PlasticFreeJuly 🙂

สวัสดีเดือนกรกฎาคมค่ะ 🙂 เผลอแป๊บเดียวก็ผ่านไปครึ่งปีแล้ว เป็นยังไงกันบ้างคะกับครึ่งปีแรกที่ผ่านมานี้ ทุกท่านได้มีโอกาสทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกกันบ้างหรือยังคะ สำหรับใครที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ตอนนี้ก็ยังไม่สายนะคะที่จะเริ่ม อย่างที่เพลงเขาว่า “พรุ่งนี้ไม่สาย ที่จะรักกัน” ดังนั้นในครึ่งปีหลังนี้ เราจึงอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมแสดงความรักของเราที่มีต่อโลกใบนี้กับกิจกรรม #PlasticFreeJuly ด้วยการลดขยะพลาสติก เพื่อชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อให้โลกที่น่าอยู่ของเราคงอยู่ต่อไป…

พลาสติกทำอะไรกับร่างกายของเรา

Mermaid in Distress on the Island Mljet in Croatia. © Hrvoje Šimic / Greenpeace

ปลาและหอยกินพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ เข้าไป พลาสติกเหล่านั้นจะเข้าไปสะสมในตัวปลา หลังจากนั้นพวกมันถูกกินโดยปลาใหญ่ ลำพังพลาสติกนั้นก็เป็นพิษอยู่แล้ว แต่ก็ยังดูดซับสารเคมีที่เป็นพิษจำนวนมากจากมหาสมุทรเข้าไปอีก ปลาเหล่านี้ถูกจับและกินโดยมนุษย์พร้อมกับพลาสติกและสารเคมีที่สะสมอยู่ในตัวมัน โดยพื้นฐานแล้วก็คือคุณกำลังกินพลาสติกที่คุณเป็นคนทิ้งลงไปในมหาสมุทรนั่นเอง พลาสติกประกอบด้วยสารเคมีที่ทราบกันดีว่ามีส่วนทำให้เกิดมะเร็ง การขัดขวางระบบภูมิคุ้มกัน ปัญหาการสืบพันธุ์ และปัญหาพัฒนาการในเด็ก

End the Age of Single Use Plastics in Budapest. © Attila Pethe / Greenpeace

“เพราะคนไม่จำเป็น ก็ต้องเดินจากไป..”

ต้อนรับเดือน 7 ด้วย 7 วิธีสุดแสนจะง่าย ที่คุณสามารถทำได้เพื่อลดขยะพลาสติก ถึงเวลาแล้วที่พลาสติกจะต้องหมดไป!

1.กฏข้อแรกก็คือห้ามทิ้ง!

MAKE SMTHNG Week in Bangkok. © Baramee Temboonkiat / Greenpeace

สิ่งของไม่ใช้แล้ว อย่าเพิ่งทิ้งค่ะ ลองนำมาดัดแปลงเป็นของ D.I.Y กันดู เช่น กระถางต้นไม้จากขวดน้ำพลาสติก หรือเสื้อยืดตัวเก่าที่ไม่ได้ใส่แล้วมาตัดเป็นถุงผ้าไว้ชอปปิง เป็นต้น ซึ่งนอกจากวิธีนี้จะช่วยลดปริมาณขยะได้แล้ว ยังเป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วยค่ะ

2.ไม่เอานะเกรงใจ ไม่ดีหรอกเกรงใจ

Brand Audit and Waste Audit at Freedom Island. © Jilson Tiu / Greenpeace

รู้จักปฏิเสธ ไม่รับหลอดพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือเมื่อคุณสั่งเครื่องดื่มตามร้านอาหารใด ๆ ก็ตาม หรืออาจเปลี่ยนมาใช้หลอดสแตนเลสหรือหลอดซิลิโคนที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้แทน หลอดพลาสติกมักเป็นสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวที่ไม่จำเป็น มันใช้เวลานานถึง 200 ปีในการย่อยสลาย แต่มันจะไม่มีวันหมดไปจากโลก เพราะพลาสติกเหล่านี้เพียงแค่แตกตัวเป็นพลาสติกชิ้นเล็กๆ หรือไมโครพลาสติก และที่แย่ไปกว่านั้น พลาสติกเหล่านี้จะปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายก็จะย้อนกลับมาหาตัวเราเอง

3. ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน

Biological Lunchbox. © Greenpeace / Gerda Horneman

ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนอาหารกลางวันแบบเดิม ๆ ของคุณ ที่เต็มไปด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เปลี่ยนมาแพ็คอาหารกลางวันของคุณในภาชนะและขวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น กล่องข้าวและขวดน้ำซิลิโคนที่สามารถพับได้ หรือห่อขนมแซนวิชด้วย Beewax Wrap เป็นต้น ไม่ว่าจะนำไปจากบ้าน หรือไปซื้ออาหาร เครื่องดื่มที่ไหนก็ตาม

4.ช่วยเก็บผ้าเช็ดหน้าของฉันหน่อยได้ไหม เพราะฉันทํามันตก

“Don’t Flush Old Growth Forests Down the Toilet” Action in Denmark. © Uffe Weng / Greenpeace

“ทิชชูเปียก” กลายเป็นสิ่งจำเป็นและขาดไม่ได้สำหรับใครหลาย ๆ คน เพราะมันแสนจะสะดวกสบายและใช้ง่าย ตามรายงานของสถาบัน EarthWatch พบว่าทิชชูเปียกเป็นต้นเหตุของการที่ระบบท่อน้ำเสียอุดตัน และทิชชูเปียกกว่า 9.3 ล้านแผ่นถูกใช้ในการล้างเครื่องสำอางหรือใช้เช็ดมือแทนการล้างมือ แต่ทราบหรือเปล่าคะว่าเจ้าทิชชูเปียกนี้ใช้เวลานานกว่า 100 ปีในการย่อยสลายทางชีวภาพเลยทีเดียว ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะมันทำมาจากโพลีเอสเตอร์ที่มีส่วนประกอบของใยพลาสติก และผ่านกระบวนการทางเคมี จึงไม่สามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วเหมือนทิชชูหรือผ้าทั่วไป เมื่อถูกใช้และทิ้งจึงกลายเป็นขยะที่ไม่ต่างอะไรกับขยะพลาสติก หากเราเปลี่ยนมาใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนก็จะเป็นการช่วยลดขยะพลาสติกไปได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ผ้าเช็ดหน้ายังสามารถซักและนำมากลับใช้ซ้ำได้เรื่อย ๆ ด้วยค่ะ

5.แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม เลือกให้เธอไม่ไปได้หรือเปล่า

Zero Waste Shop Zurich, container with food, person filling container. © Greenpeace

เราอาจจะไม่สามารถเลือกให้ใครอยู่กับเราตลอดไปได้ แต่เราสามารถฉลาดเลือก ฉลาดซื้อได้ โดยเลือกซื้อสินค้าขนาดใหญ่ เพื่อที่จะได้มีใช้ไปนาน ๆ และไม่ต้องซื้อใหม่บ่อย หรือเลือกซื้อแบบการเติม (Refill) ตามร้าน refill ทั่วไปที่เริ่มมีมากขึ้นในปัจจุบัน เพื่อลดการซื้อของในบรรจุภัณฑ์ใหม่ สิ่งนี้จะเป็นการช่วยลดขยะพลาสติกได้เป็นอย่างดี หรือบางท่านอาจจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีแพจเกจเป็นกระดาษ แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่า เพจเกจกระดาษนั้นไม่มีการเคลือบพลาสติกใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อจะไม่เป็นการทำลายธรรมชาติ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

6.ถุงผ้านี้ๆๆๆๆ ใช้แล้วดีๆๆๆๆ ทุกอย่างมีๆๆๆๆ

Plastic-Free Shopping Practices in Mangwon market, Seoul. © Jung-geun Park / Greenpeace

ขาชอปทั้งหลายฟังทางนี้ เนื่องจากขณะนี้ตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เริ่มทยอยกันงดแจกถุงพลาสติกให้กับคนที่มาชอปปิงแล้ว หากคุณต้องการถุงจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อ จะเป็นการดีกว่าไหมถ้าคุณพกถุงผ้าของคุณไปเอง ทีนี้ก็จะได้ชอปปิ้งอย่างสบายใจกันแล้ว

7. บอกลากันสักทีจะดีไหม ยื้อก็เหมือนเราจะยิ่งเหนื่อย

ได้เวลาบอกลาหมากฝรั่งแล้ว หลาย ๆ คนอาจจะชอบเคี้ยวหมากฝรั่งด้วยสาเหตุต่าง ๆ กันไป เช่น เพื่อดับกลิ่นปาก เพื่อสุขภาพฟัน เพื่อความเพลิดเพลิน แต่บางคนอาจยังไม่รู้ถึงภัยของเจ้าหมากฝรั่งตัวร้ายนี้ เพราะมันทำมาจากพอลิเมอร์สังเคราะห์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หรือก็คือพลาสติกนั่นเอง

ขอบคุณภาพโดย Ryan McGuire จาก Pixabay

นี่คือวิธีง่าย ๆ ที่เรานำเสนอ แล้วคุณล่ะคะมีวิธีอื่นอีกไหมที่จะช่วยลดขยะพลาสติก อย่าเก็บไว้กับตัวคนเดียวนะคะ มาร่วมกันแบ่งปันวิธีรักษ์โลกในแบบของคุณผ่าน Facebook : Greenpeace Thailand เพราะทุกการลงมือของคุณเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลก

 

#BreakFreeFromPlastic

 

บทความโดย ฉันท์ชนก หิรัญ นักศึกษาฝึกงาน กรีนพีซ