ขณะที่เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Events) เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลกบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น เราก็ได้แต่หวังว่าจะหยุดนาฬิกาไม่ให้หมุน หรือแม้แต่ทำให้เวลาเดินช้าลง เพื่อชะลอวิกฤตโลกเดือด และข่าวดีก็คือตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาก็ทำแบบนั้นได้
เพราะขณะนี้ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) จัดขึ้น ณ เมืองบากู อาเซอร์ไบจาน โดยในวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมามีการหารือเกี่ยวกับเรื่องระบบอาหาร เกษตรกรรม และทรัพยากรน้ำ โดยผู้กำหนดนโยบายที่เข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นสภาพภูมิอากาศนี้ต่างต้องยอมรับว่าระบบอาหาร (Food system) นั้นมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมนุษย์มากถึง 37% และถ้าเราเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังและปฏิรูประบบเหล่านี้ เราจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มหาศาล ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูธรรมชาติ
ติ๊ก…ต่อก… ได้เวลาลดก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์แล้ว
อุณหภูมิเฉลี่ยโลกของเรากำลังเพิ่มขึ้นเข้าใกล้ 1.5 องศาเซลเซียสอย่างรวดเร็วการลดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลทำให้โลกร้อนเร็วกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 80 เท่า ภายในช่วงเวลา 20 ปี ดังนั้น ก๊าซมีเทนจึงเป็นกุญแจสำคัญในการชะลอไม่ให้โลกร้อนเร็ว และเป็นโอกาสให้เราช่วยชีวิตผู้คนนับล้านและวิถีชีวิตของพวกเขาให้รอดพ้นจากผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้
โชคไม่ดีที่การปล่อยก๊าซมีเทนขณะนี้กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่เคย ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นต้นเหตุการปล่อยก๊าซมีเทนโดยมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การประชุม COP29 ให้ความสนใจกับก๊าซมีเทน แต่เหล่ารัฐบาลต่าง ๆ กลับยังไม่มีการหารือเกี่ยวกับขั้นตอนที่จริงจังเพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์
รายงานใหม่จากกรีนพีซ นอร์ดิก ระบุว่า เราสามารถกำจัดก๊าซมีเทนออกจากชั้นบรรยากาศได้รวดเร็ว หากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและสูงลดปริมาณการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องกับแนวทางการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพของโลก (Planetary Health Diet) เราจะสามารถลดอุณหภูมิโลกได้ถึง 0.12 องศาเซลเซียส ซึ่งเทียบเท่ากับว่าเราจะลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิได้ถึง 37% จากที่คาดการณ์ไว้ว่าภายในครึ่งศตวรรษ อุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์และนมเพียงภาคส่วนเดียวจะส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 0.32 องศาเซลเซียส เมื่ออ้างอิงจากอัตราการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในปัจจุบัน
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าเรากำลังอยู่ในภาวะที่โลกจะเดือดขึ้นเรื่อย ๆ จนอุณหภูมิจะเพิ่มมากถึง 2.6 – 3.1 องศาเซลเซียสเมื่อสิ้นสุดศตวรรษนี้ ดังนั้นทุก ๆ หน่วยทศนิยมของอุณหภูมิที่เราลดได้ตอนนี้ และยิ่งลดได้เร็วมากเท่าไร ก็ล้วนมีผลให้เรามีโอกาสที่จะจำกัดวิกฤตโลกเดือดให้อยู่ในระดับที่มนุษยชาติดำรงอยู่ได้ นั่นคือการคงค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งหมายความว่าทุก ๆ 0.3 องศาเซลเซียสที่เราป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นได้ เท่ากับชีวิตมนุษย์ 410 ล้านคน ที่จะรอดพ้นจากผลกระทบจากความร้อนจัดเมื่อโลกเข้าสู่ศตวรรษใหม่
นับถอยหลังสู่ COP30
เหล่ารัฐบาลต้องปฏิวัติระบบอาหารครั้งใหญ่ (อ้างอิงจากรายงาน Emissions Gap) ในข้อตกลงว่าด้วยสภาพภูมิอากาศของตนที่เรียกว่า ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ภายในการประชุม COP30 ที่บราซิลในปีหน้า ประเทศต่าง ๆ ต้องมีการกำหนดเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2578 เป้าใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์โดยรวม และการลดก๊าซมีเทนที่ปล่อยจากการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมโดยเฉพาะ อาจเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
เพื่อการนี้ เราจึงต้องก้าวออกจากรูปแบบอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมที่มีแต่จะบ่อนทำลาย ทำให้โลกร้อนขึ้น และเอื้อประโยชน์ให้แค่กลุ่มผู้ผลิตอุตสาหกรรมรายใหญ่เท่านั้น บริษัทในอุตสาหกรรมดังกล่าว 5 บริษัทปล่อยก๊าซมีเทนปริมาณเทียบเท่ากับบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกบางราย แต่เหล่ารัฐบาลกลับดำเนินการเพื่อที่จะควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทเหล่านี้น้อยนิดเหลือเกิน
ในการหารือ NDCs ครั้งล่าสุดในปี 2564/2565 มีแค่ 12 ประเทศเท่านั้นที่มีการระบุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคปศุสัตว์ โดยประเทศที่เหลือนั้นไม่ได้เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์รายใหญ่ของโลกยกเว้นประเทศนิวซีแลนด์ และในการประชุม COP28 เมื่อปีที่ผ่านมา เกือบ 160 ประเทศตกลงว่าจะรวมประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบอาหารเข้าไปในการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDCs) ของตน ซึ่งมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วย
เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ทะเยอทะยานควรเป็นอย่างไร และจะบรรลุได้หรือไม่ พวกเราต้องการเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและมุ่งมั่นพอในการลดการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่เกิดจากภาคการเกษตรภายในปี 2578 ด้วยวิธีการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน (bottom-up) ที่มีกรอบเวลาชัดเจน จากเกษตรอุตสาหกรรมสู่นิเวศเกษตร (Agroecology) โดยรัฐบาลต้องให้คำมั่นที่จะสนับสนุนกองทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสำหรับเกษตรกร เพื่อให้มั่นใจว่าผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะได้รับการกระจายอย่างทั่วถึง และช่วยเหลือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นยังต้องออกมาตรการลงโทษบริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย การดำเนินการเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่นิเวศเกษตรและเพิ่มการเกษตรแบบเน้นพืชเป็นหลักได้ภายในทศวรรษนี้
เราต้องทำทุกอย่างที่เราจะทำได้เพื่อป้องกันไม่ให้โลกไปถึงจุดพลิกผันทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Tipping Points) และการหยุดยั้งการผลิตโปรตีนจากสัตว์ที่ล้นเกินของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ยักษ์ก็เป็นแนวทางสำคัญเพื่อที่จะป้องกันวิกฤตการณ์ดังกล่าว แต่ขณะนี้เหล่านักล็อบบี้ของบริษัทรายยักษ์เหล่านั้นกำลังอยู่ที่ COP29 เพื่อขัดขวางการเปลี่ยนแปลงที่เราทุกคนต้องการ
ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลทั่วโลกต้องรับรู้ว่าเราต้องการให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนมเปลี่ยนการผลิต มาร่วมกันผลักดันและส่งเสียงไปถึงพวกเขาว่าเราต้องการอะไร ร่วมส่งเสียงของคุณในข้อเรียกร้องถึงผู้นำโลกให้ลดการปล่อยก๊าซมีเทนทันที หากร่วมมือกันเราก็สามารถสร้างระบบอาหารที่เป็นธรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ระบบที่เกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนให้เก็บเกี่ยวผลผลิตที่นำมาปรุงสู่อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพบนจานของพวกเราทุกคน มาร่วมกันยุติภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนม และทำให้โลกรับรู้ถึงก๊าซมีเทนเหล่านี้ด้วยกัน!
ลงชื่อในข้อเรียกร้องกับเรา และอ่านรายงาน ชะลอโลกเดือด: การยุติภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศด้วยอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนม
เชฟาลี ชาร์มา นักรณรงค์ด้านเกษตรกรรมระดับโกลบอล กรีนพีซ เยอรมนี