“นี่น่าจะเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงพลังครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก คนหลายล้านคนจากทั่วโลกออกมาร่วมประท้วงให้แก้โลกร้อน เป็นพลังที่ไม่อาจมองข้ามได้อีกแล้ว นี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนในการกู้โลก”​

นี่คือทวีตของ ดร.โยฮัน ร็อคสตรอม เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการหยุดเรียนประท้วงเพื่อโลกร้อน Climate Strike ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา การประท้วงครั้งนี้เป็นผลโดยตรงจากการลุกขึ้นเรียกร้องของสาวน้อย เกรียตา ทุนแบร์ย นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศชาวสวีเดน ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้

โยฮัน คือนักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนผู้นำเสนอแนวคิด Planetary Boundaries หรือขอบเขตโลก 9 ประการที่มนุษย์จำเป็นต้องปกปักรักษาเอาไว้ให้ได้ หากยังต้องการให้โลกนี้เป็นบ้านที่มนุษย์อาศัยอยู่ได้

มนุษย์ทำให้ระบบธรรมชาติในโลกปั่นป่วน

แนวคิดเรื่อง Planetary Boundaries ได้รับการยอมรับอย่างมากในแวดวงการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลกเพราะเป็นการประเมินข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับโลกอย่างเป็นระบบทั้งด้านกายภาพชีวภาพและเคมี เพื่อป้องกันหายนะจากการพัฒนาเกินขอบเขต ข่าวร้ายก็คือมนุษย์ได้ทำให้โลกก้าวข้ามขอบเขตที่ปลอดภัยออกมาแล้วถึง 4 ด้าน นั่นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม และการเสียสมดุลของวงจรไนโตรเจนและฟอสฟอรัส (น้ำเสียและแร่ธาตุส่วนเกินจากเกษตรเชิงอุตสาหกรรม)

โยฮัน พูดอยู่เสมอว่ามนุษย์ใช้เวลาเพียง 5 ทศวรรษเท่านั้นในการมุ่งหน้าพัฒนาอย่างก้าวกระโดด (Exponential growth) จนระบบต่างๆของโลกปั่นป่วนไปหมด ดังนั้นการแก้วิกฤตการณ์ครั้งนี้เราไม่อาจทำแบบค่อยเป็นค่อยไปได้อีกแล้ว เราต้องเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านแบบก้าวกระโดดเช่นกัน หมายความว่าเราต้องเพิ่มความพยายามแบบทบทวีคูณโดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี บวกกับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศ เพื่อฟื้นฟูกลไกการทำงานของระบบค้ำจุนชีวิต (Life support system) ให้กลับคืนมา 

สัญญาณแห่งวิกฤต

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างหวาดวิตกกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมากในช่วง 5 ปีหลัง เพราะมีสัญญาณสำคัญหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าการประเมินผลกระทบของนักวิทยาศาสตร์ในเรื่องโลกร้อนนั้นต่ำเกินจริงไปมาก ทุกอย่างที่คาดการณ์ไว้เกิดขึ้นแบบเหยียบคันเร่ง ไม่ว่าจะเป็นการละลายของแผ่นน้ำแข็งบริเวณอาร์กติกและกรีนแลนด์ ภาวะแห้งแล้งในแอมะซอนและผืนป่าบอเรียลในรัสเซีย ไปจนถึงความผิดปกติของพายุขนาดใหญ่ในฤดูมรสุมทั่วโลก

Forest Fires in the Amazon - Third Overflight (2019). © Victor Moriyama / Greenpeace

ไฟป่าในแอมะซอน

หากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โลกของเรากำลังมุ่งหน้าสู่การเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยมากถึง 4 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าระดับที่ปลอดภัยพอที่มนุษย์จะรับมือได้ไม่ควรจะเกิน 1.5 องศาเซลเซียสไม่เช่นนั้นโลกจะเผชิญกับภาวะปั่นป่วนด้วยหายนะภัยทางธรรมชาติ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความแห้งแล้ง การสูญพันธุ์ของระบบนิเวศเช่นปะการัง ความไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิตจนนำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการประมวลและถ่ายทอดออกมาเหล่านี้เองที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้สาวน้อย เกรียตา ทุนแบร์ย หวาดวิตกและไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศต่าง ๆ จึงยังไม่ลงมือแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ทั้ง ๆ ที่วิกฤตครั้งนี้อาจนำไปสู่จุดจบของอารยธรรมมนุษย์ในคนรุ่นเธอนี่เอง

———

เกรียตา ทุนแบรย์ และจุดเริ่มต้นของ School Strike for Climate

เกรียตาเริ่มสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนอยู่ ป.3 อายุแค่ 9 ขวบ จากการเรียนที่โรงเรียนเมื่อครูอธิบายว่าทำไมจึงต้องช่วยกันประหยัดพลังงานและพูดถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เธอเริ่มสนใจและศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เธอซึมเศร้าไปพักใหญ่ แต่กลับมามีกำลังใจอีกครั้งเมื่อได้รับการสนับสนุนและรับฟังจากพ่อและแม่ของเธอ เธอหันมาทำในสิ่งที่คน ๆ หนี่งพอจะทำได้ นั่นคือหยุดบริโภคเนื้อสัตว์ หันมากินมังสวิรัติและปลูกผักกินเอง เลือกเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ขอให้พ่อติดตั้งแผงโซลาเซลล์ เธอแทบไม่ซื้อสิ่งของอะไรใหม่เลยยกเว้นจำเป็นจริง ๆ เธอหยุดเดินทางด้วยเครื่องบินมาได้ 5 ปีแล้ว แต่เธอยังคงคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมได้

เกรียตาได้แรงบันดาลใจจากการหยุดเรียนประท้วงของนักเรียนในสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาความรุนแรงจากปืน หลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักเรียน 17 คนในรัฐฟลอริดา เกรียตาคิดว่านี่เป็นวิธีที่ทรงพลังมาก ๆ เธอจึงตัดสินใจหยุดเรียนประท้วงบ้าง เกรียตาเขียนป้ายบนแผ่นกระดาษแข็งตัวโต ๆ ว่า “หยุดเรียนเพื่อสภาพภูมิอากาศ School Strike for Climate แล้วออกไปนั่งประท้วงคนเดียวหน้าอาคารรัฐสภาของสวีเดนในกรุงสต็อคโฮล์มในวันที่ 21 สิงหาคม 2561 เธอต้องการสื่อว่า “ในเมื่อผู้ใหญ่ยังไม่สนใจอนาคตของเด็ก ๆ แล้วเด็ก ๆ อย่างเธอจะเรียนไปเพื่ออะไร” ความรับผิดชอบของคนรุ่นปัจจุบันในการส่งมอบโลกใบนี้ให้กับคนรุ่นหลังถือเป็นข้อเรียกร้องหลักในการเคลื่อนไหวของเธอตั้งแต่ต้น ซึ่งสามารถสร้างความรู้สึกร่วมในคนรุ่นเดียวกันได้อย่างมาก

"Fridays for Future" Climate Demonstration in Stockholm. © Jana Eriksson / Greenpeace

เกรียตา พร้อมด้วยป้ายประท้วงเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ

ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ก็เริ่มมีสื่อมวลชนให้ความสนใจ เริ่มมีคนออกมาประท้วงร่วมกับเธอ ไม่นานเรื่องราวของเธอก็เริ่มเป็นที่รู้จัก ต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เกรียตาได้รับเชิญให้ไปขึ้นเวทีกล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 (COP 24) ที่โปแลนด์  คำกล่าวสุนทรพจน์ของเกรียตาครั้งนั้นโด่งดังไปทั่วโลกและถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง โลกได้รู้จักกับเกรียตาในวัย 15 ปีเป็นครั้งแรก

พวกคุณบอกว่าคุณรักลูกหลานของคุณเหนือสิ่งอื่นใด แต่คุณกลับขโมยอนาคตของพวกเขาไปต่อหน้าต่อตา พวกคุณไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะยอมรับความจริง และทิ้งปัญหาไว้ให้กับพวกเรา เด็ก ๆ ทั้งหลาย

เราไม่มีทางแก้วิกฤตนี้ได้ ถ้าเราไม่ยอมรับว่ามันเป็นวิกฤต และลงมือแก้ปัญหาเหมือนกำลังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน

เราต้องเก็บเชื้อเพลิงฟอสซิลไว้ในดินและมุ่งสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น

ถ้าระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่มีทางออก บางทีเราจำเป็นต้องสร้างระบบใหม่ขึ้นมา 

กลุ่ม School Strike for Climate และ Fridays for Future

หลังจากสุนทรพจน์อันลือลั่น เกรียตากลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการลุกขึ้นมาประท้วงของเยาวชนในโรงเรียนของหลายประเทศ กลางเดือนธันวาคม การเคลื่อนไหวในชื่อ School Strike for Climate และ Fridays for Future ก็เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดยุทธศาสตร์คือการหยุดเรียนทุกวันศุกร์เพื่อประท้วง และเรียกร้องให้รัฐบาลในแต่ละประเทศหันมาสนใจการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังตามที่ได้ให้ไว้กับข้อตกลงปารีส 

เกรียตาเชื่อว่าหนทางเดียวที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงคือการปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้านพลังงานและความเท่าเทียม เธอเชื่อว่าการแสดงอารยะขัดขืน (civil disobedience) เป็นการแสดงออกที่บริสุทธิ์ของคนหมู่มาก และเป็นหนทางสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลได้ยินเสียงของประชาชน  

การเคลื่อนไหว Climate Strike เติบโตขึ้นตามลำดับและเกิดเป็นการชุมนุมใหญ่ระดับโลกครั้งแรกที่เรียกว่า Global Climate Strike เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 ซึ่งมีผู้ออกมาร่วมชุมนุมกว่า 1ล้าน 4 แสนคน ในร้อยกว่าประเทศทั่วโลก หลังจากนั้นก็เริ่มมีเด็กและเยาวชนตัดสินใจออกมาประท้วงทุก ๆ วันศุกร์ในหลายประเทศ และนำไปสู่การนัดชุมนุมใหญ่ Global Climate Strike ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่งทำให้เกิดเครือข่ายขยายออกไปยิ่งกว่าเดิม

Fridays for Future Student Protest in Bangkok. Biel Calderon / Greenpeace

กิจกรรม Climate Strike Thailand ที่เกิดขึ้นพร้อมกับคนทั่วโลกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

เมื่อเกรียตาเริ่มเป็นที่รู้จักและเสียงของเธอ ดังขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัดและกลุ่มคนที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนต่างหันมาโจมตีเธออย่างต่อเนื่อง นักการเมืองหลายคนบอกว่าเธอเป็นพวกกระต่ายตื่นตูม (alarmist) ว่าโลกกำลังจะพบจุดจบ ทำให้ผู้คนหวาดกลัวโดยใช่เหตุ ขณะที่หลายคนหันมาล้อเลียนน้ำเสียงราบเรียบ แววตาที่ดูตื่นกลัวในบางครั้ง บุคลิกที่ไม่เหมือนคนปกติ และพยายามบอกว่าเธอก็เป็นแค่เด็กออทิสติกคนหนึ่งจะรู้อะไร บางคนถึงขั้นกล่าวหาว่าเธอเป็นพวกอยากดัง ป่วยทางจิต และถูกล้างสมอง

ใครเคยอ่านประวัติของเธอจะทราบว่าเกรียตาในวัยเด็กได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติบางส่วนของระบบประสาท ที่ทำให้มีพัฒนาการทางการพูดช้า บกพร่องในการใช้สีหน้าท่าทางเพื่อการสื่อสาร อาจมีปัญหาในการเข้าสังคม จัดเป็นอาการออทิสติกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอเปิดเผยตั้งแต่การขึ้นเวที TED Talk ครั้งแรก ปกติเธอจะเป็นคนไม่ค่อยอยากพูด ยกเว้นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญจริง ๆ การที่เธอต้องตกเป็นจุดสนใจและอยู่ท่ามกลางสป็อตไลท์ตลอดเวลาขัดกับนิสัยโดยธรรมชาติของเธออย่างสิ้นเชิง แต่เธอบอกว่ามันคือราคาที่เธอต้องยอมแลก และสำหรับเธอมันคุ้มค่าพอ 

—–

Unite Behind the Science


การกล่าวสุนทรพจน์ในระยะหลังเธอให้น้ำหนักไปกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ เช่นสุนทรพจน์ที่เธอกล่าวต่อหน้า National Assembly ในกรุงปารีสเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เธอพูดถึงข้อเท็จจริงที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้แต่ส่วนใหญ่ไม่เคยทราบมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณคาร์บอนรวมกันทั้งโลกที่เหลืออยู่ (ปริมาณคาร์บอนที่เราสามารถปล่อยออกมาได้ ภายในระยะเวลาหนึ่งๆ เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ) เธอตอบโต้ข้อกล่าวหาของนักการเมือง สื่อมวลชน และบรรดาคนที่ไม่เชื่อโลกร้อนที่ล้อเลียนเธอได้อย่างเฉียบขาด

หนูมีทั้งข่าวร้ายและข่าวดีมาบอก ข่าวดีก็คือโลกจะไม่พบกับจุดจบภายใน 11 ปีอย่างที่สื่อมีการนำเสนอกันอย่างกว้างขวาง แต่ข่าวร้ายก็คือถ้าเรายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงปี พ.ศ. 2573 เรามีโอกาสสูงมากที่โลกจะผ่านพ้นจุดแตกหัก (tipping point) ไปแล้ว และอาจพบว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อีกต่อไป” 

“นักการเมือง ผู้นำธุรกิจและสื่อมวลชนมากมายที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เรารณรงค์และบอกว่าพวกเรานั้นเป็นพวกตื่นตูมเกินเหตุ หนูจึงขออ้างถึงหน้า 108 บทที่ 2 ของรายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งระบุไว้ว่าถ้าเราจะมีโอกาส 67% ในการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราเหลือคาร์บอนไดออกไซด์ที่สามารถปล่อยได้ หรืองบประมาณคาร์บอน (Carbon budget) รวมกันทั้งโลกอยู่ 420 GT (1กิกะตัน = 1 พันล้านตัน) ณ วันที่ 1 มกราคม 2561 นักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดว่าเป็นการประเมินที่สูงเกินไป แต่นี่ก็เป็นตัวเลขที่ตัวแทนรัฐบาลทั่วโลกยอมรับร่วมกัน

“แน่นอนว่าตอนนี้งบประมาณคาร์บอนลดลงไปเรื่อย ๆ เพราะโดยเฉลี่ยทั้งโลกเราปล่อย CO2 กันปีละ 42 กิกะตัน (GT) ด้วยอัตราปล่อย CO2 ดังกล่าวหมายความว่าเราจะใช้งบประมาณคาร์บอนหมดภายใน 8 ปีครึ่ง เพียงแค่ช่วงเวลาตั้งแต่หนูเริ่มต้นพูดโลกก็ได้ปล่อย CO2 ไปแล้ว 8 แสนตัน”

“ณ ตอนนี้ (กรกฎาคม 2562) เราเหลืองบประมาณคาร์บอนอยู่ 360 GT และต้องไม่ลืมว่านี่เป็นงบประมาณรวมกันของทั้งโลก ประเทศพัฒนาแล้วควรต้องลดการปล่อยก๊าซมากกว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนายกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นถนน โรงพยาบาล โรงเรียน ไฟฟ้า น้ำประปา ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วมีครบหมดแล้ว ความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ข้อตกลงปารีสให้ความสำคัญมาก ข้อเท็จจริงเหล่านี้ถูกสื่อมวลชนส่วนใหญ่มองข้ามไป คนทั่วไปจึงไม่ทราบข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์”

“พวกเราเด็ก ๆ กลายเป็นผู้ร้ายที่ต้องออกมาพูดข้อมูลที่ไม่มีใครอยากฟัง การที่เราออกมาอ้างถึงข้อมูลที่ได้รับการยอมรับทางวิทยาศาสตร์ เรากลับถูกเกลียดชัง ถูกคุกคามอย่างเหลือเชื่อ เราถูกล้อเลียนและนำไปใส่ความโดยนักการเมือง ส.ส. และสื่อมวลชน”

“หนูอยากถามคนที่ไม่ยอมรับสิ่งที่พวกเราพูดหน่อยว่า พวกเขามีข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่หนูไม่รู้เช่นนั้นหรือ หรือว่ามีคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ที่ไหนอีกเหรอ ตัวเลขเหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่คุณปฏิเสธไม่ได้ แม้จะไม่ถูกใจคุณก็ตาม”

“หลายคนไม่ยอมมาเข้าร่วมประชุมวันนี้ หลายคนไม่อยากฟังพวกเรา ซึ่งไม่เป็นไรเลย พวกคุณไม่ต้องฟังพวกหนูหรอก สุดท้ายพวกเราก็เป็นแค่เด็กเท่านั้น แต่คุณต้องฟังความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ของวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ และนั่นคือสิ่งเดียวที่พวกเราขอร้อง ฟังข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์และลงมือแก้ปัญหา – Unite behind the Science”

Unite behind the Science กลายเป็นสโลแกนที่เกรียตาและขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมของเยาวชนนำมาใช้ เพื่อย้ำเตือนว่าพวกเธอไม่ใช่คนสร้างข้อมูลอันน่าตกใจเหล่านี้ขึ้นมา แต่มันคือข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนควรจะยอมรับและใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม