ประเด็นเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกจากต้นทางของการผลิตภาคอุตสาหกรรมนั้นแม้ยังไม่ถูกพูดถึงมากในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าที่สำคัญทางด้านระบบอาหารและการลดก๊าซเรือนกระจกมีเพียงแค่ประเด็นการลดขยะจากเศษอาหารเท่านั้น โดยมีการร่วมลงนามจาก 30 ประเทศที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซมีเทนจากเศษอาหารเกือบร้อยละ 50 ของโลก เพื่อประกาศปฏิญญาในการลดก๊าซมีเทนจากขยะอินทรีย์ และบรรจุใน NDCs หรือข้อตกลงว่าด้วยสภาพภูมิอากาศที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions)
ใจความของปฏิญญาในการลดก๊าซมีเทนจากขยะอินทรีย์เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการลดก๊าซมีเทนลงอย่างน้อยร้อยละ 30 ในภาคการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล เกษตร และขยะ ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ COP29 ระบุไว้ว่าสามารถช่วยลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลง 0.2 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 ได้
นอกจากเป็นการลดก๊าซมีเทนแล้ว การลดขยะอินทรีย์ยังช่วยองค์รวมด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการลดขยะจากเศษอาหารแม้เป็นเรื่องที่ดี แต่ยังเป็นการแก้ปัญหาโลกเดือดจากปลายเหตุ
ลดก๊าซมีเทนจากต้นเหตุ
ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าในแต่ละปีมีขยะจากอาหารมากถึง 1.3 พันล้านตันทั่วโลก หรือ 1 ใน 3 ของการผลิตอาหารเพื่อการบริโภคของมนุษย์ โดยมีสัดส่วนของเนื้อสัตว์มากถึง 263 ล้านตัน และนม 29 ล้านตัน ตัวเลขการผลิตที่ล้นเกินและเหลือทิ้งเช่นนี้ไม่ได้เป็นระบบอาหารที่ตอบโจทย์การเลี้ยงประชากรโลก แต่เป็นการใช้ต้นทุนทรัพยากรโลกอย่างสิ้นเปลือง ทั้งป่าไม้ ดิน น้ำ และอากาศ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์และพืชอาหารสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ทำลายทั้งสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และอากาศสะอาดของคนในพื้นที่
การทำปศุสัตว์เป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทนจากมนุษย์รายใหญ่ที่สุด ซึ่งก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเร็วในระยะเวลาสั้น การเพิ่มขึ้นของการผลิตปศุสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญอันดับสองที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบอาหารโลก อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
รายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซ นอร์ดิกวิเคราะห์การปล่อยก๊าซมีเทนจากบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม 29 แห่ง เทียบเคียงได้กับการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคอุตสาหกรรมฟอสซิล 100 อันดับแรกของโลก
บทที่ 2 ของรายงานของกรีนพีซ นอร์ดิกพบว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนโดยประมาณของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม 29 ราย ตามการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทเทียบได้กับปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทน 100 อันดับแรกในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ และรัฐบาลก็มองข้ามเรื่องนี้ แม้ว่าการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์เกินขนาดจะมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นก็ตาม
ต่อให้กินจนพุงกาง ฟาดให้หมดจาน เลียจนหยดสุดท้ายยังไงก็ไม่ช่วยลดก๊าซมีเทนเท่าการลดการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารและเนื้อสัตว์ เราต้องก้าวออกจากรูปแบบอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมที่มีแต่จะบ่อนทำลาย ทำให้โลกร้อนขึ้น และเอื้อประโยชน์ให้แค่กลุ่มผู้ผลิตอุตสาหกรรมรายใหญ่เท่านั้น การลดก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนมจากการผลิตล้นเกินด้วยการเปลี่ยนผ่านการผลิตไปสู่ระบบอาหารที่เป็นธรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นแนวทางที่จะแก้ไขลดก๊าซมีเทนได้อย่างแท้จริงที่ต้นตอ
อ่านรายงาน ชะลอโลกเดือด: การยุติภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศด้วยอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนม
ร่วมสนับสนุนการทำงานของกรีนพีซ
เราทำงานรณรงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การวิจัยข้อมูล รายงานทางวิทยาศาสตร์ และรณรงค์กับประชาชนด้วยข้อมูลเหล่านี้