“การลงมือทำให้คนอื่นเห็น ย่อมดีกว่าการพูดให้ฟังเฉยๆ เพราะคนเราจะเชื่อสิ่งที่เห็นมากกว่าสิ่งที่พูด”

นี่คือประโยคหนึ่งจาก พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีแสงธรรม และยังเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม ตำบลโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โรงเรียนที่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ภายในโรงเรียน ทั้งในด้านการประหยัดพลังงาน ลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และยังเป็นสื่อสารสอนให้กับนักเรียนภายในโรงเรียน รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ อีกด้วยพระครูวิมลปัญญาคุณ

นอกจากนี้ พระครูวิมลยังเป็นประธาน “กองทุนแสงอาทิตย์” กองทุนที่เกิดขึ้นจากหลายเครือข่ายภาคประชาชนที่ระดมทุนจากประชาชนทั่วประเทศเพื่อนำเงินมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าที่โรงพยาบาลต้องแบกรับทุกๆเดือนเป็นจำนวนมาก และสนับสนุนให้พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์แผ่ขยายออกไปในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศไทย 

ร่วมอ่านบทสนทนากับพระครูวิมลปัญญาคุณ เกี่ยวกับแนวคิดด้านพลังงานแสงอาทิตย์ โรงเรียนศรีแสงธรรม และที่มาของการระดมทุนให้กับโรงพยาบาลของกองทุนแสงอาทิตย์

จุดเริ่มต้นจากการนำแผงโซลาร์เซลล์เก่ามาซ่อมแซมเพื่อใช้และเป็นสื่อการสอน

ปัจจุบันเราออกแบบการสอนหลายกระบวนการ แต่ครั้งแรกก็เอาแผงโซลาร์เซลล์เก่ามาใช้ซ้ำ ซึ่งก็มีการซ่อมแซมจนแผงใช้งานได้ แต่ปัจจุบันนี้เปลี่ยนเป็นแผงใหม่ทั้งหมด และเลือกจุดที่แผงจะผลิตพลังงานได้เต็มที่แล้วก็ติดตั้งถาวรกับหลังคาโรงเรียน การเรียนการสอนแบบนี้เรามุ่งหวังให้นักเรียนได้รับความรู้ และนำความรู้ที่มีไปสร้างประโยชน์ ไม่ใช่นำไปสอบอย่างเดียว นักเรียนจะได้ไปสร้างประโยชน์ให้กับโรงเรียนเอง หรือสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน

ปัจจุบัน โรงเรียนศรีแสงธรรมมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ปริมาณผลิตเท่าไร?

โรงเรียนติดไว้ 34 กิโลวัตต์ และติดในระบบ ออนกริด (on-grid) คือเชื่อมต่อกับสายส่ง นอกจากนี้ยังติดตั้งในระบบไฮบริดจ์ เป็นระบบตัดไฟที่จะส่งเข้าสู่สายส่งเพื่อกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ทำให้แบตเตอรี่รักษาแรงดันในระบบไว้ และไม่ทำให้ไฟดับ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งแบบระบบ ออฟกริด ก็คือเป็นโซลาร์เซลล์ชุดเล็ก ๆ แบบเคลื่อนย้ายได้ ระบบสูบน้ำในระบบประปาของโรงเรียน หรือใช้ในวิชาเกษตรที่มีการทำแปลงฟาร์ม (smart farm) ที่มีการติดตั้งหลาย ๆ ระบบนี้ก็เพราะเราพยายามรวบรวมไว้ในโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้

Solar Rooftop in Sri Sang Tham School

เรียนแล้ว ต้องทดลองทำจริง

หลังจากได้เรียนรู้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ตั้งแต่ภาคทฤษฎี ระบบต่างๆ ไปจนถึงการติดตั้งแล้ว ทางโรงเรียนจะให้นักเรียนได้ลงมือทำจริง นั่นคือการให้นักเรียนได้ลองติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับผู้ที่สนใจอยากติดตั้ง หรือไปเป็นผู้ช่วยวิทยากรในการอบรมเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ 

ความสำคัญในด้านต่าง ๆ ของพลังงานแสงอาทิตย์ต่อโรงเรียนศรีแสงธรรม

ความสำคัญเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานหมุนเวียนภายในโรงเรียนนั้นมีอยู่หลายประเด็นด้วยกัน พระครูวิมลเล่าว่าส่วนใหญ่จะใช้แผงโซลาร์เซลล์เป็นสื่อการสอนและเป็นองค์ความรู้ให้กับนักเรียน แต่ก็สามารถจำแนกความสำคัญเป็น 3 ข้อหลัก ๆ ได้ 

ข้อแรกก็คือพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้โรงเรียนประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ที่โรงเรียนต้องจ่ายเป็นประจำ เมื่อมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็ทำให้ภาระตรงนี้ลดลงไปได้มาก โดยปกติแล้วค่าไฟฟ้าของโรงเรียนจะอยู่ที่ประมาณ 14,000 บาท แต่พอเรามีแผงโซลาร์เซลล์แล้ว เมื่อเปิดใช้ให้แผงผลิตพลังงานเต็มที่ ค่าไฟฟ้าจะลดลงเหลือเพียงเดือนละ 40 บาท ถือว่าประสบความสำเร็จมากในเรื่องค่าใช้จ่าย 

Solar Rooftop in Sri Sang Tham School

ความสำคัญข้อต่อมาก็คือสามารถนำมาเป็นสื่อการสอนให้กับโรงเรียนได้ นั่นคือสามารถทำให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ รวมไปถึงการให้ชุมชนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ เพื่อจะได้มีความรู้เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ และนำความรู้ไปใช้ได้จริง ซึ่งในระยะหลัง ๆ ก็มีการเผยแพร่ความรู้ผ่านรายการต่าง ๆ ที่มาสัมภาษณ์ในประเด็นที่โรงเรียนติดแผงโซลาร์เซลล์ด้วย 

ทั้งนี้ ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ก็ยังสามารถต่อยอดไปถึงประเด็น “การจัดการพลังงาน” หรือ Energy Management เพราะเมื่อเราทุกคนสามารถผลิตพลังงานเองได้และภาคครัวเรือนเราไม่ได้ผลิตออกมาใช้จนหมดเหมือนกับโรงเรียน หรือโรงพยาบาล แล้วเราจะมีการจัดการพลังงานที่ผลิตได้เหล่านี้อย่างไร ก็ถือเป็นความรู้ที่นำไปต่อยอดได้

ความสำคัญข้อที่ 3 นั่นก็คือประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จะทำให้เด็กนักเรียนมีความเข้าใจมากขึ้นในประเด็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร การช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตพลังงานจากเชื่อเพลิงฟอสซิลอย่างไร หรือทำให้นักเรียนเข้าใจถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้จะช่วยลดมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น พระครูยังมีแนวคิดที่ว่า ความสำคัญเหล่านี้อาจนำไปสู่การต่อยอดไปถึงการกำหนดนโยบายในระดับประเทศที่จะช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น โดยยกตัวอย่างเช่น นโยบายการลดภาษีในการนำเข้าอุปกรณ์ การส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้จากการผลิตพลังงาน หรือส่งเสริมในด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น 

“เห็นได้ชัดว่าหากเราตั้งต้นด้วยองค์ความรู้แล้วเราสามารถขยับแนวคิดจากที่ติดตั้งแค่ภายในโรงเรียน ออกมาสู่การติดตั้งภายในชุมชนได้ นำไปสู่การจัดการพลังงานภายในชุมชนและยกระดับการจัดการพลังงานในเชิงนโยบายระดับชาติได้ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนทิศทางระบบการผลิตพลังงานขนาดใหญ่ของประเทศ จากเดิมที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่คอยผลิตพลังงานออกมาตามปริมาณที่กำหนด กลายเป็นผลิตพลังงานขึ้นลงตามการใช้งานก็ได้”

การเริ่มต้นระดมทุนให้กับโรงพยาบาล และกองทุนแสงอาทิตย์

ครั้งแรกที่เราติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่โรงเรียน ก็มีกลุ่มคน มีหน่วยงานมาดูงานการติดตั้งเยอะมาก รวมทั้งโรงพยาบาลและนักศึกษา ก็เลยคิดว่าพลังงานแสงอาทิตย์น่าจะมีประโยชน์อย่างมากต่อโรงพยาบาล เพราะว่าโรงพยาบาล สาธารณสุข และหน่วยงานหลายหน่วยงานมีความพร้อมในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์เข้ามาสนับสนุนการทำงาน เนื่องจากใช้ไฟฟ้าตอนกลางวันมาก ซึ่งก็มองว่าถ้าเราสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ โรงพยาบาลก็จะเอางบที่ประหยัดได้มาทำประโยชน์อย่างอื่น ครั้งแรกไประดมทุนที่โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ ซึ่งได้ติดตั้งไป 30 กิโลวัตต์ และในอนาคตก็กำลังจะติดตั้งเพิ่มเป็น 1 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้เดือนละ 600,000 บาท

Human Banner in Solar Hospital Ubon Ratchathanee

บุคลากร นักเรียนจากโรงเรียนทุ่งศรีอุดม ชาวอำเภอทุ่งศรีอุดมและกลุ่มนักปั่นจักรยานอิสระร่วมเปิดตัวโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งแรกของภาคอีสานและแห่งที่ 3 ของกองทุนแสงอาทิตย์ที่มาจากการบริจาคของประชาชนทั่วประเทศ

พอเริ่มมาระดมทุนให้โรงพยาบาล ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายก็เห็นตรงกันว่าเป็นแนวคิดที่ดี จึงมีแผนจะขยายโครงการออกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ นอกพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งถ้าเราขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ให้คนได้เห็นประโยชน์จากการใช้งานก็เป็นเรื่องที่ดี จึงรวมตัวกันกลายเป็น “กองทุนแสงอาทิตย์” ขึ้นมาเพื่อกระจายประโยชน์หรือส่วนดีของพลังงานแสงอาทิตย์ให้คนอื่นได้รู้

ก้าวต่อไปของพลังงานแสงอาทิตย์ในมุมมองของพระครู

แผงโซลาร์เซลล์มาตรฐานดีในปัจจุบันนี้ จะมีกำลังการผลิตพลังงานลดลงปีละร้อยละ 0.2 ซึ่งหากเรานับไปประมาณ 25 ปี แผงโซลาร์เซลล์ก็ยังคงมีกำลังผลิตพลังงานได้ร้อยละ 80 ซึ่งหากเราไม่ได้ใช้แผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้เพื่อขายไฟฟ้าเป็นหลัก แต่ใช้เพื่อผลิตพลังงานใช้เองก็ถือว่ายังใช้ได้ดีอยู่ ตราบใดที่แผงโซลาร์เซลล์ยังไม่ชำรุด แตก มีรอยรั่วหรือระเบิด แม้หมดอายุการใช้งานแล้วเราก็สามารถเอาแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น นำไปมุงหลังคา ทำไฟทางเดิน เป็นต้น อย่างที่โรงเรียนก็เอาแผ่นโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุแล้วมาทำซุ้มประตู หลังคาลานจอดรถและไฟทางเดิน เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูวัสดุประกอบแผงด้วยว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อได้บ้าง

villagers join opening solar hospital event in Thung Sri Udom

พระครูวิมลปัญญาคุณ ประธานกองทุนแสงอาทิตย์ ร่วมถ่ายภาพส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์ร่วมกับคณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ และโรงพยาบาลทุ่งศรีอุดม อ.ทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี

ส่วนในอนาคตข้างหน้า การจัดการแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้ก็มีความท้าทายอยู่มาก จะมีการรีไซเคิลแผงที่มีประสิทธิภาพอย่างไร หรือจะมีการนำไปใช้ใหม่อย่างไร แต่อย่าเพิ่งตั้งแง่ไม่อยากให้ใช้ เพราะเรายังมีโอกาสในการศึกษาที่จะจัดการแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้ในอนาคตข้างหน้า 

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม