กรุงเทพฯ, 31 มกราคม 2568 – กรีนพีซ ประเทศไทยเปิดผลการวิเคราะห์ปริมาณน้ำท่า (runoff) พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม (flood risk areas) และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม (landslide risk areas) บริเวณลุ่มน้ำกก(Nam Mae Kok Basin)และลุ่มน้ำคำ(Nam Mae Kham Basin) ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำบริเวณรอยต่อระหว่างประเทศไทยตอนบน รัฐฉานของเมียนมาและสปป.ลาว [1] ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อุตสาหกรรมมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของ ความเสี่ยงน้ำท่วมดินถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
ผลการวิเคราะห์เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของกรีนพีซร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงความเชื่อมโยงของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในบริเวณลุ่มน้ำกก (Nam Mae Kok Basin) และลุ่มน้ำคำ (Nam Mae Kham Basin) เปรียบเทียบ 3 ช่วงเวลา ได้แก่ พ.ศ. 2557 2562 และ 2567 ซึ่งเป็นการติดตามทุก ๆ 5 ปี
ข้อค้นพบหลักมีดังนี้
- พื้นที่ป่าลด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่ม ปริมาณน้ำท่าเพิ่ม : ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา(ปี 2557-2567) พื้นที่ป่าในเขตลุ่มน้ำกก(Nam Mae Kok Basin) และลุ่มน้ำคำ (Nam Mae Kok Basin) กลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 214,349.63 ไร่ ในขณะที่มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยในเขตลุ่มน้ำกกเพิ่้มขึ้น 95,729 ไร่ และพื้นที่ลุ่มน้ำคำมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 39,713 ไร่
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม : พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมระดับมากและมากที่สุดที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2557 มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 1,877,684 ไร่ ปี 2562 เพิ่มเป็น 1,883,603 ไร่ และปี 2567 เพิ่มเป็น 1,885,444 ไร่ [2]
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และดินถล่ม : พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม(land slide risk areas) ระดับมากและมากที่สุดที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2557 มีพื้นที่เสี่ยงดินถล่มประมาณ 5,149,196 ไร่ ปี 2562 เพิ่มเป็น 5,218,401 ไร่ และปี 2567 เพิ่มเป็น 5,236,757 ไร่ [3]
“การขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เปลี่ยนเชียงรายให้กลายเป็นเมืองภัยพิบัติ ในฤดูแล้งประสบฝุ่นพิษข้ามแดนมีคุณภาพอากาศระดับอันตราย ส่วนฤดูฝนก็เผชิญกับน้ำท่วมโคลนถล่มซ้ำเติม ผลการวิเคราะห์ข้างต้นย้ำเตือนถึงทางออกที่รัฐบาลไทยต้องลงมือเพื่อปกป้องประชาชนทางสุขภาพและสิทธิมนุษยชน คือ การเอาจริงทางนโยบายที่จะแก้ปัญหาจากต้นตอหลักด้วยการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งภายในและนอกประเทศ และกำหนดระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสเพื่อเอาผิดกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง” รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและป่าไม้ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าว
กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลลงมือแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วยเจตจำนงเพื่อลงมือแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ด้วยการตั้งเป้าหมายลดพื้นที่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ เพราะนอกจากผลตอบแทนจะต่ำกว่าการผลิตรูปแบบอื่นหลายเท่าตัวแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นวงกว้าง โดยที่ผู้ได้ประโยชน์จากระบบการผลิตเหล่านี้กลับไม่ใช่เกษตรกรรายย่อย แต่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะเดียวกันรัฐบาลสามารถเปลี่ยนจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หันมาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับภูมิภาคภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกษตรกรรมยั่งยืน โดยให้ความสําคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับผู้ประกอบการ เพราะวิกฤตน้ำท่วมโคลนถล่มนั้นสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ให้แก่ประชาชน และการป้องกันวิกฤตครั้งต่อไปนั้นต้องเริ่มลงมือทำด้วยการเปลี่ยนแปลงนโยบายตั้งแต่วันนี้ ซึ่งการลดการสนับสนุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นคือทางออกที่จะช่วยทั้งสุขภาพและสวัสดิภาพของประชาชน
หมายเหตุ
[1] ใช้ระบบลุ่มน้ำจาก Greater Mekong Subregion โดยลุ่มน้ำกกมีพื้นที่ครอบคลุมประเทศไทยและเมียนมา มีเนื้อที่ทั้งหมด 6,621,235.32 ไร่ ในขณะที่ลุ่มน้ำคำมีพื้นที่ครอบคลุมประเทศไทย เมียนมา และสปป.ลาว มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,555,419.50 ไร่
[2] การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม (flood risk areas) ทั้งสถานการณ์จริงและสถานการณ์จำลองของปี 2567 ในลุ่มน้ำกก(Nam Mae Kok Basin) และลุ่มน้ำคำ (Nam Mae Kham Basin) ได้ระบุพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง 2 โซนในจังหวัดเชียงราย คือ อำเภอเมืองเชียงราย(ครอบคลุมพื้นที่ตำบลริมกก ตำบลเวียง ตำบลรอบเวียง ตำบลแม่ข้าวต้ม ตำบลสันทราย และบางส่วนของตำบลป่าอ้อดอนชัย ตำบลท่าสาย ตำบลบัวสลี ตำบลบ้านดู่ ตำบลนางแล ตำบลท่าสุด ตำบลแม่ยาว ตำบลบัวสลี) และอำเภอแม่สาย(ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านด้าย ตำบลศรีเมืองชุม ตำบลเกาะช้าง ตำบลแม่สาย และบางส่วนของตำบลโป่งผา ตำบลโป่งงาม ตำบลห้วยไคร้ ตำบลเวียงพางคำ) ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังในเขตอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จะครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลแม่นาวาง ตำบลแม่อาย ตำบลมะลิกา ตำบลท่าตอน ตำบลแม่สาว และตำบลสันต้นหมื้อ
[3] การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม (land slide risk areas) ทั้งสถานการณ์จริงและสถานการณ์จำลองของปี 2567 ในลุ่มน้ำกก(Nam Mae Kok Basin) และลุ่มน้ำคำ (Nam Mae Kham Basin) ได้ระบุพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังโดยนำพิกัดการเกิดดินโคลนถล่มจริงที่เกิดขึ้นในปี 2567 ที่รวบรวมโดยกรมทรัพยากรธรณีมานำเสนอให้เห็นความสัมพันธ์กับผลการวิเคราะห์ด้วย คือ อำเภอแม่ฟ้าหลวง (ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งอำเภอแม่ฟ้าหลวง ประกอบไปด้วยตำบลเทอดไทย แม่สลองใน แม่สลองนอก และแม่ฟ้าหลวง) ในปี 2567 จากการบันทึกข้อมูลการเกิดดินถล่มพบว่าเกิดขึ้นจำนวน 7 ครั้ง ส่วนอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอ โดยเฉพาะทางทิศเหนือบริเวณตำบลแม่อาย ท่าตอน และมะลิกา โดยในปี 2567 เกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่มจำนวน 2 ครั้ง