ในเดือนธันวาคม 2567 องค์กรติดตามพลังงานโลก หรือ Global Energy Monitor (GEM) ได้เผยแพร่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซมีเทน (Methane) จากเหมืองถ่านหินทั่วโลก โดยเน้นการตรวจจับเหตุการณ์ที่เรียกว่า “super-emitter” ซึ่งหมายถึงการปล่อยก๊าซมีเทนในระดับสูงเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดโดยหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (Environment Protection Agency: EPA) จากแหล่งที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน รายงานฉบับนี้ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากเซนเซอร์ดาวเทียม NASA EMIT ระหว่างเดือนมกราคม 2566 ถึงเมษายน 2567 พบว่ามีเหตุการณ์การปล่อยก๊าซมีเทนในระดับสูงถึง 23 เหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับเหมืองถ่านหินในประเทศออสเตรเลีย โคลอมเบีย เม็กซิโก และจีน

การปล่อยก๊าซมีเทนจากเหมืองถ่านหินเป็นตัวเร่งวิกฤตโลกเดือด
ก๊าซมีเทนคือหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพทำให้โลกร้อนเร็วกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide: CO2) ถึง 84 เท่าและมีระยะเวลาที่คงอยู่ในชั้นบรรยากาศ 12 ปี แม้ว่าจะเป็นการปล่อยเพียงปริมาณเล็กน้อยจากแหล่งกำเนิดที่มีขนาดใหญ่ ก็สามารถส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมืองถ่านหินเป็นหนึ่งในแหล่งที่ปล่อยก๊าซมีเทนที่สำคัญที่สุด ซึ่งเกือบร้อยละ 80 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซมีเทน การศึกษาของ Global Energy Monitor (GEM) พบว่า เหมืองถ่านหินที่ดำเนินการอยู่ทั่วโลกในปัจจุบันปล่อยก๊าซมีเทนถึง 52.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับการปล่อยก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน (39 ล้านตันต่อปี) และก๊าซฟอสซิล หรือ ก๊าซ LNG (45 ล้านตันต่อปี)
ความจำเป็นในการระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซ
Global Methane Emitters Tracker (GMET) ของ GEM เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการติดตามการปล่อยก๊าซมีเทนจากแหล่งพลังงานฟอสซิล โดยเฉพาะจากเหมืองถ่านหิน โรงไฟฟ้า แหล่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซฟอสซิล LNG และเครือข่ายระบบท่อส่งก๊าซฟอสซิล LNG GMETถือเป็นแหล่งข้อมูลสาธารณะเพียงแห่งเดียวที่นำเสนอการปล่อยก๊าซมีเทนทั่วโลก ที่แสดงให้เห็นถึงข้อมูลการปล่อยก๊าซมีเทนโดยเชื่อมโยงถึงผู้ประกอบการ การอัปเดตล่าสุดของ GMET ในเดือนกันยายน 2567 ได้รวบรวมข้อมูลการประมาณการ การปล่อยก๊าซมีเทนจาก การสกัดถ่านหินและท่อส่งฟอสซิลก๊าซ รวมถึงการระบุแหล่งที่มาของ การสังเกตการณ์กลุ่มควันก๊าซมีเทน (methane plume) ที่ตรวจจับได้จากระยะไกลทั่วโลกข้อมูลของ GMET มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารต่อสาธารณะ หน่วยงานรัฐ และสื่อมวลชน สามารถติดตามและตรวจสอบการปล่อยก๊าซมีเทนได้จากช่องทางนี้เพื่อเปิดโปงข้อเท็จจริงให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้าถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลชี้ให้เห็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซมีเทน
องค์กรติดตามพลังงานโลก (GEM) ได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เซนเซอร์ดาวเทียม NASA EMIT เพื่อระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซมีเทนจำนวน 79 แหล่ง ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 1 เมษายน 2567 โดยพบว่า 23 เหตุการณ์ที่ตรวจพบเกิดขึ้นในพื้นที่ของเหมืองถ่านหินที่สามารถระบุได้ ในประเทศออสเตรเลีย โคลอมเบีย เม็กซิโก และจีน เช่น เหมืองถ่านหิน Jinmei Pingshang ประเทศจีนปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทน 10,983.989 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในวันที่ 17 เมษายน 2567 เหมืองถ่านหิน Bulga ประเทศออสเตรเลีย ปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทน 10,607.935 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในวันที่ 25 มกราคม 2566 เหมืองถ่านหิน Pribbenow ประเทศโคลอมเบีย ปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทน 1,262.560 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในวันที่ 31 มกราคม 2567 และเหมืองถ่านหิน Mimosa ประเทศเม็กซิโก ปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทน 4,797.245 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงกรณีตัวอย่างเท่านั้น แต่ยังปรากฏอีกหลายเหตุการณ์ที่สามารถระบุแหล่งที่มาและผู้ประกอบการเหมืองถ่านหิน แต่ยังมีเหตุการณ์บางส่วนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบุแหล่งที่มาหรือข้อมูลที่ชัดเจนได้ จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินการตรวจสอบการปล่อยก๊าซมีเทนต่อไป
ความท้าทายในการติดตามแหล่งที่มาและวิธีจัดการกับการปล่อยก๊าซมีเทน
การเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซมีเทนในรูปแบบสาธารณะมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตสามารถเข้าถึงได้ง่าย และสามารถระบุผู้ประกอบการที่ต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซมีเทน อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเหมืองถ่านหินจำนวนมากยังคงขาดแรงจูงใจในการปรับปรุงหรือพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีในการดักจับก๊าซมีเทน แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่ทำได้ง่ายในทางเทคนิค
ต้นทุนและผลตอบแทนในการลงทุน คือสาเหตุสำคัญ เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างหรือโครงการอื่น ๆ ที่อาจให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในระบบบำบัดก๊าซมีเทน ทำให้ผู้ประกอบการไม่ให้ความสำคัญกับการลดการปลดปล่อยมลพิษ นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามในการติดตามปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทน แต่ก็พบข้อจำกัดทางเทคโนโลยีหลายประการ เช่น ความสามารถในตรวจจับพื้นที่การปล่อยก๊าซมีเทนที่จำกัดเฉพาะในพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้ยังไม่สามารถตรวจจับในพื้นที่ขนาดเล็กที่มีการรั่วไหลของก๊าซมีเทน และรวมถึงความท้าทายในการเก็บภาพในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งบางแหล่งที่สามารถตรวจจับก๊าซมีเทนได้ แต่ไม่สามารถระบุข้อมูลที่มาและผู้ประกอบการที่ต้องรับผิดชอบได้ ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความแม่นยำที่มากขึ้นเพื่อที่จะสามารถตรวจจับในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากและระบุข้อมูลให้ชัดเจนถึงแหล่งที่มา พร้อมทั้งการสร้างแรงกดดันให้เกิดการรับผิดชอบจากผู้ประกอบการเหมืองถ่านหิน เพื่อหยุดการปล่อยก๊าซมีเทนที่มีปริมาณสูงกว่าระดับมาตรฐาน จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก

รายงานของ GEM เน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจสอบและจัดการกับการปล่อยก๊าซมีเทนจากเหมืองถ่านหิน โดยเฉพาะในประเทศที่มีอุตสาหกรรมถ่านหินขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ข้อมูลและการวิเคราะห์ที่นำเสนอในรายงานนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการปลดระวางถ่านหินอย่างจริงจัง

ร่วมสนับสนุนการทำงานของกรีนพีซ
เราทำงานรณรงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การวิจัยข้อมูล รายงานทางวิทยาศาสตร์ และรณรงค์กับประชาชนด้วยข้อมูลเหล่านี้