ในปี 2566 ที่ผ่านมาโลกของเรายังคงเผชิญกับหายนะทางสิ่งแวดล้อมหลายประเด็น ทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทำให้โลกตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น สถานการณ์สิทธิชุมชนชายฝั่งที่ถูกละเมิดรวมทั้งการคุกคามทรัพยากรในมหาสมุทรโลก ความรุนแรงของมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งความพยายามในการแก้วิกฤตต่าง ๆ ผ่านการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศอย่าง COP28 ท่ามกลางความพยายามในการฟอกเขียวของผู้ก่อมลพิษหลักอย่างกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งยังมีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหามลพิษพลาสติกอย่างการประชุมด้านสนธิสัญญาพลาสติกโลก 

นี่คือประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่กรีนพีซอยากชวนทุกคนมาทบทวนในต้นปี 2567 เพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตรงจุดมากกว่าเดิม

Banner on Inflatable a Day before Arrival in Kingston. © Martin Katz / Greenpeace
ภาพการรณรงค์ของนักกิจกรรมกรีนพีซ ในช่วงการประชุมองค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศครั้งที่ 28 เริ่มต้นด้วยการรวมตัวกันของผู้นำระดับโลกที่เมืองคิงสตัน ในจาไมกา หลังจากการประชุมสนธิสัญญาทะเลหลวงโดยองค์การสหประชาชาติจบลงไม่ถึงสองสัปดาห์ การประชุมดังกล่าวถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของอนาคตของมหาสมุทร เพราะบริษัทเหมืองใต้ทะเลลึกกำลังเร่งผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงชนิดนี้
© Martin Katz / Greenpeace

สถานการณ์วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ถูกบันทึกให้มีอุณหภูมิร้อนที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกสถิติมา แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ปีนี้เป็นปีของปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Niño–Southern Oscillation, or ENSO) ที่เป็นช่วงเวลาที่ระบบภูมิอากาศโลก มีสภาพอากาศร้อนและแปรปรวน 

แต่นอกจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้อากาศร้อน วิกฤตสภาพภูมิอากาศยังทำให้อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นและเปลี่ยนสี ในช่วงฤดูร้อน อากาศจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ และในหลายพื้นที่ของโลกมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นถึง 45 องศาเซลเซียส และสภาพอากาศที่แห้งมากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟป่าในประเทศต่าง ๆ เช่น แคนาดา

ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้สภาพอากาศร้อนและมีความชื้นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่ม ส่งผลกระทบต่อผู้คนในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึง ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา และบราซิล นอกจากนี้ เราทุกคนได้เห็นหายนะจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ปากีสถานเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำให้พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ

Extreme Flooding in Hong Kong. © Hei / Greenpeace
ภาพถนนในฮ่องกงที่เสียหายหลังพายุไต้ฝุ่น Haikui พัดเข้าถล่มจนทำให้เกิดฝนตกหนัก ซึ่งมีปริมาณฝนมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ภายใน 140 ปี ส่งผลทำให้ผลิตผลในฟาร์มของเกษตรกรเสียหายหลายแห่งและมีผู้คนอย่างน้อย 110 คนได้รับบาดเจ็บ
© Hei / Greenpeace

เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศนี้เองทำให้ปีที่ผ่านมาหลายประเทศเผชิญกับหายนะทางสภาพอากาศและภัยพิบัติที่รุนแรง เช่น น้ำท่วมในตอนเหนือของอินเดีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สเปน เกาหลีใต้ บราซิลรวมทั้งในภาคใต้ของไทยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีคลื่นความร้อนในจีน  และไฟป่าในแคนาดา

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกออกมาแสดงเจตจำนงถึงความต้องการให้ผู้นำแต่ละประเทศต้องลงมือแก้ไขวิกฤตนี้อย่างเร่งด่วน แต่ผู้ก่อมลพิษหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลยังไม่ดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลทั้งหมด 

เรายังคงต้องจับตามองความพยายามเพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกต่อไป ในปีที่ผ่านมา ที่การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติก็มีท่าทีที่ชัดเจนว่าการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นสำหรับ “กลุ่มที่ต้องขับเคลื่อนเป็นกลุ่มแรก” และการเข้าร่วมนี้จะต้องมี “แนวทางที่เป็นไปได้, ความจริงจัง, และจะต้องมีแผนการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศแบบใหม่” ซึ่งจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่นำไปสู่การรับมือและแก้ไขวิกฤตที่เป็นอยู่อย่างเร่งด่วน

March to End Fossil Fuels in New York City. © Stephanie Keith / Greenpeace
ประชาชนหลายพันในกรุงนิวยอร์กรวมตัวกันเดินรณรงค์ให้ “ยุติยุคฟอสซิล” ก่อนการประชุม UN Climate Ambition Summit ในวันที่ 20 กันยายน 2566 ซึ่งนักกิจกรรมเรียกร้องให้ประธานาธิบดีไบเดนและผู้นำโลกต้องปลดระวางการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรมไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน
© Stephanie Keith / Greenpeace

การประชุมสนธิสัญญาพลาสติกโลก

ปัจจุบันเรามีข้อมูลที่แน่ชัดแล้วว่า ตัวเลขการผลิตพลาสติกทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปี 2543 ถึงปี 2562 เป็นเท่าตัว โดยโลกผลิตพลาสติกมากถึง 460 ล้านตัน (Mt) ต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 3 เท่าภายในปี 2593 นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าโลกจะปล่อยคาร์บอนได้อีกเพียง 13% เท่านั้นหากต้องการคงอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

หากยังไร้การควบคุมก็จะเร่งให้เกิดวิกฤตต่อโลกอย่างหนัก ทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนถึงขนาดที่ไม่สามารถจินตนาการได้ รวมทั้งยิ่งทำให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมรุนแรงขึ้นทั่วโลก ทั้งปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ การเหยียดเพศ และความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ

Greenpeace unveils giant art installation ahead of Global Plastic Treaty negotiations in Paris. © Noemie Coissac / Greenpeace
กรีนพีซ สากล ร่วมกับศิลปินและนักกิจกรรม Benjamin Von Wong สร้างผลงานศิปะแท่นขุดเจาะขวดพลาสติก #PerpetualPlastic บริเวณหน้าแม่น้ำ Seine River เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ส่งข้อความไปถึงการประชุมเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกว่าจะต้องหยุดการผลิตและใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
© Noemie Coissac / Greenpeace

ก่อนหน้านี้รายงานหลายฉบับระบุว่าตัวแทนผู้เจรจาต่อรองข้อตกลงสนธิสัญญาพลาสติกโลกหลายคนมีความเชื่อมโยงหรือเป็นที่ปรึกษาให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ อีกทั้งยังพยายามทำให้โลกเจอกับความล้มเหลวด้วยการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจด้วยการทำให้โลกมองข้ามวิธีการแก้วิกฤตพลาสติกด้วยการลดการผลิตโดยตรง

สำหรับการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่ผ่านมานั้น กรีนพีซเรียกร้องให้โลกลดการผลิตพลาสติกลงอย่างน้อย 75% จะทำให้เราหลีกเลี่ยงหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลแบบจำลองโดย Eunomia และ Pacific Environment ที่แสดงให้เราเห็นว่าหากลดการผลิตพลาสติกลง 75% ภายในปี 2593 จะช่วยคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิด 1.5 องศาเซลเซียส และยังจะป้องกันผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศร้ายแรงที่เกิดจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอีกด้วย

Malaysia's Broken Global Recycling System. © Nandakumar S. Haridas / Greenpeace
Gกรีนพีซ มาเลเซีย สืบสวนถึงระบบการรีไซเคิลที่ม่ได้ประสิทธิภาพจนส่งผลกระทบต่อชุมชนในมาเลเซีย โดยสิ่งที่พบคือ พบหลุมขยะพลาสติกแห่งใหม่ที่เป็นขยะนำเข้ามาจาก 19 ประเทศ (ส่วนใหญ่มาจากประเทศพัฒนาแล้ว) การสืบสวนครั้งนี้พบกิจกรรมที่ละเมิดต่อกฎหมายซึ่งทำให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เป็นอันตรายต่อประชาชนชัดเจน
© Nandakumar S. Haridas / Greenpeace

ทว่า การประชุมครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC3) สำหรับการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกสิ้นสุดลงอย่างน่าผิดหวังสำหรับการต่อสู้กับวิกฤตมลพิษพลาสติกและสภาพภูมิอากาศ จากส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ เกรแฮม ฟอร์บส์ หัวหน้าทีมเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก และหัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ สหรัฐ อเมริกา มีใจความสรุปว่า รัฐบาลต่างๆ อนุญาตให้ผลประโยชน์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลขับเคลื่อนการเจรจา ซึ่งจะนำไปสู่สนธิสัญญาที่จะทำให้ปัญหามลพิษพลาสติกแย่ลงอย่างแน่นอน และเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว

การเจรจากลับมาอีกครั้งที่แคนาดาในเดือนเมษายน 2567 และเมื่อถึงเวลานั้น ผู้นำโลกต้องพร้อมที่จะแสดงความกล้า และความเป็นผู้นำในแบบที่เรายังไม่เคยเห็น

สถานการณ์สิทธิชุมชน ทะเลและมหาสมุทรโลก

ปี 2566 ที่ผ่านมาถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ทะเลและมหาสมุทรโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามอย่างอุตสาหกรรมเหมืองใต้ทะเลลึก เพราะหลังจากหลังจากการประชุมสนธิสัญญาทะเลหลวงโดยองค์การสหประชาชาติจบลงด้วยความสำเร็จเมื่อช่วงต้นปี 2566 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่บริษัทเหมืองใต้ทะเลลึกกำลังเร่งผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงชนิดนี้

Protest against Deep Sea Mining in Prague. © Greenpeace / Petr Zewlakk Vrabec
นักกิจกรรมกรีนพีซ นำศิลปะรูปร่าง หมึกผี (ghost octopus) ขนาดยักษ์ มายังบริเวณหน้ากระทรวงอุตสาหกรรมในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก เพื่อคัดค้านโครงการทเหมืองทะเลลึก โดยเจ้าหมึกยักษ์มีแผ่นป้ายผ้าของตัวเองมามีใจความว่า ‘ก้นทะเลคือบ้านของพวกเรา อย่าทำลายบ้านของเรา!’
© Greenpeace / Petr Zewlakk Vrabec

อุตสาหกรรมเหมืองใต้ทะเลลึกพยายามบีบบังคับรัฐบาลต่าง ๆ ด้วยการใช้ช่องโหว่และความคลุมเครือของกฎหมายเพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมในปี 2564 เช่น เหตุการณ์ที่ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐนาอูรู ร่วมกับบริษัทแร่ที่เป็นบริษัทที่เชื่อมโยงกับกรมทรัพยากรมหาสมุทรนาอูรู ซึ่งก่อให้เกิด “กฎ 2 ปี” (two-year rule) ซึ่งกดดันรัฐบาลในที่ประชุมองค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศ (ISA) ให้อนุมัติการโครงการเหมืองใต้ทะเลลึกภายในมิถุนายน 2566

และเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566 นักกิจกรรมกรีนพีซ สากล เผชิญหน้าอย่างสันติกับเรือสำรวจและขุดเจาะเหมืองใต้ทะเล ที่ดำเนินการโดยบริษัทสำรวจแร่ The Metals Company (TMC) การประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงภัยจากอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ที่จะกระทบกับมหาสมุทรโลก โดย

นักกิจกรรมกรีนพีซ สากล เผชิญหน้าอย่างสันติกับเรือสำรวจและขุดเจาะเหมืองใต้ทะเล ที่ดำเนินการโดยบริษัทสำรวจแร่ The Metals Company (TMC) การประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงภัยจากอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ที่จะกระทบกับมหาสมุทรโลก
© x

กรีนพีซเผชิญหน้ากับเรือขุดเจาะเหมืองใต้ทะเล หวั่นการทำเหมืองใต้ทะเลกระทบระบบนิเวศใต้ท้องทะเลในแปซิฟิก นักกิจกรรมใช้เรือยางที่ปล่อยจากเรืออาร์กติก ซันไรส์ เรือรณรงค์ของกรีนพีซ แล่นไปรอบ ๆ เรือ MV COCO ซึ่งเป็นเรือขุดเจาะเหมืองใต้ทะเลโดยเฉพาะ โดยเรือลำดังกล่าวกำลังออกสำรวจพื้นที่และรวบรวมข้อมูลให้กับบริษัท TMC เพื่อขอใบอนุญาตขุดเหมือง

กรีนพีซ สากล ติดตามอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงนี้ตั้งแต่เริ่มแรกไปจนถึงจุดที่มีการอภิปรายถกเถียง การประท้วงอย่างสันติในครั้งนี้ทำเพื่อปกป้องระบบนิเวศจากการทำลายล้างของอุตสาหกรรม เพราะดูเหมือนว่าบริษัท The Metals Company จะเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และยังคงเพิกเฉยต่อเสียงคัดค้านจากทั่วโลกด้วยการเดินหน้าสำรวจทรัพยากรเพื่อทำเหมืองในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์แห่งสุดท้ายของโลก

COP28

อีกหนึ่งการประชุมเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศโลกที่สำคัญและจัดขึ้นในช่วงปลายปีของทุกปีก็คงหนีไม่พ้น การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมาจัดขึ้นที่เอ็กส์โปซิตี้ ดูไบ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และยังเป็นการประชุมในปีที่มีอุณหภูมิทําลายสถิติและสภาวะสุดขั้วจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ปีที่นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศของโลกร่วมกันระบุถึงความต้องการที่ชัดเจนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้มากที่สุดอีกด้วย

ภาพในวันที่ 13 ที่นักกิจกรรมปักหลักรณรงค์เรียกร้องให้การเจรจา COP28 ต้องยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หน้าสถานที่การประชุมในดูไบ

โดยกรีนพีซมีข้อเรียกร้องต่อการประชุมนี้หลัก ๆ คือ 

  • ระเทศต่างๆ จะต้องตกลงกันในท้ายที่สุดเพื่อปลดแอกโลกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
  • ทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) เพื่อเริ่มต้นปฏิบัติการเปลี่ยนผ่านในทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายขีดจำกัดอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส และการรับมือกับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
  • ทําให้ผู้ก่อมลพิษหลักต้องจ่าย และมีภาระรับผิดต่อการทำลายและคุกคามสภาพภูมิอากาศโลกนั้นเป็นจริงมากขึ้น เช่นต้องเปิดกองทุนกองทุนใหม่ว่าด้วยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Fund)

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์สุดท้ายจากการประชุม COP28 ยังคงไปไม่ถึงการ ‘ปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล’ โดยถูกปรับเป็น เรียกร้องให้มีการ “ถอยห่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิล(a transition away from fossil fuels)” ส่งผลให้ภาระรับผิดของผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ล่าช้าออกไปอีกนับปี ในขณะที่โลกของเราเข้าสู่ขีดจํากัดภาวะโลกเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ

Fossil Fuel Phase Out Protest at COP 28 in Dubai. © Marie Jacquemin / Greenpeace
ภาพนักกิจกรรมรณรงค์การปลดระวางยุคฟอสซิล ในการประชุมเจรจา COP28
© Marie Jacquemin / Greenpeace

เราเห็นความพยายามของประธาน COP ที่สรุปด้วยการตระหนักถึงความจําเป็นในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและระดมเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศมากกว่า 700 ล้านดอลลาร์ที่ใช้ในการดำเนินงานกองทุนการสูญเสียและความเสียหาย(Loss and Damage Fund) แต่ชุมชนที่อยู่แนวหน้าของภัยพิบัติจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศต้องการเห็นมากกว่านี้ นั่นคือความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่เพื่อปลดระวางเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดอย่างทันท่วงที เท่าเทียม และมีการสนับสนุนทางการเงินเป็นอย่างดีเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศกำลังพัฒนาสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนและรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าในปี 2566 ที่ผ่านมาเราจะต้องพบกับหายนะและวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งเราได้เห็นถึงพลังของภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมในประเทศของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลกพร้อมข้อเรียกร้องให้การปฏิบัติการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนับวันก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น และมุ่งมั่นมากขึ้น และเราหวังว่าพลังของประชาชนจะทวีพลังมากขึ้นในปี 2567 และปีต่อไปเพื่อปกป้องโลกอันเป็นบ้านหลังเดียวของพวกเรา