นับตั้งแต่สารคดี Seaspiracy เริ่มออกฉายทั่วโลกผ่านทางช่องสตรีมมิ่งออนไลน์ Netflix เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื้อหาในสารคดีเริ่มต้นมาอย่างน่าสนใจ โดยปูพื้นฐานที่มาของเรื่องจากความหลงใหล ในท้องทะเลของ Ali Tabrizi ผู้กำกับหนัง และความต้องการที่จะช่วยปกป้องมหาสมุทรที่เขารักจากปัญหาต่างๆ เริ่มตั้งแต่ปัญหาขยะพลาสติก ที่อยู่ในกระแสการรณรงค์ของทุกภาคส่วนทั่วโลก ก่อนจะค่อยๆ ขยายภาพไปสู่ปัญหาที่ใหญ่มากขึ้นผ่านสีสันของการเล่าเรื่องสไตล์สืบสวน ที่พาผู้ชมไปรู้จักอุตสาหกรรมประมง ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล โดยเกี่ยวโยงกับหลายประเทศ หลายองค์กร และเราในฐานะผู้บริโภคอาหารทะเล  

เพื่อให้เห็นภาพกระแสของสารคดีเรื่อง Seaspiracy ที่ชัดเจนมากขึ้น เราจะพาไปสำรวจความคิดเห็นและปฏิกิริยาของผู้คนในแวดวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงย้อนกลับมาดูสถานการณ์ด้านทะเลและแรงงานของไทยควบคู่กัน

ความน่าเชื่อถือของข้อมูล และการตัดต่อบทสัมภาษณ์ที่คลุมเครือ

หลายบทความและข้อคิดเห็นจากนักวิชาการด้านทะเลและประมงได้ออกมาโต้แย้ง และชี้ให้เห็นจุดอ่อนของการเลือกนำเสนอ โดยมุ่งโจมตีองค์กรอนุรักษ์หลายแห่ง เช่น Marine Stewardship Council หรือ (MSC) [1] และฉลาก Dolphin safe/friendly [2] ว่าเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาคธุรกิจและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อหลอกลวงผู้บริโภคว่า สินค้าที่ซื้อนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย MSC ได้ออกแถลงการณ์ ตอบโต้ทันทีว่า สารคดีจงใจให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนที่อ้างว่าการทำประมงอย่างยั่งยืนนั้นไม่มีอยู่จริง และการได้มาซึ่งตรารับรองมาตรฐาน MSC นั้นสามารถทำได้ง่าย ไร้ความน่าเชื่อถือ หรือในแถลงการณ์ของสถาบัน  Earth Island Institute ที่เป็นเจ้าของฉลาก Dolphin safe ที่ระบุว่าบทสัมภาษณ์ที่ปรากฎในสารคดีถูกตัดต่อและลดทอนให้เหลือเพียงข้อมูลที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอ

ทั้งนี้ เป็นเรื่องจริงที่ว่ายังมีข้อถกเถียงถึงความโปร่งใส และน่าเชื่อถือของมาตรฐานความยั่งยืนที่ให้กับสินค้าอาหารทะเล เช่น ช่องโหว่งในการออกใบรับรองห่วงโซ่ความยั่งยืน  (Chain of Custody – CoC) ของ MSC ที่อ้างอิงจากการประเมินตามเอกสารแต่เพียงอย่างเดียว ขาดระบบที่จะคอยตรวจสอบในทุกๆ รอบการทำประมง ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีปลาที่จับด้วยวิธีการผิดกฎหมายปนเปื้อนมาในระบบ หรือจุดอ่อนในเรื่องแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานประมงที่ทำงานอยู่กลางทะล ซึ่ง MSC ยังขาดมาตรการตรวจสอบและปกป้องแรงงานจากการตกเป็นแรงงานบังคับ (forced labor) ในห่วงโซ่การผลิตอาหารทะเล 

จากรายงานและข้อค้นพบของกรีนพีซเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า มีบริษัทผู้จัดหาปลาทูน่ารายใหญ่ของไต้หวันเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย เช่น การล่าฉลามเพื่อนำครีบมาขาย และขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็ได้รับมาตรฐานรับรอง MCS ในทำประมงทูน่าในน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าการมีอยู่ของมาตรฐานความยั่งยืนต่างๆ จะเป็นเรื่องหลอกลวง เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนไม่กี่คนไปเสียทั้งหมด เพราะในแง่หนึ่งมาตรฐานเหล่านี้เป็นการพยายามเสนอทางออกให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมประมงต้องหันมารับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทว่าสิ่งที่สำคัญคือเรียกร้องให้เกิดการปรับปรุงช่องโหว่ของการให้การรับรองมาตรฐานอาหารทะเล ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และด้านแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม ตรวจสอบได้จริง และมีมาตรการบังคับใช้พร้อมบทลงโทษที่มีประสิทธิภาพกว่าที่มีในขณะนี้ 

ปฏิกิริยาของรัฐบาลไทย และภาคธุรกิจต่อสารคดี Seaspiracy

สืบเนื่องจากเนื้อหาบางส่วนของสารคดีเชื่อมโยงมาถึงธุรกิจปลาป่นและอุตสาหกรรมฟาร์มกุ้งว่ามี ส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าแรงงานทาส ในประเด็นนี้ทางรัฐบาลไทย ได้ออกมาชี้แจ้งว่า ข้อมูลที่ปรากฎในสารคดีเป็นข้อมูลเก่าเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ปัจจุบันประเทศไทยผ่านการตรวจสอบมาตรฐานการประมงและแรงงานบนเรือจากสหภาพยุโรปแล้ว ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ออกมายืนยันว่า ห่วงโซ่การผลิต และรับซื้อวัตถุดิบอาหารทะเลของตนนั้นสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และปลอดจากการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย 

คำชี้แจ้งดังกล่าวเป็นความจริงที่ว่า สถานการณ์การประมงและแรงงานในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าในอดีตค่อนข้างมาก นับตั้งแต่การดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงพระราชกำหนดการประมง ปี พ.ศ. 2558 และประเทศไทยลงนามให้สัตตาบันอนุสัญญาการทำงานในภาคประมง พ.ศ.2550 (ฉบับที่ 188) ซึ่งคุ้มครองการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานบนเรือประมง ส่งผลให้ประเทศไทยหลุดพ้นสถานภาพใบเหลือง ไปอยู่ในกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และได้เลื่อนอันดับประเทศที่มีการค้ามนุษย์มาอยู่ที่เทียร์ 2 คือเป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ซึ่งถือว่าดีที่สุดในรอบ 9 ปี

ทว่าก็ใช่ว่าปัญหาด้านการประมงและแรงงานของไทยจะคลี่คลายสวยงามไปหมด เพราะยังพบการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะการใช้อวนลาก อวนล้อม และเรือปั่นไฟในน่านน้ำของไทย มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในแต่ละปีเราสูญเสียลูกปลาเศรษฐกิจมากกว่า 74 ชนิดและเศรษฐกิจเสียหายไม่น้อยกว่า 145 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดตัวแทนของ สมาคมสมาพันธุ์ชาวประมงพื้นบ้านก็ได้เดินทางมายื่นหนังสือกับภาคธุรกิจ ให้หยุดจำหน่ายสัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อให้สัตว์น้ำขนาดเล็ก ได้มีโอกาสขยายพันธุ์เติบโตเป็นปลาขนาดใหญ่ต่อไป

นอกจากนี้ ในแง่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดการและดูแลสวัสดิภาพแรงงานในภาคประมงของไทยก็ยังมีอีก หลายส่วนที่ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ที่รับมา เพื่อลดช่องว่างการเข้าถึงสิทธิของแรงงาน จากรายงานของภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน พบว่า แรงงานจำนวนมากยังต้องเผชิญกับปัญหา เช่น ถูกริบเอกสารประจำตัว ไม่สามารถครอบครองสัญญาจ้างงานของตนเอง และเข้าไม่ถึงกลไกการร้องเรียนหรือความช่วย เหลือของรัฐกรณีเกิดปัญหาโดนละเมิด ซึ่งจำเป็นต้องให้ภาครัฐที่มีบทบาทโดยตรง รวมถึงสมาคมผู้ซื้ออาหารทะเลในต่างประเทศ สมาคมอุตสาหกรรมอาหารทะเล ผู้ค้าปลีกในต่างประเทศ บริษัทผู้ส่งออกอาหารทะเล และเจ้าของเรือประมงในต่างประเทศ มาทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้เกิดการจ้างงานอย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบ

ข้อสังเกตอีกประการจากสารคดี Seaspiracy คือ แรงงานที่ปรากฎในสารคดีทุกคนต่างพูดภาษาไทยกลางได้อย่างชัดเจน ซึ่งแทบจะหาได้ยากมากในประเทศไทย เพราะแรงงานในภาคประมงและเพาะเลี้ยงเกือบทั้งหมดของไทยในปัจจุบันเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่าและกัมพูชาเป็นหลัก ส่วนแรงงานประมงที่เป็นคนไทยนั้นนิยมไปค้าแรงงานในประเทศมาเลเซีย หรือประเทศในเอเชียตะวันออกที่ให้ค่าตอบแทนมากกว่า ชวนให้ตั้งคำถามถึงแหล่งข้อมูลที่ผู้กำกับใช้อ้างอิงในสารคดี สัญชาติเรือประมง บริเวณน่านน้ำที่แรงงานประมง ในเรื่องไปทำงานอยู่ว่าอยู่ที่ใด หรือเป็นการตั้งใจเขียนขึ้นให้เข้ากับเนื้อเรื่องที่วางไว้ เพราะแม้จะเป็นความจริงที่ว่า โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับแรงงานประมงที่กลายมาเป็นแรงงานบังคับ จะมีความคล้ายคลึงกันไม่เลือกว่าคนคนนั้นสัญชาติอะไร แต่ความน่าเชื่อถือของข้อมูลก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สารคดีสามารถพูดถึงปัญหาได้อย่างหนักแน่นขึ้น มากกว่าเพียงการสร้างอารมณ์เร่งเร้าแต่เพียงอย่างเดียว

ช่วยทะเลได้ โดยไม่ต้องหยุดกินปลา

เพื่อช่วยปกป้องมหาสมุทรที่ Ali Tabrizi หลงใหล สารคดีเลือกนำเสนอโดยเชิญชวนให้ผู้ชมหันมาหยุดบริโภคอาหารทะเล เพื่อจะได้ลดผลกระทบที่มนุษย์ตักตวงจากธรรมชาติ แต่ข้อเสนอดังกล่าวนี้ ดูจะไม่ใช่ทางออกที่เป็นไปได้จริง และสอดคล้องกับบริบททางสังคม และเศรษฐกิจเท่าไรนัก 

เพราะเมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงที่ว่า ในห่วงโซ่การผลิตอาหารทะเล ไม่ว่าจะเป็นประมงพื้นบ้าน หรือประมงขนาดใหญ่จากท้องทะเลถึงโรงงานแปรรูป สู่ตลาด ร้านอาหาร มาถึงจานอาหารของเราทุกคนต่างก็เต็มไปด้วยชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่ต้องอาศัยท้องทะเลในการดำรงชีพทั้งในมิติด้านความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ มิติด้านโภชนาการในฐานะแหล่งอาหารและ แหล่งโปรตีนที่สำคัญ รวมถึงมิติทางวัฒนธรรมผ่านการถ่ายทอดและส่งต่อองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับท้องทะเลและการทำประมงจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เราจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในท้องทะเลได้เพียงแค่มิติของปกป้องเท่านั้น แต่ยังต้องคิดและเรียกร้องให้เกิดการจัดการทรัพยากรในท้องทะเลอย่างเป็นระบบควบคู่ไปด้วย

จากการศึกษาของกรีนพีซ ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยยอร์ก และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ชี้ให้เห็นว่า มหาสมุทรและระบบนิเวศใต้ท้องทะเลมีศักยภาพในการฟื้นตัวได้ถ้าหากมีการจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยจำกัดพื้นที่มหาสมุทรอย่างน้อยร้อยละ 30 ไว้เป็นเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล (Ocean sanctuaries) เพื่อปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ของมหาสมุทรให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งได้

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถร่วมเรียนร้องกับกรีนพีซให้แบรนด์ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องพัฒนาปรับปรุงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและด้านแรงงาน ผ่านเว็บไซต์ https://tuna2020.greenpeace.or.th  เพื่อส่งเสียงไปยังแบรนด์ผู้ผลิตให้เปิดเผยถึงที่มา ของอาหารทะเลที่เราทาน ข้อมูลการจับ การรับซื้อ และการดูแลแรงงานในห่วงโซ่การผลิต รวมไปถึงการเลือกสนับสนุนอาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้าน ที่ใช้เครื่องมือจับปลาแบบรับผิดชอบ ไม่เลือกรับประทานเมนูที่ทำจากลูกปลา เช่น ปลาข้าวสาร ปลาสายไหม หรือปลาจิ้งจ้าง ซึ่งจะตัดโอกาสที่ปลาเหล่านี้จะได้วางไข่ขยายพันธุ์ กลายเป็นปลาทู ปลากะตัวที่โตเต็มวัย กระทบสมดุลทรัพยากร ปลา และระบบนิเวศทะเลเป็นลูกโซ่

ท้ายที่สุด หากจะกล่าวถึงคุณูปการของสารคดี Seaspiracy ที่มีต่อแวดวงการอนุรักษ์และการจัดการ ประมงก็น่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนจำนวนมากหันมาสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องทะเลใน เขตแดนที่กว้างขวางมากขึ้น จากเทคนิกในการเล่าเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจลุ้นระทึก แต่นั้นก็อาจเป็น“ดาบสองคม” ที่ทำให้ผู้ชมได้เห็นเฉพาะข้อมูลด้านเดียวที่ผู้กำกับเลือกมานำเสนอให้สอดคล้องกับแนวทางการเล่าเรื่องที่ตนเองตั้งไว้ ซึ่งจุดนี้เป็นโจทย์น่าคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้การนำเสนอ ปมปัญหาที่ซับซ้อนในทะเลทั้งในด้านการจัดการการทำประมงและทรัพยากรนั้นน่าสนใจชวนให้เกิดการรับรู้และแก้ไขปัญหา มากกว่าแค่เป็นกระแสให้คนสนใจเพียงชั่วคราว และนำไปสู่การปกป้องมหาสมุทรที่ครอบคลุมในทุกมิติ

[1] ฉลาก MSC คือมาตรฐานการรับรองอาหารทะเลจากการประมงทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน  ที่ระบุว่าสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของอาหารทะเลได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค

[2] ฉลากดังกล่าวใช้เพื่อแสดงถึงที่มาของปลาทูน่าในกระป๋องว่าได้ปฏิบัติตามนโยบาย เพื่อลดการเสีย ชีวิตของโลมาระหว่างการทำประมง

อ้างอิง 

https://www.greenpeace.org/international/story/46985/protect-the-oceans-why-vegan-cant-only-answer/

https://thaipublica.org/2021/04/living-in-the-anthropocene-01/

https://www.thairath.co.th/entertain/movie/2068649

https://www.theguardian.com/environment/2021/mar/31/seaspiracy-netflix-documentary-accused-of-misrepresentation-by-participants

https://www.nytimes.com/2021/03/24/movies/seaspiracy-review.html

https://impakter.com/seaspiracy-shocking-revelations-but-wrong-data-and-wrong-message/

https://sustainablefisheries-uw.org/science-of-seaspiracy/

https://www.hakaimagazine.com/article-short/seaspiracy-harms-more-than-it-educates/

https://www.vox.com/2021/4/13/22380637/seaspiracy-netflix-fact-check-fishing-ocean-plastic-veganism-vegetarianism?fbclid=IwAR0Ea7dVZE1FQd4HoLViw3J3u2s6SmjNg3H0IJ0HPL9lTLjdpWqGfr2ATyI