ราเชล คาร์สัน นักชีววิทยาทางทะเลชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า ในธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดแยกจากกัน ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกัน เช่นเดียวกันกับมนุษย์ พืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม พวกเราเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว การกระทำของสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมส่งผลต่อสิ่งอื่นๆ เช่นเดียวกัน กิจกรรมของมนุษย์กลายเป็นแรงกระทำที่มีผลต่อธรรมชาติ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของโลกอย่างมหาศาล

จากมหาฟ้าสีครามไปสู่สมุทรสีน้ำเงิน ในโอกาสของ Earth Day 2019 : Protect Our Species เราขอนำเสนอผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์เราที่เกิดขึ้นกับโลกในสัปดาห์คุ้มครองโลก (Earth Week) และขอชวนทุกคนมาปกป้อง คุ้มครองโลกใบนี้ร่วมกัน

Earth Day Matters EP5 : ชีวิตในป่าฝนเขตร้อน

อุรังอุตังเพื่อนรัก

Orangutan in Central Kalimantan. © Ulet Ifansasti / Greenpeace

เอมม่า ทอมป์สัน นักแสดงชื่อดังชาวอังกฤษเคยเล่าประสบการณ์เมื่อแรกพบ อุรังอุตัง เอาไว้ว่า ฉันจำได้ว่าฉันตื่นเต้นมากที่เจออุรังอุตังครั้งแรก ฉันรู้สึกว่ากิ่งไม้บนต้นไม้สั่นไหวและมีเจ้าลิงอยู่บนต้นไม้นั้น อุรังอุตังกำลังเขย่ากิ่งไม้ ใบหน้าใหญ่ของมันกำลังจ้องมองมาที่ฉัน

บ้านของอุรังอุตังคือป่าฝนเขตร้อนอันชุ่มชื้น ล้อไปกับชื่อ อุรังอุตัง ในภาษาบาฮาซาที่แปลว่า มนุษย์ในพงไพร  อุรังอุตังพบได้แค่ในพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนในเกาะบอเนียวและเกาะสุมาตราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น พวกมันใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ แม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับมนุษย์ เรียกได้ว่าเป็นญาติห่างๆของพวกเรา แต่อุรังอุตังกลับถูกเพื่อนมนุษย์คุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยเสียเอง

Orangutan Feeding Platform near Tanjung Puting National Park. © Ulet Ifansasti / Greenpeace

Orangutan at BOS Nyaru Menteng Orangutan Rescue Center in Indonesia. © Bjorn Vaugn / BOSF / Greenpeace

ปัจจุบันป่าฝนธรรมชาติในอินโดนีเซียกำลังถูกทำลายด้วยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม มีผลปาล์มจำนวนหนึ่งถูกแปรรูปไปเป็นน้ำมันพืชราคาถูกที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต บ้างก็นำไปเป็นส่วนผสมในขนม อาหาร หรือ สบู่ แชมพู ของใช้ภายในครัวเรือน และการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ เท่ากับสนับสนุนให้เกิดการบุกรุก “บ้าน” ของอุรังอุตัง ในทางอ้อม

IAR Rescues Orangutan in West Kalimantan. © Greenpeace

สิบหกปีที่ผ่านมามีอุรังอุตังมากว่าหนึ่งแสนตัวต้องตาย เพราะการทำลายป่า บ้างก็ถูกยิงตายโดยชาวสวนที่ยังคงตัดป่าไม้เพื่อพื้นที่เกษตรกรรม บ้างก็ตายเพราะไม่มีที่อยู่อาศัยและอดอยาก บ้างก็ตายเพราะตกจากต้นไม้ที่กำลังถูกตัด และยังมีอุรังอุตังที่ขาดอากาศตายเนื่องจากการเผาป่าเพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับเพาะปลูก

ก่อนที่เพื่อนอุรังอุตังของเราจะหายไปตลอดกาล มาร่วมกันบอกบริษัทยักษ์ใหญ่ให้เลิกใช้น้ำมันปาล์มที่ได้มาจากการทำลายป่าฝนเขตร้อน

เสือโคร่ง ราชันย์แห่งผืนป่า

Sumatran Tiger in Tambling Wildlife Nature Conservation. © Paul Hilton / Greenpeace

ทวีปเอเชีย คือบ้านของเสือโคร่ง เจ้าป่าเหล่านี้มักเลือกป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งอาหารและน้ำเพียงพอ ซึ่งเสือโคร่งสามารถอาศัยอยู่ในป่าหลายรูปแบบ เช่น ป่าฝนเขตร้อน ป่าชายเลน หรือแม้กระทั่งป่าดงดิบ เสือมีเสียงคำรามที่น่าเกรงขาม ซึ่งเสียงคำรามของเสือนั้นอาจดังไปไกลถึง 2ไมล์ แต่เสือจะมีเสียงอีกเสียงหนึ่งที่มีความถี่ในระดับต่ำจนมนุษย์ไม่สามารถได้ยินได้ แต่สามารถรู้สึกจนทำให้เรามีความรู้สึกขนลุกได้เลย

นอกจากนี้ เสือแต่ละตัวจะมีลายที่ไม่ซ้ำกันเลย ก็คงเหมือนกับลายนิ้วมือของมนุษย์ที่เอาไว้ใช้แบ่งแยกตัวตน แต่สิ่งหนึ่งที่เสือมีเหมือนกันทุกตัวคือ ลายบนหน้าผาก ซึ่งเป็นแบบเดียวกับตัวอักษรภาษาจีนของคำว่า “ราชา”

Sumatran Tiger in Tambling Wildlife Nature Conservation. © Paul Hilton / Greenpeace

แม้จะได้รับฉายาว่าเป็นราชา แต่ปัจจุบัน ราชา เหล่านี้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยและอาหารของเสือโคร่งลดน้อยลงเรื่อยๆ

แม้จะเป็นเรื่องน่าหดหู่ใจที่สิ่งมีชีวิตอันอัศจรรย์เหล่านี้กำลังถูกคุกคามจากมนุษย์เรา แต่เรายังคงต้องคิดบวกและมีความหวัง เรายังพอจะชะลอการสูญพันธุ์ของสัตว์เหล่านี้ (และสัตว์อีกหลากหลายที่ไม่ได้กล่าวถึง) ด้วยการลดการคุกคามสัตว์ป่า แทนที่การทำลายด้วยการฟื้นฟู คุ้มครองโลกร่วมกัน

Sumatran Tiger in Tambling Wildlife Nature Conservation. © Paul Hilton / Greenpeace

การให้ความรู้ การลงชื่อเรียกร้อง หรือแม้กระทั่งการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนพฤติกรรมให้ลดใช้พลาสติก เราสามารถเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ได้ด้วยแนวทางที่หลากหลาย เพื่อที่จะช่วยคุ้มครองโลกและเพื่อนๆร่วมโลกทุกสายพันธุ์

 

Earth Day matters EP1 : under the Ocean

Earth Day matters EP2 : หมีขาวทางตอนเหนือ กับเพนกวินทางตอนใต้

Earth Day Matters EP3 : เรื่องของนก

Earth Day Matters EP4 : ผึ้ง นักปรุงอาหารของโลก

#EarthDay #ProtectOurSpecies

Primary Forest in Papua. © Ulet  Ifansasti / Greenpeace
ร่วมปกป้องป่าฝนเขตร้อน

ป่าฝนเขตร้อนที่เป็นบ้านของอุรังอุตังกำลังถูกทำลายจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน หากเราไม่ทำอะไรเลย ถิ่นที่อยู่อาศัยของเหล่าสัตว์ป่าจะถูกทำลาย

มีส่วนร่วม