ในการเรียกร้องให้อากาศดีกลับคืนมา หรือข้อเสนอให้ออกกฏหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) นั้นต้องการความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนในเรื่องของมลพิษทางอากาศ ในการระบุช่องว่างดังกล่าวและมองหาโอกาสในการสื่อสารที่ดีขึ้น รายงานเรื่อง Hazy Perceptions  ทำการสำรวจการรับรู้ของผู้รับสาร (audience perception) ผ่านบทสนทนาบนโซเชียลมีเดียและสื่อแขนงต่างๆ ที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและสุขภาพในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศ

Citizens Wear Masks against Air Pollution in Bangkok. © Arnaud Vittet / Greenpeace

การวิเคราะห์ทำขึ้นผ่านเนื้อหาข่าวและโซเชียลมีเดีย 530,000 ชิ้น ในช่วงเดือนมกราคม 2558 ถึงเดือนตุลาคม 2561 ในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกีนี อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ มองโกเลียและปากีสถาน ผลจากรายงาน Hazy Perceptions ที่ศึกษาโดย Vital Strategies ยังเป็นข้อแนะนำให้กับผู้กำหนดนโยบาย ผู้สนับสนุน นักวิชาการและกลุ่มต่างๆ ที่สื่อสารกับผู้สื่อข่าวและสาธารณชนในประเด็นอันตรายและแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นปัจจัยหลักของความเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและโรคปอด

ผลวิเคราะห์จากรายงาน Hazy Perceptions บอกอะไรเรา?

สาธารณชนมีความเข้าใจที่จำกัดถึงผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาวจากคุณภาพอากาศที่เลวร้าย

ส่วนใหญ่ ข่าวสารและโพสต์บนโซเชียลมีเดียเรื่องมลพิษทางอากาศจะกล่าวถึงปฏิกิริยาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นและมีระยะสั้น – คนทั่วไปจะคุยถึงอาการเฉียบพลันจากมลพิษทางอากาศ เช่น ปัญหาการหายใจและตาระคายเคียง มากกว่าความเสี่ยงจากการรับสัมผัสซ้ำๆ ในระยะยาวซึ่งนำไปสู่ภัยคุกคามสุขภาพที่ร้ายแรง

Toxic Smog in Bangkok. © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ผู้โดยสารบนรถเมล์สวมหน้ากากเพื่อปกป้องตัวเองจากฝุ่นละอองระหว่างการเดินทางในกรุงเทพมหานคร

หน่วยงานรัฐด้านสุขภาพไม่ใช่แหล่งข้อมูลที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชนมากที่สุด

การศึกษาแสดงให้เห็นว่า ช่องทางเผยแพร่สื่อและข่าวสารและกลุ่มคนผู้มีอิทธิพลในการตัดสินใจของประชาชน (public influencers) ในเรื่องมลพิษทางอากาศนั้นมีความหลากหลายมาก อินฟลูเอนเซอร์สามอันดับต้นในช่วงเกือบสี่ปีของการวิเคราะห์โดย Vital Strategies รวมถึง นายกรัฐมนตรี(ในบางประเทศ) ช่างภาพ และกรีนพีซ โดยอินฟลูเอนเซอร์จะเปลี่ยนแปลงปีต่อปี แต่ที่ชัดเจนคือหน่วยงานแพทย์และสาธารณสุขไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์อันดับต้น

วาทกรรมสาธารณะ(Public discourse)ไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยสำคัญที่สุดของมลพิษทางอากาศ

แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่มีความสำคัญรองลงไป เช่น มลพิษจากยานยนต์ เป็นต้น ได้รับการพูดถึงมากกว่าแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่มีความสำคัญมากกว่า เช่น โรงไฟฟ้าและการเผาขยะ

การพูดคุยถึงการแก้ปัญหาเน้นไปที่การป้องกันตนเอง เช่น การใช้หน้ากาก แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการพูดคุยกันมากขึ้นถึงการหาทางออกในระยะยาว

แม้ประชาชนจะพูดถึงการป้องกันตนเอง เช่น การใช้หน้ากาก เป็นต้น โดยมีมากขึ้นในช่วงเหตุรุนแรงของมลพิษทางอากาศอย่างวิกฤตหมอกควันพิษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ. 2558 ขณะเดียวกัน การพูดคุยถึงทางออกระยะยาวโดยเฉพาะแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดนั้นเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และสอดคล้องกับประเด็นสาธารณะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คนเชียงใหม่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้มลพิษทางอากาศ PM 2.5 ที่มีแหล่งกำเนิดจากไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน

คุณภาพอากาศที่แปรผันตามฤดูกาลพร้อมกับเนื้อหาที่แสดงความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องที่เข้าถึงคนได้มากที่สุด

ความถี่ของมลพิษทางอากาศเป็นหัวข้อพูดคุยที่เปลี่ยนแปลงไปปีต่อปี โดยจะมีความถี่มากที่สุดในช่วงเกิดเหตุวิกฤต หรือมีข่าวใหญ่ หรือมีกิจกรรมสาธารณะที่โยงกับมลพิษทางอากาศ ที่เหลือจากนั้น ปริมาณเนื้อหาข่าวและโซเชียลมีเดียจะค่อนข้างต่ำ ถือเป็นความท้าทายเมื่อเราต้องการให้ประชาชนสนับสนุนให้เกิดมาตรการป้องกันมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องในระยะยาว

การโพสข้อความบนโซเชียลมีเดียและบทความข่าวเรื่องมลพิษทางอากาศที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือผลกระทบสุขภาพที่มีต่อเด็กนั้นทำให้คนมีส่วนร่วมในการสนทนาได้มากกว่าเนื้อหาที่ไม่มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว

การวิเคราะห์ที่ทำขึ้นผ่านเนื้อหาข่าวและโซเชียลมีเดีย 530,000 ชิ้น ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2558 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2561 ใน 11 ประเทศในเอเชียรวมถึงประเทศไทยนี้ ชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากความจำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์ในการสื่อสารสาธารณะที่มีประสิทธิภาพโดยเน้นไปที่ผลกระทบระยะยาวของมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชากรกลุ่มเสี่ยง การชี้ให้เห็นแหล่งกำเนิดหลักของมลพิษทางอากาศและความเชื่อมโยงกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายจะต้องดำเนินการป้องกันมลพิษทางอากาศโดยเน้นไปที่แหล่งกำเนิดหลัก

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อ  #ขออากาศดีคืนมา #RightToCleanAir ได้ที่นี่

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม