จากประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง “ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2563” ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งกำหนดให้โรคหรืออาการท่ีเกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หมายถึง โรคหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากหรือเป็นผลเนื่องมาจากมลพิษท่ีมีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง การป้องกันและการควบคุมโรคจากส่ิงแวดล้อมนั้น
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนายการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า
“ถือเป็นหลักไมล์ที่สำคัญของการขับเคลื่อนพลังสาธารณชนเพื่อขออากาศดีคืนมา #RightToCleanAir และขอชื่นชมกระทรวงสาธารณสุขที่มีบทบาทสำคัญที่ยกระดับการป้องกันสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศ สิ่งนี้ย้ำเตือนถึงการที่องค์กรวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency Research on Cancer: IARC) ขององค์การอนามัยโลกได้ระบุว่าฝุ่น PM2.5 ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ได้ ดังนั้นจึงก่อให้เกิดภาระโรค (Burden Disease) และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ [1] นอกจากคุณสมบัติความเป็นพิษของขนาดอนุภาคฝุ่น PM2.5 ความเป็นพิษยังมาจากสารปนเปื้อน ที่เคลือบฝุ่น PM2.5 อีกด้วย เช่น PM2.5 ที่มีแหล่งกำเนิดจากการเผาพืชผลทางการเกษตรหรือไฟป่า จะมีสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons: PAHs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปอดและอวัยวะอื่นๆ หากเป็นฝุ่น PM2.5 จากการจราจรและการขนส่ง ก็จะมีสารเบนซีน(Benzene) ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ระเหยที่เป็นสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น”
“อย่างไรก็ตาม การรับรองสิทธิในอากาศดีของคนไทยยังเป็นหนทางที่ยาวไกล หากไร้ซึ่ง เจตจำนงทางการเมืองของผู้มีอำนาจตัดสินใจทางนโยบายและแผนดำเนินการรายปีในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศ ดังกรณี (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่กำหนดค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 จากเดิมให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO IT-3 [2] หรือการผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ตลอดจนร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….(หรือกฏหมาย PRTR) ที่เปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ที่ภาคประชาชนต้องจับตาอย่างใกล้ชิดและมีส่วนร่วมในการผลักดันอย่างแข็งขัน”
“แม้ว่าอาการผิดปกติทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 เป็นโรคจากสิ่งแวดล้อม โดยที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ผลิตคู่มือการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา และกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค อยู่ในขั้นตอนการผลิตคู่มือเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขจากฝุ่น PM2.5 แต่การดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมภายใต้คู่มือดังกล่าวยังคงอ้างอิงตามเกณฑ์ PM2.5 ในบรรยากาศตามมาตรฐานที่ใช้มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว รวมถึงการกำหนดเกณฑ์ความเข้มข้น PM2.5 ที่ 91 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตรขึ้นไป “มีผลกระทบต่อสุขภาพ” เป็นต้น เหล่านี้กลายเป็นช่องว่างทั้งการเฝ้าระวัง(Surveillance) การแจ้งเตือน(Alert) และการเตือนภัย(Warning) ในช่วงวิกฤตฝุ่น และการป้องกันผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ในเชิงรุกเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรไทยโดยรวม [3]”
หมายเหตุ :
[1] องค์การอนามัยโลกระบุว่าไม่มีระดับฝุ่นละอองขั้นต่ำใดที่ยอมรับได้ว่าปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัย ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากมลพิษอากาศใน ปี 2556 ประมาณ 50,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ดังนั้นการควบคุมการปล่อยมลพิษ PM2.5 จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
[2] กรมควบคุมมลพิษ ยกร่างประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป โดยเป็นการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ใน 2 กรณี คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง จาก 50 มคก./ลบ.ม. เป็น 37 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี จาก 25 มคก./ลบ.ม. เป็น 15 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO IT-3) ที่แนะนำให้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 15 มคก./ลบ.ม.
[3] นักวิจัยพบว่ามาตรการควบคุมมลพิษที่เข้มงวดมากจะให้ผลประโยชน์สูงกว่า โดยมีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนระหว่าง 81-222 เท่า และการศึกษาในประเทศไทยพบว่า การกำหนดมาตรฐานรายปีไม่เกิน 12 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร จะสามารถลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในกลุ่มอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 25 ปีจากผลกระทบระยะยาวของ PM2.5 โดยประมาณ3,263 คน หรือประมาณ 20 % ของการตายในกลุ่มอายุนี้ในกรุงเทพ และคาดว่าจะลดจำนวนการเสียชีวิตจากผลกระทบระยะสั้นของ PM2.5 ได้ 910 คน หรือประมาณ 3% ของการเสียชีวิตทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร
อ่านข้อเรียกร้องของกรีนพีซคลิกที่นี่
กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่
มีส่วนร่วม