ณ ศาลปกครองสูงสุด
10 สิงหาคม 2566
ฝุ่นพิษขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคจิ๋วประมาณ 1 ใน 25 ของสัมผัสมนุษย์ ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ สามารถแพร่กระจายสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมกระบวนการทํางานอวัยวะต่างๆ เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศหลัก (Criteria Pollutants) ที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนทั่วโลกราว 3-9 ล้านคนต่อปี [1] และ 29,000-37,500 คนต่อปีในประเทศไทย [2] จากโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคภูมิแพ้ โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและโรคมะเร็งปอด
ในปี 2556 องค์กรวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency Research on Cancer : IARC) ขององค์การอนามัยโลกระบุว่าฝุ่น PM2.5 ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ [3] ดังนั้นจึงก่อให้เกิดภาระโรค (Burden Disease) และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ในปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขของไทย กำหนดให้โรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5 เป็นโรคจากสิ่งแวดล้อม [4]
หากใช้คุณภาพอากาศตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก(เป้าหมายระยะที่ 3) ซึ่งกำหนดให้วันที่มีอากาศดี คือวันที่มีดัชนีคุณภาพอากาศ(AQI)ไม่เกิน 50 หรือค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 37 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จากข้อมูลจะพบว่า พื้นที่ 5 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลาและสระบุรี ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีสัดส่วนวันอากาศดีตลอด 1 ปี ไม่ถึง 30% หรือเฉลี่ยไม่เกิน 100 วัน เฉพาะสระบุรีจะมีวันที่อากาศดีเพียง 5 วันเท่านั้นจาก 365 วัน [5] สะท้อนถึงการที่สิทธิของเราที่จะมีชีวิตอยู่ในอากาศดีถูกละเมิดไม่เว้นแต่ละวัน
ข้าพเจ้า นาย ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย หนึ่งในผู้ฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ส.6/2565 ขอแถลงยืนยันถึงข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ของการฟ้องต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 คือ (1) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ (3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปให้เข้มงวดและมีความปลอดภัยต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น
ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562-2567 กำหนดมาตรการระยะสั้นว่าจะต้องปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไปเฉลี่ยรายปีให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ภายในปี 2564 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ จนกระทั่งผ่านไป 1 ปี 4 เดือน จึงจัดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไปเป็นครั้งแรกโดยกรมควบคุมมลพิษในเดือนมกราคม 2564
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ โดยทั่วไป เพื่อพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 แต่มีการประชุมเพียงครั้งเดียวในวันที่ 1 กันยายน 2564
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ตัวแทนของผู้ฟ้องคดีจึงยื่นหนังสือเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดี เร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลในวันที่ 22 มีนาคม 2565 คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงได้พิจารณาเรื่องนี้ และออกประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 8 กรกฎาคม 2565
จะเห็นว่า การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะอนุกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2565 เป็นต้นมา ล้วนแต่เกิดขึ้นภายหลังและสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ทั้งสิ้น
อนึ่ง การบังคับใช้ค่ามาตรฐานที่ปรับแล้วของฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปเฉลี่ย 24 ชั่วโมง (ไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาส่งผลให้การดำเนินมาตรการที่จำเป็นรวมถึงการแก้ไขกฎหมาย นโยบาย และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของหน่วยงานรัฐและเอกชนทุกภาคส่วนต้องล่าช้าออกไปอีก ในขณะที่ผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ยังคงก่อวิกฤตรุนแรงในทางสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมคิดเป็นมูลค่ามหาศาล
แม้จะมีการปรับมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปให้เข้มงวดขึ้นแล้ว ความล่าช้าเกินสมควรถือเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลพึงวินิจฉัยไว้ให้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการทางปกครองที่ดีเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและปกป้องสุขภาพของประชาชน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 2 และ 3 ร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแก่เหตุในการออกหรือแก้ไขประกาศค่ามาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียประเภทฝุ่น PM2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิด
แม้จะมีการปรับมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ก็ยังมิได้แก้ไขประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดมาตรฐานการควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่นๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ไว้เป็นการเฉพาะ
ประกาศกระทรวงที่ออกโดยหรืออยู่ในความรับผิดชอบเกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานควบคุมฝุ่นละอองที่ระบายจากปล่องโรงงานหรือแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ นั้นเป็นการกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองรวม (TSP) หรือกำหนดมาตรฐานการตรวจวัดค่าความทึบแสงเท่านั้น แต่มิได้กำหนดค่าฝุ่น PM2.5 แยกไว้เป็นการเฉพาะ
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า การควบคุมการปลดปล่อยฝุ่น PM2.5 จากปลายปล่องโดยใช้ ค่ามาตรฐานฝุ่นรวมที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยนี้ เป็นอุปสรรคต่อการควบคุมปริมาณและการประเมินความเสี่ยงของฝุ่น PM2.5 ทำให้เราไม่ทราบถึงปริมาณและระดับความเป็นอันตรายที่แท้จริงของฝุ่น PM2.5 จากปลายปล่องของโรงไฟฟ้าฟอสซิล โรงงานอุตสาหกรรมและยานยนต์ได้
ความสำเร็จของหลายประเทศในการควบคุมฝุ่น PM2.5 จนมีค่าเฉลี่ยทั้งประเทศต่อปีต่ำกว่า 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และการปล่อยมลพิษทางอากาศหลัก (PM2.5, PM10, SO2, NOx, VOCs) ลดลงอย่างมาก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการออกแบบระบบกฏหมายสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องยาวนาน และพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ต่อยอดจากฐานทางกฏหมายที่เข้มแข็ง รวมถึง (1) กฎหมายกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อย PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก (Emission standard) (2) กฏหมายว่าด้วยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงความสามารถในการรองรับของมลพิษในพื้นที่และผลกระทบข้ามพรมแดน (3) กฏหมายกำหนด ‘แนวกันชน’ ระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษกับแหล่งชุมชน (Buffer zone) และ (4) การใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ การประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม
มาตรการเฉพาะหน้าและระยะสั้นของรัฐแทบจะนับไม่ถ้วนเพื่อต่อกรกับฝุ่น PM2.5 จะเป็นเพียงการขี่ช้างจับตั๊กแตน หากไร้ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นที่นำพาสังคมออกจากวิกฤตมลพิษทางอากาศ โดยเงื่อนไขแรกที่จำเป็นคือการกำหนดมาตรฐานเพื่อลดและควบคุมการระบายฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิด
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูลตามมาตรา 6 และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ประกอบกับกฎกระทรวงฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยมีฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย และไม่ดำเนินการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) ให้มีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์
นับจากมีการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ข้อ 7 กำหนดให้โรงงานที่มีสารมลพิษหรือสารเคมีตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ไม่ว่าจะเกิดจากการผลิต การครอบครองหรือการใช้ หรือเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน ต้องจัดทำรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ และกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในฐานะผู้กำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีหน้าที่ออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูล และจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) การที่ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ไม่ดำเนินการออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูลทั้ง ๆ ที่มีการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ข้างต้นจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถจัดทำและพัฒนาทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) ซึ่งรวมถึงฝุ่นละออง PM2.5 ตามแผนปฏิบัติการฯ ที่กำหนดไว้ในช่วง (2562- 2564) ให้มีประสิทธิภาพได้
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ล่าช้าเกินสมควร และทำให้ประเทศไทยยังคงไม่มีฐานข้อมูลมลพิษเพื่อใช้ในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามคำฟ้อง คำคัดค้านคำให้การของผู้ฟ้องคดี คำชี้แจงเพิ่มเติม และคำแถลงฉบับนี้ ผู้ฟ้องคดีขอศาลได้โปรดวินิจฉัย เหตุความไม่ชอบด้วยกฎหมายตามคำฟ้อง และมีคำพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้อง เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการทางปกครองของหน่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐให้เป็นไปในทางคุ้มครองสิทธิของผู้ฟ้องคดี ประชาชน สิ่งแวดล้อมและประโยชน์สาธารณะตามหลักความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมต่อไป
หมายเหตุ :
[2] https://www.greenpeace.org/thailand/publication/23793/climate-airpollution-cost-estimate-report/
[3] https://www.iarc.who.int/wp-content/uploads/2018/07/pr221_E.pdf