จาการ์ตา, วันที่ 10 มิถุนายน 2021 – รายงานการศึกษาวิจัยฉบับใหม่ของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าระดับมลพิษไนโตรเจนออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นในหลายเมืองทั่วโลกในรอบ 1 ปีหลังการล็อคดาวน์รอบแรกจากวิกฤตโควิด -19 [1]

“การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ตราบเท่าที่ระบบพลังงานและการคมนาคมยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล มลพิษทางอากาศจะยังคงเป็นวิกฤตใหญ่ด้านสาธารณสุข ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นเป็นเพียงผลพลอยได้ชั่วคราวจากการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ เราต้องหาทางออกที่ทำได้จริงในระยะยาวเพื่อช่วยให้เรามีอากาศสะอาดไว้หายใจ ไม่ว่าจะไปที่ไหนในเมืองก็ตาม การใช้พลังงานลม แสงอาทิตย์และระบบคมนาคมทางเลือกจากระบบพลังงานหมุนเวียนนั้นคุ้มทุนกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เราเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือทำในทันที” ดร.ไอแดน ฟาร์โรว์ นักวิทยาศาสตร์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ สากลกล่าว

ข้อค้นพบจากการศึกษาจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียม 

  • มลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงอย่างมากในหลายพื้นที่ทั่วโลกในช่วงการล็อคดาวน์รอบแรกเมื่อต้นปี 2563 หากเทียบกับปีก่อนหน้านี้ [2]
  • 1 ปีภายหลังมาตรการรล็อคดาวน์รอบแรกจากวิกฤตโควิด-19 มลพิษไนโตรเจนออกไซด์กลับมาเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ทำการศึกษาแม้ว่าจะพิจารณาถึงปัจจัยสภาพอากาศแล้ว ผลที่ได้ยังสอดคล้องกัน
  • จังหวัดเคาเต็ง ซึ่งเป็นที่ตั้งกรุงโจฮันเนสเบิร์ก เมืองหลวงของแอฟริกาใต้ มลพิษทางอากาศมีระดับเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลหากเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19  แต่ระดับมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ลดลงราวร้อยละ 30 ทว่าช่วงปี 2564 ในเดือนเดียวกันนั้นกลับพบว่ามลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนการระบาดครั้งใหญ่ถึงร้อยละ 47 
  • แม้ว่ามลพิษทางอากาศจะลดลงอย่างมากในช่วงต้นปี 2563 ในหลาย ๆ เมืองรวมทั้งกรุงเทพมหานคร และกรุงจาการ์ตา มลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์กลับมาเพิ่มขึ้นเท่ากับก่อนช่วงวิกฤตโควิด- 19 ภายใน 1 ปีหลังการล็อกดาวน์รอบแรก
  • แม้ระดับมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์จะกลับมาเพิ่มขึ้นทุกเมืองในช่วงเดือนเมษายน 2564 แต่มีบางเมือง เช่น ลอสแอนเจลิส และอู่ฮั่น มลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19

ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์[3] ถูกปล่อยสู่บรรยากาศเมื่อเชื้อเพลิงถูกเผาไหม้ ซึ่งรวมถึงยานยนต์ การผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรม เราสามารถลดการปล่อยมลพิษทางอากาศดังกล่าวลงได้โดยขยายระบบพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งการลงทุนในระบบขนส่งมวลชนสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

บอนแดน อันดรียานู ผู้ประสานงานรณรงค์ กรีนพีซ อินโดนีเซีย กล่าวว่า 

“ขณะที่รัฐบาลพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด นี่คือโอกาสสำคัญที่รัฐบาลจะผลักดันการลงทุนระบบพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และสนับสนุนระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและเข้าถึงได้ ในขณะเดียวกัน มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในช่วงล็อคดาวน์ เช่น การลดการเดินทางทางอากาศ การใช้จักรยานเพิ่มขึ้น และมีการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งหากยังดำเนินต่อไปหลังจากพ้นวิกฤตโรคระบาด ความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศก็จะลดลง”

หมายเหตุ

[1] นักวิจัยวิเคราะห์ระดับของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ระดับพื้นดินและฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) รวมทั้งการอ่านค่าปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่วัดโดยเซ็นเซอร์ Tropomi บนดาวเทียม Sentinel-5P

[2] ในรายงานนี้ ระดับมลพิษทางอากาศก่อนเกิดโควิด-19 คำนวณจากค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์  ในปี 2561 และ 2562 ซึ่งเป็นช่วงสองปีแรกที่เซ็นเซอร์ Tropomi บันทึกข้อมูลความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์

[3] อ่านเพิ่มเติมเรื่องมลพิษไนดตรเจนไดออกไซด์ได้ใน “จับตาแหล่งกำเนิดไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) คู่หู PM2.5 ในประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย อีเมล[email protected] โทร. 081 929 5747 

โต๊ะข่าว กรีนพีซ สากลอีเมล [email protected] โทร +31 (0) 20 718 2470 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

อ่านรายงานที่นี่

สรุปผลการศึกษา 

  • สอดคล้องกับผลการศึกษาที่ผ่านมา หลายพื้นที่ทั่วโลกมีมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า
  • หนึ่งปีภายหลังมาตรการล็อกดาวน์โควิด -19 ครั้งแรก พบว่ามลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ของการศึกษา ผลที่ได้สอดคล้องกันแม้ว่าจะนำเอาปัจจัยทางสภาพอากาศมาพิจารณา
  • มลพิษทางอากาศไม่ได้กลับมาเพิ่มขึ้นเท่ากับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ทำการการศึกษา ส่วนหนึ่งอาจเพราะมาตรการควบคุมโรคระบาดยังคงมีผลบังคับใช้ในหลายพื้นที่
  • การวิเคราะห์โดยพิจารณาปัจจัยด้านสภาพอากาศ (Weather Correction analysis) ยืนยันว่าการลดลงของมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ในปี 2563 และการกลับมาเพิ่มขึ้นในปี 2564 มาจากการเปลี่ยนแปลงของการปล่อยมลพิษทางอากาศเป็นหลักเหลัก ในขณะที่ปัจจัยทางสภาพอากาศเป็นส่วนเสริม
  • จังหวัดเคาเต็งซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงโจฮันเนสเบิร์ก เมืองหลวงของแอฟริกาใต้ มีมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนการระบาดของโควิด-19 จากการสำรวจมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์จากภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าในช่วงเดือนเมษายน 2563 มลพิษดังกล่าวลดลงราวร้อยละ 20 ทว่าช่วงปี 2564  ในเดือนเดียวกันนั้น มลพิษได้กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเพิ่มขึ้นเกินช่วงก่อนการระบาดครั้งใหญ่ถึงร้อยละ 47 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 77 จากช่วงปี 2563)
  • แม้มลพิษทางอากาศในช่วงต้นปี 2563 จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ความเข้มข้นของมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ในเมืองต่าง ๆ เช่นกรุงเทพมหานคร และกรุงจาการ์ต้า ได้กลับสู่ระดับเดิมก่อนการระบาดของโควิด-19 หลังการล็อคดาวน์ครั้งแรก 
  • แม้ว่าจะพบการกลับมาของมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ในทุกเมืองทั่วโลก มีบางเมือง เช่น ลอสแอนเจลิส อู่ฮั่น  แม้จะพบมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2564 แต่ยังเพิ่มน้อยกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19