หากใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า ‘ตลาดคาร์บอน’ เราก็อยากจะขออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะความจริงแล้ว ตลาดคาร์บอนเป็นเครื่องมือที่อนุญาตให้เหล่าผู้ก่อวิกฤตโลกเดือดสามารถปล่อยมลพิษสร้างหายนะต่อสภาพภูมิอากาศต่อไปได้ ตลาดคาร์บอนจึงเป็นทั้งทางแก้ปัญหาที่ผิดและเป็นการหลอกลวง
ดังนั้น การชดเชยคาร์บอน หรือคาร์บอนเครดิตไม่ได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและไม่ช่วยแก้วิกฤตโลกเดือด กลไกนี้เพียงปิดบังไม่ให้พวกเราเห็นว่าผู้ก่อมลพิษกำลังสร้างหายนะต่อสภาพภูมิอากาศโลก
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) ที่บากู อาร์เซอร์ไบจาน เริ่มต้นได้ไม่ดีนักเพราะการเจรจาเกี่ยวกับมาตรการตลาดคาร์บอนในวันแรกยังไม่มีการผลักดันให้เข้มงวดพอ แม้ว่าประเด็นนี้จะมีการเจรจาถกเถียงกันมานานร่วมหลายปีแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราต้องการจากการประชุม COP29 จริง ๆ นอกจากการสนับสนุนด้านการเงิน ด้วยกองทุนที่มีเงินมากพอที่จะสนับสนุนให้โลกรับมือวิกฤตโลกเดือดและปรับตัวเปลี่ยนผ่าน แต่ผู้นำโลกจะต้องทำให้กลุ่มผู้ก่อวิกฤตโลกเดือดทุก ๆ ภาคส่วนต้องรับผิดชอบด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตอนนี้ทันที
ที่ผ่านมา หายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่เคยรุนแรงเช่นนี้ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วและภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศกลายเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตผู้คนรวมทั้งวิถีชีวิตของประชากรทั่วโลก แต่ใน COP29 นี้ ผู้นำทั่วโลกจะมีโอกาสหยุดยั้งสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ประเด็นนี้กลับถูกปัดไปเป็นวาระรอง และยังเปิดโอกาสให้ผู้ก่อมลพิษหลักสามารถแสวงหากำไรไปได้ตามปกติ แม้ว่าตอนนี้วิกฤตโลกเดือดกำลังสร้างหายนะให้กับคนทั่วโลก
นอกจากนี้ อาร์เซอร์ไบจานซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม COP29 ยังเป็นประเทศหลักที่ส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิล ยังต้องการผลักดันกลไกการซื้อขายคาร์บอนให้เร็วที่สุดเพื่อบรรลุการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม กลไกการซื้อขายคาร์บอนยังขาดหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นกลไกที่แก้ไขสถานการณ์ได้จริง กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังขาดการประเมินผลกระทบอย่างละเอียดในการดำเนินการของตลาดคาร์บอน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราเห็นเรื่องอื้อฉาวหลายต่อหลายครั้งจากวิธีแก้โลกเดือดที่ผิด จากโครงการที่ไร้ประสิทธิผลไปจนถึงการละเมิดสิทธิและแสวงหาประโยชน์จากชนพื้นเมือง โดยการประชุม COP สองครั้งก่อนหน้าก็เจรจาต่อรองเพียงแค่ข้อกำหนดในการดำเนินการตลาดคาร์บอน ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศก็ปฏิเสธข้อกำหนดในการเจรจาทั้งสองครั้ง เนื่องจากมีข้อบกพร่องอย่างรุนแรงในนิยามกิจกรรมที่ลดคาร์บอนได้และระเบียบวิธีวิจัย
ในตอนนี้ ก่อนที่เหล่าผู้นำโลกจะมีโอกาสที่จะผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาได้จริง และแม้ว่าทั้งภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมจะร่วมกันออกมาคัดค้านควบคู่ไปกับประเทศที่คัดค้านบางประเทศ แต่เจ้าภาพ COP29 กลับผลักดันข้อกำหนดตลาดคาร์บอนโดยไม่ปรึกษาประเทศอื่น ๆ ตอนนี้รัฐบาลแต่ละประเทศตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้น และต้องแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าที่จะสนับสนุนเงินเข้าสู่กองทุนอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องตัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่าเพราะเหตุใดผู้นำโลกเหล่านี้จึงตกอยู่ภายใต้ความกดดัน นั่นเพราะพวกเราต้องการการลงมือกู้วิกฤตโลกเดือดอย่างแท้จริง การด่วนตัดสินใจใช้วิธีแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องนั้นจะไม่ช่วยให้การเจรจาแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นได้จริง การอนุญาตให้รัฐปิโตรเลียม (Petrostates) (กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยจากการขุดเจาะ ผลิต และส่งออกน้ำมันและก๊าซ) เข้ามาจัดกิจกรรมและขายแผนตลาดคาร์บอนให้เป็นแนวทางแก้ปัญหาเพียงเพื่อจะอุดช่องว่างนโยบายทางการเงินและสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งยังขาดแผนปฏิบัติการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริงเป็นสิ่งที่สร้างความคับแค้นให้แก่พวกเราทุกครั้งไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่มีการบันทึกไว้ว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ และปีนี้ที่เกิดภัยน้ำท่วมรุนแรงทำลายบ้านเรือนประชาชนในหลายประเทศทั่วโลก พายุไต้ฝุ่นและเฮอร์ริเคนลูกแล้วลูกเล่าที่สร้างความสูญเสียแก่ชุมชนอย่างรุนแรงและคาดเดาไม่ได้
สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือภาษีมลพิษที่เก็บจากกลุ่มผู้ก่อภาวะโลกเดือดและกลุ่มคนร่ำรวย เพราะกลุ่มเหล่านี้สร้างความเสียหายร้ายแรงจากการแสวงหาผลกำไรมหาศาลก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศขึ้น ผู้นำทั่วโลกต้องกล้าพอที่จะยืนหยัดต่อความเป็นทำและบรรลุเป้าหมายทางการเงินในกองทุนด้านสภาพภูมิอากาศ และจะต้องหยุดไม่ให้ภาคการลงทุนนำเงินไปลงทุนกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เหมือนการสนับสนุนให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผู้นำโลกจะต้องหยุดการสนับสนุนกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและต้องสร้างระบบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่มั่นคง ปลอดภัย สำหรับผู้คนทั่วโลก
และท้ายที่สุด การจ่ายเงินชดเชยเข้ากองทุนด้านสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องก็ยังไม่พอที่จะสร้างระบบเพื่อฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศได้ เพราะระบบนิเวศและวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกนั้นเชื่อมโยงกันแนบแน่นอย่างคาดไม่ถึง การลงทุนที่จะเป็นการกู้วิกฤตโลกเดือดและเป็นสิ่งที่พวกเราควรทำจริง ๆ คือเราต้องตระหนักได้ว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังเกิดขึ้นเชื่อมโยงกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้เรามองเห็นความจริงที่ว่าการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพก็เป็นการปกป้องสภาพภูมิอากาศไปด้วย ดังนั้น เราไม่สามารถระบบนิเวศเหล่านี้ออกเป็นส่วน ๆ ได้ หรือมองเห็นเป็นเพียงธุรกิจเพื่อซื้อขายเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของความหลากหลายทางชีวภาพและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
อิคบัล ดามานิค นักรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ อินโดนีเซีย และ เจนเนส สต็อพเพล ที่ปรึกษาเชิงนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพและด้านสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ สากล
บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ