กรุงเทพฯ, 25 มกราคม 2562- กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงเปิดเผยการจัดอันดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในประเทศไทยล่าสุด ปี 2561 พร้อมทั้งเผยข้อมูลแผนที่แสดงความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 จากภาพถ่ายดาวเทียมในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) โดยกรีนพีซเรียกร้องให้ภาครัฐยกระดับมาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน

การจัดอันดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละอองPM2.5 ในประเทศไทยครั้งนี้ พบว่าในปี 2561พื้นที่เมือง 10 อันดับที่ต้องเผชิญกับมลพิษ PM2.5  คือ (1) ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร (2) ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก (3) ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ (4) ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (5) ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (6) ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง (7) ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี (8) ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ (9) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น และ (10) ริมถนนอินทรพิทักษ์ ธนบุรี

ในพื้นที่เมืองที่ต้องเผชิญกับมลพิษ PM2.5 ใน 10 อันดับแรกนี้พบว่ามีจำนวนวันที่มีความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐานของประเทศไทยที่กำหนดไว้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่ระหว่าง 19-68 วัน และเมื่อเปรียบเทียบกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่ควรเกินค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มากกว่า 3 วันในช่วงเวลา 1 ปี จะเห็นได้ว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองต้องเสี่ยงกับผลที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการรับสัมผัสมลพิษ PM2.5 ที่เกินมาตรฐานเป็นระยะเวลานาน และหากไม่มีมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศที่ก้าวหน้า ผลที่เกิดขึ้นคือวิกฤตด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างมากขึ้น

“เป็นเพราะไม่ยอมรับวิกฤต รัฐบาลจึงล้มเหลวในการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนนโยบายการจัดการคุณภาพอากาศให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัยตามเป้าประสงค์ที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากมลพิษทางอากาศ โดยมีตัวชี้วัดคือประชากรในเขตเมืองที่ได้รับมลพิษทางอากาศกลางแจ้งเกินค่ามาตรฐานตามค่าที่กำหนดขององค์การอนามัยโลก(WHO)” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระหว่าง ปี พ.ศ.2559-2561 (3) ชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว(extreme weather event)โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยแล้งที่รุนแรงยาวนานที่เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เอลนิโญในช่วงปี พ.ศ.2558-2559 นำไปสู่การสะสมจุดความร้อน(hotspot)ทำให้เกิดการเผาในที่โล่ง มีส่วนสำคัญที่ทำให้มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่สัมผัสไวต่อมลพิษทวีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นและกระจายครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของไทย เมียนมา ลาวและกัมพูชา จนถึงปี พ.ศ.2561 ค่าเฉลี่ยต่อปีของ PM2.5 ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่สัมผัสไวต่อมลพิษ(ตั้งแต่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไปยังคงปกคลุมพื้นที่ประเทศไทยถึงราวร้อยละ 60

กรีนพีซเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการยกร่างมาตรฐานในบรรยากาศของ PM2.5 ขึ้นใหม่สำหรับประเทศไทยโดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ. 2562 และกำหนดมาตรการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน HAZE-FREE 2020 อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

กรีนพีซขับเคลื่อนประเด็นมลพิษทางอากาศผ่านโครงการ “ขออากาศดีคืนมา” ซึ่งมีการจัดลําดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5)ในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์มลพิษในปัจจุบัน และเป็นการกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบายทุกระดับทบทวนแผนปฏิบัติการจัดการมลพิษทางอากาศที่ยังไร้ประสิทธิภาพ และยกระดับมาตรการที่ก้าวหน้าโดยมีเป้าหมายที่เจาะจง(Specific) วัดได้ (Measurable) ทำได้(Attainable) สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่(Relevant) โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน(Time-bound) เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน

ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกร่างมาตรฐานคุณภาพอากาศใหม่ได้ที่ www.greenpeace.or.th/right-to-clean-air

หมายเหตุ

  1. การจัดลำดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5)ในประเทศไทย ปี พ.ศ 2561 นี้ ใช้ข้อมูลที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ของกรมควบคุมมลพิษ  ของการตรวจวัดความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 จากทั้งหมด 53 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 29 จังหวัดโดยใช้เกณฑ์ค่าเฉลี่ยรายปี(หน่วย : ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ค่าเฉลี่ยสูงสุดรายเดือน(หน่วย : ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน มาพิจารณาในการจัดลำดับ
  2. ดาวน์โหลดรายงานการจัดอันดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในประเทศไทย ปี 2561ได้ที่ www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/Urban-Revolution/Air-Pollution/Right-To-Clean-Air/City-ranking/2018
  3. ดาวน์โหลด  รายงานการวิเคราะห์เบื้องต้น มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนจากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา)ได้ที่ www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/Satellite-derived-PM25-Mapping-Report
Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม