Net zero (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) กลายเป็นคำฮิตที่ฟังดูเท่ (buzz word) โดยเฉพาะหลังจากการประชุมเจรจาสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ(COP26) ที่กลาสโกว์ สหราชอาณาจักรปลายปี 2564

ซึ่งนายอะล็อก ชาร์มา ประธาน COP26 ประกาศผลสำเร็จว่า พันธะกรณี net zero นั้นครอบคลุมมากกว่า 90% ของจีดีพี(GDP)โลก และมี 153 ประเทศทั่วโลกรวมถึงจีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย [1]  เสนอเป้าหมายใหม่ในการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573 [2]

กล่าวได้ว่า net zero กำลังเขย่าการเมืองว่าด้วยสภาพภูมิอากาศโลก เพราะก่อนหน้านี้ แนวคิดดังกล่าวยังเป็นไอเดียในแวดวงวิทยาศาสตร์ ส่วนนักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายมองว่าเป็นเรื่องสุดขั้วด้วยซ้ำไป

จนกระทั่งปี 2558 มีการกล่าวถึง net zero แบบอ้อมๆ ในตอนท้ายของความตกลงปารีส(COP21) ต่อมาปี 2560 สวีเดนประกาศตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2588 จะบรรลุถึง net zero หลังจากนั้น หลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสก็ทะยอยประกาศ net zero ตามมา แม้กระทั่ง บางประเทศที่เคยเป็นอุปสรรคมากที่สุดในการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศ ก็ยังกลับมาตั้งเป้าหมาย net zero ของตน

Climate Action at Eni Headquarter in Rome. © Greenpeace / Francesco Alesi
© Greenpeace / Francesco Alesi

แต่การมี net zero ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศใดประเทศหนึ่งพยายามลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ละประเทศมีกลยุทธ์และกรอบเวลาที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่คลุมเครือ และเป็นเครื่องมือฟอกเขียวชั้นดีให้กับอุตสาหกรรมฟอสซิล

ในที่นี้ เราจะวิเคราะห์พร้อมตั้งคำถามและข้อสังเกตต่อ “แผนที่นำทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573(Nationally Determinded Contributions-NDCs) และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทยฉบับปรับปรุง(Net Zero)” ซึ่งภาครัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นและนำเสนอสู่สาธารณะไปเมื่อไม่นานมานี้

หมุดหมายแรก : ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2573

เมื่อรวมเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2573 (NDCs ฉบับปรับปรุง) เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Nuetrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์(Net Zero) ภายในปี 2608 ของไทยเข้าด้วยกัน เรื่องราวจะเป็นดังนี้

หากเราต้องการลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2573 (จาก 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าลดลงเป็น 333 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) เราจะต้องจำกัดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้เพิ่มสูงสุดภายในปี 2568 (ไม่เกิน 368 ล้านตัน) และต้องลดลงหลังจากนั้น(จนเหลือ 333 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2573)

ตามแผนภายใต้ฉากทัศน์นี้ประกอบด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพทางพลังงาน การเพาะปลูกข้าวที่ปล่อยมีเทนต่ำ การส่งเสริมก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ ไปจนถึงนโยบาย 30@30 (30%ของยานยนต์เป็น zero emission vehicles) การทะยอยปลดระวางยานยนต์สันดาปภายใน เพิ่มการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคการขนส่ง การใช้แบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยคาดหวังว่าทั้งหมดนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้รวมกัน 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

น่าเสียดายที่หมุดหมายแรกนี้ไม่ตอบโจทย์สำคัญต่อไปนี้

(1) โจทย์ว่าด้วยการวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้าที่ผิดพลาดและนโยบายพลังงานที่ไม่ตอบโจทย์อนาคต ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดมากกว่าร้อยละ 40 โรงไฟฟ้าส่วนเกินจากกำลังผลิตสำรอง 15% มีมากถึง 9,055 เมกะวัตต์ เท่ากับการลงทุนที่ล้นเกินถึง 226,000 ล้านบาท (ประมาณการที่เมกะวัตต์ละ 25 ล้านบาท) ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายอย่างน้อย 33,879 ล้านบาทต่อปี

(2) โจทย์ปลดระวางถ่านหิน ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP 2018 Rev.1) กำลังผลิตสำรองแบบพึ่งได้ในปี 2564 มีสูงถึง 13,800 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 43.6 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ในขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอยู่ที่ 6,110 เมกะวัตต์ เราสามารถลดการพึ่งพาถ่านหินให้เป็นศูนย์ในขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศยังล้นเหลือ ผลคือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 21-24 ล้านตันต่อปี

การปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน นอกจากช่วยให้มีการใช้โรงไฟฟ้าที่ล้นเกินอย่างเต็มที่มากขึ้นแล้ว รัฐบาลยังสามารถนำเงินค่าความพร้อมจ่ายที่สูงลิบลิ่วมาเป็นค่าชดเชยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน และไม่เป็นภาระในอนาคตของค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถโยกงบลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในอนาคต ไปดำเนินการเรื่องที่มีความสำคัญต่อประชาชน เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน และระบบกริดอัจฉริยะ เป็นต้น

(3) โจทย์ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมและการตัดสินใจที่ชาญฉลาด(ของรัฐบาล)ทั้งในมิติของความสมดุลการกระจายแหล่งพลังงาน (Energy Mixture Balance) โดยไม่พึ่งพาแหล่งพลังงานชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินสมดุลซึ่งก่อความเสี่ยงในการเกิดไฟฟ้าดับหากมีปัญหาเกิดขึ้นกับแหล่งพลังงานนั้นๆ มิติค่าไฟฟ้า (Electricity Cost) โดยทำให้ไม่สูงจนประชาชนต้องแบกภาระเกินจำเป็น และมิติการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม(Just Transition) โดยไม่ทำให้ภาคแรงงานและผู้ได้รับผลกระทบในกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง

(4) โจทย์การจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ จนถึงปี 2573 นอกจากการปลดระวางถ่านหิน รัฐบาลสามารถปรับลดกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซฟอสซิลและการนำเข้าก๊าซฟอสซิลเหลว(LNG) โดยที่ยังรักษาอัตราสำรองกำลังผลิตไฟฟ้า (reserve margin) เหลือใกล้เคียงมาตรฐานร้อยละ 15 แล้วเพิ่มการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดตามการเพิ่มของความต้องการใช้ไฟฟ้าหลังปี 2570 ก็จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และยังสามารถเพิ่มการจ้างงานโดยตรงในระบบเศรษฐกิจ

Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ภาพกิจกรรม Climate Strike ที่สวนลุมพินี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง © Chanklang Kanthong / Greenpeace

หมุดหมายระหว่างทาง : ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593

หมุดหมายนี้ห่างจากหมุดหมายแรก 20 ปี และยิ่งเพิ่มความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ หากหมุดหมายแรกในปี 2573 ผิดเพี้ยนไปไม่ตอบโจทย์

โจทย์ของการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยเริ่มจากการนำภาคการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และภาคป่าไม้(Land Use Land-use Change and Forestry – LULUCF) มาเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2580

เพื่อให้เห็นภาพ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าว่ามากน้อยเพียงใด ขอยกตัวอย่างกลยุทธ์ net-zero ของบริษัท Royal Dutch Shell ที่มีแผนการชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์ 120 ล้านตันต่อปี จากรายงานของ ActionAid [3] จะต้องปลูกป่าในพื้นที่ 116,549 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ รายงานของ Oxfam [4] ซึ่งสำรวจแผน net zero ของ Royal Dutch Shell และอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซฟอสซิลอีกสามรายคือ BP, TotalEnergies และ ENI สรุปว่า “อาจต้องใช้พื้นที่เป็นสองเท่าของสหราชอาณาจักร ถ้าอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซฟอสซิลทั้งหมดมีเป้าหมาย net zero อาจต้องใช้ที่ดินที่มีขนาดเกือบครึ่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกาหรือหนึ่งในสามของพื้นที่การเกษตรของโลก”

ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก [5] และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อไปให้ถึงศักยภาพการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก 120 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2580 ต้องใช้พื้นที่ป่าธรรมชาติ 113.23 ล้านไร่[6] ป่าเศรษฐกิจ 48.52 ล้านไร่[7] พื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท 16.17 ล้านไร่ (หรือรวมๆ กันเท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศ)

ตามแผน net zero พื้นที่ป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจในประเทศไทยมีอยู่เดิมแล้ว 102.04 ล้านไร่ และ 32.65 ล้านไร่ตามลำดับ และมีการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 100 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2564 ดังนั้น ยังเหลือตามเป้าหมายอีก 20 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งต้องการพื้นที่ป่าธรรมชาติเพิ่ม 11.29 ล้านไร่ และป่าเศรษฐกิจเพิ่ม 15.99 ล้านไร่

การเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ 11.29 ล้านไร่ภายในปี 2580 นี้เองที่สะท้อนถึงการแปลงธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้าโดยปลูกป่าค้าขายคาร์บอน พื้นที่ป่าโดยเฉพาะป่าชายเลนซึ่งภาคธุรกิจแจ้งความจำนงเข้าร่วมมากกว่า 550,000 ไร่ [8] ไปจนถึงโครงการปลูกป่าและการเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในหลายพื้นที่ซึ่งมีชุมชนชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานมานานนับศตวรรษและจัดการป่าใช้สอย ป่าอนุรักษ์และทำกินแบบไร่หมุนเวียนนั้นกลายเป็นจุดศูนย์กลางของความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ขัดกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ตัวอย่างเช่น การไม่ยอมรับโครงการปลูกป่าในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่จอกฟ้า [9] [10]

ข้ออ้างของการปลูกป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนยังเป็นส่วนหนึ่งที่เร่งเร้าปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2557 มีชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าถูกรัฐประกาศทับ ถูกยึดพื้นที่ทำกินและถูกดำเนินคดี ในช่วงเวลาเพียง 6 ปีหลังมีคำสั่ง คสช. มีคดีความเพิ่มขึ้นถึง 46,600 คดี [11]

การวิจัยระบุว่า ยุทธศาสตร์ net zero ที่พึ่งพาการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกแบบชั่วคราวเพื่อชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดจริงจะประสบความล้มเหลว ข้อจำกัดของธรรมชาติ พื้นที่ที่มีจำกัดและกรอบเวลาในการเพิ่มปริมาณการดูดกลับซึ่งเป็นหัวใจของการรักษาเสถียรภาพของระบบโลกนั้นไม่สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่องได้ [12]

แทนที่จะนำพื้นที่ป่าธรรมชาติ 11.29 ล้านไร่ มาแปลงเป็นสินค้าในตลาดซื้อขายคาร์บอนและสร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ(climate justice)เพิ่มขึ้น รัฐบาลจะต้องปฏิรูปการจัดการป่าไม้โดยกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น รับรองสิทธิทางกฏหมายของชุมชนในการดูแลพื้นที่ป่า และยุติโครงการพัฒนาทั้งหลายที่ทำลายผืนป่าโดยทันที

หมุดหมายปลายทาง : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิภายในปี 2608

มีเวลาที่ซ้อนทับกันระหว่างหมุดระหว่างทางและหมุดหมายปลายทาง นอกเหนือจากการฟอกเขียวโดยภาคการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและภาคป่าไม้ (Land Use Land-use Change and Forestry – LULUCF) ยังมีการระบุถึงการลดโรงไฟฟ้าถ่านหิน(phase down coal-fired power plant)/การปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน(phase out coal-fired power plant) ระหว่างปี 2583-2593 ซึ่งจริงๆ แล้วต้องเกิดขึ้นภายในปี 2580 เป็นอย่างช้า การใช้ไฮโดรเจนเขียว(green hydrogen)ในภาคการคมนาคมขนส่งและภาคอุตสาหกรรมในปี 2588 และเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 74% ภายในปี 2593

กลลวงอันโดดเด่นในสองหมุดหมายที่คร่อมเวลากันนี้คือ การใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนแบบต่างๆ เช่น Carbon Captuer and Storage-CCS, Carbon Capture Usage and Storage(CCUS), Bioenergy with Captuer and Storage-BECCS โดยจะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2583 ไปจนถึงปี 2608

หัวเรือใหญ่เรื่องนี้ก็คือ ปตท.สผ.(PTTEP) ซึ่งริเริ่มศึกษาและพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นครั้งแรกที่แหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา CCS ในพื้นที่อื่นๆ เพื่อเป้าหมาย net zero ของประเทศ [13] เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ระดับโลก นี่คือ กลลวง คาร์บอนอย่างแท้จริง

ที่แคนาดา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติอนุมัติโครงการ Quest เพื่อผลิตน้ำมันจากทรายน้ำมัน(tar sand) ซึ่งมีเงินอุดหนุน 654 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอ้างว่า เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน(CCS) เป็น “เครื่องมือสำคัญสู่เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่มุ่งมั่นของแคนาดา” นั่นคือ net zero ภายในปี 2593 แต่โครงการ Quest ปล่อยคาร์บอนมากกว่าที่ดักจับ/กักเก็บได้และเพิ่มการผลิตทรายน้ำมันซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่สกปรกที่สุดและมีคาร์บอนเข้มข้นมากที่สุดในโลก เป้าหมาย net zero จึงล่องลอยในสายลม [14]

นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการและนักวิเคราะห์ด้านพลังงานระหว่างประเทศ 400 คนลงนามในจดหมายถึงรัฐบาลแคนาดาเพื่อขอให้ยุติการสนับสนุนโครงการ จดหมายเตือนว่า การดักจับ กักเก็บและใช้ประโยชน์คาร์บอน(CCUS) ไม่ใช่ “เทคโนโลยีการปล่อยคาร์บอนเป็นลบ(negative emission technology)”แถมยังใช้เงินภาษีประชาชนหลายพันล้านเหรียญกระตุ้นการผลิตน้ำมัน นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการเตือนถึงผลกระทบด้านสุขภาพต่อชุมชนท้องถิ่นว่าการอุดหนุนเงินให้กับโครงการนี้จะทำให้แคนาดาต้องพึ่งพาทรายน้ำมันอันสกปรก และโครงการจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นราว 50 ล้านตันต่อปีภายในปี 2578

จากข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์ โครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน(CCS)เชิงพาณิชย์ 26 แห่งทั่วโลกสามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ราว 40 ล้านตันต่อปี ในขณะที่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งโลกอยู่ในราว 36.4 พันล้านตันต่อปี

โครงการ CCS แห่งแรกของปตท.สผ.(PTTEP) ที่แหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย คาดว่าจะดักจับและกักเก็บคาร์บอนได้ราว 700,000 ตันต่อปี ภายใต้แผน net zero ของประเทศไทย ประมาณว่าจะใช้ทั้ง CCS และ BECCS ดักจับและกักเก็บคาร์บอนได้ 61.3 ล้านตันภายในปี 2608 เมื่อคำนวณต้นทุนที่ 100-200 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า การดักจับและกักเก็บคาร์บอนดังกล่าวนี้จะใช้เงินลงทุนมหาศาลถึง 6,130-12,260 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 216,934-433,869 ล้านบาท) [15]

หลังจาก 5 ทศวรรษของการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนด้วยเงินอุดหนุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ การโฆษณาเกินจริง การลดหย่อนภาษี การค้ำประกันและการหลอกลวง อุตสาหกรรมฟอสซิลดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพียง 0.1% ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งโลก ในขณะเดียวกัน คาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับก็ถูกนำไปใช้เพื่อผลิตน้ำมันมากขึ้น

นับตั้งแต่มีโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนแห่งแรกในปี 2515 การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจาก 14.68 เป็น 36.4 พันล้านตันต่อปี  ไม่ใช่แม้กระทั่ง “การปล่อยเป็นศูนย์สุทธิ” ตามที่สัญญาไว้ [16]

ตั้งแต่หมุดหมายแรกจนถึงปลายทางของ net zero ไทยดังที่กล่าวมานี้ เราจำเป็นต้องตั้งคำถามต่อการฟอกเขียวและกลลวงคาร์บอน และติดตามตรวจสอบเพื่อรับรองว่า ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ทั้งหลายจะต้องมีภาระรับผิด(accountability) โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างแท้จริง (real zero) และยุติการผลักภาระให้กับผู้คน ชุมชน สังคมและโลกใบนี้


อ้างอิง

[1] https://time.com/6113845/net-zero-climate-pledge-impact/

[2] https://ukcop26.org/wp-content/uploads/2021/11/COP26-Presidency-Outcomes-The-Climate-Pact.pdf

[3] https://actionaid.org/sites/default/files/publications/Not-Their-Lands_Media%20Briefing.pdf 

[4] https://oxfamilibrary.openrepository.com/bitstream/handle/10546/621205/bp-net-zero-land-food-equity-030821-en.pdf

[5] http://www.fio.co.th/fioWebdoc65/TGO%20-%20Carbon%20Neutral_Net%20Zero%20Pathway_13Jan2022.pdf 

[6] พื้นที่ป่าธรรมชาติในความหมายนี้รวมถึง ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 ป่าชุมชน ป่าไม้ถาวร ป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่ไม่จำแนก พื้นที่นิคมสร้างตนเอง พื้นที่นิคมสหกรณ์ ที่ราชพัสดุ ที่ น.ส.ล.)

[7] ป่าเศรษฐกิจในความหมายนี้รวมถึง พื้นที่ คชท.(ลุ่มน้ำ 3, 4, 5) ป่าไม้ถาวร (ลุ่มน้ำ 3, 4, 5) พื้นที่ สปก.ในเขตป่าสงวน สวนป่าของ ออป. พื้นที่ปลูกยางพารา พื้นที่เอกชน(ที่ดินกรรมสิทธิ์) อื่นๆ (ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส)

[8] https://greennews.agency/?p=29969 

[9] https://prachatai.com/journal/2022/08/99790

[10] https://www.sdgmove.com/2022/08/15/director-notes-24-misundertanding-sdgs/  

[11] https://greennews.agency/?p=29161 

[12]https://theconversation.com/forests-cant-handle-all-the-net-zero-emissions-plans-companies-and-countries-expect-nature-to-offset-too-much-carbon-170336 

[13]https://www.pttep.com/th/Sustainabledevelopment/Carbon-Capture-And-Storage.aspx 

[14] คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ก็เปิดทางต่อกลลวงนี้ เนื่องจากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศของ IPCC ส่วนใหญ่จะรวมเททคโนโลยีการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) เพื่อจัดงบดุลคาร์บอนในอนาคตอันไกลโพ้น https://www.ipcc.ch/site/assets/uploads/2018/02/ipcc_wg3_ar5_chapter5.pdf แต่ก็มีแบบจำลองสภาพภูมิอากาศอื่นๆ ที่สร้างทางเลือกที่ปราศจาก CCS

[15] คำนวณจาก The Sixth Assessment Report, Climate Change 2022: Mitigation of Climate Change, the Working Group III ของ IPCC https://www.ipcc.ch/report/sixth-assessment-report-working-group-3/ 

[15] ย้อนหลังไปในช่วงคริสทศวรรษ 1950 นักธรณีวิทยาในอุตสาหกรรมน้ำมันรู้ดีว่าแหล่งน้ำมันทั้งหมดจะหมดลงเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาได้พัฒนาเทคโนโลยี “enhance oil recovery” เพื่อยืดอายุของแหล่งน้ำมันที่หร่อยหรอลง และกลลวงของ CCS ได้ถือกำเนิดขึ้น https://www.greenpeace.org/international/story/54079/great-carbon-capture-scam/