เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาปฏิบัติ รวมทั้งยังต้องรวมแผนการดำเนินงานของแต่ละประเทศที่จะต้องดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันกับแผนการชะลอไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2573 และ 2578
  3. ป้องกันไม่ให้เกิดผลลัพธ์ที่ไร้ประสิทธิภาพของการชดเชยคาร์บอนและตลาดคาร์บอน เพื่อปกป้องและปล่อยให้ระบบนิเวศที่กักเก็บคาร์บอนกลับมามีความสมบูรณ์
คณะเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศระดับเยาวชนที่เข้าร่วมการประชุม COP28 © Marie Jacquemin / Greenpeace

เงินหลายล้านล้านเหรียญเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างกองทุนเพื่อสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลาอันใกล้นี้ และในการประชุม COP29 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่โลกจะเลือกแนวทางที่จะเพิ่มเงินเข้าสู่กองทุนให้มากขึ้นหรือเลือกที่จะละเลยจนไม่สามารถแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ทันเวลา

แล้วใครล่ะที่ต้องจ่ายเงินเข้าสู่กองทุนนี้? คำตอบก็คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดต่อการก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เริ่มจากกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ตอนนี้ถึงเวลาที่กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ก่อโลกเดือดเหล่านี้จะต้องจ่ายค่าความสูญเสียและเสียหายต่อภัยพิบัติที่พวกเขาได้ก่อขึ้น

อย่างไรก็ตามในการกู้วิกฤตโลกเดือด เรายังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย หนึ่งในนั้นคือการรวมพลังของผู้คนที่แสดงให้เห็นแล้วว่าพลังของเรานั้นดังขึ้นและเข้มแข็งขึ้นทุกปี และในปีนี้เราจะมาแสดงพลังของเราที่ COP29

กิจกรรมประท้วงระหว่างการประชุม COP28 ที่ดูไบ © Marie Jacquemin / Greenpeace

บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ