กรณิศ ตันอังสนากุล หรือ กิ๊ก เป็นคนธรรมดาที่เรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ ปริญญาโทด้านการเศรษฐศาสตร์และการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ประเทศสวีเดน เธอเริ่มจากการเรียนสิ่งแวดล้อมเพราะอยากทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่เพราะต้องใช้ชีวิตในเมืองโกเตนเบิร์ก เมืองที่การไม่แยกขยะหรือเดินถือถุงพลาสติก ไม่จัดอยู่ในบรรทัดฐานของสังคม เธอจึงเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองพร้อมเรียนรู้การจัดการขยะของที่นี่ และหลังจากการเป็นนักวิจัยมากว่า 5 ปี กรณิศจึงนำประสบการณ์ทั้งหมดมาทำงานรณรงค์ให้คนลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อท้องทะเลของเราผ่านหน้าเฟซบุ๊คเพจชื่อ ReReef

 ชีวิตนักเรียนสิ่งแวดล้อมที่ประเทศสวีเดน

“เราเรียนด้านการจัดการและเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Environmental Management and Economics) ที่ประเทศสวีเดน ถามว่าทำไมถึงเลือกเรียนสาขานี้ เพราะเราจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ และเราอยากเรียนอะไรที่สามารถต่อยอดได้ ณ ตอนนั้นคือเรารู้สึกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังถูกพูดถึง เราก็อยากจบมาแล้วเพื่อทำงานที่มีประโยชน์ต่อโลก พอเราคิดว่าจะเลือกเรียนด้านสิ่งแวดล้อม สวีเดนจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะเขาเป็นผู้นำด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ก็เลยจบลงที่สวีเดนค่ะ”

ตอนนั้นเริ่มลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งแล้วหรือยัง

“ยังเลยค่ะ เราอาจจะรับรู้ถึงปัญหาขยะ แต่ก็ไม่ได้ลดขยะอะไรมากมาย พฤติกรรมลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งของเราในวันนี้ก็ได้รับอิทธิพลจากการใช้ชีวิตที่นั่นเลย เมืองที่เราไปอยู่ชื่อเมืองโกเตนเบิร์ก (Gothenburg) ซึ่งเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะมาก ภาครัฐมีนโยบายสร้างพลังงานจากขยะ และคนที่นั่นก็พร้อมใจกันลดขยะ ทุกคนจะต้องแยกขยะ ประมาณ 7 ประเภทได้ เช่น กระดาษแบบอ่อนและแข็ง พลาสติก ขยะอาหาร ขยะอันตราย ฯลฯ แล้วเอาไปทิ้งที่สถานที่ทิ้งขยะ ถ้าเราไม่ทำ เราก็จะทิ้งขยะไม่ได้ ขวดพลาสติกก็เอาไปใส่ที่ตู้รับซื้อขวดพลาสติก ถุงพลาสติกก็ไม่ได้ฟรี ถ้าจะเอาก็ต้องซื้อ เราเลยต้องพกถุงผ้า และคนอื่นเขาพกกันหมด ถ้าเราไม่ทำมันก็จะเป็นคนส่วนน้อยที่ดูแปลกๆ หรือน้ำประปาก็ดื่มได้ แม้ว่าตอนนั้นเรายังไม่ได้พกขวดน้ำ แต่เราสามารถนำขวดที่ใช้แล้วไปเติมต่อได้ ระบบที่นั่นมันบังคับให้เราต้องเปลี่ยนเลยค่ะ”

เรียนสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ

“เนื่องจากเราเรียนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ทุกวิชาที่เรียนมันมีความเกี่ยวข้องกันในแง่มุมต่างๆ จำได้ว่าวิชาแรกที่เรียนนั้นเกี่ยวกับ Tragedy of the Commons ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรร่วมที่มักประสบปัญหามือใครยาวสาวได้สาวเอา ส่วนวิชาอื่นๆ เช่น วิชาที่มุ่งอธิบายมูลเหตุของการทำผิดกฎหมายหรือติดสินบน วิชาว่าด้วยประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหาทางภูมิศาสตร์ วิชาเรื่องการเมืองเชิงพื้นที่กับปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือวิชาการขนส่งกับโครงสร้างเมือง ที่สอนให้เราหาปัจจัยที่ทำให้คนต้องใช้รถหรือเดิน เราว่าวิชาเรียนมันมีความหลากหลายมาก เลยทำให้เราได้เห็นภาพรวมว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมันเกี่ยวข้องกับศาสตร์หลายแขนง การแก้ไขปัญหาจึงต้องคิดแบบบูรณาการ”

สู่เส้นทางนักวิจัย

“หลังจากเรียนจบ เราก็กลับมาเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน คือเป็นการสื่อสารกับภาคธุรกิจให้เขาเห็นว่า ธุรกิจเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของสภาพแวดล้อมและสังคมยังไงบ้าง และเขาควรจะทำยังไง เพราะภาคธุรกิจอาจจะมองแค่กำไรกับผลตอบแทน ไม่ได้สนใจว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อการทำกำไรของเขายังไงบ้าง เราไปทำให้เขาเข้าใจตรงนั้น การที่คุณปล่อยน้ำเสียลงชุมชน สุดท้ายมันจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของคุณ ซึ่งเป็นความเสียหายในมูลค่าประมาณเท่าไหร่ ในการทำวิจัยในแต่ละครั้ง เราพยายามไปดูว่าในปัญหานั้น ผู้เล่นมีใครบ้าง แต่ละคนมีแรงจูงใจเรื่องอะไร เราว่าทุกคนต้องมีเหตุผล เพราะอะไรเขาถึงทำสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้น ถ้าเราอยากจะเปลี่ยน เราก็ต้องไปดูว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้เขาทำอย่างนี้ เราจะได้ไปเปลี่ยนที่ตรงนั้น เพื่อที่เขาจะทำอย่างอื่น ให้มันแตกต่างไป หรือเราจะต้องไปคุยกับใคร บทบาทของภาครัฐและเอกชนคืออะไร มันเหมือนเราต้องไปแงะไปแกะปัญหานั้นออกมาค่ะ”

การเป็นนักวิจัยมาก่อนมีส่วนช่วยในการจัดการปัญหาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งไหม

“ก็มีส่วนช่วยนะคะ เราเคยได้ทำงานวิจัยชิ้นนึงเกี่ยวกับการบริโภคยึดจริยธรรม ซึ่งหมายถึงการที่ผู้บริโภคนำปัจจัยด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาในการเลือกซื้อ ทำให้เข้าใจว่าความตระหนักรู้ (awareness) อย่างเดียวมันไม่เพียงพอให้คนปรับเปลี่ยนไปสู่พฤติกรรมที่มุ่งหวัง มันมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย และถ้าเราต้องการให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม เราต้องสร้างปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวด้วย

จุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

“พอมาทำเฟซบุ๊คเพจ ReReef ที่แรกเริ่มเราทำเกี่ยวกับผลกระทบจากครีมกันแดดสู่ปะการัง เราเลยได้อ่านและศึกษาเกี่ยวกับทะเลและปะการังมากขึ้น เลยทำให้เราได้เห็นว่าพลาสติกในทะเลมันเยอะมาก จนทะเลกลายเป็นถังขยะไปแล้ว ทุกอย่างลงสู่ทะเลหมดเลย เราเลยคิดว่าถ้าเราอยากรักษาปะการัง เราต้องทำเรื่องพลาสติกด้วย เลยหันมาสื่อสารเพิ่มเติมในเรื่องพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และอาศัยประสบการณ์ที่เคยทำงานวิจัยที่เราต้องศึกษาปัจจัยที่ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม เราเลยพอรู้ว่าอุปสรรคในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีอะไรบ้าง สิ่งแรกคือความตระหนักรู้ คนจะเปลี่ยนได้มันต้องมีความตระหนัก เราจึงต้องให้ข้อมูลต่างๆ แก่เขา มันเลยเกิดเพจ ReReef ขึ้นมาสำหรับแบ่งปันข้อมูล พยายามย่อยข้อมูลยากๆอย่างงานวิจัยให้เป็นสิ่งที่ใครๆก็เข้าใจได้ เราอาจแบ่งคนกว้างๆ ออกเป็นสองกลุ่มคือ คนที่ยังไม่รับทราบข้อมูลอะไรเลย เราก็ให้ข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักรู้ก่อน กับอีกกลุ่มที่รับรู้ข้อมูลมีความตระหนักรู้แล้ว แต่ยังไม่นำไปสู่การลงมือทำ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มันยังติดขัดบางอย่างอยู่ ซึ่งเรารู้สึกว่าอุปสรรคตรงนั้นส่วนหนึ่งคือการไม่มีตัวเลือกที่ใช้ทดแทนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เราจึงต้องหาทางเลือกอื่นให้เขา คือผู้บริโภคอยากได้อะไร เราก็ไปหาทางเลือกที่ดีกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่ามาให้ และในราคาที่เหมาะสม ทุกคนรับได้”

เริ่มจากการสื่อสาร นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม

คุณกิ๊กร่วมให้ความรู้กับน้อง ๆ เยาวชนกรีนพีซเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติก

“เรารู้สึกว่า ถ้าเขาไม่มีข้อมูล เขาไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกับเขายังไง เขาก็จะไม่แคร์ เลยต้องพยายามให้เขาเห็นว่ามันเกี่ยวกับเขา การเกี่ยวข้องมีได้ 2 ลักษณะคือ เป็นคนสร้างผลกระทบกับคนได้รับผลกระทบ ซึ่งหลายกรณีมนุษย์ก็เป็นได้ทั้งสองอย่าง คือเป็นทั้งคนสร้างและวันหนึ่งมันก็ย้อนกลับมาส่งผลต่อเราเหมือนกัน เคยมีคนพูดว่ามนุษย์จะเชื่อมโยงกับอะไรที่ตัวเองเห็น ดังนั้น สิ่งที่อยู่ในทะเลมันมองเห็นยากกว่า มนุษย์จึงรู้สึกเชื่อมโยงกับอะไรที่เกิดบนบก ซึ่งคนไม่เคยรู้เลยว่า 80% ของขยะในทะเลมันมาจากบนบก ก็คือมาจากเรา เขาเลยไม่รู้สึกว่าเขาต้องสนใจอะไร หรือบางคนคิดว่าทิ้งลงถังก็พอแล้ว คนอาจไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วระบบการจัดการขยะมันไม่สมบูรณ์ มันเลยเกิดการรั่วไหลออกไปสู่ทะเลได้ เราก็พยายามจะช่วยให้คนในสังคมเข้าใจประเด็นนี้มากขึ้นค่ะ”

โครงการงานรณรงค์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

“พฤติกรรมของคนอาจจะมีองค์ประกอบหลายอย่าง เราเริ่มจากคนซื้อ และก็ต้องมีคนขายด้วย คนซื้อ เราต้องสื่อสารกับเขาอยู่แล้ว แต่ฝั่งคนขาย เราคิดว่าก็น่าจะมีส่วนในการช่วยด้วยเหมือนกัน สิ่งที่เขาทำได้เช่น เปลี่ยน ‘พฤติกรรมเคยชิน’ เช่น ไม่ต้องปักหลอดมาให้ทันที ถ้าลูกค้าต้องการก็ค่อยขอเอง เมื่อตอนต้นปี เราทำเรื่องขบวนการงดหลอด เราทำโปสเตอร์มาแจกให้ร้านกาแฟหรือโฮลเทลที่เขาอยากได้โปสเตอร์นี้ไปแปะแทนการอธิบายให้ลูกค้า เพื่อง่ายต่อการสื่อสาร และอีกโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ การสำรวจจุดเติมน้ำ โดยมี ReReef ทำร่วมกับมูลนิธิโลกสีเขียว เรามองเห็นปัญหาคือพอคนพกกระบอกน้ำแล้วไม่มีที่เติม เราเลยอยากจะหาสถานที่ทั่วไปที่คนเข้าถึงได้ และมีตู้กดน้ำไว้บริการประชาชน ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการค่ะ”

ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในสังคมไทยยังคงมีจำนวนไม่มากนักถ้าเทียบกับคนในเมืองโกเตนเบิร์ก แต่จากข้อมูลและโครงการต่างๆ ที่กรณิศค่อยๆปลุกปั้นเพื่อให้มันไปถึงการรับรู้ของคนในสังคม เพื่อนำไปสู่ความตระหนักรู้และเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เราเชื่อว่าการหันมาพกถุงผ้า พกพาหลอดส่วนตัว ใช้กล่องใส่อาหาร เลือกใช้แชมพูก้อน ก็จะเป็นอนาคตที่อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมของสังคมไทยแน่นอน

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม
พิชา รักรอด

About the author

พิชา รักรอด
ทำงานด้านรณรงค์ให้คนลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเธอเองก็ลดใช้ไปพร้อมๆ กันด้วย เธอชอบเดินป่า เพราะมันทำให้เธอได้ท้าทายความสามารถของตัวเองและมองเห็นความสวยงามของธรรมชาติ เธอชอบกินชอคโกแลตที่มาจากการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน และชอบร้องคาราโอเกะมากอีกด้วย

Comments

Leave your reply