“พี่ครับ ๆ พี่คิดว่าปัญหาขยะพลาสติกมันใกล้ตัวมากน้อยแค่ไหนครับ?” คำถามนี้เป็นคำถามมาจากกลุ่มเด็ก ๆ ที่ชวนให้หันมอง และสะกิดให้เราคิดต่อว่า แล้วปัญหาขยะพลาสติกนั้นจริง ๆ แล้วมันใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราคิด

น้องที ลือสุขประเสริฐ น้องเจเดน ปาร์ค และน้องทญา สุขสันติ์ปานเทพ นี่คือกลุ่มน้อง ๆ จากโรงเรียนนานาชาติคอนคอเดียน (Concordian International School : CIS) ที่เลือกพูดคุยเรื่องปัญหาขยะพลาสติกที่ล้นเกิน โดยใช้มุมมอง การร้องขอ และตั้งข้อสังเกตได้อย่างน่ารัก

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เราหยิบเรื่องพลาสติกขึ้นมาทำ

ที ลือสุขประเสริฐ: พอดีว่าเป็นโปรเจคที่ทางโรงเรียนให้ทำ ซึ่งเดิมทีพวกเราสนใจเรื่องปัญหาขยะพลาสติกอยู่แล้ว เลยหยิบยกเรื่องนี้มาทำโดยสิ่งที่พวกเราทำคือ ทำถุงผ้า One less plastic bag ขึ้นมา และออกไปประชาสัมพันธ์ตามสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการพูดคุยถึงปัญหามลพิษ และผลกระทบของขยะพลาสติกครับ

หลังจากที่ทำแล้วชอบไหม

เจเดน ปาร์ค: ชอบนะครับ และรู้สึกยากด้วย(หัวเราะ)

อุปสรรคที่เจอในการทำงานคืออะไร

ทญา สุขสันติ์ปานเทพ: กลัวว่าคนจะไม่เข้าใจในสิ่งเราต้องสื่อสารในเรื่องผลกระทบของขยะพลาสติกค่ะ

นอกจากเรื่องพลาสติกล้นเกินแล้วคิดว่าเรื่องใดเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงอีกบ้าง?

ทญา สุขสันติ์ปานเทพ: เห็นสิ่งมีชีวิตอื่นๆได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะพลาสติกที่เราสร้างขึ้น นอกจากนี้พลาสติกที่มันแตกตัวย่อยสลายในทะเล สัตว์น้ำเล็กๆมันก็จะกินพลาสติกเหล่านั้นโดยที่คิดว่ามันคืออาหารและสุดท้ายสารเคมีจากขยะพลาสติกก็จะตกค้างอยู่ในห่วงโซ่อาหารของพวกเราซึ่งมันน่ากลัวมาก พอเราได้รู้ถึงผลกระทบ พวกเราจึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างค่ะ

ทุกวันนี้พวกเราได้เริ่มลดใช้พลาสติกกันบ้างหรือยัง?

ที ลือสุขประเสริฐ: มันยากเหมือนกันนะครับ(หัวเราะ) แต่ก็พยายามบอกคนที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ กับสิ่งที่เราทำว่าพวกเรากำลังทำอะไร ปัญหาอยู่ที่ไหน และผลกระทบมันคืออะไร จากนั้นพวกเขาก็เริ่มลดใช้ตามพวกผม ถึงจะทำได้บ้างไม่ได้บ้าง อย่างน้อยๆก็ลดใช้กว่าเมื่อก่อนที่ไม่เคยรับรู้เลยครับ

ถ้าปัญหานี้ไม่ได้ถูกแก้ไขคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต?

เจเดน ปาร์ค: พวกผมคิดว่าขยะพลาสติกมันต้องเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ถ้าเราไม่ลดหรือหยุดการใช้ มันเหมือนกับพลาสติกเดิมยังไม่ทันได้ย่อยสลายไป ก็มีอันใหม่มาแทนที่มันถึงไม่มีทางหมดไปสักที

อยากบอกผู้ใหญ่ว่าอะไร?

ที ลือสุขประเสริฐ: อยากให้รับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขาทำลงไป อาจจะโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่อยากให้เห็นใจคนรุ่นหลังๆที่ต้องอยู่กับโลกใบนี้ต่อไป และอยากให้เขาสร้างอนาคตที่ดีเพื่อส่งต่อให้พวกเรา

เห็นด้วยที่ว่าการรีไซเคิล ไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ล้นเกิน แต่มันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุจากขยะที่เกิดขึ้นมาแล้ว ผมคิดว่า การแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง การลดใช้ หยุดใช้ อันนั้นเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆครับ

ถ้าบอกกับตัวเราเองได้อยากบอกอะไร?

ที ลือสุขประเสริฐ: ในการทำโปรเจคครั้งนี้อย่างน้อยคิดง่ายๆ พวกเราบอกเรื่องนี้ให้กับคน 10 คน ถึงแม้ 10 คนนั้นจะไม่เข้าใจหรือไม่สนใจในสิ่งที่พวกเราทำ แต่ก็จะมีพวกเรา 3 คนนี่แหล่ะ ที่เข้าใจ และรับรู้ถึงสิ่งที่พวกเราเองกำลังทำ

     กิจกรรมนี้ถึงจะเป็นโปรเจคเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในวิชาเรียน แต่อย่างน้อยทำให้เห็นว่าน้องๆ เหล่านี้ได้นึกถึงเรื่องปัญหาขยะพลาสติกเป็นอันดับต้นๆ เพราะพวกเขาเห็น รับรู้ และได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมันไม่ได้เพียงแค่ส่งผลกระทบในสิ่งที่พวกเขาห่วงใย แต่พวกเขายังนึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลกที่พวกเขาต้องอาศัยอยู่ไปอีกหลายปีในอนาคตอีกด้วย หากคุณมีกลุ่มคนที่ริเริ่มเรื่องราวน่ารักอะไรแบบนี้อย่าลืมที่จะส่งต่อ แรงบันดาลใจมาให้เพื่อนๆได้อ่านกันนะครับ

#BreakFreeFromPlastic

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม