ไม่ทันไรก็จะหมดไปอีกปี ในปี 2565 นี้ สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 เริ่มไปในทางที่ดีขึ้น แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อม วิกฤตสภาพภูมิอากาศกลับทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน
กรีนพีซรวบรวมภาพเหตุการณ์สิ่งแวดล้อม และการต่อสู้ของผู้คนจากทั่วประเทศไทย เพื่อเรียกร้องสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี
จากสถานการณ์น้ำมันรั่วระยอง ไปจนถึงการประชุม APEC ปี 2022 ประเทศไทยผ่านอะไรมาบ้าง มาดูกัน!
#น้ำมันรั่วระยอง หายนะทะเลไทย
ในคืนวันที่ 25 มกราคม 2565 ท่อน้ำมันดิบใต้ทะเลบริเวณอ่าวมาบตาพุด จ.ระยอง เกิดการรั่วไหล บริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ส่งผลให้มีคราบน้ำมันดิบกระจายกลางอ่าวไทย พัดขึ้นฝั่งและปนเปื้อนชายหาดแม่รำพึง จังหวัดระยองในช่วงเช้าของวันที่ 29 มกราคม 2565
#ฟ้องทะลุฝุ่น จี้รัฐแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 หยุดละเลยหน้าที่ปกป้องสุขภาพประชาชน
เครือข่ายประชาชนร่วมกัน #ฟ้องทะลุฝุ่น โดยตัวแทนจาก มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่ นักกิจกรรมทางสังคมและเครือข่ายประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม เดินทางไปที่ศาลปกครอง กรุงเทพฯ ถนนแจ้งวัฒนะโดยเป็นผู้ร่วมฟ้องคดีปกครองต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักที่ละเลยการปฎิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดในการคืนอากาศสะอาดซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน
#Saveอมก๋อย ก่อนกลายเป็นเหมืองถ่านหิน
1 เมษายน 2565 พี่น้องจากชุมชนกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “อมก๋อย” แดนมหัศจรรย์: ลมหายใจบนไหล่เขา รอยยิ้มของผืนดิน เสียงหัวเราะของสายน้ำ บริเวณประตูท่าแพ สถานที่สำคัญในตัวเมืองเชียงใหม่ ส่งต่อเรื่องราวของอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่อาจหายไป รวมถึงสื่อสารข้อกังวลต่าง ๆ ของชุมชนที่มีต่อโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย
ในเดือนเดียวกัน ชาวบ้านอมก๋อยจำนวน 50 คนเป็นผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ และ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ศาลปกครองเชียงใหม่ให้เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) ของเหมืองถ่านหินอมก๋อย
ชุมชนมีความกังวลว่าเหมืองถ่านหินอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้อง อมก๋อย ชาวอมก๋อยขอให้มีการเพิกถอนรายงานฉบับอีไอเอของโครงการนี้ และต้องการการจัดทำอีไอเอมีความโปร่งใสและมีการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น
#NoNPOBill เพราะการรวมกลุ่มคือสิทธิเสรีภาพ
กรีนพีซแถลงหนุน #NoNPOBill “ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน” คัดค้านร่างกฎหมายทุกฉบับที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุม กำกับ ทำลายสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ รวมถึงละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอันเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
และเน้นย้ำว่าประเทศไทยจะไม่มีวันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หากรัฐบาลผ่าน พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่ม หรือ NPO Bill
กระบี่ประกาศชัยชนะต่อถ่านหิน! เดินหน้าสู่เมืองพลังงานหมุนเวียน
เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ประกาศชัยชนะต่อสาธารณะว่า ด้วยพลังประชาชนทำให้วันนี้ กระบี่และอันดามันปลอดภัยจากถ่านหินแล้ว และกำลังจะมุ่งหน้าเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% ผ่านกิจกรรมที่ชื่อว่า “วันที่กระบี่ไม่มีถ่านหิน” โดยมีตัวแทนจากเครือข่าย นักวิชาการ นักรณรงค์ ร่วมพูดคุยถึงศักยภาพของกระบี่และอันดามันต่อการเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน
#ทวงคืนน้ำพริกปลาทู
ปลาลด อาหารทะเลแพง วิกฤตทวีความรุนแรง แต่รัฐยังนิ่งเฉย! ชาวประมงพื้นบ้านจึงต้องออกเดินทางกว่าพันกิโลเมตร จากปัตตานีล่องเรือผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาถึงท่าเรือสัปปายะสถาน (รัฐสภา)กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาปัญหาที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดนโยบายและประกาศมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างจริงจัง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการ“ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” ให้กับทุกคน
กรีนพีซพบชัชชาติ!
ชนกำปั้น! กรีนพีซ ประเทศไทยพบผู้ว่าฯชัชชาติ พูดคุยแนวทางต่อกรวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เสนอจัดตั้งเขตเมืองปลอดฝุ่น ลดขยะจากต้นทาง และติดโซลาร์รูฟท็อปอาคารกทม.ที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ภายในกรอบระยะเวลา 4 ปี
ลูกสาวจะนะ ไครียะห์เรียกร้องปกป้องมหาสมุทร ที่นิวยอร์ก
ภาพไครียะห์ ระหมันยะ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศไทย ถูกฉายที่พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ ร่วมกับนักกิจกรรมจากหลายประเทศ และนักแสดงชื่อนำอย่าง บอนนี่ ไรท์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ จินนี่ วีสลีย์ จากแฮรี่ พอตเตอร์ เพื่อเรียกร้องให้ตัวแทนรัฐบาลที่มาประชุมในงาน IGC5 ลงนามในสนธิสัญญาทะเลหลวงทันที
กรีนพีซ ประเทศไทย มอบรางวัล Top 5 Corporate Plastic Polluters
กรีนพีซ ประเทศไทย มอบรางวัล Top 5 Corporate Plastic Polluters หรือผู้ก่อมลพิษพลาสติกสูงสุด 5 อันดับแรก ประเภทแบรนด์ในประเทศ ให้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group), ดัชมิลล์, โอสถสภา, เสริมสุข และสิงห์ คอร์เปอเรชั่น โดยในปี 2561-2565 ที่ผ่านมา กรีนพีซและเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ ได้ร่วมเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit)
พร้อมเรียกร้องให้ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าในไทยตั้งเป้าลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลงทุนในระบบเก็บพลาสติกหลังการใช้งานกลับคืน การใช้ซ้ำ และรีฟิลโดยใช้ภาชนะใช้ซ้ำ ตลอดจนสนับสนุนกรอบกฎหมายที่ใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(Extended Producer Responsibility หรือ EPR) ในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย
กรีนพีซลงน้ำชูป้าย APEC #หยุดฟอกเขียว
นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทยกางป้ายผ้าที่มีข้อความ “APEC หยุดฟอกเขียว” เพื่อส่งข้อความถึงผู้นำประเทศที่จะมาประชุม #APEC ในบริเวณบึงน้ำของสวนเบญจกิติใกล้กับอาคารจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับการประชุม COP 27 ที่สาธารณรัฐอียิปต์
กิจกรรมครั้งนี้ กรีนพีซต้องการส่งข้อความถึงกลุ่มผู้นำประเทศ APEC ให้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงประเด็นความสูญเสีย และเสียหาย (Loss and Damage) ของสังคมและสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลไทยต้อง #หยุดฟอกเขียว แก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง