“ค่าไฟของคนไทยอยู่ภายใต้สัญญาแบบ ‘ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย’ นั่นหมายความว่า เมื่อผลิตไฟฟ้ามากจนล้นในระบบ แม้จะต้องหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าบางแห่ง แต่เราทุกคนได้จ่ายค่าไฟฟ้าให้กลุ่มทุนพลังงานเรียบร้อยแล้ว”

ค่าไฟฟ้าพุ่ง ปรับค่า Ft สูงสุดในรอบ 30 ปี

มิเตอร์คิดค่าไฟฟ้าของไทย ในขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 มีการเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น

เราควรบันทึกไว้ว่าค่าเอฟทีหรือค่าไฟฟ้าผันแปรในประเทศไทยได้พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปีในนี้ ส่งผลให้ค่าไฟพุ่งสูงแตะ 4.77 บาทต่อหน่วยในเดือนเมษายน 2566 

ในบิลค่าไฟอันน่าตกใจของเรา สาเหตุค่าไฟแพงอันดับ 1 นอกจากมาจากค่า Ft ที่พุ่ง “ค่าความพร้อมจ่าย” ยังนับเป็นต้นทุนสูงสุดอันดับสองที่เราจต้องจ่าย ยิ่งอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เรายิ่งต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายเพิ่มขึ้น 

เงินค่าไฟของเราถูกนำไปใช้เพื่อใคร ?

ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยมาจากการกำหนด “โครงสร้างต้นทุนค่าไฟ” ซึ่งต้นทุนนี้ประกอบไปด้วย 

  • ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงทุกประเภทเฉลี่ย 2.74 บาทต่อหน่วย
  • ค่าโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ 76 สตางค์ต่อหน่วย
  • ค่าต้นทุนระบบจำหน่าย 51 สตางค์ต่อหน่วย
  • ค่าภาระหนี้เชื้อเพลิงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 35 สตางค์ต่อหน่วย
  • ค่าต้นทุนระบบส่ง 24 สตางค์ต่อหน่วย
  • ค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น Adder ค่าไฟฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 16 สตางค์ต่อหน่วย )

“ ประชาชนแบกค่าไฟหลังอาน กลุ่มทุนพลังงานกำไรมหาศาล

ปี 2565 คนไทยใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบปีอยู่ที่ราว 32,000 เมกะวัตต์ และในวันที่ 4 เม.ย. 2566 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของเราอยู่ที่ราว 31,500 เมกะวัตต์ ซึ่งหากคิดรวมการสำรองไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระบบ ไม่เกินร้อยละ 15 คิดเป็น 4,800 เมกะวัตต์ รวมไฟฟ้าในระบบที่ควรมีคือราว 36,800 เมกะวัตต์ ในขณะที่กำลังผลิตรวมในระบบจริงอยู่ที่เกือบ 50,000 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2566) 

เรามีไฟฟ้าล้นในระบบมากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ แต่ยังเดินหน้าอนุมัติรับซื้อพลังงานไม่เคยหยุดหย่อน คำถามคือเราทำเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงทางกำไรของกลุ่มทุนพลังงาน ? ในการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าและการซื้อไฟฟ้าเพิ่มภายใต้ผู้นำรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เคยมีกฎหมายและมาตรการที่จะก่อให้เกิดการรับผิดชอบต่อความไม่ชอบธรรมในการใช้อำนาจและกลไกอันไม่แฟร์ที่เกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว “ค่าความพร้อมจ่าย” ยังคงเป็นลักษณะสัญญาที่รัฐบาลทุกสมัยไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเป็นธรรม”

ขยันเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้า สร้างหนี้ค่าไฟฟ้ายาวๆ

การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan-PDP) ฉบับใหม่ เป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญแห่งชาติที่จะทำให้เราได้รู้ว่าการผลิตไฟฟ้าตามแผนพีดีพีที่กำหนดไว้ 20 ปีนั้น โรงไฟฟ้าใดบ้างที่จะถูกอนุมัติให้สร้างเพิ่มขึ้น และพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่เกิดขึ้น 

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าก่อให้เกิดการลงนามซื้อขายไฟฟ้ากันอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและเขื่อน  เกิดขึ้นท่ามกลางข้อถกเถียงเกี่ยวกับความไม่ชอบธรรมที่ไม่เคยแผ่ว ทั้งประเด็นการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเกินจริง การสำรองไฟฟ้าล้นในระบบมากเกินกว่า 23,000 เมกะวัตต์ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement-PPA) ภายใต้สัญญาแบบ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” นั่นหมายความว่า เมื่อไฟฟ้ามากจนล้นในระบบแม้จะต้องหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าบางแห่ง แต่เราทุกคนได้จ่ายค่าไฟฟ้าให้กลุ่มทุนพลังงานเรียบร้อยแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่กำไรของกลุ่มทุนพลังงานบางแห่งจึงพุ่งนับหมื่นล้านในปีที่ผ่านมาและเป็นธุรกิจที่จะไม่ประสบภาวะขาดทุนเพราะภาระการจ่ายได้โอนมายังผู้บริโภคล่วงหน้าโดยสมบูรณ์แบบนั่นเอง

ภาพมุมสูงของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง

ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ : เซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าอีก โยนภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ทิ้งทวนก่อนยุบสภา

ถึงแม้ว่าแผนพีดีพีฉบับใหม่ของประเทศไทยจะล่าช้าและไฟฟ้าล้นในระบบจนทำให้ภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนพุ่งสูงขึ้น หากแต่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นประธานบอร์ดนั้นกลับเปิดโอกาสให้เกิดการเดินหน้าลงนามเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มอย่างต่อเนื่องทั้งจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะ โครงการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนลุ่มน้ำโขง 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนปากลาย เป็นเวลา 29 ปี และเขื่อนหลวงพระบาง เป็นเวลา 35 ปี ตามลำดับ และยังไม่นับรวมการรับซื้อไฟฟ้าก่อนหน้านี้ที่กำลังจะทยอยเข้าระบบสายส่งเพิ่ม ทั้งจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจากภาคตะวันออก โรงไฟฟ้าขยะ เป็นต้น ตามที่มีอยู่ในฐานข้อมูลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

“ประชาธิปไตยทางพลังงานจะเกิดต้องเปิดมาตรการหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าจากหลังคาโซลาร์รูฟท็อปครัวเรือน”

ในเมื่อนโยบายทางพลังงานยังคงเอื้อกลุ่มพลังงานฟอสซิลทั้งจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและการซื้อไฟฟ้าและนำเข้าแอลเอ็นจี (LNG) จากต่างประเทศกันอีกยาว ทางเดียวที่เราจะทยอยปลดแอกจากการจ่ายค่าไฟเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน นั่นคือ หนึ่ง เราต้องลงทุนผลิตไฟฟ้าใช้เอง เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์จากหลังคาบ้าน เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าตอนกลางวันเป็นหลัก และหากต้องการใช้กลางคืนจะต้องใช้การกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เข้ามาร่วมด้วย และสอง เราต้องทั้งผลักและดันให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หยุดเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของประชาชนเพื่อให้นำมาตรการหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า Net metering มาใช้ ซึ่งจะทำให้หลังคาบ้านของเราทุกคนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองลดภาระค่าไฟและเหลือขายเข้าระบบสร้างรายได้และร่วมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแทนการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลที่สร้างภาระทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 

ร่วมเรียกร้องมาตรการ Net metering เพื่อปลดแอกจากการจ่ายค่าไฟให้กลุ่มทุนพลังงาน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม

#หยุดค่าไฟไม่แฟร์