เรียนประชาชนที่เคารพ
นี่คือประเด็นที่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ไม่ได้ระบุในคำแถลงนโยบายต่อการแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดน ซึ่งนอกจากจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริงแล้ว อาจซ้ำเติมปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย
จากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 11 กันยายน 2566 โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนล่าสุด ภายใต้พรรคการเมืองเดียวกันคือพรรคเพื่อไทย สำหรับกรณีการแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงซึ่งเป็นวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทยที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี

คำแถลงนโยบายระบุเพียงว่า “…รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคนด้วยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจทั้งทางบวกและทางลบในภาคเกษตรกรรม ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อประเมินผลและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว…”
แม้นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะกล่าวถึงปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 และสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และการแก้ปัญหาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม หากปราศจากนโยบายหลักที่ส่งเสริมและบังคับใช้การเปิดเผยข้อมูลของห่วงโซ่อุปทานอย่างโปร่งใสของบริษัทอุตสาหกรรม นโยบายสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา รวมถึงพ.ร.บ.ต่างๆที่รัฐบาลกล่าวว่าจะผลักดัน เช่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด และพ.ร.บ.โลกร้อน การนำไปปฏิบัติจะไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดนอย่างแท้จริงได้ และยังเอื้อให้บริษัทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์จากการก่อฝุ่นข้ามแดนจากการลงทุนธุรกิจข้ามแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ให้ยังสามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ (Business as usual) ขยายพื้นที่การลงทุน โดยที่ไม่มีภาระรับผิดรับชอบใด

There has been a huge increase in corn cultivation in northern Thailand in the last 10 years. Corn that has been milled is left as corn cobs. Most of the corn cobs are often disposed of by burning and this often leads to toxic smog that covers the whole northern region.
การวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดของกรีนพีซ ประเทศไทยพบว่า
- ระหว่างเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2566 พบจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีสัดส่วน 41% ซึ่งมากกว่าสัดส่วนจุดความร้อนในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรอื่นทั้งหมด
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังเชื่อมโยงกับการทำลายป่าซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตอุทกภัยภาคเหนือขณะนี้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าระหว่างปี 2558-2566 ผืนป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 11.8 ล้านไร่
- เพียงแค่ไม่ถึงสิบปี พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้ขยายจากในปี 2558 มีพื้นที่รวมกัน 13,015,940 ไร่ เพิ่มเป็น 18,095,317 ไร่ ในปี 2566
นโยบายของรัฐบาล: “สร้างการมีส่วนร่วมในการรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการแก้ปัญหา PM2.5 และการบริหารจัดการน้ำที่จะต้องได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศ”
คำแถลงนโยบายระบุไว้ว่า “จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยว” และในประเด็นนี้ ยังกล่าวถึงปัญหาฝุ่นพิษว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์มลพิษทางอากาศ PM2.5 ของไทยยังย่ำแย่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้มีคนป่วยจากมลพิษทางอากาศกว่า ๑๐ ล้านคน ในปี ๒๕๖๖” ในประเด็นนี้แม้รัฐบาลจะแสดงความห่วงกังวลต่อสุขภาพ แต่ไม่ได้เสนอมาตรการสุขภาพใดมารองรับผู้ป่วยที่ทวีเพิ่มขึ้นจากผลกระทบฝุ่นพิษในทุกปี เช่น การตรวจปอดฟรี หรือการบรรเทารักษาอาการและโรคที่สืบเนื่องจากฝุ่นพิษ ภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพยังเป็นภาระของประชาชนที่ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเยียวยาทางสาธารณะสุข และสิทธิมนุษยชนพื้นฐานอย่างการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศสะอาด
นอกจากนี้การกล่าวถึงการร่วมมือระหว่างประเทศยังเป็นการกล่าวโดยรวมที่ขึ้นอยู่กับการตีความของรัฐบาล ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย และประชาชน ว่าจะเป็นการร่วมมือในรูปแบบใดเนื่องจากเป็นการกล่าวรวมถึงการจัดการน้ำระหว่างประเทศด้วย ซึ่งอาจจะหมายความรวมถึงเขื่อนหรือไม่
นโยบายในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนจะต้องระบุถึงมาตรการบังคับใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสและเปิดเผยต่อประชาชน (อ่านเพิ่มเติม) ไปยังบริษัทอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเช่น อุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์ที่ใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นองค์ประกอบสำคัญ การเปิดเผยข้อมูลของห่วงโซ่อุปทานอย่างโปร่งใสและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้นั้นจะเป็นมาตรฐานที่ดีในการแสดงความจริงใจถึงการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดน การทำลายป่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ควรจะเป็นความลับทางการค้า แต่จะต้องเป็นข้อมูลที่ผู้บริโภคและคนทั่วไปมีสิทธิที่จะรับรู้เพื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ หรือปกป้องสิทธิของตนเองและคนในพื้นที่

นอกเหนือจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างการสื่อสารที่ดีของบริษัทผ่านทางผลิตภัณฑ์ รวมถึงแสดงความมั่นใจต่อการมีภาระรับผิดต่อกระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์ของตน ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการก้าวไปสู่รายงานความยั่งยืนที่โปร่งใสและนโยบายต่อกรวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่สร้างบนพื้นฐานความเป็นธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน
เบื้องต้นบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จะต้องสามารถระบุและเปิดเผยแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(corn traceability) และการรับซื้อที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมาใช้สร้างหลักประกันการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปราศจากการบุกรุกป่าและไม่เผาทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยจะต้องระบุรายละเอียดชัดเจนอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ เช่น
- การเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียดและรอบด้านทั้งห่วงโซ่อุปทานของระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ที่ใช้ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกิจการประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา และที่ใช้ในการจัดซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้
- การเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียดและรอบด้านทั้งห่วงโซ่อุปทานของระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ต้องรวมถึง ภาพถ่ายดาวเทียมในการติดตามแปลงเพาะปลูกของทั้งเกษตรกรไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และวิเคราะห์จุดที่ยังพบการเผาหลังเก็บเกี่ยวที่รับรองว่าอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้จัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาจากแหล่งปลูกที่ปราศจากการเผา และรวมถึงข้อมูลที่เชื่อมโยงผลผลิตข้าวโพดตั้งแต่แปลงเพาะปลูกถึงโรงงานอาหารสัตว์ โดยที่ข้อมูลดังกล่าวนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้
- ปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีกลไกการแจ้งเบาะแส และการตรวจสอบจากภายนอกที่เป็นกลาง พร้อมกับเปิดเผยสรุปผลการตรวจสอบและแนวทางยกระดับต่อสาธารณะ
นอกจากระบบการตรวจสอบย้อนกลับแล้ว การรับมือกับภัยที่เป็นผลจากการสูญเสียพื้นที่ป่าและวิกฤตโลกเดือดอย่างมีประสิทธิภาพและเร่งด่วนจะต้องรวมถึงนโยบายการลดพื้นที่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ เพราะนี่คือต้นเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดน ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตอุทกภัยที่ทำลายชีวิต สิทธิมนุษยชน และทรัพย์สินของประชาชน

นโยบายของรัฐบาล: ครัวไทยสู่ครัวโลก วางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตทั้งอุตสาหกรรมและการเกษตร
ถ้อยแถลงระบุว่า:
“รัฐบาลจะยกระดับการทําเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนํา นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ ๆ รวมท้ังอาหารฮาลาล และฟื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลก ด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร”
ในขณะเดียวกันกลับลดทอนภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย ให้เหลือขอบเขตเพียง “อาหารท้องถิ่นไทย ผ้าไทย มวยไทย ศิลปะการแสดงไทย ดนตรีไทย ผสมผสานกับศิลปะร่วมสมัย และสุราชุมชน” โดยที่มองข้ามวิถีเกษตรกรรม เช่น ไร่หมุนเวียน และเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่เน้นความหลากหลายของพืชพรรณท้องถิ่นของไทยที่ยังสามารถขับเคลื่อนเชิงเศรษฐกิจได้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าจับตามองคือ การพยายามผลักดันหรือรื้อฟื้นนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาลแพทองธารนั้นจะเป็นเพียงการสนับสนุนส่งเสริมการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารของไทยหรือไม่ และนโยบายนี้เป็นนโยบายที่สอดคล้องกันโดยบังเอิญกับบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์รายใหญ่ของโลก และการมุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเนื้อสัตว์ของโลกดังที่ปรากฎในยอดการเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับหนึ่งของเอเชีย และอันดับสามของโลก แต่แลกมาด้วยต้นทุนทางสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนของประชาชนดังกล่าวไว้ในข้อด้านบน
คงจะเป็นการได้ที่ไม่คุ้มเสีย แต่รัฐบาลเองได้คำนึงถึงปัจจัยนี้หรือไม่ และการเติบโตอุตสาหกรรมเกษตรดังกล่าวจะเติบโตไปในทิศทางใด ชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัดมีส่วนในการกำหนดอนาคตของตนเองหรือไม่ หรือไทยจะมุ่งเน้นแต่เพียงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพีชเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งที่สามารถปลูกและขายได้ทุกเมล็ดเท่านั้น
นโยบายของรัฐบาล: คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อความยั่งยืน
สิ่งที่รัฐบาลแพทองธารกล่าวถึงมากที่สุดในคำแถลงคือ การเดินหน้าและสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality โดยมุ่งเป็น “ผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ” และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย ด้วยการอ้างว่า คาร์บอนเครดิตจะช่วยเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลกและช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศ
การมุ่งหวังแก้วิกฤตโลกร้อนด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือแนวคิดความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยไม่กล่าวถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นทางอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากอุตสาหกรรมฟอสซิล เกษตร และปศุสัตว์ แต่การอาศัยแนวคิดคาร์บอนเครดิตเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมสามารถจัดหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการของตนเองได้ ในแง่นี้ การชดเชยคาร์บอน เช่น การซื้อคาร์บอนเครดิตจากผืนป่า
จึงเปรียบเสมือนใบอนุญาตให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่องได้ตราบเท่าที่ยังสามารถจัดหาคาร์บอนเครดิตจากโครงการปลูกฟื้นฟูป่ามาชดเชย นั่นเท่ากับว่าภาคอุตสาหกรรมได้รับใบอนุญาตให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ “license to pollute” จากกิจกรรมปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่า

สิทธิชุมชนกลับเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงน้อยที่สุดในถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำข้อกังวลของชุมชนและภาคประชาสังคมต่อคาร์บอนเครดิตและป่าคาร์บอนแย่งยึดที่ดินป่าไม้และละเมิดสิทธิชุมชน กล่าวคือ การซื้อขายและชดเชยคาร์บอนเครดิตเปิดโอกาสให้ทุนอุตสาหกรรมเข้าไปแย่งยึดที่ดินและทรัพยากรของชุมชน ขณะนี้นโยบายของรัฐทั้งในอดีตและปัจจุบันที่เร่งยึดคืนผืนป่าจากชุมชนชนพื้นเมืองชาติพันธุ์
การผลักดันนโยบายคาร์บอนเครดิตจะสามารถเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมไปจัดทำสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับชุมชนท้องถิ่นท้องถิ่น หรือเข้าไปปลูกป่าในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้กับประชาชน เช่น พื้นที่ คทช. และ สปก. เป็นต้น ด้วยเงื่อนไขทางนโยบายและการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความรู้ความเข้าใจและความไม่ชัดเจนของข้อมูลข่าวสาร ทำให้ชุมชนหลายแห่งอยู่ในสถานะที่ไร้อำนาจในการต่อรองที่จะกำหนดราคาคาร์บอนเครดิตและระยะเวลาในการดำเนินงานของโครงการ การจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนต้องถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขของบริษัทที่มีเป้าหมายคือปริมาณคาร์บอนเครดิตจากพื้นที่ป่า
เสียงจากชุมชนชนพื้นเมืองชาติพันธุ์บางส่วนได้แสดงความเห็นต่อคำแถลงของนายกรัฐมนตรีแพทองธารว่า การระบุถึง “มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี” ดูจะเป็นแค่นิยามคำพูดที่เขาเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่ชุมชนเป็นผู้กำหนด ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบ “พูดน่ะพูดได้ แต่ไม่ได้มีการส่งเสริมสิทธิชุมชน” หรืออีกเสียงหนึ่งที่กล่าวว่า “การมีเกียรติมีศักดิ์ศรีไม่ต้องใช้งบประมาณ แค่ต้องแก้กฎหมาย และต้องให้เรามีสิทธิมีเสียงในการกำหนดนโยบาย ไม่งั้นจะเป็นการลดทอนเกียรติและศักดิ์ศรีของคน ความมั่นคั่งจะต้องถูกยอมรับจากกฎหมายพื้นฐานก่อนและต่อยอด ตอนนี้ไม่ได้ระบุให้พวกเรา(ชนพื้นเมือง)ถูกกฎหมาย แต่การที่เขาพูดมานั้นยังดีกว่าที่ไม่ได้พูด และหวังว่าพูดแล้วจะทำให้ได้จริง”

กรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งทำงานรณรงค์ด้านฝุ่นพิษข้ามแดนและการสูญเสียพื้นที่ป่าอันเป็นผลกระทบจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีกับการแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงดังต่อไปนี้
1. ผลักดันให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับอย่างเคร่งครัดและโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์ ภายใต้กรอบพ.ร.บ.อากาศสะอาด โดยที่สาธารณะและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อตรวจสอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลีกเลี่ยงภาระความรับผิด
2. กำหนดให้มีการเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษหากห่วงโซ่อุปทานของตนเชื่อมโยงกับการก่อมลพิษทางอากาศ ทั้งภายในประเทศและรวมถึงธุรกิจข้ามแดนที่ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและส่งผลกลับมายังประเทศไทย ซึ่งมาตรการเอาผิดผู้ก่อมลพิษนั้นไม่ควรจำกัดที่เกษตรกร หรือชุมชนผู้พึ่งพิงป่าผู้ใช้ไฟ แต่ควรเป็นการเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับต้นทางวัตถุดิบในพื้นที่แปลงเกษตรระดับอุตสาหกรรม เช่น บริษัทปลายทางผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรใดที่เกี่ยวข้องกับการก่อมลพิษและการเผาเศษวัตถุดิบทางเกษตร ว่าเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าและก่อฝุ่นพิษข้ามพรมแดนหรือไม่ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันและเลี่ยงความเสี่ยงการก่อฝุ่นพิษต้องแต่ต้นทาง
3. ผลักดันนโยบายที่สอดคล้องกับความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากฝุ่นควันข้ามแดนปี 2545 ที่รับรองถึงความเป็นธรรมทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการกำหนดให้มีกรอบทางกฎหมายที่ครอบคลุมโดยรัฐบาลแต่ละประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่เชื่อมโยงกับกฎหมายระดับภูมิภาคเพื่อทำให้บริษัทอุตสาหกรรมมีภาระรับผิดต่อการก่อมลพิษทางอากาศข้ามแดนโครงสร้างทางกฎหมายนี้จะเป็นกรอบให้บริษัทอุตสาหกรรมปฏิบัติตามมาตรการตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงยังส่งเสริมการร่วมมือที่เคร่งครัดขึ้นระหว่างสมาชิกประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ครอบคลุมทั้งในประเทศและพันธกรณีนอกอาณาเขตที่ส่งผลกระทบข้ามแดน รวมถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (corn traceability) ของบริษัทเกษตรอุตสาหกรรม
4.กำหนดมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางวิถีชีวิต สุขภาพกายและสุขภาพจิตจากฝุ่นพิษที่มีที่มาจากการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและธุรกิจข้ามแดน โดยบริษัทอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการก่อฝุ่นพิษจำเป็นจะต้องเป็นผู้ชดใช้และเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
5. ผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่ดินทำกินอยู่อาศัยในเขตป่าและรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการป่าที่ครอบคลุมการอนุรักษ์ ฟื้นฟูดูแลและการใช้ประโยชน์ ที่สอดคล้องกับ (ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิวิถีชีวิตชนพื้นเมืองชาติพันธุ์เพื่อรับรองสิทธิในการดํารงชีวิต และมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้อย่างยั่งยืน จะนำมาซึ่งการผลิตที่มั่นคง ยั่งยืน และลดวิกฤตฝุ่นพิษ
6. ลดพื้นที่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ เพราะนอกจากผลตอบแทนจะต่ำกว่าการผลิตรูปแบบอื่นหลายเท่าตัวแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นวงกว้าง โดยที่ผู้ได้ประโยชน์จากระบบการผลิตเหล่านี้กลับไม่ใช่เกษตรกรรายย่อย แต่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่
7. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกษตรกรรมยั่งยืน โดยให้ความสําคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับผู้ประกอบการ
8. ปฏิเสธแนวทางการชดเชยคาร์บอน(carbon offset) ซึ่งคือการฟอกเขียว(greenwashing) และเปิดโอกาสให้ประเทศร่ำรวยและบรรษัทอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากวัฏจักรคาร์บอนตามธรรมชาติ แย่งยึดที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ ให้เป็นสินค้าแสวงผลกำไร แต่กลับหลีกเลี่ยงภาระรับผิด (accountability) ต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ตนก่อขึ้น