เป็นเวลากว่า 7 เดือนแล้วที่โลกของเราเผชิญกับการระบาดของไวรัส Covid-19 ในขณะเดียวกันชุมชนทั่วโลกก็ต้องเจอกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ แต่ทั่วโลกกลับเกิดเหตุการณ์มากมายไม่ว่าจะเป็น ไฟป่าในรัฐแคลิฟอเนียร์ที่มีเชื้อไฟมาจากภัยแล้งอย่างหนักหน่วง ไฟป่านี้เผาผลาญพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 5 ล้านเอเคอร์ กินพื้นที่ในรัฐแคลิฟอเนียร์ โอเรกอนและรัฐวอชิงตัน ยิ่งไปกว่านั้นยังคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 33 คน และทำให้ผู้คนนับหมื่น ตั้งแต่ซานฟรานซิสโก ชิคาโก ไปจนถึงกรุงนิวยอร์กต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศจนท้องฟ้ากลายเป็นสีส้ม

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเอเชียใต้เป็นเหตุการณ์ประจำปีที่สถานการณ์เลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ มีคนจำนวน 9.6 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้ ในภาพรวมเราอาจเห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติมาในรูปแบบของพายุฝน ไฟป่า น้ำท่วม เป็นต้น แต่ทราบหรือไม่ว่า ภัยคุกคามที่เกิดจากการขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติ (ecological threats) ก็เป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเช่นกัน

การขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติ (ecological threats)

สถาบันเพื่อเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ หรือ The Institute for Economics and Peace (IEP) ซึ่งเป็นสถาบันชี้วัดดัชนีการก่อการร้ายและดัชนีสันติภาพของโลก วิเคราะห์ว่าประชากรโลก 1.2 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ใน 31 ประเทศจะไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยประชากรโลกมากกว่า 1 พันล้านคนเหล่านี้จะต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศภายใน 30 ปี รวมทั้งการเติบโตของจำนวนประชากรยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานมากขึ้น ทั้งสองปัจจัยนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา

Climate Emergency Action at Laguna de Aculeo in Chile. © Martin Katz / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซถือป้ายแบนเนอร์ ภาพทะเลสาบ The Laguna de Aculeo ในชิลี ที่เคยเต็มไปด้วยน้ำแต่ปัจจุบันทะเลสาบแห้งนี้ไม่มีน้ำเหลืออยู่แล้ว © Martin Katz / Greenpeace

มี 19 ประเทศที่จะตกเป็นประเทศเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ อาหาร และมีแนวโน้มเผชิญกับภัยธรรมชาติมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังพบการขาดแคลนทรัพยากรใน 40 ประเทศที่มีสันติภาพน้อยที่สุดอีกด้วย โดยหลายประเทศที่พบเจอกับภัยการขาดแคลนทรัพยากร ประกอบไปด้วย ไนจีเรีย แองโกลา บูร์กินาฟาโซ (Burkina Faso) และอูกันดา ยังเป็นกลุ่มประเทศที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และจะต้องอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ตามที่รายงานระบุ

นอกจากนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวนำข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติและข้อมูลจากองค์กรอื่นๆ ประเมินและพบว่า มี 157 ประเทศที่จะต้องเผชิญการขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างน้อย  8 ระลอก และพบว่ามี 141 ประเทศที่ต้องเจอกับการขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างน้อย 1 ระลอก ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งภูมิภาคเช่น แอฟริกา ซาฮารา เอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ อาจเป็นภูมิภาคที่ต้องเผชิญภัยเช่นนี้บ่อยขึ้น

Drought in Maharashtra. © Subrata Biswas / Greenpeace
ภาพชาวบ้านใน เขต Mangalwheda taluk, Solapur ในอินเดีย กำลังเดินหาแหล่งน้ำใต้ดิน ในปี 2562 ที่ผ่านมาพื้นที่แห้งนี้เผชิญกับความแห้งแล้งอย่างหนัก © Subrata Biswas / Greenpeace

บางประเทศเช่น อินเดีย จีน เป็นสองประเทศที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่วนประเทศที่ไม่สามารถจัดการกับความต้องการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น  ปากีสถาน อิหร่าน เคนยา โมซัมบิกและมาดากัสการ์ จะต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวด้วยความยุ่งยากมากกว่าเดิม

การชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก คือทางออกที่ต้นเหตุ

Climate Change Impact Austria - Glaciers. © Mitja  Kobal / Greenpeace
ธารน้ำแข็งในออสเตรียละลายเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (ภาพนี้ถูกถ่ายเมื่อ 24 กันยายน 2563) © Mitja Kobal / Greenpeace

หากเรายังคงนิ่งเฉยและปล่อยให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการไม่จำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง เราจะต้องพบเจอกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการขาดแคลนทรัพยากร เช่น น้ำ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้มนุษย์เราอาศัยอยู่บนโลกนี้ได้อย่างยากลำบากกว่าเดิม ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้ก็คือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อชะลอไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้นไปมากกว่านี้

เราจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากทางไหนได้บ้าง

เพื่อชะลอไม่ให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงไปยิ่งกว่านี้ เราจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส สามารถทำได้ด้วยการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยรายงานของ IPCC ระบุว่า ทั่วโลกจำเป็นต้องลดใช้ถ่านหินจาก 2 ใน 3 ภายในปี พ.ศ.2573 และต้องลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593 โดยเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่ชาญฉลาดขึ้น นั่นคือการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบคาร์บอนต่ำในภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมและเมือง

นอกจากการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว การลดบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมที่มาจากการปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมก็ยังเป็นการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 

การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเพียงอย่างเดียวได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกพอ ๆ กันกับภาคการคมนาคมขนส่ง ระบบอาหารแบบนี้บังคับให้เราเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร และยังเป็นระบบที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด หากเรายังนิ่งเฉยกับประเด็นนี้ ในปี พ.ศ. 2593 ระบบอาหารนี้จะปล่อยก๊าซจำนวนมากเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของปริมาณก๊าซทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์

และในอีกด้านหนึ่ง เราจำเป็นจะต้องปกป้องผืนป่าโดยมุ่งลดการทำลายป่าไม้ให้เป็นศูนย์ ป่าไม้และที่ดินมีบทบาทสำคัญต่อเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงการดูแลผืนป่าที่มีอยู่และการอนุรักษ์ดินเพื่อขยายศักยภาพในการกักเก็บและดูดซับคาร์บอน

เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและประเทศทั่วโลกประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

ในระยะยาวของประเทศไทย(ปลายศตวรรษที่ 22) ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นราว 2.39 เมตร เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้น 4.3 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับการเพิ่มของระดับน้ำทะเล 1.36 เมตร ที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก 1.6 องศาเซลเซียส ความเสี่ยงที่มาจากพายุหมุนเขตร้อนจะเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย ภายใต้สถานการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกอยู่ที่ 2.4 องศาเซลเซียส จำนวนพายุหมุนเขตร้อนระดับ 4 และ 5 จะเพิ่มขึ้นราว 130% ความรุนแรงของภัยพิบัติจากพายุหมุนเขตร้อนยิ่งมากขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกหนักและการเพิ่มของระดับน้ำทะเล นี่เป็นเพียงวิกฤตสภาพภูมิอากาศเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุที่เราเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
เยาวชนและคนทั่วไปร่วมกิจกรรม Global Climate Strike บริเวณสวนลุมพินี ในเดือนกันยายน 2562 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน © Chanklang Kanthong / Greenpeace

แม้ว่าในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(2561-2580) ของประเทศไทยระบุว่าจะมุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ และการสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่อลดความสูญเสียและเสียหายจากภัยธรรมชาติและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ แต่เห็นได้ชัดเจนว่าละเลยประเด็นความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) ในขณะที่การใช้ถ่านหินนำเข้าในภาคอุตสาหกรรมยังเพิ่มปริมาณมากขึ้น สวนทางกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการ “ลด ละ เลิกถ่านหิน” ตามเจตนารมย์ของความตกลงปารีส โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา การถมทะเลขยายท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ข้อเสนอถมทะเลของเอ็กซอนโมบิล ไปจนถึงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักที่คุกคามความมั่นคงทางอาหารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น นั้นย้อนแย้งกับคำว่า “เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ” อย่างถึงที่สุด

ยังมีการสนับสนุนอีกหลากหลายทางที่เราสามารถทำได้ไม่ใช่แค่การถือป้ายรณรงค์เท่านั้น เราสามารถรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้แม้แต่เวลาที่เราไม่ได้ออกไปไหน  

Global Climate Strike March in Mexico. © Víctor Ceballos / Greenpeace
กิจกรรม Global Climate Strike โดยเยาวชนและบุคคลทั่วไปในเม็กซิโก © Víctor Ceballos / Greenpeace

นอกจากการแชร์งานรณรงค์ของชุมชนหรือองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การลงชื่อร่วมผลักดันงานรณรงค์บนเว็บไซต์ยังเป็นการใช้สิทธิ์ในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นการแสดงพลังมวลชนผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นการลงชื่อร่วมรณรงค์ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศ เป็นต้น ซึ่งนอกจากการร่วมลงชื่อผลักดันงานรณรงค์ในประเทศแล้ว เรายังสามารถร่วมลงชื่อในงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกอีกด้วย เช่น การร่วมลงชื่อสนับสนุน สนธิสัญญาทะเลหลวง ที่เป็นสนธิสัญญาคุ้มครองพื้นที่มหาสมุทร 1 ใน 3 ของโลก จำกัดการเข้าไปหาทรัพยากรของอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลกร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่า 3 ล้านคน

เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้นด้วย “ความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม” (Climate Justic)

การเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด การฟื้นฟูผืนป่าและหวนคืนสู่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งทางออกเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยชะลอวิกฤตเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว แต่ยังช่วยลดระยะความเหลื่อมล้ำด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศของกลุ่มคนจนและกลุ่มคนมั่งคั่ง เมื่อโลกต้องประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประเทศที่มีส่วนรับผิดชอบในการก่อให้เกิดหายนะสภาพภูมิอากาศควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่มากกว่าที่จะผลักภาระหนี้ให้กับประเทศเหล่านั้น

การที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้เท่าเทียมขึ้นนั้น เราต้องมองภาพที่กว้างกว่ามูลค่าตลาดหุ้น มองภาพที่ใหญ่กว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) แต่ให้เรามองในมุมของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่จะทำให้เราเห็นถึงโอกาสในการสร้างความเป็นธรรมให้กับโลกของเราและปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขนโยบายของประเทศ โครงสร้างสังคม และความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ

ตัวแทนจาก ชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง ในจังหวัดสงขลา ร่วมกันกล่าวคำประกาศเจตนารมย์คัดค้านโครงการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นเรือลักษณ์ของกรีนพีซ

ความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศยังหมายถึงการหันกลับมามอง “ชุมชน” เป็นหลัก ซึ่งชุมชนนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและสามารถฟื้นฟู ปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติทั่วโลกได้มากถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว

ความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ จะทำให้เรากล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้ให้เกิดความเท่าเทียมกันและทำให้เรากล้าที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางที่ไม่ใช่แค่เป็นไปได้ แต่มันจะเป็นแนวทางที่จำเป็นและจะทำให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม

Brand Audit in Chonburi, Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซ

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกประเภทของอาสาสมัครได้ตามความสนใจ อาทิ เยาวชนกรีนพีซ (Youth) นักพูดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Greenspeaker) นักกิจกรรมเชิงออนไลน์ (Digital Activist) และนักกิจกรรมภาคสนาม (Activist)

มีส่วนร่วม