เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เดินทางมาร่วมรณรงค์ปกป้องทะเลและมหาสมุทรกับชุมชนชายฝั่งที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รวมถึงเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมเรือได้อีกด้วย นอกจากโซนต่าง ๆ ด้านบนเรือแล้ว เราได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมด้านในของเรือ เช่น Wet Room (ห้องเก็บอุปกรณ์ชั้นใน) Mess Room (พื้นที่ส่วนกลาง) และ Lounge (ห้องนั่งเล่น) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ลูกเรือใช้ชีวิตตลอดระยะเวลาปฏิบัติงาน บรรยากาศภายในห้องพักเหมือนบ้านหลังหนึ่งที่มีห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องทำงาน ห้องนอนครบครัน
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นเรื่องที่หลายคนอาจสงสัยคือการจัดการขยะบนเรือ ด้วยโครงสร้างของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์รุ่นล่าสุดที่ได้รับการออกแบบมาโดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน การลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ทรัพยากรต่าง ๆ จะถูกใช้อย่างประหยัดและคุ้มค่าก่อนที่จะไปสู่ปลายทางคือการกำจัดทิ้ง
บนเรือมีการคัดแยกขยะเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและใช้ประโยชน์ต่อภายหลัง ขยะที่เลอะคราบ จำเป็นต้องล้างก่อนเพื่อความสะอาด และเนื่องจากบนเรือมีพื้นที่จำกัด ทำให้ต้องลดพื้นที่ในการจัดเก็บขยะให้มากที่สุด เช่น บีบกระป๋องน้ำอัดลมก่อนทิ้ง หรือหากเรือกำลังจอดเทียบฝั่ง ถ้ามีขยะที่เรานำมาจากฝั่ง ก็ต้องนำติดตัวกลับไปทิ้งบนฝั่งอย่างถูกต้องด้วย
แยกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
บนเรือมีจุดแยกขยะหลายประเภทกระจายอยู่ภายในโซนห้องพักทั้งใน Mess Room และ Wet Room การแบ่งประเภทขยะเป็นไปตามข้อปฏิบัติสากล โดยแยกเป็นสามประเภทหลัก คือ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิลหรือขยะที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น ขวดพลาสติก กระดาษ โลหะ และขยะทั่วไป เช่น เศษพลาสติก ซองขนม หรือขยะอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ โดยในสองประเภทหลังจะต้องผ่านการล้างหรือทำความสะอาดก่อนเสมอ
แยกแล้วไปไหน
สำหรับปลายทางของขยะรีไซเคิลชนิดต่าง ๆ จะเก็บและนำไปมอบให้ชุมชนในพื้นที่ที่เรือเดินทางไปทำงานด้วย โดยจะมอบให้ชุมชนนำไปขายเป็นรายได้แก่คนในชุมชน ในงาน Ship Tour ที่อำเภอจะนะ เราก็นำขยะรีไซเคิลไปขายเพื่อนำเงินมาซื้อขนมแจกกลุ่มเยาวชนที่มาช่วยงาน ส่วนขยะทั่วไป ถ้าอยู่ในท่าเรือจะถูกส่งกำจัดตามระบบมาตรฐานท่าเรือสากล
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ การจัดการของเสีย สิ่งปฏิกูล และน้ำทิ้งของเรือ โถชักโครกบนเรือเป็นระบบสุญญากาศคล้ายบนเครื่องบิน ในห้องน้ำจะมีป้ายข้อปฏิบัติเขียนไว้ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้โถชักโครก โดยทิ้งได้เฉพาะของเสียและกระดาษชำระเท่านั้น และจะใช้น้ำส้มสายชูหรือน้ำยาชีวภาพสำหรับล้างห้องน้ำ เนื่องจากในระบบบำบัดน้ำทิ้งมีจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลายของเสียและทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นอยู่ด้วย นอกจากนี้ น้ำจืดที่ใช้บริโภคบนเรือก็มาจากระบบกรองน้ำทะเลซึ่งใช้พลังงานในการผลิต จึงต้องร่วมกันประหยัดน้ำและใช้น้ำเท่าที่จำเป็น
เมื่อเราได้เห็นทั้งที่มาที่ไปของสิ่งของต่าง ๆ บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเปรียบเสมือนโลกขนาดเล็กและได้มีโอกาสขึ้นไปเยี่ยมชมระบบการจัดการของโลกใบเล็ก ๆ นี้ ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรที่เราใช้กันอยู่ทุกวันอย่างเคยชินและอาจมองข้ามปลายทางของสิ่งเหล่านั้นไปเช่นกัน
เพราะมีระบบหลังบ้านที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับความร่วมมืออย่างดีของลูกเรือ จึงทำให้เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์เป็นต้นแบบเรือที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมและสามารถทำภารกิจรณรงค์รอบโลกได้เต็มที่ หากโลกของเรามีโครงสร้างและระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ บวกกับการปฏิบัติตามกฎหมายหรือระบบของประชาชน วิกฤตขยะในสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์ก็คงทุเลาลงไปได้มาก
แม้จะเป็นการจัดการขยะในพื้นที่ขนาดเล็ก แต่เราหวังว่าระบบการจัดการขยะของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายคน หลายองค์กร ในการนำไปปรับใช้ การแยกขยะและทิ้งอย่างถูกต้อง นอกจากจะทำให้สภาพแวดล้อมดูสะอาดตาเป็นระเบียบแล้ว ยังเป็นอีกทางหนึ่งที่เราในฐานะผู้บริโภคสามารถทำได้เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษพลาสติกที่โลกกำลังเผชิญในปัจจุบัน
บทความโดย: บุณย์ลดา จงจิตเกษม นิสิตฝึกงานกรีนพีซประเทศไทย