เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างชาติทั่วโลก ที่ประเทศต่าง ๆ ได้หันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ซึ่งเป็นวันที่เราควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

HIGHLIGHTS

  • ในทุกลมหายใจของคุณ คุณอาจหายใจเอาอนุภาคเล็ก ๆ ที่ทำร้ายปอด หัวใจ และสมองของคุณ ในวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2562 นี้ จึงเป็นเรื่องของการรับมือกับ “มลพิษทางอากาศ (Beat Air Pollution)”
  • การทำปศุสัตว์เพื่อผลิตอาหารเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ การผลิตเนื้อสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 14% มากกว่าการขนส่งเสียอีก
  • ผลวิจัยชี้ว่าการลดกินเนื้อสัตว์ลง 90% สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้

 

Beat Air Pollution

คุณอาจจะมองไม่เห็นมัน แต่มลพิษทางอากาศมีอยู่ทุกหนแห่ง  ในทุกลมหายใจของคุณ คุณอาจหายใจเอาอนุภาคเล็ก ๆ ที่ทำร้ายปอด หัวใจ และสมองของคุณ ในวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2562 นี้ จึงเป็นเรื่องของการรับมือกับ “มลพิษทางอากาศ (Beat Air Pollution)” กรีนพีซอยากจะเชิญชวนให้ทุกคนมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของตัวเอง เพื่อที่จะลดปริมาณมลพิษทางอากาศที่เราสร้างขึ้น และยังเป็นการต่อต้านการมีส่วนร่วมต่อภาวะโลกร้อนและผลกระทบต่อสุขภาพของตัวเราเองอีกด้วยค่ะ

ฝุ่นควันจากการคมนาคมในกรุงเทพมหานครเป็นปัจจัยหนึ่งในการก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นละออง PM2.5

รู้กันไหมคะว่าฝุ่นละอองและมลพิษต่าง ๆ ในอากาศนั้นมาจากไหน? เชื่อว่าหลายๆคนคงคิดว่า ก็ต้องมาจากควันท่อรถยนต์ หรือรถขนส่งสาธารณะบนถนนน่ะสิ! ใช่ค่ะ.. แต่นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น วันนี้กรีนพีซจะพาทุกคนไปดูวิธีรับมือกับเจ้ามลพิษทางอากาศตัวร้าย และแหล่งกำเนิดของมันที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน และเรายังมี Challenge ง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อเป็นการช่วยดูแลโลกใบนี้ให้ปลอดภัย และเพื่อที่เราจะได้มีอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจกันอีกยาวนาน

Make everyday World Environment Day

อย่าให้วันที่ 5 มิถุนายน เป็นเพียงวันสิ่งแวดล้อมโลกแค่วันเดียว เพราะพวกเราทุกคนสามารถทำทุกวันให้เป็นเหมือนวันสิ่งแวดล้อมโลกได้ ด้วยการใส่ใจในการใช้ชีวิตประจำวันของเราทุก ๆ วัน ก็เท่ากับเป็นการใส่ใจโลกด้วย

7 Days of World care

“ ให้ฉันดูแลเธอ รักเธอได้ไหม จะไม่ทำให้เธอเจ็บอีกเหมือนเคย จะดูแลอย่างดี ” (เพลง : ให้ฉันดูแลเธอ – แหนม รณเดช)

โลกใบนี้ก็เป็นเหมือนคน ๆ หนึ่งที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ ทุกวันนี้เราอาศัยอยู่บนโลก พึ่งพาโลกและทำร้ายโลกมามากแล้ว ถ้าเราไม่ดูแลเขา แล้วใครจะทำล่ะคะ ไปดูกันเลยดีกว่าค่ะว่าเราจะสามารถช่วยโลกอย่างไรได้บ้าง

MONDAY – พกช่วยโลก

พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง หรือ Single–Use Plastic เป็นพลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้น แต่ใช้ระยะเวลาย่อยสลายนาน และเมื่อเผาพลาสติกจะเกิดเป็นมลภาวะทางอากาศส่งผลให้โลกร้อน และยังทำให้เกิดสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย

Toxics Documentation Open Trash Burning in Canada. © Greenpeace / Robert Visser

การเผาขยะในที่โล่ง มีขยะพลาสติกเป็นส่วนผสมซึ่งการเผาพลาสติกนี้ก่อให้เกิดสารอันตรายชื่อสารไดออกซิน

ในชีวิตประจำวันของเรามีพลาสติกประเภทนี้อยู่เยอะมาก ทั้งถุงหูหิ้ว หลอดดูดน้ำ และขวดน้ำต่างๆ หากเราหันมาพกถุงผ้าหรือขวดน้ำติดตัวไว้ เพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยไม่จำเป็น ก็จะเป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศได้อีกทางหนึ่ง แต่บางคนอาจจะคิดว่ามันจะลำบากไปหรือเปล่า ต้องมาพกอะไรเยอะแยะ แค่สัมภาระก็เยอะเท่าภูเขาแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เขามีกล่องใส่อาหารและขวดน้ำซิลิโคนพับได้แล้วค่ะ คุณสามารถพกติดตัวไปได้ทุกที่ เหมาะสำหรับคนรักสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังต้องการความสะดวกสบายด้วย

TUESDAY – ขนส่งช่วยโลก

อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลัก ๆ มาจากยานพาหนะ ซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และควันจากท่อไอเสียรถยนต์ เราสามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ด้วยลดการใช้รถยนตร์ส่วนตัว หันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะบ้าง หรือบางคนก็อาจจะปั่นจักรยาน, เดินไปทำงานเพื่อสุขภาพก็ได้ นอกจากร่างกายแข็งแรงแล้ว โลกยังแข็งแรงด้วยนะ (และอย่าลืมใส่แมสป้องกันฝุ่นละอองก่อนออกจากบ้านกันด้วยนะคะ)

WEDNESDAY – ปลูกช่วยโลก

ใครเขาปลูกต้นไม้ในบ้านกัน! หลายคนอาจจะรู้มาว่ากลไกของต้นไม้โดยปกตินั้นจะดูดเอาออกซิเจนเข้าไปและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในตอนกลางคืน  จึงไม่ควรปลูกต้นไม้ไว้ภายในบ้านโดยเฉพาะห้องนอน แต่งานวิจัยของนาซ่าค้นพบว่ามีต้นไม้บางชนิดที่สามารถดูดสารพิษ ช่วยฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ได้ ซึ่งมีหลายชนิดสามารถปลูกได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน และยังปลูกได้ดีในเมืองไทย เห็นไหมคะ ต้นไม้ไม่เพียงแต่จะให้ร่มเงาและความสบายตาสบายใจเท่านั้นนะคะ แต่ยังช่วยปกป้องเราและโลกจากมลพิษทางอากาศได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังกลายเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับการตกแต่งบ้านด้วยค่ะ

THURSDAY  – ปิดช่วยโลก

สิ่งที่เราทำได้ง่าย ๆ คือ ปิดไฟและถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดมลพิษแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานและประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย

FRIDAY  – ชอปช่วยโลก

Ecological Consumers in California. © Peter Caton / Greenpeace

เชฟบริทนีย์ บาร์เร็ทและเพื่อนของเธอเลือกซื้อวัตถุดิบอินทรีย์จากตลาดเกษตรอินทรีย์

แค่เลือกซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดก็มีผลมากแล้วต่อโลกใบนี้ เลือกซื้อของที่ห่อไม่เยอะ หรือเลี่ยงสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนมาซื้อเนื้อสดหรือผักสด ซื้อสินค้าในท้องถิ่นหรือซื้อสินค้าตามฤดูกาล เพื่อหลีกเลี่ยงการขนส่งทางไกลที่จะส่งผลกระทบต่อมลพิษทางอากาศ

SATURDAY – กินช่วยโลก

Pigs in Factory Farming in Germany. © Greenpeace

หมูที่ถูกเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในโรงฟาร์ม ประเทศเยอรมนี

You are What You Eat” ทุกคนคงเคยได้ยินคำนี้กันใช่ไหมคะ สิ่งที่คุณรับประทานเข้าไป ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อสุขภาพของคุณ แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพของโลกอีกด้วย เนื่องจากการทำปศุสัตว์เพื่อผลิตอาหารเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ การผลิตเนื้อสัตว์อย่างเดียวมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 14% มากกว่าการขนส่งเสียอีก! และการปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรมที่ใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย

Vegetarian Thai Food in Bangkok. © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

มื้ออาหารมังสวิรัติ

ผลวิจัยชี้ว่าการลดกินเนื้อสัตว์ลง 90% สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ แค่กินผักให้มากขึ้น และงดกินเนื้อสัตว์สัก 1 วัน นอกจากจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงแล้วยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

SUNDAY – สร้างช่วยโลก

สร้างนิสัย ปลูกจิตสำนึกให้ตัวเองและคนรอบข้างเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและหันมาใส่ใจโลกให้มากขึ้น พร้อมทั้งไม่ลืมที่จะแบ่งปันวิธีการ Take care โลกให้แก่กัน สองมือเล็ก ๆ ของเราสามารถรักษาโลกใบใหญ่นี้ไว้ได้ ถ้าเราทุกคนร่วมมือกัน

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับ 7 Days Challenge ของเรา ทำได้ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ การลงมือทำสิ่งเล็ก ๆ นำมาซึ่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ โดยเริ่มที่ตัวเราเองก่อน เพียงเท่านี้เราก็สามารถรักษาโลกไว้ได้แล้ว

#WorldEnvironmentDay #BeatAirPollution

 

บทความโดย ฉันท์ชนก หิรัญ นักศึกษาฝึกงาน กรีนพีซ
Brand Audit in Chonburi, Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซ

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกประเภทของอาสาสมัครได้ตามความสนใจ อาทิ เยาวชนกรีนพีซ (Youth) นักพูดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Greenspeaker) นักกิจกรรมเชิงออนไลน์ (Digital Activist) และนักกิจกรรมภาคสนาม (Activist)

มีส่วนร่วม