ลองคิดดูว่าถ้าหากตอนนี้หม้อต้มน้ำกำลังเดือด แทนที่เราจะค่อย ๆ ปิดแก๊ส เรากลับหาสูตรคำนวนล้ำ ๆ ในการบอกคนในบ้านว่าน้ำในหม้อยังเดือดมากกว่านี้ได้อีก นี่คือการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดแบบเดียวกันกับที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์กำลังทำในการวางกลยุทธ์ต่อกรกับวิกฤตโลกเดือด
เราทราบกันดีว่า ตัวการใหญ่ที่สุดที่ขับเคลื่อนให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างๆ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมฟอสซิลอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนม
ขณะนี้เรามาถึงจุดที่โลกร้อนขึ้นกว่ายุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างน้อย 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว แม้อุตสาหกรรมฟอสซิลจะเป็นตัวการสร้างก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ยังไม่ค่อยมีใครทราบก็คือ ระบบอาหารโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases:GHG) ถึงร้อยละ 21-37 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก ถ้าเราลดการปล่อยก๊าซจากระบบการผลิตอาหารและฟื้นฟูธรรมชาติเชิงรุกด้วยการปรับเปลี่ยนระบบอาหารที่เป็นอยู่ เราจะสามารถชะลอภาวะโลกเดือดได้ หากมนุษยชาติปรับเปลี่ยนระบบอาหารพร้อมทั้งเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในทศวรรษนี้ เรายังมีทางสู้เพื่อคงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และทางแก้ปัญหาโลกเดือดคือการลดการผลิตตั้งแต่ต้นทางที่กำลังก่อภาระให้กับสภาพภูมิอากาศ
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ไม่ได้หมายความว่าเราหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
แผนการด้านสภาพภูมิอากาศของบริษัทอุตสาหกรรมมักวนเวียนอยู่กับแนวคิดเรื่อง ‘การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ (Net Zero) ซึ่งหมายความว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทไม่ได้กำจัดจะต้องได้รับการชดเชย (‘ออฟเซ็ต’) จากการดูดซับคาร์บอนที่อื่น ‘การชดเชยแบบออฟเซ็ต’ ที่พบได้ทั่วไปคือ คือการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดกลับจากชั้นบรรยากาศในขณะที่ต้นไม้กำลังเจริญเติบโต หรือคาร์บอนที่ถูกดูดซับเพิ่มขึ้นในดิน และนำมาหักลบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจริงจากการดำเนินกิจการและห่วงโซ่อุปทานของบริษัท “การลดคาร์บอนแบบอินเซ็ต” ก็คือ “การชดเชยแบบออฟเซ็ต” ที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทเอง ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าบริษัทอุตสาหกรรมไม่ได้ลดหรือหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เป็นเหมือนการลดการปล่อยในบัญชีแยกประเภทที่ผู้ก่อมลพิษทำขึ้นมา
กรีนพีซคัดค้านการชดเชยแบบออฟเซ็ต เพราะเห็นว่า เราต้องเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดซับคาร์บอนนอกเหนือไปจากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริง ไม่ใช่นำมาชดเชยกัน ‘การชดเชยแบบออฟเซ็ต’ ก็ไม่ได้ผลด้วย เนื่องจากการชดเชยแบบนี้นำการปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การทำลายป่า การทำปศุสัตว์ และอื่น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไปเทียบบนสมการเดียวกันกับปริมาณคาร์บอนที่พืชดูดซับเอาไว้ขณะที่เจริญเติบโตหรือคาร์บอนที่อยู่ในดินซึ่งเป็นเพียงการคาดการณ์ การเทียบแบบนี้ไม่เหมาะสม เนื่องจากไม่มีหลักประกันว่า การดูดซับคาร์บอนที่คาดการณ์ไว้นั้นจะเกิดขึ้นจริงไหม และจะอยู่ยั้งยืนยงเพียงไร
ระบบชดเชยการปล่อยก๊าซสำหรับบริษัทอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่เป็นที่นิยมและเพิ่งเกิดขึ้นใหม่อีกระบบหนึ่งคือ ‘การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เลี่ยงได้ (Avoided Emission)’ ด้วยการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาด้วยการใช้สารเสริมเหล่านี้เพื่อลดก๊าซมีเทนที่เกิดจากการย่อยอาหารของวัว ซึ่งบริษัทอาจถือว่าเป็น ‘อินเซ็ต’ ได้ แม้ว่ายังมีข้อกังขาเกี่ยวกับสารเสริมในอาหารสัตว์ การใช้เทคโนโลยีกลับกลายเป็น ‘คาร์บอนเครดิตที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว” สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เลี่ยงได้ เมื่อเดือนมกราคม 2567 สหกรณ์โคนมแห่งอเมริกา (DFA) ซึ่งเป็นผู้แปรรูปนมรายใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนี้ เฉลิมฉลองการซื้อ “คาร์บอนเครดิตที่ผ่านการทวนสอบแล้วชุดแรก” ผ่าน ‘ตลาดซื้อขายอินเซ็ต’ ของปศุสัตว์แห่งแรกที่มีชื่อว่า เอเธียน
การตกแต่งบัญชีคาร์บอน
รายงานของบริษัท (หากบริษัทมีรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) มักไม่ได้บอกตัวเลขที่แท้จริงในการปล่อยมลพิษหรือก๊าซเรือกระจกในห่วงโซ่การผลิตของบริษัทตน และมักอ้างสูตรการคำนวนที่ลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซ
แน่นอนว่าโลกเราร้อนขึ้นเพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสัมบูรณ์เพิ่มขึ้น รายงานของบริษัท (ถ้ามี) มักจะเน้นที่ความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซ ซึ่งหมายถึงการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซต่อเนื้อหนึ่งกิโลกรัมหรือต่อนมหนึ่งลิตร แม้จะลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซได้มากเพียงใด ก็ไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมโดยรวมเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมลดความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซลงร้อยละ 11 ในระยะเวลา 10 ปี (2548-2558) แต่เพิ่มการปล่อยก๊าซสัมบูรณ์ขึ้นร้อยละ 18 ในช่วงเวลาเดียวกัน ข้อมูลนี้ได้จากเอกสารที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด (แพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์นมโลก) เผยแพร่ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
กรณีตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตภัณฑ์นมยักษ์ใหญ่ของเดนมาร์กที่ชื่ออาร์ลา อ้างว่าลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซในขอบเขตที่ 3 จากการรับนม (และเวย์) ลงได้ร้อยละ 12 ในปี 2566 เมื่อเทียบกับค่าพื้นฐานในปี 2558 แต่ปริมาณการปล่อยก๊าซโดยรวมลดลงเพียงร้อยละ 1.3 ในช่วงเวลาเดียวกัน สาเหตุมาจากการลดลง “บางส่วนถูกชดเชยด้วยปริมาณนมที่เพิ่มขึ้น” อาร์ลาและบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ไม่ได้เปิดเผยที่มาของตัวเลขเหล่านี้ให้สาธารณชนได้ตรวจสอบ ในกรณีของอาร์ลา ข้อมูลการปล่อยก๊าซ “คำนวณจากข้อมูลสภาพภูมิอากาศจากฟาร์มซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศจากภายนอกองค์กรตรวจสอบความถูกต้องแล้ว” ปัญหาที่มักเกิดขึ้นจากการใช้ ‘ผู้เชี่ยวชาญภายนอก’ คือ ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นได้รับการว่าจ้างจากบริษัท จึงไม่เป็นอิสระ
แผนการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศของหลายบริษัทมักจะอิงที่ความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซมากกว่าการลดปริมาณการปล่อยก๊าซสัมบูรณ์ โดยทั่วไป ก๊าซเรือนกระจกกว่าร้อยละ 90 ถูกปล่อยมาจากปศุสัตว์ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทเหล่านี้ แต่บริษัทส่วนใหญ่ก็ให้คำมั่นที่จะลดเพียงความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเท่านั้น แม้ภาคปศุสัตว์จะลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซได้สำเร็จ แต่ความสำเร็จจนถึงปี 2558 นั้นถูกลบล้างด้วยการผลิตปศุสัตว์ขนาดใหญ่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ยุค 50 ดังที่งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ยืนยันว่า “การลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซไม่เคยช่วยให้ปริมาณการปล่อยก๊าซสัมบูรณ์ทางการเกษตรลดลง ในทางกลับกัน การเพิ่มการผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตปศุสัตว์ มักจะหักล้างการเพิ่มประสิทธิภาพเสมอ”
นี่คือกลอุบายและกลยุทธ์นานัปการที่บริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ใช้ฟอกเขียวความพยายามที่จะบรรเทาผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของตน จะเบนเข็มไปจากลดการผลิตและการบริโภคปศุสัตว์ที่เกินขนาด ซึ่งจะเป็นวิธีการแก้วิกฤตโลกเดือดที่อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นผู้ก่อได้ตั้งแต่ต้นทาง
ผลกระทบจากวิกฤตโลกเดือดกำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี การทำปศุสัตว์เป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทนจากมนุษย์รายใหญ่ที่สุด ซึ่งก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเร็วในระยะเวลาสั้น หากเราไม่ลดปริมาณปศุสัตว์ อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเพียงภาคส่วนเดียว จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้น 0.32 องศาภายในปี 2593 โดยที่ก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมนี้เพียงอุตสาหกรรมเดียวจะมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกเดือดมากกว่าร้อยละ 75 ตัวเลขที่บ่งชี้ว่าการลดปริมาณก๊าซมีเทนจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมอาจดูเหมือนเป็นตัวเลขที่น้อยมาก แต่เมื่อเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งขององศาจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้าน การลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดว่าอุณหภูมิของโลกจะสูงเพิ่มขึ้นเร็วหรือช้าในระยะใกล้ และจะเป็นกุญแจสำคัญควบคู่ไปกับการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อบรรเทาผลกระทบที่สาหัสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อโอกาสที่จะป้องกันภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายได้
ข้อมูลจากรายงาน ชะลอโลกเดือด: การยุติภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศด้วยอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนม (อ่านเพิ่มเติม)
ร่วมสนับสนุนการทำงานของกรีนพีซ
เราทำงานรณรงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การวิจัยข้อมูล รายงานทางวิทยาศาสตร์ และรณรงค์กับประชาชนด้วยข้อมูลเหล่านี้