“แมแฮแบ” คำนี้เป็นภาษาโพล่งของชาวกะเหรี่ยงโปว์ ที่กะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ต้องการสื่อเจตนารมณ์ว่า กะเบอะดินไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน เสียงที่ฟังดูต่างภาษาไม่คุ้นหูนี้ แม้จะเป็นเสียงของคนตัวเล็ก ๆ บนดอยที่ห่างไกล แต่ชาวกะเบอะดินกำลังมีบทบาทสำคัญในระดับโลก ในฐานะผู้ปกป้องสภาพภูมิอากาศท่ามกลางวิกฤตโลกเดือดที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ ด้วยการต่อกรกับโครงการเหมืองถ่านหินของบริษัทยักษ์ใหญ่ การที่พี่น้องกะเบอะดินปกป้องบ้านของตนเองนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่นับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการช่วยหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษปริมาณมหาศาลจากโครงการพลังงานฟอสซิลที่จะซ้ำเติมผลกระทบจากวิกฤตโลกเดือดให้รุนแรงยิ่งขึ้น
“โอ้ ที๊ง แฌ แซ ที๊ง เจ่ ที๊ง เจ่ ทเคแกล้ กแบแฌแซอ้ะ-ดื่มน้ำให้รักษาน้ำ ใช้ป่าให้รักษาป่า” ส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงการณ์หมู่บ้านกะเบอะดินได้ตอกย้ำถึงวิถีชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ที่อยู่ดูแลป่า และส่งเสียงถึงรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทมากกว่าปกป้องชุมชนท้องถิ่น ชุมชนขอเสนอให้รัฐบาลยุติการใช้พลังงานจากถ่านหินอย่างถาวรตามมติสหประชาชาติ กะเบอะดินมุ่งปกป้องบ้านเกิดไม่ให้บริษัทแย่งยึดไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่มีความโลภเพียงกลุ่มเดียว พร้อมย้ำจุดยืนว่าไม่ต้องการเหมืองถ่านหิน และเรียกร้องว่าชุมชนต้องมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรและดูแลพื้นที่ของตนเอง
28 กันยายน 2562 เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่ชาวอมก๋อยราวกว่า 2,000 คน ร่วมกันคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินซับบิทูมินัส ภายใต้การสัมปทานของบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด โดยถ่านหินที่ขุดได้จะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดลำปาง โครงการเหมืองถ่านหินนี้จะคุกคามวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวกระเหรี่ยงโปว์ที่หมู่บ้านกะเบอะดิน
การต่อสู้ตลอด 5 ปีผ่านมา ชาวกะเบอะดินซึ่งนำโดยกลุ่มเยาวชนร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ทำงานวิจัยข้อมูลชุมชนและสื่อสารผ่านเพจกะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์
เพื่อค้านต่อรายงาน EIA ของโครงการเหมืองถ่านหินที่เต็มไปด้วยความฉ้อฉล ไม่ว่าจะเป็นการที่ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยในการเข้าไปทำรายงาน EIA ของโครงการกับพี่น้องกะเบอะดินที่ไม่ค่อยรู้ภาษากลาง บอกเพียงแค่ว่าจะเข้าไปทำถนนให้ ทำไฟฟ้าให้ มีการลงลายเซ็นของผู้ที่เขียนไทยไม่ได้และผู้ที่มีอายุ 4-5 ขวบ หรือการปั๊มลายนิ้วมือที่มีขนาดเล็กกว่านิ้วก้อย รวมถึงบิดเบือนข้อมูลของระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของอมก๋อยว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม
หลังจากการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อ 4 เมษายน 2565 ขณะนี้ศาลปกครองกำลังพิจารณาคดีและข้อเท็จจริงของการฟ้องร้องต่อกระบวนการ EIA ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ให้ยุติการนำเอา EIA ฉบันนี้มาใช้ และหยุดไม่ให้บริษัทเข้ามาในพื้นที่
วันที่ 7 ธันวาคม กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังอมก๋อยได้จัดงานครบรอบ 5 ปี การต่อสู้กับคนอมก๋อยต่อการคุกคามของโครงการเหมืองถ่านหิน “โลกเย็นที่เป็นธรรม: 5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อย สู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด” ที่คริสตจักรกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดและย้ำจุดยืนอีกครั้งว่าอมก๋อยไม่ต้องการเหมืองถ่านหิน
นายกตำบลอมก๋อย คัมภีร์ สมัยอาทร กล่าวว่า “กะเบอะดินเป็นหมู่บ้านที่แพงที่สุด เพราะมีทรัพยากรในดินที่แพงมากๆ เป็นที่หมายตาของการทำเหมืองแร่ถ่านหิน” สะท้อนถึงการแย่งยึดที่ดินที่อยู่อาศัยทำกินของชนเผ่าพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์โดยบริษัทอุตสาหกรรม ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศยังเป็นกรอบความคิดที่รัฐบาลไทยและบริษัทอุตสาหกรรมปิดตาไม่รับรู้และมองข้ามไปภายใต้คำกล่าวอ้างว่ากำลังเป็นหนึ่งในผู้นำโลกที่ลงมือเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)
กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สะท้อนถึงการต่อสู่ของกะเบอะดินว่า “คนทั้งประเทศน่าจะต้องขอบคุณพี่น้องกะเบอะดิน ถ้าถ่านหินที่กะเบอะดินถูกขุดขึ้นมา 1,770,000 ตันคาร์บอน จะถูกปลดปล่อย และเป็นอัตราเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่ ก่อมลพิษทางอากาศกระจายไปทั่ว พี่น้องกะเบอะดินกำลังช่วยปกป้องโลก ไม่ใช่แค่เพื่อชุมชนตนเองอย่างเดียว เราเดือดร้อนที่สุด แต่เป็นพลเมืองที่เข้มเข็งที่สุด บทบาทของพี่น้องที่นี่มีความสำคัญต่อโลกใบนี้มาก แม้ชนเผ่าพื้นเมืองมีเพียงแค่ร้อยละ 5 ของประชากรโลก แต่ร้อยละ 80 ของความหลากหลายชีวภาพอยู่ภายใต้ความดูแลของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองจึงเป็นหัวใจสำคัญ” การยืนหยัดต่อสู้ของคนกะเบอะดินจึงเป็นการช่วยประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่ประเทศไทยเองยังมองข้ามและละเลย ภายใต้การละเลยสิทธิพื้นฐานของชุมชน
ทนายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวถึง ความท้าทายของกระบวนการยุติธรรมของไทยของประเด็นระหว่างภาคธุรกิจกับสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นความท้าทายของกระบวนการยุติธรรม ถึงแม้ยังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ยังคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เราต้องการให้ศาลปกครองคุ้มครองประชาชนด้วยการปลดกะเบอะดินออกจากแหล่งแร่ ถ้าทำสำเร็จจะไม่มีบริษัทไหนสามารถทำเหมืองแร่ที่นี่ได้อีกเลย ผมเสนอให้กระบวนการยุติธรรมเร่งให้เร็วขึ้น เพราะกระบวนการยุติธรรม คือความหวังและด่านสุดท้ายที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพี่น้องกะเบอะดิน”
ประเด็นที่ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคประชาสังคม นักกฎหมาย และนักวิชาการเห็นพ้องต้องกันคือ องค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมืองที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกเดือด กอบกู้ความหลากหลายทางชีวภาพ และรัฐบาลไทยจำเป็นต้องฟังเสียงชนเผ่าพื้นเมืองในบ้านเราเอง ดังที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ต่อเวทีระดับโลกว่าให้ความสำคัญกับการกู้สภาพภูมิอากาศ “ในวิกฤตโลกร้อนนี้พลังงานถ่านหินและฟอสซิลต่าง ๆ ไม่ควรถูกใช้อีกต่อไป เพราะโลกรับไม่ไหวแล้ว ที่จริงโครงการเหมืองถ่านหินไม่ควรเกิดขึ้นที่นี่อีกเลย และประเทศไทยไม่ควรมีการขุดพลังงานฟอสซิลขึ้นมาใช้อีก บทเรียนจากกะเบอะดินนี้จะต้องนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของไทยด้วยเพื่อให้สิทธิของพี่น้องไม่ถูกละเลย” กฤษฎา บุญชัย กล่าว
เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล Amnesty International Thailand ระบุว่า สิ่งที่ยังขาดหายไปคือการรับผิดรับชอบภายใต้บริบทด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในระหว่างประเทศและในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นจนส่งผลต่อวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน “แม้รัฐจะไปสัญญากับเวทีโลกว่าจะทำให้สิทธิมนุษยชนและสิทธิในการแสดงออกดีขึ้น และบอกว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่นำแผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาใช้ แต่คำถามคือ คุณทำสิ่งนี้ได้ดีแล้วจริงหรือ การรับรองกฎหมายให้กับสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงสิทธิที่ดิน สิทธิในการตัดสินใจ สิทธิของผู้หญิง ทั้งหมดเป็นสิทธิมนุษยชนโดยเท่ากัน”
การที่ประชาชนออกมาปกป้องตนเองและชุมชนคือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่น่าจับตามองคือ รัฐบาลไทยจะมีทีท่าที่เปลี่ยนแปลงอย่างไรไหม ต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงเหนือผลประโยชน์ของอุตสาหกรรม และภายใต้สถานะคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล เสริมว่า “ขณะที่รัฐบาลบอกว่าประเทศเราสวยอย่างไร แต่กลับมีโครงการจากภาคธุรกิจหรือภาครัฐที่ทำลายความสวยงามของบ้านเรา นี่คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเราควรจะมีสิทธิมีเสียงตรงนี้ การที่เราเป็นหนึ่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เราต้องลงมือปกป้องประชาชนอย่างแท้จริงภายใต้ประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการปกป้อง เคารพและส่งเสริมไปพร้อม ๆ กัน”
นอกจากบทบาทของรัฐบาลแล้ว สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือความจริงใจของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมฟอสซิลที่ยังเดินหน้าคุกคามสิทธิมนุษยชนภายใต้วิกฤตโลกเดือด อรรถพล พวงสกุล นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่สะอาดและเป็นธรรม กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวถึงการประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินที่เชื่อมโยงกับบริษัท SCG ว่า คำตอบเกี่ยวกับการเดินหน้าหรือยุติโครงการนี้จาก SCG นั้น ยัง “ไม่ชัดเจนและคลุมเครือ” อรรถพล เล่าว่า “คำตอบของบริษัท SCG คือ ได้ยกเลิกโครงการเหมืองถ่านหินที่แม่ทะ จังหวัดลำปางไปแล้ว แต่ยังคงมีการยื่นขอประทานบัตรและไม่ได้ประกาศอย่างชัดเจนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ ตลอดจนสาธารณะว่าไม่ได้รับซื้อ หรือประกาศชัดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อบริษัทคู่ค้าอย่าง 99 ธุวานนท์ จำกัด ที่ยื่นขอประทานบัตรเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหมดนี้ขัดกับแนวทางปฏิบัติตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human rights: UNGP) ทำให้คนในพื้นที่ยังต้องกังวลว่าเราจะอยู่และทำกินในพื้นที่ตรงนี้ต่อไปได้ไหม SCG และภาคธุรกิจอื่นควรยุติโครงการถ่านหิน ซึ่งนอกจากจะเร่งวิกฤตโลกเดือดแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย”
ภายใต้สถานการณ์วิกฤตโลกเดือด บทบาทที่สำคัญของรัฐบาลไทยคือการปกป้องประชาชนจากผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ดังที่ปรากฎในเหตุคลื่นความร้อน พายุที่ถี่และหนักขึ้น รวมถึงภัยพิบัติน้ำท่วม อรรถพล กล่าวว่า “ในหลายประเทศได้หยุดการใช้พลังงานจากถ่านหินไปแล้ว เช่น ในประเทศสวีเดน สโลวาเกีย และเดนมาร์ก รัฐบาลไทยยังพยายามไม่มากพอในการหยุดถ่านหินตามที่สัญญาไว้กับประชาคมโลกภายใต้สนธิสัญญาปารีส (Paris Agreement)
“เมื่อย้อนมองแผนพีดีพีหรือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าเรายังพบว่ามีการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าอยู่ร้อยละ 20 และในแผนพีดีพีฉบับปรังปรุง 2564 ที่คาดว่าจะมีการประกาศใช้เร็ว ๆ นี้ยังมีแผนการใช้ถ่านหินลากยาวไปยังปี 2580 ที่ยังคงมีการใช้ถ่านหินเป็นปัจจัยในการผลิตไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 7
สส. เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน เห็นด้วยและร่วมสนับสนุนการต่อสู้ของชุมชนกะเบอะดิน โดยกล่าวว่า “คนที่เริ่มปกป้องทรัพยากรคือคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างพวกเรา กะเบอะดินเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่คนไทยลุกขึ้นมาต่อสู้กับภาคอุตสาหกรรม การยอมรับคุ้มครองส่งเสริมชนเผ่าพื้นเมืองจะช่วยยุติโครงการฉ้อฉลทั้งหมด เราจะกลายเป็นคนจนในเมืองหากระบบนิเวศล่มสลาย” และยังย้ำถึงบทบาทของระบบและกระบวนการยุติธรรมของไทยว่าจะต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน
“ถ้าจะมีกฎหมาย ไม่ว่ากฎหมายชาติพันธุ์ และรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องคุ้มครองและส่งเสริมชนเผ่าพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้มแข็ง กรรมาธิการทรัพยากรที่ดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบโครงการที่ละเมิดสิทธิของประชาชน อำนาจที่ทำได้คือ 1) ตรวจสอบข้อเท็จจริง 2) ดำเนินการให้มีการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะต้องใช้ความกระตือรือร้นในการทำงาน 3) การใช้เวทีในสภาผู้แทนในการวิพากษ์การทำงานของรัฐ และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา นี่คือกลไกที่ต้องทำและมีประชาชนในการมีส่วนร่วมตรวจสอบ เราต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการก้าวผ่านวิกฤตสภาพภูมิอากาศและสิทธิมนุษยชน” สส. เลาฟั้ง กล่าว “เราจะต้องไม่ซ้ำรอยนโยบายจากรัฐที่กดทับประชาชน เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องคดีกว่า 40,000 คน เหมืองแร่ถ่านหินจะต้องเป็นโครงการที่ผิดกฎหมาย และธุรกิจผู้ประกอบการจะต้องยุติโครงการถ่านหินนี้อย่างสมบูรณ์”
กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมยืนหยัดกับพี่น้องกะเบอะดิน อมก๋อย ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและป้องกันผลกระทบจากวิกฤตโลกเดือดต่อความเป็นอยู่ของคนไทย โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและบริษัท SCG ดังนี้
- SCG ต้องประกาศยกเลิกเหมืองถ่านหินแม่ทะ จังหวัดลำปางและไม่มีการรับซื้อถ่านหินจากบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด อย่างไม่มีเงื่อนไขโดยทันที พร้อมทั้งระบุแนวทางการแก้ไขเพื่อลดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสื่อสารต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครบถ้วน
- SCG ต้องสื่อสารผลการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จังหวัดลำปาง ต่อสาธารณะ บุคคลภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิด สิทธิมนุษยชนและผลกระทบสิ่งแวดล้อม
- SCG ต้องสื่อสารต่อสาธารณะถึงแผนการปลดระวางถ่านหินตามเป้าหมายของบริษัท เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และตามความมุ่งมั่นที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขต 1 และ 2 ลงร้อยละ 25 ภายในปี 2573 ตั้งแต่ปีฐาน 2563 ตามประกาศ Net Zero Cement & Concrete Roadmap
ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ SCG ปลดระวางถ่านหินโดยต้องมีแผนงานที่ชัดเจน
SCG ต้องยุติการดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จ.ลำปาง และยุติแผนการรับซื้อถ่านหินจากพื้นที่อมก๋อย จ.เชียงใหม่โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
มีส่วนร่วม