น้ำท่วมและดินโคลนถล่มที่เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนบนของไทยจากผลพวงของพายุไต้ฝุ่นยางิ(Typhoon Yagi) ผนวกกับอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (the southwest monsoon) ในช่วงเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมากลายเป็นความสูญเสียและเสียหาย (loss and damage) ครั้งใหญ่ จากรายงานของ UN Office for the Coordination of Humanitarian Affairs ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 42 คนจากน้ำท่วม 19 เหตุการณ์ และดินโคลนถล่ม 23 เหตุการณ์ โดยมี 133,082 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ [1]
ข้อถกเถียงสำคัญที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่มและโคลนที่ตามมาจากมวลน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ภูเขา ในสายตาของสังคมพุ่งไปยังชุมชนคนกับป่าที่อาศัยอยู่บนดอยว่าเป็นต้นเหตุของการทำลายป่า อย่างไรก็ตาม สภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่ทำให้หลายพื้นที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับพายุรุนแรงและน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้มีที่มาเพียงแค่การหายไปของพื้นที่ป่าไม้ แต่ยังเป็นผลของการก่อก๊าซเรือนกระจกมหาศาลและอย่างยาวนานของอุตสาหกรรมหลายภาคส่วน ทั้งอุตสาหกรรมฟอสซิล อย่างน้ำมัน ถ่านหิน เหมือง รวมถึงอุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์ที่ใช้พื้นที่เพาะปลูกพื้นอาหารสัตว์จำนวนมาก และขยายความต้องการสูงขึ้นในแต่ละปี บริษัทอุตสาหกรรมเหล่านี้คือผู้ที่ก่อวิกฤตโลกร้อนและอุทกภัยที่เรากำลังเผชิญอยู่ แต่กลับได้รับการสนับสนุนจากรัฐผ่านทางนโยบายมาโดยตลอด เป็นผู้ที่ก่อมลพิษสูงสุดติดโดยที่มีหลายบริษัทจากไทยติดอันดับต้นๆของโลก แต่ผู้ที่ได้ผลกระทบสูงสุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในขณะนี้คือ ผู้ที่ก่อมลพิษน้อยที่สุด
นี่คือความไม่เป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate injustice) ที่เราอยากจะชวนให้ทุกคนพูดถึง กรีนพีซได้ชวนตัวแทนจากสองชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสจากอุทกภัยทางภาคเหนือ ด้านหนึ่งคือเมืองแม่สาย จังหวัดเชียงราย อีกด้านคือบ้านชุมชนห้วยหินลาดใน ชุมชนปกาเกอะญอในป่า จังหวัดเชียงรายเช่นกัน แม้จะมีความต่างกันคือสถานที่ตั้งในรูปแบบเมือง-ป่า แต่สิ่งที่สองชุมชนต้องเจอเหมือนกันคือ เป็นผู้ที่ไม่ได้ก่อมลพิษใด เมืองแม่สายเป็นพื้นที่ที่ไม่พบจุดความร้อนในช่วงแล้งแต่ต้องเผชิญฝุ่นพิษข้ามพรมแดนระดับสูงที่ค่า PM2.5 AQI 300-500 เป็นช่วงเวลาหลายเดือน และเผชิญน้ำท่วมหลายครั้งต่อปี ซึ่งครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุด ส่วนบ้านชุมชนห้วยหินลาดในนั้นเป็นพื้นที่คุ้มครองชาติพันธุ์ แห่งแรกของไทย ที่อยู่กับป่าแบบดูแลรักษาและพึ่งพิงมาราว 200 ปี แต่กลับได้รับความไม่ยุติธรรมทั้งจากอุทกภัยที่ซ้ำเติมด้วยอคติทางชาติพันธุ์
มุมมองของจากตัวแทนสองชุมชนที่เชียงราย คุณพิสิษฐ์ เวชกิจ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า เชียงราย และนายกเอ-ชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย จ.เชียงรายอาจจะสะท้อนได้ถึงความไม่เป็นธรรมทางผลกระทบที่เกิดขึ้น และทางโครงสร้างการจัดการของรัฐ รวมถึงการกำหนดนโยบายที่ไม่ได้มองผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีภาระรับผิด
วิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับแม่สายและห้วยหินลาดใน
“ครั้งแรกในสามชั่วอายุคน”
นี่คือคำอธิบายของคุณพิสิศฐ์ เวชกิจ ต่ออุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา โดยคุณพิสิศฐ์ เล่าว่า ครั้งนี้ฝนตกติดต่อกันบ่อย และในคืนวันที่ 23 ฝนก็ตกทั้งคืน วันที่ 23 เช้าก็ตกปกติ แต่น้ำกลับนองขึ้นเรื่อยๆ และอีกสักพักตอน 9 โมงน้ำมาพร้อมขอนไม้เศษไม้ และพัดพาโรงเรียน หมู่บ้าน รถยนต์ มอเตอร์ไซค์หายไปตามกระแสน้ำ ส่วนชาวบ้านหนีทัน เพราะเป็นตอนกลางวัน เนื่องจากปกติชาวบ้านตอนฝนตกจะตื่นตัว จึงไม่มีใครบาดเจ็บหรือสูญหาย “ตลอดสามชั่วอายุคนยังไม่เคยเห็นน้ำป่าไหลหลากที่รุนแรงขนาดนี้”
“กำแพงแตก 40 กว่าจุด การระบายน้ำล้มเหลวเพราะโคลน”
นายกเอ-ชัยยนต์ ศรีสมุทร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่าเป็นความ “ล้มเหลว” ในการป้องกัน แม้ปีนี้แม่สายจะประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นครั้งที่ 7 แต่ครั้งนี้ครั้งที่ 8 ถือว่ารุนแรงที่สุด ในประวัติศาสตร์เมืองแม่สาย เมื่อปี 2565 น้ำท่วมหนักเกิดจากน้ำหลากเข้าพื้นที่ แต่ปีนี้เป็นลักษณะของน้ำท่วมขังอย่างน้อย 5 วันทำให้ดินโคลนตกตะกอน การฟื้นฟูต้องใช้เวลาหลายเดือน ในช่วง 3 วันแรกของน้ำท่วม ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้เลย จนกระทั่งพายุเริ่มสงบในวันที่ 4 จึงสามารถอพยพประชาชนออกมาได้ ดังนั้น 5 วันแรกจึงถือเป็นช่วงเวลาที่วิกฤตที่สุดของเหตุการณ์
“หมู่บ้านโดนน้ำพัด”
คุณพิสิษฐ์ เล่าว่า โดนค่อนข้างหนักมาก ดินสไลด์เป็นจุด ชาวบ้านไม่กล้าออกไปไหน ดินสไลด์ตลอดทาง หมู่บ้านโดนน้ำพัด โดยที่โรงเรียนเจอก่อน เพราะตั้งอยู่เหนือชุมชนจึงเสียหายสูงสุด เบื้องต้นไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เราต้องตั้งกองอำนวยการที่มีสัญญาณโทรศัพท์ ติดต่อกับคนในหมู่บ้าน ประสานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อรับบริจาคเสบียงและน้ำ ช่วงแรกเป็นเรื่องอาหาร (ขณะให้สัมภาษณ์) ต่อมาเราต้องการเปิดทางเข้าหมู่บ้าน ต่อมาจึงจะเข้าไปเคลียร์ความเสียหายในพื้นที่และซ่อมแซมทั้งบ้านเรือน โรงเรียน ระบบประปา โรงอาหาร ห้องน้ำ ห้องสมุด หลังซ่อมแซมเสร็จต้องเยียวยาในเรื่องการสูญหายของนาข้าว เพราะโดนพัดไปหมด ปีนี้ชาวบ้านต้องซื้อข้าวแน่นอน แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าพายุยังจะมาอีกไหม
“การแจ้งเตือนแทบไม่มีประสิทธิภาพ”
นายกเอ-ชัยยนต์ ศรีสมุทร อธิบายถึงการแจ้งเตือนน้ำท่วมที่ทางรัฐจัดทำให้กับชาวแม่สายว่า แม้จะมีการแจ้งเตือน แต่แทบไม่มีประสิทธิภาพ โดยใช้เสียงไซเรนและสีเพื่อแจ้งเตือน แต่ประชาชนไม่ทราบว่าการใช้สีแดงและเหลืองนั้นหมายถึงระดับน้ำที่สูงแค่ไหน “รายงานระบุว่าน้ำจะสูงในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือน้ำท่วมสูงเกินสองเมตรจากจุดที่คาดการณ์ไว้ แผ่นดินในบางพื้นที่ยังถูกน้ำพัดหายไปถึง 20 เมตร การป้องกันน้ำท่วมครั้งนี้ถือว่าล้มเหลว”
นายกเอ-ชัยยนต์ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้เราได้ผ่านการกู้ชีพและกู้ภัยแล้วและอยู่ในขั้นตอนการฟื้นฟู ปัญหาที่พบคือขยะที่เก็บแทบไม่หมด และดินโคลนที่ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุด บ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมทั้งชั้น ต้องทิ้งสิ่งของในชั้นหนึ่งทั้งหมดเนื่องจากโคลน พอโคลนเริ่มแห้งยิ่งลำบาก ประชาชนต้องรีบทำความสะอาด แต่ขาดทั้งไฟฟ้าและน้ำประปาที่เพิ่งเข้ามาเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ ความขัดแย้งระหว่างความต้องการของประชาชนที่อยากล้างโคลนก่อนที่จะแข็งตัว แต่รัฐต้องการจัดการโคลนที่แข็งแล้วเพราะมันไม่ไหลออกได้ง่าย
นายกเอ-ชัยยนต์กล่าวว่า ควรถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เช่น การจัดเก็บอุปกรณ์ทำอาหารไว้ที่ชั้น 2 ของบ้าน เนื่องจากอาจจะต้องอยู่บนชั้นสองเป็นเวลาหลายวัน ขณะนี้แต่ละบ้านไม่สามารถทำอาหารได้เลยเพราะจมอยู่ใต้กองดินและโคลนวมว่าอุปกรณ์ทำอาหารควรอยู่ชั้นสอง ขณะนี้แต่ละบ้านทำอาหารไม่ได้เพราะจมกองดินกองโคลนอยู่
“ไม่มีการเตือนภัยสักอย่าง”
ในด้านการเตือนภัยสำหรับหมู่บ้าน คุณพิสิษฐ์ ระบุว่าไม่มีการแจ้งเตือนใด ซึ่งคิดว่าเพราะไม่เคยเกิดขึ้น และชาวบ้านไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ถ้ามาตอนกลางคืนไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนในหมู่บ้านบ้าง
“คนหมดตัว”
ในปี 2565 เมื่อมีการแจ้งเตือนน้ำท่วม ซึ่งถือเป็นปีที่ระดับน้ำสูงที่สุดในรอบ 100 ปี ประชาชนยังสามารถย้ายของหนีน้ำได้ทัน แต่ในปี 2567 นี้สถานการณ์แย่ลงจนไม่สามารถย้ายของได้ทัน เพราะระดับน้ำสูงจนถึงเพดาน หลายครัวเรือนสูญเสียทรัพย์สินจนหมดตัว บ้าน 2 ชั้นยังพอรอดบ้าง แต่บ้านชั้นเดียวแทบจะพังเสียหายทั้งหมด แม้จะมีการเยียวยาจากทางรัฐ เช่น อบจ.เชียงราย ประกาศจัดสรรงบประมาณ 50 ล้านบาท โดยให้แม่สายรวบรวมเอกสารเพื่อขอรับเงินสนับสนุน บ้านที่เสียหายทั้งหลังจะได้รับเงินช่วยเหลือ 49,500 บาท พร้อมทั้งการงดเว้นภาษี แต่นายกเอ-ชัยยนต์ ศรีสมุทร ระบุว่า ความช่วยเหลือในตอนนี้ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากงานฟื้นฟูเมืองมีมากจนทำไม่ทัน หลายสิ่งของต้องทิ้งเพราะโคลนทำให้ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า แม้จะมีการแจกถุงยังชีพ แต่ประชาชนก็ยังไม่สามารถทำอาหารได้
“ถ้าไม่มีการกระจายอำนาจ การป้องกันและฟื้นฟูก็เกินกำลังผม”
เมื่อถามถึงการกระจายอำนาจในการจัดการในระดับตำบล นายกเอ-ชัยยนต์ ศรีสมุทร อธิบายว่า การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีสิทธิในการจัดการเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ขณะนี้ด้วยระบบรวมศูนย์ต้องรอให้จังหวัดประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติก่อน จึงจะสามารถสั่งเบิกบุคลากรและเริ่มสำรวจพื้นที่ได้ กระบวนการนี้เป็นไปตามขั้นตอนของราชการไทยที่ยังขาดความรวดเร็ว นอกจากนี้ ด้วยความที่แม่สายตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดน ปัญหาน้ำท่วมและภัยพิบัติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านควรมีการสื่อสารและประสานงานกันได้ แต่การติดต่อกับเมียนมายังค่อนข้างยาก และการที่ท้องถิ่นยังไม่มีอำนาจเต็มในการจัดการทำให้ไม่สามารถประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติเองได้
นายกเอ-ชัยยนต์กล่าวว่า “ผมไม่สามารถดำเนินการกู้ชีพกู้ภัยด้วยศักยภาพของตัวเองได้”
หากไม่มีงบประมาณที่เหมาะสม อย่างน้อยที่สุดท้องถิ่นควรมีอำนาจในการเจรจากับต่างประเทศ และสั่งการกู้ชีพกู้ภัยจากจังหวัดอื่นได้ ขณะนี้ในประเทศไทยไม่มีหน่วยกู้ชีพกู้ภัยของราชการ มีเพียง งานดับเพลิงเท่านั้น ทำให้ต้องพึ่งพาอาสาสมัคร ทหารมีเพียงเฮลิคอปเตอร์สำหรับโรยตัว เราจึงต้องการเพียงกลุ่มกู้ชีพกู้ภัยของรัฐที่มีเงินเดือน ซึ่งสามารถจัดตั้งศูนย์กู้ภัยของท้องถิ่นที่ไม่ต้องขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย
เชียงราย: เมืองที่ถูกมองว่าเป็นเมืองภัยพิบัติ และชุมชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอของภัยพิบัติ
สำนักข่าว BBC Thai ได้ให้คำนิยามว่า “เมืองภัยพิบัติเชียงราย” เนื่องจากช่วงแล้งต้นปีก็ได้รับผลกระทบหนักจากฝุ่นพิษข้ามพรมแดน และช่วงฝนก็น้ำท่วมสาหัส แต่ความแตกต่างของสองชุมชนในบริบทของการสื่อสารผ่านทางมุมมองของสื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์อาจมองว่าชุมชนคนบนดอย หรือที่เรียกว่า “ชาวเขา” นั้น คือต้นเหตุของภัยพิบัติและปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ฝุ่นพิษไปจนถึงอุทกภัย
ความไม่เป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate injustice) ได้ถูกทำให้ชัดเจนขึ้นภายใต้ภัยพิบัติน้ำท่วม ดินสไลด์ โคลนถล่ม และสะท้อนผ่านทางอคติทางชาติพันธุ์ ขณะที่อุตสาหกรรมรายใหญ่ตัวการก่อก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของโลกเดือด รวมถึงรัฐบาลที่ส่งเสริมผ่านทางนโยบายนั้นกลับไม่ถูกพูดถึง นี่คือมุมหนึ่งที่ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดใน และตัวแทนแม่สายได้ให้มุมมองผ่านเมืองและภับพิบัติ
“เราไม่โทษใครที่จู่ๆก็เจอภัยพิบัติ”
“เรามองเป็นวิบากกรรมของชุมชน แต่ถ้าให้คนที่อยู่กับป่ามีสิทธิดูแลป่าอย่างแท้จริง ปัญหาภัยจากป่าก็จะลดลง” ชุมชนบ้านหินลาดในมีประชากร 110 คน 20 หลังคาเรือน ยังชีพด้วยการทำไร่ทำนา และมีรายได้หลักจากวนเกษตร สวนชาผสมกับไม้ผล เช่น มะแขว่น ลูกพลับ กาแฟ เป็นต้น ทำเกษตรรูปแบบไร่หมุนเวียนที่ทำเพื่อพอกิน และไม่เคยซื้อจากข้างนอก คุณพิสิษฐ์ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดใน อธิบายถึงวิถีชีวิตและความเชื่อของหมู่บ้านปกาเกอะญอแห่งนี้ว่า “หลักการใช้ชีวิตของปกาเกอะญอจะผูกพันกับป่าตั้งแต่เกิด โดยจะมีการผูกรกเด็กกับต้นไม้เพื่อเป็นกุศโลบายให้ที่เด็กเติบโตมาดูแลต้นไม้ต้นนั้น เรามีความเชื่อเรื่องผี ก่อนจะตัดต้นไม้ต้องขออนุญาต ในระแวกหนึ่งกิโลจะเป็นป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย และพื้นที่อยู่อาศัย
ชาวบ้านปกปักษ์ดูแลรักษาป่าเหมือนชีวิต เชื่อว่าสรรพสิ่งธรรมชาติมีเจ้าของ การใช้ป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียนจะต้องขอเจ้าที่ และไร่หมุนเวียนเป็นระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับป่า การเลือกพื้นที่จะต้องไม่อยู่บนยอดเขา ไม่ติดตามน้ำหรือห้วย เพราะบนยอดดอยป่าจะพื้นฟูช้า ถ้าติดกับน้ำจะทำให้น้ำแห้ง เราทำไร่กลางดอยเพื่อให้ป่าฟื้นเร็ว เราทำเพื่อพอกิน ไม่ใช่เชิงพานิชย์
“เราไม่เน้นเงิน แต่เน้นปากท้องพอกิน” คุณพิสิษฐ์อธิบายเพิ่มเติมว่า การทำไร่หมุนเวียนจะมีทั้งหมด 7 แปลง โดยแปลงที่ 1-6 จะเป็นการพักฟื้นหน้าดินที่จะต้องใช้เวลาหกปีขึ้นไป แต่พอต้นไม้ยิ่งโตจะกระทบข้อกฎหมายของรัฐที่จะมองว่าเป็นการเบิกพื้นที่ใหม่ แต่ที่จริงเราทำแปลงเดิม ไร่หมุนเวียนจะไม่มีการเผา ไม่มีการปล่อยคาร์บอน (การทำไร่หนึ่งแปลง และแปลงที่เหลืออีก 6 แปลง จะเป็นตัวช่วยดูดคาร์บอน เท่ากับว่าเราไม่ปล่อยคาร์บอนเลย) ชุมชนของเรายังโดนนโยบายของรัฐในการทวงคืนผืนป่า ถึงแม้เราจะอยู่กันมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี หรือเกินช่วงอายุคนสามรุ่นนับจากผู้นำทางจิตวิญญาณ
“ภัยพิบัติทั้งฝุ่นพิษ น้ำท่วม และแผ่นดินไหว”
นายกเอ-ชัยยนต์ ศรีสมุทร เห็นด้วยกับคำจำกัดความที่ว่าแม่สายเป็น “เมืองภัยพิบัติ” เนื่องจากที่นี่เผชิญทั้งแผ่นดินไหวในช่วงที่อากาศร้อนจัด ฝุ่นพิษจากภาคเกษตรขนาดใหญ่ที่ทำลายพื้นที่ป่า และขาดป่าไม้ในการรับน้ำฝน ส่งผลให้ดินโคลนถูกพัดพามาพร้อมกับน้ำท่วม นายกเอ-ชัยยนต์ เชื่อว่าฝุ่นพิษและน้ำท่วมดินโคลนถล่มน่าจะเกิดจากสาเหตุเดียวกัน และยิ่งเมื่อเผชิญกับวิกฤตโลกร้อน รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา การคาดการณ์และวางแผนเพื่อความปลอดภัยของเมืองก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก “ตอนนี้ทุกคนอยู่ในน้ำและเมื่อไม่มีการกระจายอำนาจในการวางแผนเมือง มันเกินกำลังของผม แล้วผมจะเจรจากับเมียนมาได้อย่างไร คนที่เล็กที่สุดที่สามารถเข้าร่วมประชุมเจรจาได้คือตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด แม้ผู้ที่รู้ปัญหาจะอยู่ในพื้นที่ แต่กลับไม่สามารถเสนอวิธีแก้ไขได้ ต้องฝากให้คนระดับสูงกว่าไปพูดในที่ประชุม”
อคติทางชาติพันธุ์: “ชาวเขาคือคนทำลายป่า”
เมื่อไถ่ถามถึงหลายประเด็นที่ทั้งสื่อ นักวิชาการ และคนทั่วไปที่ให้ความเห็นว่าคนอยู่กับธรรมชาติก็ต้องได้รับผลจากธรรมชาติ หรือแนวความคิดว่าคนบนดอยหรือชาวเขา คือคนทำลายป่า ต้องรับผลกรรม คุณพิสิษฐ์ ให้คำตอบว่า “รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เป็นการยัดเยียดใส่เรามากกว่า” เนื่องจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวแค่กับป่า แต่เกี่ยวกับโลกร้อน “ที่จริงการเหมาว่าชาวเขาทำลายป่าเป็นการสร้างข้อครหากับคนชาติพันธุ์ เป็นการแบ่งชนชั้นกับคนเมือง เรามองว่าเดิมทีเมืองก็เคยเป็นป่า เพียงแค่เป็นป่าบนพื้นที่ราบ ตอนนี้ป่าเหลือแต่บนเขา แต่เมืองไม่เหลือป่าแล้ว บนดอยของเรามีการถางไร่เล็กน้อย ก็โยนความผิดให้เรา บ้านห้วยหินลาดในได้รับชื่อเสียงด้านการดูแลจัดการป่า แต่ก็ยังเกิดภัย แต่ดอยอื่นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลายพื้นที่ที่ไม่โดนน้ำท่วมดินถล่มก็มี เรารู้สึกไม่เป็นธรรมที่เวลาเกิดภัยพิบัติใดก็หาต้นเหตุแบบผิดๆ”
“อคติต่อคนชาติพันธุ์ที่อยู่บนดอย” คุณพิสิษฐ์เสริม “เป็นการสร้างความแตกแยกให้ชาวไทย ที่จริงเราต้องหาทางออกด้วยกัน ไม่ใช่ว่าเกิดปัญหาแล้วโยนความผิดให้กับคนดอย บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยด้วยซ้ำว่าบริหารอย่างไรถึงมีปัญหานี้ ถือว่าเป็นความเหลื่อมล้ำจากมุมทางชนชั้น”
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางอคติที่เกิดขึ้น คุณพิสิษฐ์ชี้แจงว่าได้รับการช่วยเหลือเยอะมากจากรัฐและคนภายนอก สามารถระดมอาหารและเสบียงได้เยอะ นอกจากเพียงพอแล้ว ยังพอส่งต่อให้หมู่บ้านใกล้เคียงที่โดนอุทกภัยเช่นกันอีกสี่หย่อมบ้าน
นโยบายในการแก้ปัญหาภัยพิบัติและการลงมือของรัฐ เพื่อไม่ให้เชียงรายตกเป็นเมืองภัยพิบัติซ้ำซาก
“ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลไหนจะแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้สักที”
นายกเอ-ชัยยนต์ ศรีสมุทร กล่าวว่ากลไกการบริหารจัดการน้ำของประเทศยังมีปัญหาอย่างมาก มุ่งเน้นแต่การแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน โดยไม่คำนึงถึงวิธีจัดการน้ำหลาก เพียงแค่ปล่อยให้มันผ่านไป แม้จะมีนโยบายแต่ก็ทำไม่ได้จริง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง และการคัดเลือกผู้บริหารระดับรัฐมนตรีไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถ แต่เป็นเรื่องของจำนวน ส.ส. ที่ครองอยู่ นายกเอ-ชัยยนต์ กล่าวว่า “เราไม่ได้คาดหวังมาก แต่อยากได้คนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นรัฐมนตรีบ้าง ไม่ใช่เพียงแค่มี ส.ส.ในมือแล้วมาบริหารประเทศ ระบบการคัดเลือกและแต่งตั้งรัฐมนตรีต้องได้รับการแก้ไขก่อน”
“ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่สร้างกฎหมายมากดทับ”
รัฐบาลต้องเอื้อให้คนที่อยู่กับป่าได้ดูแลป่า ถ้าหมู่บ้านใดจัดการดูแลตนเองได้ควรให้กำลังใจเขา ถ้าจัดการไม่ได้ต้องส่งเสริมในทางที่ถูก ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยแล้วให้ป่าไม้หายไป พื้นที่ไหนยังมีป่าแปลว่าเราจัดการตัวเองได้ และควรได้งบสนับสนุน ไม่ใช่การสร้างกฎหมายมากดทับ ถ้าพ.ร.บ.คุ้มครองชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ผ่านคนปกาเกอะญอจะได้รับความคุ้มครองและความเสื่อมโทรมของป่าก็จะลดลง วิถีชีวิตที่ดูแลป่าจะหายไปถ้ากฎหมายไทยมองป่าแยกขาดจากไร่หมุนเวียน ซึ่งทำให้เราต้องใช้สารเคมีเข้าไปช่วยทำไร่ จะเป็นการยิ่งทำลายหน้าดิน ถ้าเราปล่อยให้ต้นไม้เติบโต คืนสภาพ และใช้ไฟร่วม จะไม่มีการใช้สารเคมีหรือปุ๋ยใด ร้อยปีพันปีดินก็ไม่เสีย
“ขาดกลไกคือผู้บริษัทผู้ประกอบการ”
ในประเด็นปัญหาภัยพิบัติจากฝุ่นพิษ นายกเอ-ชัยยนต์ ศรีสมุทร ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาฝุ่นพิษได้รับการจัดการแบบเดียวกับปัญหาน้ำ คือ เน้นไปที่การขุดฝายเพื่อแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน แต่ไม่ได้คำนึงถึงการจัดการน้ำหลากอย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาฝุ่นเช่นกัน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกลับไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านฝุ่น จะแก้ปัญหานี้อย่างไรได้ ปัจจุบันยังไม่เห็นรัฐบาลใดที่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนได้ และยังไม่มีการวางแผนแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม สำหรับปัญหาฝุ่นข้ามแดน ขาดกลไกที่ให้บริษัทผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ควรมาเจรจากับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับแนวทางการจัดการการผลิตที่สามารถควบคุมปัญหาการทำลายป่าและการเผาในและนอกประเทศ
นายกเอ-ชัยยนต์ กล่าวว่า รัฐบาลควรนำรายได้จากผู้ประกอบการมาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษที่เชื่อมโยงกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ ยังมีการอ้างว่ามีการจัดการพื้นที่แล้ว แต่พื้นที่เหล่านั้นเป็นภาคกลาง ไม่ใช่ภาคเหนือหรือแม่สาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง นายกเอ-ชัยยนต์ คาดหวังว่าในปีหน้าและปีต่อ ๆ ไป สถานการณ์จะดีขึ้น และประชาชนจะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงมีแผนที่ชัดเจนในการสร้างอากาศที่ดีขึ้นในอนาคต
“กฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อรัฐและบริษัท ไม่จริงใจกับชาติ”
คุณพิสิษฐ์สะท้อนว่ากฎหมายไทยที่มีอยู่ ไม่ใช่กฎหมายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน แต่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐและบริษัท ไม่จริงใจกับชาติ คนกับป่าถ้าอยู่ด้วยกันได้ คนจะรักป่าดูแลเข้าใจป่าได้อย่างแท้จริง และจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนที่สุด ชาวบ้านไม่ได้รับเงินเดือนแต่รับสิ่งตอบแทนจากป่า จึงรักป่าด้วยใจ
ถ้ารัฐส่งเสริมพืชที่ไม่กระทบกับป่าจะไม่เป็นแบบนี้ เช่น ส้มโอ ลำไย เป็นต้น และหาช่องทางตลาด ทุกคนก็จะหันไปปลูกต้นไม้ยืนต้น แต่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีตลอดรองรับและขายได้ดีแม้จะราคาไม่สูง
สิ่งที่ตอนนี้ชุมชนต้องการมากที่สุด
“คนที่ยังมีอคติเรื่องชาวเขาทำลายป่า อยากให้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน”
คุณพิสิษฐ์ชี้แจงว่าป่าที่เสื่อมโทรมไม่ใช่แค่ชาวบ้านตาดำๆจะทำได้ ต้องมีนโยบายรัฐที่จับมือกับบริษัทหนุนหลังและส่งเสริม เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตราบใดที่ยังมีนโยบายการสนับสนุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะยังต้องมีการใช้พื้นที่เยอะ ป่าก็ยังจะเป็นแบบนี้
“เราคาดหวังการกระจายอำนาจให้คนท้องถิ่นในการพัฒนาและบูรณะเมือง”
นายกเอ-ชัยยนต์ ตัดพ้อว่า “เหนื่อยมาก” ในตอนนี้ที่ต้องเร่งฟื้นฟูเมือง อยากให้ช่วยแก้ปัญหาเพราะเรามีเวลาแค่ปีเดียวก่อนที่จะเจอวิกฤตต่อเมืองแบบเดิมอีก ฝุ่นพิษก็เช่นกัน “จะทำอะไรก็รีบทำ เพราะกุมภาฯ ก็เจอปัญหานี้อีกแล้ว เราพูดมาตลอด ผ่านมาสามรัฐบาลแล้วตั้งแต่คสช. อยากให้รัฐบาลแก้ไขอย่างจริงจังมากขึ้น ต้องดูว่าทำไมเกิดเหตุซ้ำซาก และต้องดูแลเป็นพิเศษ” โดยส่วนความช่วยเหลือเฉพาะหน้า นายกเอ-ชัยยนต์ แจ้งว่าสิ่งที่ขาดแคลนขณะนี้คือ เครื่องจักรตักขี้โคลน ดูดโคลน และกำลังคน เนื่องจากขณะนี้ยังประเมินความเสียหายไม่ได้
Climate Action หรือการต่อกรกับความเร่งด่วนของผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นต้องอาศัยความจริงใจของรัฐบาลดังที่สองตัวแทนจากชุมชนและเมืองที่ได้รับความเดือดร้อนสูงสุดกล่าวมา โดยจะต้องคำนึงถึงเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศด้วยมาตรการควบคุมและเอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการก่อก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นทาง
หมายเหตุ :
รู้หรือไม่ว่าการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเพียงอย่างเดียวได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกพอ ๆ กันกับภาคการคมนาคมขนส่ง
มีส่วนร่วม