เมื่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลนั้นยังคงเอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมฟอสซิล อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติเดินหน้าก่อวิกฤตโลกเดือดผ่านการฟอกเขียว ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นกลุ่มคนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด แต่เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

ในช่วงพฤศจิกายน 2567 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้เข้าร่วมการประชุม COP29 ที่อาร์เซอรไบจาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการประชุมที่ผู้นำจะต้องผลักดันให้กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายให้มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ฟื้นฟูและเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่สะอาดและเป็นธรรมแล้ว กลไกตลาดคาร์บอนยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องจับตามองในการประชุมครั้งนี้เช่นกัน
เราจึงอยากฝากให้รัฐบาลนำเสียงของพี่น้องชาวไทยทุกคน ทุกพื้นที่ และข้อเรียกร้องของเครือข่ายพันธมิตรที่อยากเห็นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและต้องการให้รัฐบาลไทยที่ร่วมเจรจาในเวที COP29 จะต้องหยุดวิกฤตโลกเดือดที่ต้นเหตุ เพราะวิกฤตนี้กำลังก่อให้เกิดวิกฤตทางด้านสิทธิมนุษยชน การประชุมครั้งนี้ต้องปฏิเสธวิธีการชดเชยคาร์บอน ที่อาจเป็นเครื่องมือให้กลุ่มผู้ก่อภาวะโลกเดือดใช้กลยุทธิ์นี้เพื่อการฟอกเขียว
สมโชค จุงจาตุรันต์ เครือข่ายรักพะโต๊ะ

คาร์บอนเครดิตเหมือนผู้ประกอบการล่าอาณานิคมในบริบททุนนิยม กลุ่มอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่กลับซื้อคาร์บอนเครดิต ผมถามว่าปัจจุบันนี้โลกเย็นขึ้นไหม ผมจึงมองว่าคาร์บอนเครดิตไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง รัฐบาลต้องออกกฎระเบียบข้อบังคับที่ผู้ประกอบการจะต้องแสดงว่าแต่ละปีเขาปลดปล่อยมลพิษ และสารที่ก่อให้เกิดโลกเดือดต่างๆ เท่าไหร่ และให้ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้
รัฐบาลต้องคิดค่าเสียหายเป็นในรูปแบบกลไกของนิติบัญญัติเพื่อให้กลุ่มที่ปล่อยมลพิษหลักต้องจ่ายเข้ากองทุนสำหรับจ่ายชดเชยผู้ที่ประสบภัยจากผลกระทบของภาวะโลกเดือด ผมเชื่อว่าคนไทยไม่ต้องการคาร์บอนเครดิตถ้าได้รับการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและตรงไปตรงมา
ณัฐวุฒิ กรมภักดี ขบวนสภาชุมชนริมรางเมืองขอนแก่น
ปัญหาโลกเดือดคือการก่อมลพิษของบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งเป็นคนไม่กี่เปอร์เซ็นของโลกใบนี้ แต่คนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือคนจน และต้องแบกรับผลกระทบจากโลกเดือดมากที่สุด มีปัจจัยซับซ้อนที่ทำให้โลกเดือดมีความรุนแรง ตั้งแต่ผังเมือง การจัดการทางการเมือง และนโยบายที่ไม่ได้มีการนึกคนจนอยู่ในนั้นด้วย

สิ่งที่รัฐและกลุ่มทุนต้องปรับตัวคือยกเลิกกฎหมายโลกร้อนซะ ไม่ใช่สั่งให้คนตัวเล็กตัวน้อยต้องปรับตัวโดยที่บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ต้องรับผิดชอบกับผลกระทบนี้เลย คาร์บอนเครดิตสัมพันธ์โดยตรงกับการแย่งยึดพื้นที่ของคนจน การต่อสู้ในครั้งนี้ต้องยกเลิกกฎหมายค้าคาร์บอนเครดิต และต้องมีรัฐธรรมมนูญที่กำหนดให้เราดูแลบ้านของเราด้วยตัวเราเอง
เสอะเยียะเบ่อ งามยิ่ง ตัวแทนชนพื้นเมืองชาวปกาเกอะญอ เครือข่ายกะเหรี่ยงตะวันตก

รัฐหาวิธีการที่ทำให้คนในสังคมโง่งมงาย แต่ไม่ได้หาวิธีลงมือด้วยตัวเขาเอง เรากว่าจะทำงานหาเงินได้แต่ละบาท ข้าวแต่ละเม็ด ภาคอุตสาหกรรมทำให้โลกร้อนแต่กลับโยนความผิดมาให้กับคนที่อยู่กับป่า เราโดนยึดทรัพยากรและโดนข่มขู่ “พวกคุณไม่คิดถึงอนาคตลูกหลานหรอ” คนที่ทำให้โลกร้อนนั่นแหละตอแหล แต่กลับโทษคนบนดอย
ทรัพยากรที่เรามีเราใช้ตามวิถีชีวิตที่เราอยู่กันมาเนิ่นนานเรากินอยู่กับป่าเรารักษาป่าทุกอย่างแต่ตอนนี้ สิ่งถูกทำลายมันล้วนเเล้วเกิดจากน้ำมือของนโยบายภาครัฐที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน เราขอบอกกับผู้มีอำนาจทั้งหลายตรงนี้ว่า เราไม่เอาคาร์บอนเครดิต
กนกพร ดิษฐกระจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สุพรรณบุรี
นโยบายการแก้ไขโลกร้อนของรัฐ ทำให้ประชาชนยากจนที่สุด และมีคนรวยที่สุดแค่กลุ่มเดียว ผลกระทบจากโลกร้อนจนกลายเป็นโลกเดือดเกิดจากการเขียนนโยบายที่ไม่คำนึงถึงคนเล็กคนน้อย คาร์บอนเครดิตจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร พื้นที่อาหารปัจจุบันถูกเบียดเบียนตั้งแต่เกษตรพันธสัญญา และถูกทำลายความอุดมสมบูรณ์ลงไปเรื่อยๆ

การเผาของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่มีเหตุและปัจจัยแตกต่างกัน คนที่ออกมาเรียกร้องคือคนที่ตระหนักถึงปัญหาร่วมกันไม่ใช่ถูกปลุกระดม ถ้าเราอยากเป็นครัวไทยครัวโลก ต้องเปลี่ยนวิธีคิด หันมาแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่โทษที่เกษตรกรตัวเล็กตัวน้อย
สุรภา บุตรวงศ์ ตัวแทนสมัชชาคนจน เขื่อนหัวนา ศรีสะเกษ

ทุกวันนี้คนอีสานอยู่แทบไม่ได้ในหน้าร้อน หน้าฝนก็น้ำท่วมนานสามเดือนทุกปี โครงการของรัฐที่อ้างว่ามาพัฒนาทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไป ทุกวันนี้ผลผลิตทางเกษตรตามฤดูกาลผลิตไม่ได้เลยเนื่องจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำไมรัฐไม่ทำให้นโยบายลดโลกร้อนสอดคล้องกับประชาชนมากขึ้น
ในขณะเดียวกันการส่งเสริมของรัฐไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ถ้าจะแก้โลกร้อนให้ได้ต้องรักษาทรัพยากรตามธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้วไว้ไม่ใช่เอาทรัพยากรทั้งหมดไปส่งมอบให้นายทุน
จงดี มินขุดทด กลุ่มตนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่

นโยบายของรัฐ เช่น เหมือนแร่โปแตส คุกคามความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของเรา เราต้องสู้กับนักวิชาการ นักการเมือง คนในชุมชนที่ไม่เข้าใจข้าราชการที่ควรจะรับใช้ประชาชน แต่เขากลับรับใช้นายทุน เรายังไม่เห็นว่าโครงการคาร์บอนเครดิตกับโครงการเหมืองเเร่โปแตสจะแตกต่างกันตรงไหน “มีเหมืองเกิดขึ้นแล้วจะมีการพัฒนา” คำพูดนี้จากพวกนายทุนพวกหิวอำนาจ มันยิ่งมากดทับความจนของเรา เราใช้แหล่งน้ำไม่ได้ แหล่งน้ำของพวกผู้มีอำนาจคือเขื่อนที่กั้นน้ำเค็มรอวันที่มันจะออกมาสร้างผลกระทบให้กับเรา ชีวิตรอบเหมืองถูกกดทับโดยนโยบายของรัฐ เหมืองแร่โปแตสที่จะนำเอาไปทำแบตเตอรีให้กับรถไฟฟ้า เรามองว่าเหมืองแร่โปแตสกับคาร์บอนเครดิตคืออย่างเดียวกัน เราไม่เอาทั้งคู่
การเอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่ทำให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางต้องเผชิญกับสารพัดวิกฤต (poly crisis) ทั้งผลกระทบจากหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อันก่อใหเกิดวิกฤตการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่งรุนแรง และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งพวกเขาไม่ได้มีส่วนก่อขึ้น ผลกระทบเหล่านี้ซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความยากจนที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก